การแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3 [PEACE SURVEY 3] จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอาคารศูนย์วิทยบริการ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ดาวน์โหลดไฟล์ บทสรุปผู้บริหารผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PEACE SURVEY] ครั้งที่ 3 Click ที่นี่ ดาวน์โหลดไฟล์ ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3 [PEACE SURVEY 3] Click ที่นี่ |
บทสรุปผู้บริหาร
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
ต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3 (Peace Survey)
บทนำ
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) เป็นการดำเนินงานที่มาจากความร่วมมือจากสถาบันทางวิชาการและภาคประชาสังคม จำนวน 15 องค์กร ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีแนวคิดที่จะสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้กระบวนการสันติภาพดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนที่เกี่ยวข้องและอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง อันเป็นการใช้ข้อมูลความรู้มิใช่อารมณ์ความรู้สึกเป็นฐานในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ทั้งนั้น การสำรวจครั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในรูปของเครือข่ายที่ครอบคลุมกลุ่มมีส่วนได้เสียทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชนทุกกลุ่มวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่ายและสามารถนำผลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในแต่ละห้วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ เป็นการสำรวจในครั้งที่ 3 ในการสำรวจความคิดเห็นครั้งแรก ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2559 และการสำรวจครั้งที่ 2 เก็บข้อมูลในระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคมถึง 22 สิงหาคม 2559 ซึ่งผลการสำรวจทั้งสองครั้งได้นำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์เผยแพร่ต่อสาธารณะไปแล้ว ในส่วนของการสำรวจครั้งนี้ที่ 3 เก็บข้อมูลในระหว่างวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 โดยการศึกษาแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มเช่นเดียวกับการสำรวจครั้งที่ 1 และ 2 คือ กลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มผู้นำความคิด
ในการสำรวจครั้งนี้มีวัตุประสงค์หลัก เพื่อให้กระบวนการสันติภาพดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนที่เกี่ยวข้องและอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง อันเป็นการใช้ข้อมูลความรู้มิใช่อารมณ์ความรู้สึกเป็นฐานในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง โดยทางองค์กรเครือข่ายหวังว่า การทำให้เสียงประชาชนที่ถูกสุ่มโดยปราศจากอคติบนพื้นฐานของหลักวิชาทางสถิติดังกล่าวเป็นที่ปรากฏรับรู้ต่อสังคมวงกว้าง จะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้ประชาชนมีพลังในการกำหนดทิศทางของกระบวนการสันติภาพมากขึ้น ตามที่ทุกฝ่ายต่างเน้นย้ำอยู่เสมอว่าคำตอบอยู่ที่ประชาชน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อรับทราบข้อคิดเห็นและพัฒนาการทางความคิดของกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั้งไทยพุทธและมลายูมุสลิมในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาในอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี
2. เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพได้มีข้อมูลทางวิชาการที่สะท้อนเสียงความต้องการของประชาชนในการประกอบการตัดสินใจ
3. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้สะท้อนมุมมองและความต้องการต่อผู้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ
กลุ่มเป้าหมาย
ประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวน จำนวน 1,608 คน ทั้งไทยพุทธ ไทยจีน มลายู และมุสลิม ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาในอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ตลอดจนผู้นำทางความคิดจำนวน 260 คน
ระเบียบวิธีวิจัย
1) พื้นที่ในการศึกษาและกลุ่มตัวอย่าง
ก) การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่
การศึกษาครั้งนี้ทำการศึกษาในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และสี่อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา อันประกอบด้วยอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งทำการสุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (stratified random sampling) คือการใช้หลักความน่าจะเป็นในทางสถิติ เพื่อประกันว่า ทุกคนทุกหน่วยในประชากรที่ศึกษา มีโอกาสเท่ากันในการถูกเลือก (the same probability of selection) มีความน่าเชื่อถือของความเป็นตัวแทน (representation) ของกลุ่มตัวอย่างจะทำให้ผลการสำรวจ มีความคลาดเคลื่อนทางสถิติในระดับที่ยอมรับได้ โดยมีขั้นตอนในการสุ่ม ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การสุ่มระดับตำบล จะทำการสุ่มแบบมีระบบ (systematic sampling) จากตำบลทั้งหมดที่มีอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยได้ตำบลตัวอย่างจำนวน 125 ตำบล
ขั้นตอนที่ 2 การสุ่มระดับหมู่บ้าน จะทำการสุ่มแบบมีระบบ (systematic sampling) จากหมู่บ้านที่มีในตำบลที่ถูกสุ่มไว้ โดยได้หมู่บ้านตัวอย่างจำนวน 134 หมู่บ้าน
