ฟารีดา ปันจอร์
อาเจะห์ยังคงมีเสน่ห์และน่าค้นหาเรียนรู้เสมอ การเดินทางครั้งนี้แตกต่างไปจากก่อนหน้าตรงที่เราไปในฐานะทีมวิจัยที่พกพาคำถามไปมากมาย เตรียมพบกับผู้คนมากหน้าหลายตา และคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เราสังเกตเห็นว่าจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนสิงหาคมเช่นนี้นั้นมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่เดินทางมาเยือนดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเขตอันตรายจากการสู้รบ เราพบว่ามีไม่น้อยที่ตั้งใจมาท่องเที่ยวยังสถานที่อันน่าดึงดูดใจมากมาย เพิ่งรู้เหมือนกันว่าเกาะซาบัง (Sabang) ที่อยู่ปลายเกาะสุมาตรานั้นเป็นจุดหมายปลายทางของหลายคน ทะเลงดงามและอาจเปรียบได้กับภูเก็ตของไทย ในขณะที่ภาคกลางของอาเจะห์ (Aceh Tenga) ก็เป็นเขตที่มีธรรมชาติสวยงาม เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบการท่องเที่ยวแนวผจญภัย
งานวัฒนธรรมเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (ที่มา: merdeka.com)
แต่เดือนสิงหาคมยังสำคัญสำหรับอาจะห์ในทางการเมืองด้วยเช่นกัน เดือนนี้ของทุกปีเป็นเดือนแห่งสัญลักษณ์ของสันติภาพของอาเจะห์และการเฉลิมฉลองการเป็นเอกราชของอินโดนีเซีย กล่าวคือในช่วงระหว่างวันที่ 5-15 สิงหาคม 2561 เป็นสัปดาห์แห่งการแสดงศิลปะวัฒนธรรมอาเจะห์ ครั้งที่ 7 (Pekan Kebudayaan Aceh-PKA VII) ส่วนในวันที่ 15 สิงหาคม 2561 เป็นวันครบรอบ 13 ปี ของการบรรลุข้อตกลงสันติภาพหรือบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of understanding - MOU) ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียและขบวนการอาเจะห์เสรี (Gerakan Aceh Merdeka - GAM) และในวันที่ 17 สิงหาคมของทุกปีถือเป็นวันชาติอินโดนีเซีย
การมาเยือนอาเจะห์ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสในการสนทนากับผู้คนในหลากหลายประเด็นที่ห้อมล้อมไปด้วยบรรยากาศทางวัฒนธรรมและการรำลึกถึงหมุดหมายสำคัญทางการเมืองของผู้คนในภูมิภาคแห่งนี้ ตลอดจนความคึกคักของกระแสการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 และบทสนทนาหลากหลายที่เดินทางกลับไปมาระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสันติภาพอาเจะห์
บันดาอาเจะห์: เมืองร้อยร้านกาแฟ
สถานที่ส่วนใหญ่ที่ทีมนักวิจัยจากปัตตานีและผู้ช่วยภาคสนามนัดพบผู้ให้สัมภาษณ์ คือ ร้านกาแฟซึ่งมีอยู่ทั่วทุกถนนของเมืองบันดาอาเจะห์ ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดอาเจะห์แห่งนี้ ร้านกาแฟท้องถิ่นราคาย่อมเยาหลากหลายสไตล์ทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ คือพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนส่วนใหญ่นัดพบปะพูดคุย หาที่นั่งทำงานในร้านซึ่งส่วนใหญ่มีบริการปลั๊กและสัญญาณอินเตอร์เน็ท ถึงขนาดที่ชาวอาเจะห์บางคนบอกกับเราว่า “ความคิดดี ๆ มักออกมาจากร้านกาแฟ” แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอาจทำให้คนรุ่นใหม่ (และรุ่นเก่า) สนใจข่าวสารต่าง ๆ ในสมาร์ทโฟนมากกว่า ทำให้บางร้านถึงกับออกมาตรการเด็ดขาดว่าจะไม่มีบริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตและขอร้องให้ลูกค้าวางมือถือรวมกันไว้บนโต๊ะ เพื่อจะได้ใช้เวลาในร้านนั่งกินกาแฟและพูดคุยกับคนรอบข้างเสียบ้าง
อาราบิก้าซางัร (Arabica Sangar) หรือกาแฟเอสเพรสโซร้อน ราคาต่อแก้วประมาณ 15,000 รูเปีย (ราว 30 บาท) เป็นเมนูถูกใจของพวกเราทีมวิจัยจากปัตตานี กลิ่นและรสชาติของกาแฟอาราบิก้าที่ขมเข้มและหวานแหลมช่วยทำให้พวกเรารู้สึกตื่นตัวในการสนทนามากขึ้น
