Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน


           
หลังฝ่ายรัฐเปิดยุทธการระดมตรวจค้นจับกุมอย่างหนักหน่วงต่อเนื่องกันมา สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ก็ดูท่าจะบรรเทาเบาลงได้มาก แม้จะมีการก่อเหตุขึ้นบ้างประปราย แต่ก็ไม่หนักหนาอย่างก่อนหน้านี้

          สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เหตุการณ์ที่เบาบางลงไป เป็นเพราะขบวนการใต้ดินอ่อนกำลังลง หรือมาจากการที่ฝ่ายรัฐทุ่มกำลังจำนวนมากลงไปในพื้นที่ ปิดกั้น จำกัดการเคลื่อนไหวของฝ่ายใต้ดิน

          วันนี้ภาพเด็กวัยรุ่นนั่งกันอยู่บนราวสะพานในหมู่บ้านหายไป  คงมีแต่ทหารเฝ้าคุมเชิงสังเกตการณ์ทั่วทุกจุด

          หากการบล๊อกพื้นที่ความรุนแรงสูง กวาดแนวร่วมเข้าค่าย และถอนแกนปฏิบัติการในพื้นที่ เป็นมาตรการร่นเวลาของสงครามให้สั้นลง ซึ่งในระยะต่อจากนี้ไปน่าเป็นห่วงว่า รัฐจะอ่อนล้ากับเกมสงครามนี้ไปเสียก่อนหรือไม่

          พิจารณาจากรูปแบบการก่อเหตุที่ผ่านมา พอจะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ของขบวนการใต้ดินมิใช่การรบแตกหัก แต่เป็นการก่อสงครามยืดเยื้อ หาโอกาสซึ่งได้เปรียบที่สุด สร้างสถานการณ์กดดันทั้งภายใน และระดับสากล

          รัฐอาจได้เปรียบในการควบคุมพื้นที่ แต่การรุก-รับทางการทหาร หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่อาจกำชัยเด็ดขาด ยิ่งนานวันไปผลเสียก็จะตกอยู่กับรัฐ

          กำลังจำนวนมากซึ่งควบคุมพื้นที่ ล้วนเป็น กำลังรบ' ในขณะที่กลไกรัฐอื่นๆ ไม่สามารถเชื่อมประสาน เข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงมวลชนได้ อาจกลายเป็นชนวนปัญหา ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำจุดอ่อนเรื่องความรุนแรงในอดีตที่รัฐไทยยังไม่อาจแก้ให้พ้นไปได้อย่างหมดจด รวมทั้งโจทย์ใหม่ที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกที่ชาวบ้านมองเจ้าหน้าที่รัฐในแง่ลบ และความแตกแยกระหว่างไทยพุทธและมุสลิม

          การทหารควบคุมได้เฉพาะพื้นที่ แต่ภายใต้โลกซึ่งถูกย่นย่อลงด้วยช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง สถานการณ์ภายใน ที่จะถูกถ่ายทอดออกไปสู่ระดับสากล ยังเป็นสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจระมัดระวังอย่างสูง

          ถึงที่สุดแล้ว รัฐกำหนดเกมสงครามนี้ได้จริงหรือไม่ สถานการณ์ที่สงบนิ่ง อาจสะท้อนว่า ฝ่ายขบวนการใต้ดินไม่ยอมเล่นตามเกมที่รัฐเป็นผู้กำหนด

          สถานการณ์ยิ่งยืดนานไปเท่าใด โอกาสที่รัฐจะสร้างจุดโหว่ก่อความผิดพลาดก็มีมากขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันก็เอื้อให้ขบวนการใต้ดินเพาะตัว รอจังหวะเวลาที่เหมาะสมและได้เปรียบ รุกโต้กลับคืน

            เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องระวังก็คือ ภายใต้การรุกทางทหาร แต่งานการเมืองของรัฐยังมิอาจเดินหน้าไปได้ไกล ถึงที่สุดแล้ว รัฐเองอาจถูกบีบให้เป็นฝ่ายตั้งรับทางการเมืองก็เป็นได้

          มองในแง่ร้าย ผู้ถูกควบคุมตัวไปร่วม 400 คนนี้ อาจเป็นแค่ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่มองเห็นได้ชัด แต่ทว่าลึกลงไปใต้ผิวน้ำอิทธิพลของขบวนการใต้ดินจะยังคงมีอยู่อีกเท่าใดนั้นยากที่จะประมาณ

          รัฐอาจเห็นโอกาสช่องทางในการดึงให้ 400 คนเหล่านี้กลับมาให้ความร่วมมือ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า แกน' ในพื้นที่ถูกถอดออกแล้ว

          หากการรุกทางการเมืองซึ่งมี ศอ.บต.เป็นหัวหอก คืบหน้าไปแค่สร้างตอม่อ การรุก-รับทางการทหาร ก็คงดำเนินไปอีกนาน

            น่าจับตายิ่งว่า การควบคุมพื้นที่ความรุนแรง จะสถาปนาความปลอดภัยในพื้นที่ชายแดนใต้ได้จริงหรือไม่

            ถ้ายังถอนแนวคิดไม่ได้ ก็คงต้องทุ่มกำลังบล๊อกพื้นที่กันไปอีกนาน