ขั้นตอนที่ 3 การสุ่มเลือกครัวเรือนด้วยวิธีการสุ่มแบบมีระบบ (systematic sampling) โดยสุ่มหมู่บ้านหรือชุมชนละ12 ครัวเรือน และทำการสุ่มเลือกสมาชิกในครัวเรือนจำนวน 1 คน ด้วยวิธีการสุ่มแบบง่าย รวมเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,608 ตัวอย่าง
ข) การสำรวจความคิดเห็นของผู้นำความคิดจากทุกภาคส่วนในพื้นที่
การสำรวจความคิดเห็นของผู้นำความคิด ในการศึกษาครั้งที่ 3 นี้ เป็นการศึกษาจากกลุ่มผู้นำที่ทำงานในระดับพื้นที่ จากพื้นที่หมู่บ้านตัวอย่างในการศึกษาข้อมูลของกลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 65 หมู่บ้าน (ครึ่งหนึ่งของหมู่บ้านตัวอย่างที่ทำการสุ่มได้) โดยขั้นตอนในการคัดเลือกตัวแทนของกลุ่มผู้นำความคิดในการศึกษาครั้งนี้ จะใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากกลุ่มผู้นำ 4 กลุ่มในพื้นที่ ดังนี้
1) ผู้นำศาสนา มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลุ่มผู้นำศาสนาที่จะดำเนินการสัมภาษณ์ คือ ต้องเป็นอิหม่ามจากมัสยิดที่จดทะเบียนก่อน ถ้าไม่ได้ เลือกเป็นคอเต๊บ หรือบิหล่านตามลำดับ และหากหมู่บ้านใดมีวัดอยู่ ให้สัมภาษณ์เจ้าอาวาสหรือรองเจ้าอาวาสด้วย
2) ผู้นำท้องที่ มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกผู้นำท้องที่ คือ กรณีที่พื้นที่ตัวอย่างมีบ้านของกำนันอยู่ในพื้นที่ให้เลือก กำนัน เป็นผู้ให้ข้อมูล ถ้าไม่มี หรือไม่สะดวกให้ข้อมูล ให้เลือก ผู้ใหญ่บ้าน หรือ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตามลำดับ
3) ผู้นำท้องถิ่น หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกผู้นำท้องถิ่น คือ กรณีที่พื้นที่ตัวอย่างมีบ้านของ นายก อบต. หรือ นายกเทศมนตรี อยู่ในพื้นที่ให้เลือก นายก อบต. หรือ นายกเทศมนตรี ถ้าไม่มี หรือไม่สะดวกให้ข้อมูล เลือกเป็น รองนายกฯอบต. สมาชิก อบต. หรือ สมาชิกเทศบาล ตามลำดับ
4) ผู้นำสตรี หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกผู้นำสตรี คือ เป็นสตรีที่มีบทบาทในการทำงานในพื้นที่ และได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ โดยกรณีที่หมู่บ้านตัวอย่าง มีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ให้พิจารณาจาก ครูสอนอัลกุรอ่าน (ที่เป็นผู้หญิง) ถ้าไม่มี หรือไม่สะดวกให้ข้อมูล เลือกเป็น อสม. (ที่เป็นผู้หญิง) แต่ในกรณีที่หมู่บ้านตัวอย่างมีพุทธเป็นส่วนใหญ่ ให้ถาม อสม.(ที่เป็นผู้หญิง) เหตุผลที่ใช้เกณฑ์จำนวนประชากรในการเลือกตำแหน่งนั้น เพราะเป็นเกณฑ์ที่สะท้อนลักษณะของสังคม
2) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
คณะผู้วิจัยเลือกใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ โดยแบบสอบถามดังกล่าวมาจากการรวบรวมการศึกษางานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำมาออกแบบและพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบบสอบถามมีทั้งหมด 4 ตอน ดังนี้
ส่วนที่ 1 คำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปส่วนบุคคล
ส่วนที่ 2 ทัศนคติต่อกระบวนการสันติภาพ/สันติสุข
ส่วนที่ 3 ทัศนคติต่อสิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่สันติภาพ/สันติสุข
ส่วนที่ 4 ทัศนคติต่อปัญหาและสถานการณ์ในพื้นที่
3) การเก็บรวบรวมข้อมูล
การศึกษานี้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบต่อหน้า )face-to-face interview) โดยใช้แบบสอบถามบันทึกข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูลทำโดยทีมเก็บข้อมูลภาคสนาม ที่ผ่านการอบรมการสัมภาษณ์มาแล้ว ช่วงเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ เดือน เมษายน - พฤษภาคม 2560 ขั้นตอนในการทำงานภาคสนาม มีดังนี้
1) ก่อนที่พนักงานสัมภาษณ์จะเดินทางเข้าไปในหมู่บ้าน ได้ประสานงานอย่างเป็นทางการกับผู้นำในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือผู้นำศาสนา เพื่อแนะนำตัวรวมทั้งโครงการฯ และเพื่อให้ทราบที่อยู่ของผู้ที่จะถูกสัมภาษณ์ให้ชัดเจน
2) พนักงานสัมภาษณ์เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้ 1) รายละเอียดโครงการ 2) แบบสอบถาม 3) รายชื่อสำรอง 4) หนังสือชี้แจงโครงการฯ (ทั่วไป) 5) ของที่ระลึก
3) เมื่อเดินทางไปถึงหมู่บ้าน พนักงานสัมภาษณ์จะเข้าไปพบกับผู้ประสานงานในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือบัณฑิตอาสา เพื่อแนะนำตัวและชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
4) ผู้ประสานงานในพื้นที่จะพาพนักงานสัมภาษณ์ ไปสัมภาษณ์ครัวเรือนและบุคคลที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง
5) ติดต่อบุคคลในครัวเรือนเพื่อขอสัมภาษณ์ โดยแนะนำตัวและแสดงบัตรประจำตัวในการเก็บข้อมูลภาคสนาม และอธิบายวัตถุประสงค์และประโยชน์ของโครงการฯ ตามแบบแสดงความยินยอมให้สัมภาษณ์ และเมื่อได้รับความยินยอมแล้วจึงเริ่มทำการสัมภาษณ์ โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 60 -90 นาที เมื่อสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้ว ให้ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์อย่างจริงใจ พร้อมกับมอบของที่ระลึกแก่ผู้ให้สัมภาษณ์
4) การอบรมพนักงานสัมภาษณ์และการควบคุมคุณภาพข้อมูล