ในช่วงระหว่างความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน ร้านกาแฟยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนและนักกิจกรรมต่างเข้ามานั่งพูดสนทนาเรื่องต่าง ๆ องค์กรประชาสังคมแต่ละกลุ่มจะมีร้านกาแฟประจำของตนเอง ที่ถือเป็น Based Camp หรือฐานที่มั่นในกรทงน แต่ในช่วงความขัดแย้งพวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนร้านกาแฟไปเรื่อย ๆ และต้องรีบสนทนา เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าสายตาของทหารอินโดนีเซีย พื้นที่สาธารณะแบบนี้คือพื้นที่ที่ปลอดภัย หากเกิดความรุนแรงคนรอบข้างก็จะสังเกตเห็นได้ง่ายกว่า
นอกจากพื้นที่สาธารณะอย่างร้านกาแฟแล้ว การช่วงชิงความหมายของพื้นที่สาธารณะแบบอื่น ๆ ก็ปรากฏให้เห็นเช่นกัน เช่น การที่ฝ่าย GAM มักตั้งค่ายผู้อพยพลี้ภัยภายในประเทศ (IDPs) ตามแนวถนนก็เพราะเพื่อดึงความสนใจจากนักข่าวและประชาคมระหว่างประเทศว่าพวกเขาสามารถที่จะปกป้องประชาชนจากกองกำลังทหารอินโดนีเซียและแนวร่วมสนับสนุน GAM
อาเจะห์ อัตลักษณ์ และอิสลาม
ระหว่างนั่งสนทนาทีมวิจัยอยากทราบว่าคนอาเจะห์เรียกตัวเองอย่างไร มุสลิมอาเจะห์ คนมุสลิม หรือคนอาเจะห์ หรืออื่น ๆ ผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าในช่วงความขัดแย้ง คำว่าอาเจะห์ A – C - E - H มีความหมายที่รวมความแตกต่างหลากหลายของคนทุกกลุ่มในการสื่อสารอัตลักษณ์ของอาเจะห์ A คือ Arabs (คนอาหรับ) C คือ Chinese (คนจีน) E คือ Europeans (คนยุโรป) H คือ Hindus (คนฮินดู) ผู้ให้ข้อมูลยอมรับว่าในช่วงความขัดแย้งแม้คำดังกล่าวถูกให้ความหมายเพื่อรวมคนอาเจะห์ให้เป็นหนึ่งในการต่อสู้กับรัฐบาลกลางที่ชวา แต่พวกเขารู้สึกภูมิใจมากกว่า หากถูกเรียกว่าเป็นคนอาเจะห์มากกว่าชาวมุสลิมอินโดนีเซียทั่วไป เพราะพวกเขาภูมิใจในอัตลักษณ์ที่แตกต่างโดยเฉพาะภาษาและวัฒนธรรม
เช่นเดียวกับผู้ให้ข้อมูลจากสมาคมชาวจีนแห่งใหญ่ของอาเจะห์กล่าวในทำนองเดียวกันว่า แม้จะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา แต่รู้สึกตนเองเป็นชาวอาเจะห์ร่วมกัน โดยเฉพาะในช่วงการต่อต้านการกดปราบการเคลื่อนไหวของกลุ่มหรือสมาคมต่าง ๆ ในยุคซูฮาร์โต ปัจจุบันสิ่งที่เห็นได้ชัดคือชุมชนชาวจีนพยายามชูแนวความคิดความอดทนอดกลั้นและการยอมรับความแตกต่างหลากหลายในการอยู่ร่วมกันในสังคมอาเจะห์ เราถามว่าพวกเขาได้รับผลกระทบในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายชาริอะห์หรือไม่ ผู้ให้ข้อมูลกล่าวแบบยิ้ม ๆ ว่า ได้รับผลกระทบเฉพาะในแง่ของห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการพนัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยลดรายจ่ายจากการดื่มแอลกอฮอล์ลงไปบ้าง
การบังคับใช้ชาริอะห์ (กฎหมายอิสลาม) ถือเป็นข้อประเด็นถกเถียงในอาเจะห์อยู่เสมอ ในช่วงที่ทั้งฝ่าย GAM และรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังบรรลุข้อตกลงสันติภาพ ชาริอะห์ไม่ใช่สิ่งที่ GAM ต้องการ แรงขับเคลื่อนของ GAM คือ ความต้องการปลดปล่อยอาเจะห์ให้เป็นอิสระจากอินโดนีเซีย แต่เพื่อรักษาอาเจะห์ไว้ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงต้องยอมให้อำนาจในการบังคับใช้ชาริอะห์แก่ฝ่ายขบวนการเป็นการแลกเปลี่ยน
ทีมวิจัยสอบถามข้อมูลจากผู้ที่มีความคิดเห็นต่อการใช้ชาริอะห์ที่มีระบบลงโทษทางอาญา หลังจากได้เขตปกครองพิเศษ อาจารย์นิติศาสตร์ท่านหนึ่งไม่เห็นด้วยในการใช้ชาริอะห์เป็นที่หวาดกลัวของผู้คนในสังคมและสร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เธอเล่าถึงตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นคือ การพยายามออกกฎหมายการแต่งกายแบบมุสลิมที่ดี เหล่าอาจารย์กฎหมายต่อต้านเรื่องนี้เพราะไม่เห็นด้วยว่าชาวมุสลิมอินโดนีเซียจำเป็นต้องแต่งกายเหมือนกัน ซ้ำยังสร้างผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามอีกด้วย
นอกจากนี้องค์กรผู้หญิงภาคประชาสังคมอย่าง Balai Sura Aceh ก็พยายามเรียกร้องต่อการตีความการบังคับใช้กฎหมายชาริอะห์ที่กระทบต่อประเด็นเพศสภาพที่ไม่เป็นธรรม สิ่งที่ชุมชนวิชาการและองค์กรประชาสังคมดำเนินการและประสบความสำเร็จคือให้คำปรึกษาต่อผู้มีอำนาจในการทบทวนการออกกฎหมายให้การบังคับใช้ชาริอะห์ให้มีความเหมาะสมกับบริบท เป็นที่ยอมรับและคำนึงถึงความสำคัญต่อประเด็นปัญหาต่าง ๆ ให้มากขึ้น
