มูฮำมัดอายุบ ปาทาน
การรุก-รับทางการทหารของรัฐและกลุ่มก่อความไม่สงบ หลังยุทธการพิทักษ์แดนใต้ปรากฏชัดขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ก่อน และดูเหมือนจะยิ่งรุนแรงขึ้นในสัปดาห์นี้ เมื่อมีการก่อเหตุยิงเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเสียชีวิต 2 คน ขณะที่ฝ่ายรัฐก็ยังคงเดินหน้าปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมในอีกหลายพื้นที่
หากการเข้าสืบค้นจับกุม กระจายกำลังควบคุมพื้นที่ ทั้งรุกทั้งตั้งรับ แล้วยังสกัดความรุนแรงไม่ได้ ขืนเป็นอย่างนี้ต่อไปก็เสียรังวัดไปเรื่อยๆ ไม่สามารถกอบกู้ความรู้สึกเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้ และเลวร้ายกว่านั้น คือ ไม่เชื่อน้ำยาของรัฐ
ถึงกระนั้นการยุติความรุนแรงเฉพาะหน้า ก็ไม่สำคัญเท่ากับการสถาปนาความสงบสุขอย่างยั่งยืนถาวร
ภายใต้มาตรการทางทหารที่เข้มข้น ปิดล้อมพื้นที่ ตรวจค้น และจับกุม เสียงต้านที่ออกมาแผ่วเบายิ่ง เนื่องจากรัฐอ้างหลักฐานที่มั่นคงแน่นหนาและพิสูจน์ได้ แต่อีกด้านหนึ่งกลับเป็นฝันร้ายของชาวบ้านซึ่งตกอยู่ในความหวาดผวาจากการถูกตรวจค้น ญาติพี่น้อง คนในครอบครัวถูกเชิญตัวไปสอบสวน
สายตาที่ชาวบ้านมองรัฐในขณะนี้ จึงเป็นสายตาแห่งความหวาดระแวง
อันที่จริงมาตรการเชิงรุกของรัฐเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อเดือนกรกฎฏาคม 2548 ครั้งนั้นรัฐใช้กลไกฝ่ายปกครองสำรวจบุคคลที่มีพฤติการณ์ต้องสงสัย และขึ้นบัญชีเอาไว้ จากนั้นก็เรียกให้บุคคลเหล่านี้มารายงานตัว ซึ่งต้องเข้ารับการอบรมในค่ายวิวัฒน์พลเมือง
แม้จะเป็นแนวทางเพื่อสลายแนวร่วมของกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ผลที่ออกมากลับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เมื่อปฏิบัติการดังกล่าวของรัฐ ตกเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มก่อความไม่สงบใช้โฆษณาชวนเชื่อ แพร่ข่าวลือว่าจะมีการกวาดจับคนในหมู่บ้าน ประกอบกับมีการสังหารชาวบ้าน ผู้นำศาสนา โดยจับกุมผู้กระทำผิดไม่ได้ ข่าวลือว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐก็กระหึ่มขึ้น ความหวาดกลัวปกคลุมไปทั่ว
ปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนภาวะความรู้สึกของชาวบ้าน คือกรณีคนไทย 131 คน ในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี และเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส อพยพเข้าไปยังรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2548 ซึ่งจนถึงขณะนี้ผ่านไปแล้วเกือบ 2 ปีก็ยังไม่กลับมา
คำให้สัมภาษณ์ของ นายนาญิบ ราซัค รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ต่อท่าทีของมาเลเซียในกรณีนี้น่าสนใจยิ่ง เขาบอกว่า "จะไม่ส่งตัวคนเหล่านี้กลับ จนกว่าจะเชื่อว่าสิทธิพื้นฐานของมุสลิมในภาคใต้ จะไม่ถูกล่วงละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย"
ครั้งนั้นกลุ่มก่อความไม่สงบ ได้เปรียบทางการเมือง จากการเปิดเกมรุกของรัฐไทย
ครั้งนี้แม้รัฐจะดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และมั่นใจในพยานหลักฐาน เรียกได้ว่าดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด แต่ด้วยสายตาที่ชาวบ้านมองรัฐด้วยความหวาดระแวง ปัญหาอาจไม่ใช่เพียงแค่ความยุติธรรม และความยุติธรรมก็ไม่อาจยุติปัญหาได้ หากยังมองข้ามในเรื่องความรู้สึกที่มวลชนมีต่อรัฐ
หากภาวะความรู้สึกเช่นนี้คงอยู่โดยไม่มีมาตรการบรรเทาก็เท่ากับว่ารัฐกำลังขยายช่องว่างกับชาวบ้านให้มากขึ้น ในภาวะเช่นนี้ไม่มีทางที่รัฐจะรุกซ้ำทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจรัฐ ในพื้นที่ ในหมู่บ้าน ให้ฟื้นคืนมาได้
การสานเสวนาพูดคุย แบ่งเบา บรรเทาความรู้สึกของชาวบ้าน ต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน โดยให้กลไกรัฐอื่นๆ นอกเหนือจากหน่วยกำลังรบได้เข้าไปขับเคลื่อนในหมู่บ้าน ปรับความรู้สึกของผู้คน เพื่อสลายเงื่อนไขในเชิงยุทธศาสตร์เป็นโจทย์สำคัญในสงครามความคิด การต่อสู้ซึ่งคงยืดเยื้ออีกนาน