เมื่อจัดทำคู่มือการสัมภาษณ์และการทำงานภาคสนามเสร็จแล้ว จะทำการอบรมหัวหน้าทีมและพนักงานสัมภาษณ์ทั้งในเชิงทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติในพื้นที่ทดลอง เนื้อหาในการอบรมครอบคลุม วัตถุประสงค์ของการสำรวจ การเลือกกลุ่มตัวอย่าง ขั้นตอนการสำรวจและการเข้าหากลุ่มตัวอย่าง เนื้อหาของแบบสอบถาม เทคนิคการสัมภาษณ์ ข้อพิจารณาเชิงจริยธรรมในคน การทดสอบความเข้าใจเนื้อหาและขั้นตอนการสำรวจ และการนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขที่พบขณะฝึกปฏิบัติ
การสำรวจในครั้งนี้มีการควบคุมคุณภาพข้อมูลหลายวิธีเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่เก็บรวบรวมมานั้น มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ ประการแรก มีผู้ควบคุมงานภาคสนามโดยหัวหน้าทีมในการเก็บรวบรวมข้อมูล นอกจากจะทำการติดต่อประสานงานกับพื้นที่เพื่อเตรียมแผนงานภาคสนามแล้ว ยังมีหน้าที่คอยดูแล กำกับ และให้คำแนะนำพนักงานสัมภาษณ์อย่างต่อเนื่อง ประการที่สอง มีคนในพื้นที่พาเข้าไปพบกลุ่มตัวอย่างและแนะนำทีมงานภาคสนามเพื่อให้กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่เกิดความไว้วางใจที่จะให้ข้อมูล
5) ข้อพิจารณาด้านจริยธรรมการวิจัยในคน
ในการศึกษานี้ ได้พิจารณาประเด็นจริยธรรมการวิจัยในคนทั้งการขอความยินยอมจากกลุ่มตัวอย่าง โดยแจ้งให้กลุ่มตัวอย่างได้รับทราบถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ตลอดจนการเก็บรักษาข้อมูลเป็นความลับ และใช้เพื่อการวิเคราะห์ในภาพรวมเท่านั้น หากกลุ่มตัวอย่างต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ เพิ่มเติม ทางคณะผู้วิจัยได้แจ้งชื่อหน่วยงานและบุคคลที่สามารถติดต่อได้ไว้ด้วย
ประเด็นการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของกลุ่มตัวอย่างเป็นความลับ คณะผู้วิจัยเน้นย้ำกับพนักงานสัมภาษณ์ให้เก็บรักษาข้อมูลของผู้ตอบเป็นความลับอย่างเคร่งครัด และให้ใช้รหัสแทนตัวบุคคล ซึ่งผู้อื่นไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ และจะไม่มีการเปิดเผยตัวตนหรือชื่อของผู้ให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณะ ข้อมูลจะถูกนำไปใช้เพื่อการวิจัยเท่านั้น โดยจะถูกนำไปวิเคราะห์ในภาพรวม และนำเสนอเป็นรายงานการวิจัย
6) การวิเคราะห์ข้อมูล
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าร้อยละ (percentage) ค่าความถี่ (frequency) ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation)
ผลการศึกษา
1. ข้อมูลพื้นฐานของผู้ตอบแบบสอบถาม
1.1) เพศ – ศาสนา – ภูมิลำเนา
ในส่วนของประชาชนทั่วไป มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 1,583 คน เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (ร้อยละ 53.4 และ 46.6 ตามลำดับ) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 79.2) รองลงมานับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ 20.2) มีอายุเฉลี่ยที่ 44.7 ปี โดยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนราธิวาสมากที่สุด (ร้อยละ 33.3) รองลงมาคือ ปัตตานี ยะลา และสงขลา (ร้อยละ 32.5, 17.8, และ 11.4 ตามลำดับ)
ในขณะที่ผู้นำความคิด มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 257 คน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง (ร้อยละ 72.0 และ 28.0 ตามลำดับ) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 83.3) รองลงมานับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ 16.7) มีอายุเฉลี่ยที่ 48.6 ปี โดยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดปัตตานีมากที่สุด (ร้อยละ 32.7) รองลงมาคือ นราธิวาส ยะลา และสงขลา (ร้อยละ 31.1, 16.0, และ 10.9 ตามลำดับ)
1.2) อัตลักษณ์ – ภาษา
เมื่อถามว่าผู้ตอบแบบสอบถามนิยามตัวเองว่าเป็นคนอะไร พบว่าประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่นิยามว่าตนเป็นคนมุสลิม (ร้อยละ 48.2) ซึ่งสะท้อนการนิยามที่อยู่บนฐานศาสนาเป็นหลัก รองลงมาคือนิยามว่าตนเป็นคนมลายู คนไทย คนพุทธ คนปาตานี และอื่นๆ (ร้อยละ 21.8, 16.8, 8.6, 2.6 และ 0.7 ตามลำดับ) ในส่วนของผู้นำความคิดนั้น ส่วนใหญ่นิยามว่าตนเป็นคนมุสลิม (ร้อยละ 47.9) รองลงมา คือนิยามว่าเป็นคนไทย คนมลายู คนพุทธ คนปาตานี และอื่นๆ (ร้อยละ 21.8, 18.3, 6.2, 4.7 และ 0.8 ตามลำดับ)
สำหรับภาษาที่ประชาชนทั่วไปมีทักษะในการใช้ได้มากที่สุด คือ ภาษามลายูถิ่น (ร้อยละ 61.7) รองลงมาคือ ภาษาไทยไม่ว่าจะเป็นภาษาใต้หรือไทยกลาง (ร้อยละ 23.7) และภาษามลายูปนไทย (ร้อยละ12.7) เช่นเดียวกับผู้นำความคิดก็มีทักษะในการใช้ภาษามลายูถิ่นมากที่สุด (ร้อยละ 57.9) รองลงมาเป็นภาษามลายูปนไทย (ร้อยละ 21.0) และภาษาไทยไม่ว่าจะเป็นภาษาใต้หรือภาษากลาง (ร้อยละ19.8)
1.3) การศึกษา – อาชีพ – รายได้
สำหรับข้อมูลด้านการศึกษาสายสามัญ ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่จบการศึกษาสูงสุดระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 39.6) ซึ่งต่างจากผู้นำความคิดที่ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(ร้อยละ 35.0) ส่วนสายศาสนา ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่จะไม่ได้ศึกษา (ร้อยละ 33.5) แต่สำหรับผู้ที่ได้ศึกษานั้น ส่วนใหญ่จะจบตาดีกาเป็นหลัก (ร้อยละ 26.2) ในขณะที่ผู้นำความคิดส่วนใหญ่จะจบการศึกษาระดับกลาง (มูตาวัตซิต) และระดับปลาย (ซานาวีย์) (ร้อยละ 19.5)
อาชีพของประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร ประมง ปศุสัตว์ (ร้อยละ 40.7) รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป แรงงาน บริการ (ร้อยละ 20.2) โดยคนจำนวนมากมีรายได้ประมาณ 5,001-10,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 43.7) เช่นเดียวกับผู้นำความคิดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เกษตรกร ประมง ปศุสัตว์ (ร้อยละ 28.0) รองลงมาเป็นผู้นำศาสนา (ร้อยละ 11.3) ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ (10.9) รับจ้างทั่วไปแรงงาน บริการ (ร้อยละ 8.9) และแม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณ (ร้อยละ 7.8) โดยคนจำนวนมากมีรายได้ประมาณ 5,001 – 10,000 บาท ต่อเดือน (ร้อยละ 52.5)
1.4) ช่องทางติดตามข่าวสาร
ประชาชนทั่วไปจะติดตามข่าวสารจากเพื่อนสนิท คนใกล้ชิด เพื่อนบ้าน และคนในชุมชนมากที่สุด (ร้อยละ 75.4) สถานที่ที่ประชาชนจะติดตามข่าวสารมากที่สุด คือ มัสยิด (ร้อยละ 60.6) และช่องทางต่างๆ ที่ใช้ในการติดตามข่าวสาร ประชาชนส่วนใหญ่จะดูจากโทรทัศน์ทั่วไปมากที่สุด (ร้อยละ 85.3) เช่นเดียวกับผู้นำความคิดส่วนใหญ่ก็จะติดตามข่าวสารจากเพื่อนสนิท คนใกล้ชิด เพื่อนบ้าน และคนในชุมชนมากที่สุด (ร้อยละ 87.5) สถานที่ที่จะติดตามข่าวสารมากที่สุด คือ มัสยิด (ร้อยละ 76.7) และช่องทางต่างๆ ที่ใช้ในการติดตามข่าวสาร ประชาชนส่วนใหญ่จะดูจากโทรทัศน์ทั่วไปมากที่สุด (ร้อยละ 90.3)
2. มุมมองต่อปัญหาและผลกระทบจากเหตุการณ์ในพื้นที่
2.1) ประสบการณ์ตรงจากเหตุการณ์
ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนของประชาชนทั่วไปที่เคยผ่านประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในพื้นที่ จำนวนร้อยละ 18.3 โดยมีประสบการณ์ที่คนในครอบครัวหรือญาติสนิทเสียชีวิตจากเหตุการณ์สูงที่สุด รองลงมา คือ เคยมีคนในครอบครัวหรือญาติสนิทได้รับบาดเจ็บ และเคยถูกปิดล้อมตรวจค้น ถูกเชิญตัวไปสอบสวน หรือถูกจับโดยเจ้าหน้าที่
ในขณะที่ส่วนของผู้นำความคิดนั้นจะมีสัดส่วนที่สูงกว่าคือ 1 ใน 4 ของผู้นำความคิดเคยผ่านประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในพื้นที่ (ร้อยละ 25.3) โดยมีรูปแบบประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับประชาชนทั่วไป คือ คนในครอบครัวหรือญาติสนิทเสียชีวิตจากเหตุการณ์ และเคยมีคนในครอบครัวหรือญาติสนิทได้รับบาดเจ็บ และ ทรัพย์สินเสียหาย
2.2) ผลกระทบจากสถานการณ์และความรู้สึกปลอดภัย
สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น พบว่า ประชาชนทั่วไปและกลุ่มผู้นำความคิดในระดับพื้นที่ ได้รับผลกระทบใน 3 ประเด็นที่ใกล้เคียงกัน คือ เรื่องเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ รายได้ (ผลกระทบสูงสุดในกลุ่มประชาชนทั่วไป) ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน (ผลกระทบสูงสุดในกลุ่มผู้นำความคิด) และสุขภาพกายและจิต
สำหรับประเด็นความรู้สึกปลอดภัยในในการดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนทั่วไป และกลุ่มผู้นำความคิด พบว่ามีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คือจะรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องเดินทางออกจากบ้านในเวลากลางคืน ต้องพบปะพูดคุยกับคนที่เราไม่รู้จัก ต้องอยู่ใกล้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอาวุธ ต้องเข้าร่วมมหกรรมการแสดงสินค้าประจำปี เช่น งานกาชาด งานตลาดน้ำ งานศาลเจ้าแม่ งานหลักเมือง งานคอนเสิร์ต เป็นต้น และเมื่อคนที่ถูกคดีความมั่นคงมาเยี่ยมที่บ้าน
2.3) การติดต่อสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม
เมื่อถามถึงมุมมองต่อความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน ในประเด็นการย้ายที่อยู่ การเปลี่ยนสถานที่ทำงานและการส่งลูกไปโรงเรียน พบว่า ทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไปและกลุ่มผู้นำความคิด หากต้องย้ายที่อยู่ใหม่ ถ้าเลือกได้ คนส่วนใหญ่อยากจะอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีศาสนาและวัฒนธรรมเดียวกัน (ร้อยละ 53.4 ในส่วนของประชาชนทั่วไป และร้อยละ 51.8 ในกลุ่มผู้นำความคิด) แต่หากเป็นเรื่องการส่งลูกไปโรงเรียนและสถานที่ทำงาน คนจำนวนมากเห็นว่าวัฒนธรรมและศาสนาไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการพิจารณา (กรณีโรงเรียน ร้อยละ 42.5 ในส่วนของประชาชนทั่วไป และร้อยละ 46.3 ในกลุ่มผู้นำความคิด และกรณีสถานที่ทำงานร้อยละ 42.2 ในส่วนของประชาชนทั่วไป และร้อยละ 49.8 ในกลุ่มผู้นำความคิด)
สำหรับมุมมองด้านหญิงชายนั้น ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดส่วนใหญ่มองว่าผู้ชายทำหน้าที่ได้ดีกว่าผู้หญิงในทุกด้าน ทั้งในด้านการเป็นผู้นำทางการเมือง การสร้างสันติภาพ และเศรษฐกิจ ตามลำดับ แต่หากมองเฉพาะลงไปว่าผู้หญิงทำหน้าที่ในด้านใดดีกว่าผู้ชาย คำตอบจะเป็นด้านเศรษฐกิจ และประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดมองว่าผู้ชายและผู้หญิงทำหน้าที่ด้านสันติภาพได้ดีพอๆกัน
3. มุมมองต่อขบวนการและรัฐบาล
3.1) ขบวนการ
ในมุมมองของประชาชนทั่วไป และผู้นำความคิดส่วนใหญ่ มองกลุ่มคนที่ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ขณะนี้ว่าเป็น “ผู้ก่อความไม่สงบ” (ร้อยละ 40) รองลงมาของกลุ่มประชาชนทั่วไปคือตอบว่าไม่รู้ (ร้อยละ 14.5) และ ผู้ก่อเหตุรุนแรง (ร้อยละ 11.8) แต่ในกลุ่มผู้นำความคิด รองลงมาจะเรียกกลุ่มนี้ว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรง (ร้อยละ 14.4) และ กลุ่มผู้มีความคิดเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ (ร้อยละ 11.7) โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้สื่อกระแสหลักบางส่วนในกรุงเทพฯจะเรียกกลุ่มขบวนการดังกล่าวว่า “โจรใต้” แต่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่กว่าร้อยละ 95 กลับไม่มองอย่างนั้น