งานสิทธิมนุษยชนในฐานะประตูสู่สันติภาพ
ผู้ให้ข้อมูลที่ทีมวิจัยเดินทางไปสัมภาษณ์ต่างเป็นผู้ทำงานผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์ในช่วงความขัดแย้งระหว่างกองกำลังทหารอินโดนีเซียและขบวนการอาเจะห์เสรี โดยเฉพาะหลังจากปี 2541 ซึ่งส่งผลทำให้มีผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตราว 10,000 คน ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่คือนักเรียน นักศึกษา และนักกิจกรรมในเวลานั้น น่าสนใจว่าองค์กรต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทั้งภาคประชาสังคมและรัฐต่างทำงานช่วยเหลือกันในช่วงความขัดแย้ง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงอย่าง LBH (Lambaga Bantuan Hukum) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและสนับสนุนสิทธิพลเมือง ส่วน Kontras (Komisi untuk Orang Hilang dan Korban Tindak Kekerasan) ซึ่งเป็นองค์กรที่เก็บรวบรวมกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่โหดร้าย ต่างทำงานประสานกับเพื่อนร่วมงานในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งอาเจะห์ หรือ Komnas HAM Aceh แม้กรรมการสิทธิมนุษยชนอาเจะห์ต้องขึ้นตรงและรายงานการทำงานทุกอย่างต่อสำนักงานที่จาการ์ตา แต่การได้รับมอบอำนาจตามหมายกระจายอำนาจของอาเจะห์ (The Law on the Governing of Aceh -LoGA) ทำให้สามารถทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องไปตามสภาพทางบริบทของอาเจะห์ด้วย
แง่มุมที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในช่วงความขัดแย้งก็คือ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดยองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่วาระในการปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกผลักดันจากองค์กรภาคประชาสังคมที่แตกต่างหลากหลายในแบบของตนเอง ซึ่งหมายถึงงานด้านมนุษยธรรมและการสนับสนุนให้เกิดพื้นที่การเมืองแนวราบที่ไม่ได้ปะทะกับรัฐ เช่น องค์กรผู้หญิงอย่าง Flower Aceh ที่เน้นงานเยียวยาและการพัฒนาคุณภาพชีวิต องค์กรอย่าง LINA พยายามสนับสนุนแนวทางการเมืองและผลักให้ GAM ยอมรับบทบาทการทำงานของผู้หญิง องค์กรเหล่านี้คือสมาชิกขององค์กรร่มใหญ่อย่างสภาองค์กรผู้หญิง (Balai Sura Aceh) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 500 คน จากหลากหลายชาติพันธุ์
Balai Sura Aceh เป็นองค์กรหญิงองค์กรแรกที่เสนอให้ GAM หาทางออกจากความรุนแรงโดยกระบวนการสันติภาพ ลักษณะการทำงานของเครือข่ายสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายมนุษยธรรมเหล่านี้ถูกเชื่อมร้อยโดยแนวคิดเชิงอาสาสมัครและการทำงานเชิงเครือข่าย แม้ยุทธศาสตร์ในการทำงานของแต่ละองค์กรจะแตกต่างกันแต่พวกเขาต่างช่วยเหลือกันไม่ว่าจะเป็นสมาชิก องค์ความรู้ หรือการเข้าถึงเงินทุนสนับสนุน
คลื่นสืนามิที่พัดพาความเปลี่ยนแปลง
บ่อยครั้งทีมวิจัยมักจะได้ยินมุมมองจากคนทำงานขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพกับสึนามิว่าเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพในปี 2548 แต่ไม่ใช่เป็นปัจจัยหลัก ความพยายามในการเข้าสู่กระบวนการสันติภาพของคู่ขัดแย้งก่อนหน้านั้นหลายครั้งต่างหากที่ทำให้สันติภาพบรรลุผล กระนั้นหากได้ฟังมุมมองจากคนในก็จะพบแง่มุมสำคัญว่า สึนามิได้ทำให้หน้าตาของความขัดแย้งค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงินจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาให้ความช่วยเหลืออาเจะห์อย่างมหาศาล (หลักล้านล้านรูเปีย) หรือการเข้ามาขององค์กรระหว่างประเทศทำให้ปัญหาความขัดแย้งในอาเจะห์ และเรื่องราวและข่าวสารต่าง ๆ ในอาเจะห์ที่ถูกสื่อสารไปยังประชาคมโลกมากขึ้น จากเดิมที่ข้อมูลข่าวสารมักถูกปิดกั้นจากรัฐบาล