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าเคยได้ยินชื่อขบวนการใดบ้างนั้น คำตอบของทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดเหมือนกันคือ เคยได้ยินชื่อของกลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN – Barisan Revolusi Nasional) มากที่สุด ตามมาด้วย พูโล (PULO) เบอร์ซาตู (BERSATU) มารา ปาตานี (MARA PATANI) จีเอ็มไอพี (GMIP) และบีไอพีพี (BIPP) ตามลำดับ
3.2) ปัจจัยที่ทำให้คนเข้าร่วมขบวนการ
จากผลสำรวจสะท้อนว่า กลุ่มประชาชนทั่วไปและกลุ่มผู้นำความคิดจะมองเหตุผลของการเข้าร่วมขบวนการในแง่ของปัจจัยทางสังคมและปัจจัยส่วนบุคคลเป็นหลัก คือ การติดยาเสพติด การขาดการศึกษา และหลงผิด แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของปัจจัยทางการเมือง พบว่า ประชาชนทั่วไปและกลุ่มผู้นำความคิดมีจำนวนผู้ตอบว่าไม่รู้และขอไม่ตอบรวมกันสูงที่สุดในปัจจัยเหล่านี้ คือ การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานีเป็นรัฐอิสระ การปกป้องอัตลักษณ์วัฒนธรรมมลายูปาตานี การปกป้องและฟื้นฟูศาสนาอิสลาม และรู้สึกว่าใช้สันติวิธีเรียกร้องแล้วไม่ได้ผล
3.3) เป้าหมายหลักของขบวนการ
ประชาชนทั่วไป และกลุ่มผู้นำความคิดในระดับพื้นที่ ประมาณ1 ใน 3 ตอบว่าไม่รู้ว่าเป้าหมายหลักของขบวนการคืออะไร (ร้อยละ 36.3 ในส่วนประชาชนทั่วไป และร้อยละ 28.4 ในส่วนผู้นำความคิด) ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการดำเนินงานของขบวนการ ซึ่งมีลักษณะปิดลับทั้งในแง่ของตัวบุคคลและแนวทางขององค์กร ทำให้คนในสังคมไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลจากกลุ่มขบวนการโดยตรง หรืออาจจะรู้แต่ไม่กล้าที่จะตอบก็เป็นได้
คำตอบถัดมาของประชาชนทั่วไป และกลุ่มผู้นำความคิดในระดับพื้นที่ คือ คิดว่าขบวนการต้องการเอกราช/แยกดินแดนไปเป็นรัฐอิสระ (ร้อยละ 20.9 ในส่วนประชาชนทั่วไป และร้อยละ 26.5 ในส่วนผู้นำความคิด) รองลงไปเป็นคำตอบ คือ “ขอไม่ตอบ” “ต้องการเขตปกครองพิเศษ/เขตปกครองตนเอง (ยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย)” และ “ต้องการอำนาจและอิทธิพลเพื่อประโยชน์ของตัวเอง”
3.4) ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดส่วนใหญ่ต่างรู้สึกว่าสถานการณ์ในพื้นที่ในช่วงรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น เหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกหรือลบ (ร้อยละ 46.2 ในส่วนประชาชนทั่วไป และร้อยละ 46.7 ในส่วนผู้นำความคิด) โดยประชาชนทั่วไปให้คะแนนรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ฯ ในการแก้ไขสถานการณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 5.31 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับคะแนนเฉลี่ยที่ผู้นำความคิดให้คือ 5.7
3.5) บทบาทของหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหา
จากการสอบถามในประเด็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานส่วนช่วยในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดต่างเห็นสอดคล้องกันว่า ทราบถึงบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มากที่สุด (ร้อยละ 59 ในส่วนประชาชนทั่วไป และร้อยละ 83.7 ในส่วนผู้นำความคิด) และทราบบทบาทของผู้แทนพิเศษรัฐบาลฯ น้อยที่สุด
โดยหน่วยงานที่ได้คะแนนเฉลี่ยในการมีส่วนช่วยแก้ปัญหามากที่สุดของกลุ่มประชาชนทั่วไปคือ ศอ.บต. คือ 3.03 จากคะแนนเต็ม 5 แต่ในกลุ่มผู้นำความคิดพบว่ามีหน่วยงานที่ได้คะแนนเฉลี่ย ในการมีส่วนช่วยแก้ปัญหามากที่สุดในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ ศอ.บต. และผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คือ 3.3 คะแนน
4. มุมมองต่อความรุนแรง
4.1) สาเหตุของความรุนแรง
ในส่วนของข้อคำถามเรื่องมุมมองต่อสาเหตุของ “ความรุนแรง” ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ประชาชนทั่วไปมองว่าความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากหลายสาเหตุปะปนกัน โดยในข้อที่ระบุเกินร้อยละ 50 ว่าเป็นสาเหตุของความรุนแรง จะมีดังนี้คือ ความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากกลุ่มคนไม่หวังดีที่บิดเบือนประวัติศาสตร์และศาสนาเพื่อประโยชน์ตัวเอง (ร้อยละ 52.4) ความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากการที่สยามยึดครองปาตานีเป็นอาณานิคม (ร้อยละ 52.0) ความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากนโยบายรัฐที่เลือกปฏิบัติ ทำให้คนรู้สึกไม่เป็นธรรม (ร้อยละ 51.6) โดยที่มีจำนวนผู้ตอบว่าไม่รู้และขอไม่ตอบรวมกันสูงที่สุดในข้อที่ว่า ความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากการแข่งขันกันทางการเมือง (ท้องถิ่น/ระดับชาติ) (ร้อยละ 47.1)
สำหรับผู้นำความคิดก็มีมุมมองต่อสาเหตุความรุนแรงที่หลากหลายเช่นกัน โดยในข้อที่ระบุเกินร้อยละ 50 ว่าเป็นสาเหตุของความรุนแรง จะมีดังนี้คือ ความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากการที่สยามยึดครองปาตานีเป็นอาณานิคม (ร้อยละ 61.5) ความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากกลุ่มคนไม่หวังดีที่บิดเบือนประวัติศาสตร์และศาสนาเพื่อประโยชน์ตัวเอง (ร้อยละ 59.6) ความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากนโยบายรัฐที่เลือกปฏิบัติ ทำให้คนรู้สึกไม่เป็นธรรม (ร้อยละ 59.6) ความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐเลี้ยงไข้เพื่อเอางบประมาณ (ร้อยละ 54.9) ความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากกลุ่มก่อการร้ายสากล (ร้อยละ 51.7) ในขณะที่มุมมองต่อความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากกลุ่มก่อการร้ายสากลเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบจากการสำรวจครั้งที่ 1 และ 2
4.2) กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง
ประชาชนทั่วไปและกลุ่มผู้นำความคิด ตอบว่าไม่รู้และขอไม่ตอบว่าใครเกี่ยวข้องกับความรุนแรงบ้างนั้น คิดรวมกันมาเป็นลำดับที่หนึ่ง (ร้อยละ 29.3 ในส่วนประชาชนทั่วไป (ไม่รู้ ร้อยละ 19.6 และ ขอไม่ตอบ ร้อยละ 9.7) และร้อยละ 20.3 ในส่วนผู้นำความคิด (ไม่รู้ ร้อยละ 10.7 และขอไม่ตอบ ร้อยละ 9.6))
สำหรับประชาชนทั่วไปผู้ที่ตอบ มองว่ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงสามลำดับแรกคือ ทหารพราน (ร้อยละ 8.9) ขบวนการ (ร้อยละ 8.7) และรัฐบาล (ร้อยละ 7.8) ในความเห็นของผู้นำความคิดมองว่า กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงสามลำดับแรกคือ ขบวนการ (ร้อยละ 10.9) รัฐบาล (ร้อยละ 9.6) และ กลุ่มผู้มีอิทธิพล/ อำนาจมืด (ร้อยละ 8.0)
4.3) การเรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดต่างเรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้เหมือนกันว่าเป็น “การก่อความไม่สงบ” (ร้อยละ 51.1 ในส่วนประชาชนทั่วไปและร้อยละ 54.5 ในส่วนผู้นำความคิด) ส่วนข้อที่มีผู้ตอบรองลงมานั้น ในส่วนของประชาชนทั่วไปคือ ไม่รู้ (ร้อยละ 12.9) ในขณะที่ผู้นำความคิดจะเป็นข้อ “การก่อเหตุรุนแรง” ที่มีสัดส่วนเท่ากับ “การขอไม่ตอบ” (ร้อยละ 17.1)
4.4) ความรุนแรง
ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดต่างเห็นตรงกันว่า “ถ้าความรุนแรงลดลง จะทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการแก้ปัญหาร่วมกันมากขึ้น” (ร้อยละ 57 ในส่วนประชาชนทั่วไปและร้อยละ 69.2 ในส่วนผู้นำความคิด) และ “ไม่ควรใช้ความรุนแรงไม่ว่ากรณีใด ๆ” (ร้อยละ 55.4 ในส่วนประชาชนทั่วไปและร้อยละ 69.2 ในส่วนผู้นำความคิด)
5. มุมมองต่อกระบวนการสันติภาพ/สันติสุขและการพูดคุย
5.1) สันติภาพ/สันติสุข
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลใช้คำว่า “สันติสุข” แทนคำว่า “สันติภาพ” ในแนวทางนโยบายการพูดคุยซึ่งได้ก่อให้เกิดการถกเถียงถึงความหมายและนัยที่แตกต่างกันของสองคำนี้ขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่สนใจติดตามประเด็นการสร้างสันติภาพอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าคนในพื้นที่คิดอย่างไรต่อสองคำดังกล่าว
ผลการสำรวจพบว่า ในมุมมองของประชาชนทั่วไป คำว่า “สันติภาพ” และ “สันติสุข” มีความหมายโดยรวมไม่แตกต่างกันมากนัก คือ คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้ สามัคคีกัน มีอิสรภาพและเสรีภาพ และไม่มีความรุนแรง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการให้น้ำหนักความสำคัญของความหมายในแต่ละคำจากการจัดลำดับแล้ว ในมุมมองของผู้นำความคิดจะสอดคล้องกันกับของประชาชนทั่วไป คือมีนัยที่แตกต่างกันว่า “สันติสุข” มีงานทำ มีเงินใช้ ส่วน “สันติภาพ” นั้น มีความยุติธรรมและความเป็นธรรม
5.2) การรับรู้ข่าวสารกระบวนการพูดคุย
โดยเปรียบเทียบแล้ว ผู้นำความคิดจะทราบข่าวและสนใจติดตามกระบวนการพูดคุยมากกว่าประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะในส่วนของประชาชนทั่วไปนั้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ทราบข่าว (ร้อยละ 57.1) และอีกร้อยละ 38 นั้นไม่เคยได้ยินข่าว สำหรับความสนใจในการติดตามข่าวนั้นมีสัดส่วนใกล้เคียงกันระหว่างกลุ่มที่ติดตามบ้างและติดตามอย่างใกล้ชิด (ร้อยละ 40.9) กับที่ไม่ค่อยได้ติดตามข่าวหรือไม่ได้ติดตามเลย (ร้อยละ 53.3) สาเหตุส่วนหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปมีการรับรู้ข่าวสารที่ค่อนข้างจำกัด อาจจะเป็นเพราะแนวทางการพูดคุยที่ยังไม่มีการสื่อสารต่อสาธารณะมากนัก หรือการสื่อสารถูกจำกัดเฉพาะกลุ่ม
แต่สำหรับกลุ่มผู้นำความคิดแล้ว มีจำนวนมาก (ร้อยละ 80.4) ที่ทราบข่าวว่ามีการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ และให้ความสนใจติดตาม (ร้อยละ 63.4)
5.3) การสนับสนุนกระบวนการพูดคุย
ไม่ว่าจะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยมากน้อยเพียงใดก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนที่จะใช้การพูดคุยเจรจาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา (ร้อยละ 56.9) ในส่วนของผู้นำความคิดก็ให้การสนับสนุนเช่นเดียวกัน (ร้อยละ 72.7)
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจสะท้อนว่ามีกลุ่มคนที่ไม่แน่ใจว่าการพูดคุยเจรจาจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาได้หรือไม่อยู่จำนวนหนึ่งด้วย (ร้อยละ 27.5 ในส่วนประชาชนทั่วไป และร้อยละ 17.6 ในส่วนผู้นำความคิด) ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะกำลังรอดูท่าทีของทั้งสองฝ่ายในการพูดคุยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ก่อนที่จะตัดสินใจว่าสนับสนุนหรือไม่ก็เป็นได้
5.5) ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยที่กำลังดำเนินการอยู่