การเข้ามาของทรัพยากรต่างประเทศทำให้หน้างานของนักกิจกรรมที่ทำงานในช่วงความขัดแย้งขยายเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามเป้าหมายของแหล่งทุนที่สนับสนุนโดยเฉพาะองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัยภายในประเทศ เหยื่อ และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ นอกจากนี้ สึนามิยังทำให้เกิดโอกาสของชุมชนวิชาการ ทั้งนักศึกษาและนักวิชาการที่ได้ทุนไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ในขณะที่นักวิจัยต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาเรื่องอาเจะห์ มีงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสึนามิและงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมิติของความขัดแย้งในอาเจะห์หลากหลายแง่มุมควบคู่กันไป
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือ เม็ดเงินและโครงการความช่วยเหลือต่าง ๆ ทำให้สมาชิก GAM เริ่มหันเหจากประเด็นความขัดแย้งและแนวทางการใช้ความรุนแรงมาให้ความสนใจประเด็นและกิจกรรมที่เป็นผลพวงจาก สึนามิมากขึ้น สมาชิก GAM จำนวนมากมีรายได้จากงานรื้อซากปรักหักพังและงานอื่น ๆ ที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันข้อตกลงสันติภาพก็ได้เปิดช่องทางและโอกาสทางการเมืองที่ให้ GAM สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองและได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลจากการสนับสนุนของประชาชนกว่า 60 % ในช่วงเวลานั้น
โอกาสของชุมชนวิชาการ
ผู้ให้ข้อมูลจากสถาบันนานาชาติด้านอาเจะห์และมหาสมุทรอินเดียศึกษา (International Centre for Aceh and Indian Ocean Studies - ICAIOS) มหาวิทยาลัยเชียห์กัวลา (Syiah Kuala University) กล่าวว่า ภายหลังจากสึนามิโอกาสของการเกิดขึ้นชุมชนวิชาการอาเจะห์เริ่มขยายตัว มหาวิทยาลัยและสถาบันจากต่างประเทศมากมายเข้ามาสนับสนุนให้ทุนกับมหาวิทยาลัยและนักวิจัยในอาเจะห์ในประเด็นต่าง ๆ เช่น กระบวนการสันติภาพ งานฐานข้อมูลความรุนแรง ประเด็นประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองของอาเจะห์หลังความขัดแย้งและสึนามิ ชุมชนวิชาการของอาเจะห์มีโอกาสที่ได้สร้างพื้นที่จากการร่วมกันทำงานระหว่าง 3 มหาวิทยาลัย คือมหาวิทยาลัยเชียห์กัวลา มหาวิทยาลัยอิสลามอัรรานิรี (Ar-Raniry State Islamic University) และมหาวิทยาลัยมาลิกูสาและห์ (Malikusaleh University) ไม่ว่าจะเป็นการประชุมวิชาการนานาชาติ ผลงานตีพิมพ์ การจัดเสวนาสาธารณะในระดับและระหว่างประเทศ สถาบันดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนหลักจากองค์กรระหว่างประเทศและได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในแง่สาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยเฉพาะอาคารสถานที่เช่น ห้องประชุม ห้องสมุดและพื้นที่ทำงานของนักวิจัยและนักศึกษา
น่าสนใจว่ามหาวิทยาลัยเชียห์กัวลานั้นเป็นมหาลัยที่เน้นการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จริง แต่มีห้องสมุดเล็ก ๆ ด้านสังคมศาสตร์ที่รวบรวมงานศึกษาด้านอาเจะห์และอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2513 มีระบบการเก็บรักษาและค้นหาอย่างเป็นระบบ มีนักวิจัยต่างประเทศแวะเวียนมาเติมเต็มหนังสือห้องสมุดและเป็นพื้นที่อบรมให้นักวิจัยทั้งสายวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ได้เรียนรู้หลักการทำวิจัยเชิงบูรณาการ
งานวิจัยที่ทำร่วมกันในตอนนี้คืองานวิจัยโบราณวัตถุตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 11 ที่ถูกคลื่นสึนามิพัดพาขึ้นมาเมื่อช่วงปี 2547 ซึ่งเผยให้เห็นความหลากหลายของเครื่องลายครามจากหลายประเทศที่เข้ามาเจริญความสัมพันธ์กับอาเจะห์ การศึกษาเชิงเปรียบเทียบติดตามชีวิตของเด็กในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่น ๆ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายอีกด้วย