คำถามในประเด็นความรู้สึกเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จนั้น พบว่าประชาชนทั่วไปประมาณ 1 ใน 3 ที่รู้สึก “เฉยๆ” (ร้อยละ 36.3) และหากเปรียบเทียบความ “เชื่อมั่น” กับ “ไม่เชื่อมั่น” พบว่ามีสัดส่วนความเชื่อมั่นสูงกว่า (ร้อยละ 26.5 และ 19.4 ตามลำดับ) ในขณะที่ผู้นำความคิดส่วนใหญ่ร้อยละ 39.3 รู้สึกเชื่อมั่น
5.6) ข้อกังวลต่อกระบวนการพูดคุย
ข้อกังวลต่อกระบวนการพูดคุยในมุมมองของประชาชนทั่วไปและกลุ่มผู้นำความคิดมีความสอดคล้องกันว่า การพูดคุยจะไม่สามารถหยุดความรุนแรงได้จริง (ร้อยละ 65.1) และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามที่ตกลงกัน (ร้อยละ 61.9) รวมถึงจะมีฝ่ายที่ไม่รับฟังความต้องการของอีกฝ่ายอย่างจริงจัง (ร้อยละ 55.8) และประเด็นที่ผู้นำความคิดกังวลมากอีกข้อคือ การพูดคุยจะนำไปสู่สถานการณ์รุนแรงขึ้นกว่าเดิม (ร้อยละ 66.9)
5.7) ความหวังว่าจะเกิดข้อตกลงสันติภาพในอีก 5 ปีข้างหน้า
แม้ประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดจะมีข้อกังวลและความรู้สึกไม่เชื่อมั่นอยู่บ้าง แต่ทั้งสองกลุ่มยังมีความหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพกันลได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า (ร้อยละ 52.1 และ 61.1 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ที่รู้สึกไม่มีความหวังอยู่ด้วยจำนวนหนึ่งเช่นกัน (ร้อยละ 28.9 ในส่วนประชาชนทั่วไป และร้อยละ 23.3 ในส่วนผู้นำความคิด)
6. ข้อเสนอต่อกระบวนการพูดคุย
6.1) การมีส่วนร่วมของกลุ่มพลังต่างๆ
ในมุมมองของประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของกระบวนการพูดคุยนั้น ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดเห็นตรงกันว่า การจะให้การพูดคุยประสบความสำเร็จได้นั้น นอกจากการทำงานร่วมกันของรัฐบาลและขบวนการแล้ว ควรเปิดโอกาสให้ผู้นำศาสนาอิสลาม องค์กรปกครองส่วนท้องที่-ท้องถิ่น อุสตาซ องค์กรภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย (จากการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มต่างๆ 5 ลำดับแรก)
6.2) การบริหารปกครอง
คำถามใหญ่ข้อหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารปกครองพื้นที่ และเป็นที่ถกเถียงของหลายฝ่ายมาเป็นเวลานาน คือ หากต้องการจะให้ปัญหาความไม่สงบยุติลง ทางออกคือต้องให้พื้นที่นี้เป็นรัฐอิสระแยกออกจากประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดส่วนใหญ่เห็นว่า ปัญหาความไม่สงบจะยุติลงได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐอิสระแยกออกจากประเทศไทย หากรัฐบาลทำตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่จริงๆ (ร้อยละ 49.5 ในส่วนประชาชนทั่วไปและร้อยละ 58.8 ในส่วนผู้นำความคิด) แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ตอบอย่างชัดเจนว่าต้องเป็นรัฐอิสระ (เอกราช) เท่านั้นอยู่จำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน (ร้อยละ 10.9 ในส่วนประชาชนทั่วไปและร้อยละ 15.2 ในส่วนผู้นำความคิดตามลำดับ)
อีกคำถามสำคัญที่ตามมา คือ รูปแบบการบริหารปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่า รูปแบบที่อยากเห็นที่สุด คือ การกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย (ร้อยละ 25.2 ในส่วนประชาชนทั่วไป และร้อยละ 28 ในส่วนผู้นำความคิด)
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าควรเรียกขานชื่อของพื้นที่นี้ว่าอย่างไร ตัวเลือกอันดับหนึ่งที่ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดเห็นว่าเป็นชื่อเรียกที่เหมาะสมที่สุด คือ เรียกแยกเป็นรายจังหวัดไป (ร้อยละ 44.7 ในส่วนประชาชนทั่วไป และร้อยละ 41.7 ในส่วนผู้นำความคิด) อันดับสองคือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 32.8 ในส่วนประชาชนทั่วไป และร้อยละ 35.8 ในส่วนผู้นำความคิด) และอันดับสามในกลุ่มประชาชนทั่วไป คือ ปาตานี (ร้อยละ 6.6) และกลุ่มผู้นำความคิด คือฟาฏอนี (ร้อยละ 7)
6.3) แนวทาง/มาตรการที่คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายควรเร่งดำเนินการร่วมกัน
คำถามส่วนนี้จะมีทั้งหมด 14 ประเด็นให้ประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดได้พิจารณาว่า แนวทาง/มาตรการใดที่คณะพูดคุยของทั้งสองฝ่ายควรเร่งดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงในทางบวก ซึ่งได้คำตอบที่เรียงลำดับความเร่งด่วนตามตารางดังต่อไปนี้
|
ความเห็นของประชาชนทั่วไป |
ความเห็นของผู้นำความคิด |
---|---|---|
1 |
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน (ร้อยละ74.7) |
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน (ร้อยละ 84.1) |
2 |
การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรงกับเป้าหมายอ่อน (ร้อยละ 64) |
การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรงกับเป้าหมายอ่อน (ร้อยละ 67.7) |
3 |
การตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง (ร้อยละ 49.8) |
การตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง (ร้อยละ 62.6) |
4 |
การลดกำลังทหาร (ร้อยละ 49.6 ) |
การมีหลักประกันความปลอดภัยให้กับผู้เข้าร่วมกระบวนการพูดคุย (ร้อยละ 59.5) |
5 |
การให้ผู้แทนขบวนการที่อยู่ในคณะพูดคุยเข้ามาในพื้นที่ได้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรง (ร้อยละ 45.8) |