โอโตโนมี: วิถีทางการเมืองของ GAM
ปี 2548 ภายหลังการบรรลุผลการเจรจาสันติภาพที่เฮลซิงกิโดยมีอดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์เป็นคนกลาง รัฐบาลอินโดนีเซียในเวลานั้นได้ประกาศอาเจะห์เป็นเขตปกครองพิเศษ และ “พรรคอาเจะห์” (Partai Aceh) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของ GAM ได้รับการสนับสนุนให้เข้ามาเป็นรัฐบาลท้องถิ่นถึง 2 ครั้ง
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโอกาสของ “โอโตโนมี” หรือในที่นี้คือเขตปกครองพิเศษนั้นได้ทำให้สมาชิก GAM ออกไปสังกัดพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งพรรคการเมืองท้องถิ่นและพรรคการเมืองระดับชาติ อดีตนายกเทศมนตรีและตัวแทนขบวนการ GAM คนหนึ่งให้ความเห็นว่า ในช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา การที่สมาชิก GAM ลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในทางการเมืองมากขึ้น แต่การอิงอยู่กับผลประโยชน์ของพรรคการเมืองต่าง ๆ ทำให้ความเป็นหนึ่งของอุดมการณ์และอำนาจต่อรองของ GAM อ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด ความอ่อนแอในการบริหารการเมืองของรัฐบาล GAM เองก็ยังไม่สามารถการยกระดับคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจและการศึกษาของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ยิ่งทำให้ GAM ได้รับการสนับสนุนและมีที่นั่งในสภาน้อยลง
เขากล่าวด้วยว่า ชาวอาเจะห์นั้นมีคติความเชื่ออยู่ว่า หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เขาจะไม่ได้รับโอกาสนั้นอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ในการเลือกตั้งปีหน้า (2562) หากพรรคอาเจะห์ หรือ GAM ไม่สามารถชูนโยบายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริงประชาชนก็จะไม่สนับสนุนพรรคอีกต่อไป ในตอนนี้สมาชิก GAM ที่กระจัดกระจายตามพรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มกลับมารวมตัวกันและทบทวนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตและใช้สถานะของ GAM ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลกลางทบทวนข้อตกลงหลายข้อใน MOU ที่ยังไม่บรรลุผล
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ GAM ประสบความสำเร็จหลังจากการได้รับโอกาสทางการเมืองคือ การที่พวกเขาจะไม่หวนกลับไปใช้ความรุนแรงอีกต่อไป แม้จะได้รับความนิยมลดลง ดูเหมือนพวกเขาจะเรียนรู้ว่าการพยายามต่อสู้ในวิถีการเมืองนี่เองคือวิธีการที่ดีที่สุดในการดำรงรักษาอุดมการณ์ของพวกเขา
สันติภาพและการเมืองของคนรุ่นใหม่
เป็นเวลาหลายสิบปีที่ความขัดแย้งในอาเจะห์ยุติลงด้วยกระบวนการเจรจาสันติภาพ ความเปลี่ยนแปลงมักเกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยความเปลี่ยนแปลงในเชิงกิจกรรมหรือเนื้อหาของการขับเคลื่อนสันติภาพ พร้อม ๆ กับการลดลงของแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากภายนอก อย่างไรก็ตาม สำหรับมุมมองของนักวิชาการและคนทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมหลายคนนั้นกล่าวตรงกันว่า แม้อาเจะห์จะมีปัญหาประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่เริ่มถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้นในช่วงหลังความขัดแย้ง เช่น ปัญหาความยากจน ภัยพิบัติ และความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนาในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ผลพวงที่เกิดจากประเด็นปัญหาใจกลางยังคงต้องได้รับแก้ไขต่อไป
คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและขบวนการ GAM อีกหลายข้อยังไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เขาหยิบยกประเด็นความล่าช้าในการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงและการสร้างความสมานฉันท์ที่เพิ่งแต่งตั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากกระบวนการสันติภาพผ่านไป 10 กว่าปี เนื่องด้วยความกังวลของคู่ขัดแย้งว่าพวกเขาจะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโทษในชั้นศาล แต่การตั้งคณะกรรมการฯ จำเป็นต้องดำเนินการภายใต้การตกลงสันติภาพในปี 2548 ดังนั้น กระบวนการค้นหาความจริงและการสร้างความสมานฉันท์ จึงถูกผลักดันต่อโดยกลุ่มทนายความและกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่ที่ช่วยกันร่างกฎหมายเพื่อตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งให้ทางเลือกกับเหยื่อที่ถูกกระทำในช่วงความขัดแย้งว่าจะให้อภัยกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงหรือเลือกใช้กระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด
จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของการตั้งคณะกรรมการฯ ต่างเกิดขึ้นจากความร่วมมือและช่วยเหลือจากองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรที่ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง แม้เวลาจะล่วงผ่านเลยมา 10 กว่าปี เช่นเดียวกับอดีตนักกิจกรรมหลายคนที่เริ่มฉวยใช้โอกาสของพื้นที่การเมืองลงรับสมัครเลือกตั้ง อาราบียานี อดีตนักกิจกรรมหญิงที่กำลังลงรับสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นในนามพรรคอาเจะห์ กล่าวว่ากฎหมายการกระจายอำนาจเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในโควต้า 30 % แต่แม้กฎหมายจะเปิดช่องทางดังกล่าว พรรคการเมืองต่าง ๆ กลับไม่ค่อยสนใจ อีกทั้งผู้สมัครหญิงส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคุณภาพและมักใช้เส้นสาย ตอนนี้เธอกำลังขับเคลื่อนในขณะนี้คือการฟ้องร้องคณะกรรมการเลือกตั้งเพื่อบังคับพรรคการเมืองให้เปิดรับสมัครผู้หญิงลงสนามการแข่งขันมากขึ้นและจะสนับสนุนคู่แข่งที่เป็นผู้สมัครหญิงต่างพรรค
เธอกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ผลักดันให้เธอเข้าสู่สนามการเมืองคือการมีเพื่อนนักกิจกรรมคอยช่วยเหลือ การมีช่องทางสื่อสารที่ทำให้เธอและคนรุ่นใหม่อีกหลายคนไม่กลัวการเลือกตั้งในการหยิบยกประเด็นปัญหาหลากหลายของผู้คนเข้าสู่สนามการเมือง
พูดถึงการเมืองของคนรุ่นใหม่ ก็พบว่ามีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง เมื่อลูกชายวัย 40 ของอดีตของประธานาธิบดีอินโดนีเซียอย่างอากุส ฮารีมูรตี ยุดโดโยโน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ได้เข้ามาเจาะฐานเสียงจากคนรุ่นใหม่ในอาเจะห์โดยชูสโลแกน “เยาวชนคือพลัง” (Muda adalah Kekuatan) เพื่อเตรียมการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า อากุสเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญของพรรคสำหรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนรุ่นใหม่ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นการรณรงค์ทางการเมืองเพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ที่น่าสนใจก็คือว่าตัวอากุสนี่เป็นลูกชายของซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน อดีตประธานาธิปดีในช่วงที่มีการงนามสันติภาพเมื่อ 13 ปีก่อน
เช่นเดียวกับอดีตนักกิจกรรมนักศึกษา ที่ทำงานในด้านการสื่อสารและศิลปะอย่าง Komunitas Kanot Bu ปัจจุบันพวกเขายังรวมตัวและยังคงใช้แรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการใช้ศิลปะทุกรูปแบบตามความถนัดของกลุ่มเพื่อนและเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นดนตรี การเขียนหนังสือ วาดภาพ ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นให้ให้มากที่สุด พวกเขากล่าวอย่างหนักแน่นต่อเป้าหมายในการทำงานว่า ทำอย่างไรให้สังคมรุ่นใหม่เรียนรู้ความเลวร้ายของสงครามที่ผ่านมาเพื่อไม่หวนกลับสู่สงครามเหมือนในอดีตอีกครั้ง สงครามเป็นเพียงเกมส์ของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อหวังผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนยังอยู่ในสภาวะยากจน พวกเขาได้กล่าวย้ำอีกว่า พวกเขายังคงต้องทำงานต่อไปเพื่อให้กลุ่มศิลปะในแขนงต่าง ๆ หันมาใช้ศิลปะในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลง และวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองไปพร้อม ๆ กันด้วย
คนอาเจะห์มองปาตานี
จากการสนทนากับนักกิจกรรมและนักวิชาการอาเจะห์หลายท่าน เราพบว่าพวกเขารับรู้เรื่องราวและความเป็นไปในจังหวัดชายแดนใต้อย่างดี หลายคนตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่างสถานการณ์ความขัดแย้งในอาเจะห์และที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย สำหรับอาเจะห์ สถานการณ์ความขัดแย้งค่อนข้างชัดเจน มีการคลี่คลายปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพโดยฝ่ายที่สามเข้ามาเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ย อีกทั้งยังมีสึนามิที่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดสันติภาพ แต่สำหรับชายแดนใต้ของเราหรือ “ปาตานี” พวกเขามองว่าหากเปรียบเทียบกับความเข้มแข็งของขบวนการ GAM ความไม่เป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายขบวนการต่อต้านรัฐในชายแดนใต้ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำพากระบวนการสันติภาพให้บรรลุผล อย่างไรก็ตามมุมมองที่สะท้อนจากการทำงานจากองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิชาการถือว่ามีจุดร่วมและสามารถไปปรับใช้ในการทำงานเพื่อสร้างสันติภาพได้
นอกจากนี้คนทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมอาเจะห์หลายคนซึ่งสะท้อนตรงกันว่า สิ่งที่ชายแดนใต้หรือปาตานีควรจะเรียนรู้คือ ความไม่พร้อมของอาเจะห์ในการเข้าสู่กระบวนการสันติภาพที่เร็วเกินไป เนื่องจากความจำเป็นในการยุติความรุนแรงและสึนามิที่เป็นตัวเร่ง ทำให้ปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ การศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนหลังความขัดแย้งยังไม่ได้รับการตอบสนองและแก้ไขอย่างดีพอ ดังนั้น การมีกระบวนการสันติภาพที่จะทำให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงและการไม่หวนกลับมาใช้มันอีกจึงมีความสำคัญพอ ๆ กับมิติการสร้างสันติภาพที่ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาอื่น ๆ ซึ่งเป็นชีวิตในทางสังคมของผู้คนด้วย
นักวิชาการรุ่นใหญ่คนหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยอัรรานีรี ให้ความเห็นว่า เขารู้จักกับนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนใต้หลายกลุ่มที่มาศึกษาต่ออาเจะห์และพบว่านักศึกษาไทยส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตมหาวิทยาลัย ไหนมาไหนเป็นกลุ่มเดียวกันและไม่ค่อยสื่อสารเรื่องราวของจังหวัดชายแดนใต้มากนัก ประเด็นสำคัญที่เขาอยากจะสะท้อนคือ สิ่งที่ทำให้คนรู้จักอาเจะห์และรับรู้ถึงสภาวะแห่งสันติภาพคือโอกาสที่ผู้คนได้สื่อสารกับโลกภายนอกจากการเดินทางไปศึกษาหรือทำงานในที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ ในทางกลับกันก็ยังเปิดโอกาสให้กับนักวิชาการหรือนักวิจัยที่เข้ามาศึกษาหรือทำงานในอาเจะห์ ทำให้มีข้อมูลและความรู้ที่หลากหลายหลั่งไหลไปสู่ชุมชนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเข้มแข็งในเชิงข้อมูลทางวิชาการ ศักยภาพในทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและการเปิดกว้างของผู้คน
การจัดการองค์ความรู้และโจทย์วิจัย