การให้ผู้แทนขบวนการที่อยู่ในคณะพูดคุยเข้ามาในพื้นที่ได้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรง (ร้อยละ 57.6) |
6 |
การใช้ พรบ.ความมั่นคง (มาตรา 21) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ45.3) |
การใช้ พรบ.ความมั่นคง (มาตรา 21) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ57.2) |
7 |
การมีหลักประกันความปลอดภัยให้กับผู้เข้าร่วมกระบวนการพูดคุย (ร้อยละ 43.4) |
การกำหนดให้กระบวนการพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติเพื่อเป็นหลักประกันความต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนรัฐบาล (ร้อยละ 53.3) |
8 |
การยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน (ร้อยละ 42.3 ) |
การลดกำลังทหาร (ร้อยละ 49.8 ) |
9 |
การกำหนดให้กระบวนการพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติเพื่อเป็นหลักประกันความต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนรัฐบาล (ร้อยละ 40.9 ) |
การยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน (ร้อยละ 46.7) |
10 |
การพักโทษนักโทษคดีความมั่นคงเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุย (ร้อยละ 35.3) |
การนิรโทษกรรม คดีความมั่นคงในบางกรณี (ร้อยละ 45.5) |
11 |
การนิรโทษกรรม คดีความมั่นคงในบางกรณี (ร้อยละ 32.6) |
การพักโทษนักโทษคดีความมั่นคงเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุย (ร้อยละ 44.7 ) |
12 |
การพูดคุยถึงสิทธิความเป็นเจ้าของพื้นที่นี้ของชาวมลายูปาตานี (ร้อยละ 31.7 ) |
การพูดคุยถึงสิทธิความเป็นเจ้าของพื้นที่นี้ของชาวมลายูปาตานี (ร้อยละ 39.3 ) |
13 |
การยอมรับว่ามาราปาตานีคือผู้แทนของขบวนการกลุ่มต่างๆในการพูดคุย (ร้อยละ 23.8 ) |
การยอมรับว่ามาราปาตานีคือผู้แทนของขบวนการกลุ่มต่างๆในการพูดคุย (ร้อยละ 28.4) |
14 |
การยอมรับให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยมากขึ้น (ร้อยละ20 ) |
การยอมรับให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยมากขึ้น (ร้อยละ 26.5 ) |
6.4) ประเด็นสำคัญในการทำพื้นที่ปลอดภัย
จากข้อเสนอแนวทาง/มาตรการที่คณะพูดคุยของทั้งสองฝ่ายควรเร่งดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงในทางบวก ประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดเห็นตรงกันว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด ซึ่งเมื่อให้ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสองกลุ่มจัดลำดับประเด็นสำคัญใน 3 ลำดับแรกของการทำพื้นที่ปลอดภัย คือ ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ต้องปลอดภัยจากความรุนแรง และไม่มีความรุนแรงตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ
6.5) ประเด็นที่รัฐบาลและขบวนการจำเป็นต้องทำหากจะแก้ปัญหาความรุนแรงระยะยาว
เมื่อให้ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสองกลุ่มจัดลำดับความสำคัญใน 5 ประเด็นแรกที่เห็นว่ารัฐบาลและขบวนการจำเป็นต้องทำหากจะแก้ปัญหาความรุนแรงระยะยาว พบว่า ประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิดเห็นพ้องกันใน 5 อันดับแรก คือ 1) การส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ 2) แก้ปัญหายาเสพติด 3) บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม การตัดสินอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม 4) การปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่มากขึ้น และ 5) การส่งเสริม สนับสนุน อัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม
หมายเหตุ: คณะที่ปรึกษาโครงการ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ คณะทำงานวิชาการ ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่, ดร.ฆายนีย์ ช. บุญพันธ์, จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม, ดร.ตายูดิน อุสมาน, ดร.นิวดี สาหีม, ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ, ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์, ดร.มะนะพียะ เมาตี, มูฮัมหมัดนาเซร์ หะบาแย, มูฮำมัดอายุบ ปาทาน, ผศ.ดร.เมตตา กูนิง, เมธัส อนุวัตรอุดม, รอบียะ เจ๊ะเลาะ, รอมฎอน ปันจอร์, ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล, รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ, ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, สุวรา แก้วนุ้ย, สุรชัย ไวยวรรณจิตร, อับดุลการิม อัสมะแอ, Dr.Norbert Ropers, Pauline Tweedie หัวหน้าทีมภาคสนาม ชคนึงนิจ มากชูชิต, ฆอซาลี อาแว, ดร.มะนะพียะ เมาตี, รอบียะ เจ๊ะเลาะ, ศุภสิทธิ์ สามะ, สุรชัย ไวยวรรณจิตร, สุวรา แก้วนุ้ย, อับดุลการิม อัสมะแอ ผู้ประสานงานการเก็บข้อมูล สุวรา แก้วนุ้ย คณะผู้ยกร่างรายงาน จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม, ดร.นิวดี สาหีม, ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์, เมธัส อนุวัตรอุดม, รอบียะ เจ๊ะเลาะ, สุวรา แก้วนุ้ย ทีมสนับสนุนการบริหารจัดการ ดวงฤดี มหัทธนาภรณ์, ศุภมาส วิริยะสกุลพันธุ์, นิภาพรรณ แก้วทอง, ประภาพร วัฒนพงศ์, อาวุธ ยีสมัน องค์กรเครือข่าย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยฟาฏอนี, ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, สภาประชาสังคมชายแดนใต้, มูลนิธิเอเชีย, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า สนับสนุนงบประมาณโดย สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า