สาเหตุที่ทีมวิจัยสนใจเรื่องราวของอาเจะห์ ไม่ใช่เพียงเพราะรูปแบบของกระบวนการสันติภาพในช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น ก่อนหน้าที่จะลงภาคสนาม เราได้ทำการทบทวนวรรณกรรมและพบว่าใน เมื่อเราพูดถึงการสร้างองค์ความรู้ภายใต้สถานการณ์ของความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพนั้นจะพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากตำราวิชาการหรืองานวิจัย บ่อยครั้งทฤษฎีหรือแนวคิดสามารถนำมาปรับใช้ได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่องค์ความรู้ส่วนหลักมักจะมาจากประสบการณ์ของผู้คนที่เผชิญและพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งเอง
ในสถานการณ์ความขัดแย้งการผสานองค์ความรู้ระหว่างความรู้ในตำราและความรู้เชิงประสบการณ์มักเกิดขึ้นผ่านการสร้าง การปรับใช้ และการสื่อสารความรู้/ประสบการณ์ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทีมวิจัยใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจเรื่องราวในอาเจะห์ ตัวอย่างที่สะท้อนได้ดี คือการให้สัมภาษณ์อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งซึ่ง GAM ให้การยอมรับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะเจรจาในฝ่ายขบวนการในช่วงการเจรจาสันติภาพเมื่อปี 2545 อาจารย์ท่านนี้กล่าวว่าในช่วงเวลานั้นว่า ถ้อยคำอย่าง “กระบวนการสันติภาพ” เป็นสิ่งที่เขาไม่มีความรู้เลย ในขณะที่ชุมชนวิชาการในอาเจะห์ขณะนั้นก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคำเหล่านี้มากนัก กระบวนการสันติภาพหรือชุดความรู้ที่เกิดขึ้นหลังความขัดแย้ง สิ่งที่ทำให้กระบวนการเดินหน้าไป คือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคู่ขัดแย้ง การให้ความสำคัญกับชีวิตของผู้คนที่ตกอยู่ในความรุนแรงและการเปิดพื้นที่ให้คนได้พูดและได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจเรียกได้ว่ามีความสำคัญมากกว่าความหมายที่หยุดนิ่งตายตัวของสันติภาพ
ส่วนหนึ่งของบทเรียนจากองค์กรประชาสังคมที่พยายามสะท้อนในเรื่องนี้มาจากคนทำงานในองค์กรที่ชื่อ Katahati เธอบอกว่า ในช่วงความขัดแย้งองค์กรภาคประชาสังคมได้รับความรู้ในรูปแบบของการฝึกอบรมเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพมากมายที่ลงมายังพื้นที่ แต่บ่อยครั้งคนที่ทำงานภาคประชาสังคมเองไม่สามารถที่จะต่อยอดให้เกิดองค์ความรู้ที่มาจากตนเองได้ คนทำงานภาคประชาสังคมส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบเขียน จึงไม่สามารถที่จะถ่ายทอดความคิด ประสบการณ์ และสื่อสารเรื่องราวของตนเองได้ การเรียนรู้จากความผิดพลาดดังกล่าวทำให้ Katahati เป็นหนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมที่มุ่งเน้นงานจัดการความรู้ที่จะเป็นพื้นที่ในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการทำงานของเพื่อน ๆ องค์กรภาคประชาสังคม อีกทั้งยังสามารถต่อยอดการทำงานในประเด็นใหม่ ๆ เช่นงานวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวกับสุขภาพของผู้คนในชนบท ซึ่งครอบคลุมทั้งประเด็นอย่างเรื่องการถือครองที่ดินและมิติของสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เมื่อทำความเข้าใจจากมุมมองและประสบการณ์ของผู้คนที่ทำงานด้านสันติภาพ ทำให้ทีมวิจัยเริ่มอยากจะแสวงหาคำตอบซึ่งเป็นอีกครึ่งทางของงานวิจัยชิ้นนี้ ในระหว่าง 14 ปีของความขัดแย้งในชายแดนใต้/ปาตานี้แห่งนี้ มีความรู้และประสบการณ์อะไรบ้างที่เกิดขึ้นท่ามกลางความรุนแรง เราได้สร้าง ปรับใช้ และสื่อสารมันอย่างไร นี่คือคำถามที่เราพยายามตอบกัน
หมายเหตุ: ฟารีดา ปันจอร์ เป็นอาจารย์นักวิจัยของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บทความชิ้นนี้เสมือนเป็นบันทึกจากภาคสนามหลังจากที่เธอและเพื่อนในทีมวิจัยอันประกอบไปด้วยสุวรา แก้วนุ้ย และรอฮานี จืนารา ได้ลงเก็บข้อมูลวิจัยภาคสนามเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมาในประเด็นการจัดการองค์ความรู้ของอาเจะห์ช่วงระหว่างและหลังความขัดแย้ง