15 เวทีความรู้สาธารณะโดดเด่นหนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ปี พ.ศ. 2561
อิมรอน ซาเหาะ
หลายปีที่ผ่านมาในช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปีมักจะมีบทความที่สรุปประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ออกมาเสมอ ต่างจากครั้งนี้ที่หลายคนหันไปให้ความสนใจกับกระแสข่าวเกี่ยวกับการเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงมากกว่าประเด็นชายแดนใต้ (ซึ่งการลือกตั้งก็มีแววว่าจะถูกเลื่อนออกไปอีกเรื่อยๆ) จนทำให้บทความที่สรุปประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับชายแดนใต้ในรอบปีที่ผ่านมาดูเหมือนจะน้อยกว่าในปีที่ผ่านๆ มา หรือแม้แต่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งครบรอบ 15 ปีที่เหตุการณ์ความรุนแรงรอบใหม่ปะทุขึ้น แม้ว่าจะมีแถลงการณ์จาก BRN ออกมา ทว่าก็ถูกแย่งซีนด้วยข่าวพายุปาบึกที่ถล่มภาคใต้ช่วงวันที่ 3-5 มกราฯ อย่างไรก็ตามด้วยที่ผู้เขียนมักจะติดตามเวทีสาธารณะประเด็นสันติภาพชายแดนใต้เป็นประจำและเคยเขียนสรุปมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จึงใช้โอกาสนี้ประมวลเวทีสาธารณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสันติภาพชายแดนใต้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
โดยเวทีสาธารณะที่พูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพชายแดนใต้ยังคงถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี แม้ว่าในช่วงกลางๆ ปีจะรู้สึกได้ถึงจำนวนที่ลดน้อยลงของเวทีสาธารณะต่างๆ ถึงขนาดบางเดือนรู้สึกเงียบเหงาอย่างน่าใจหาย แต่โดยรวมแล้วในปีที่ผ่านมาก็ยังคงมีเวทีสาธารณะที่น่าสนใจอยู่หลายเวทีเช่นเดิม ทั้งประเด็นและวิทยากร ตลอดจนบรรยากาศต่างๆ ที่ยังคงเป็นสีสันให้ผู้คนในพื้นที่และผู้คนที่สนใจประเด็นชายแดนใต้หรือปาตานีได้เปิดพื้นที่ถกเถียงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไป โดยผู้เขียนจะประมวล 15 เวทีสาธารณะที่น่าสนใจในมุมมองของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าในรอบปีที่ผ่านมามีเวทีสาธารณะมากกว่านั้น ซึ่งเวทีที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
1 . งาน Damai Keluarga ครอบครัว ไกล่เกลี่ย สมานฉันท์
เริ่มต้นปีด้วยงาน DAMAI KELUARGA ครอบครัว ไกล่เกลี่ย สมานฉันท์ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี โดยมี ฯพณฯ ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวเปิดงาน ในงานยังมีวงเสวนาและการบรรยายจากวิทยากรหลากหลายท่านที่น่าสนใจ เช่น บาบออิสมาแอล สปันญัง อัลฟาฏอนี, รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด, ผศ.ดร.มะรอนิง สาแลมิง, ดาโต๊ะฮัมกา มะวิง, ผศ.ดร.รอฮานา สาแม็ง, ผศ.เจ๊ะเลาะ แขกพงศ์ เป็นต้น จัดโดย วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี และเครือข่าย
โดยจุดประสงค์ของงานนี้ก็เพื่อประชาสัมพันธ์และแถลงผลงานการวิจัยที่ผ่านมาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และความเป็นอยู่ของมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นในพื้นที่หลัก คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา
2. เวทีสาธารณะ “สันติภาพปาตานี ทำไมต้องประชาชน...”
28 กุมภาพันธ์ ของทุกปีมักจะมีงานใหญ่ๆ หลายงาน เพราะตรงกับวันสำคัญในอดีต คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่มีการลงนามใน "ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ" ระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น แต่ปี 2561 มีเพียงองค์กรเดียวที่จัดงานคือ สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือรู้จักกันดีในชื่อ PerMAS ได้จัดเวทีวิชาการ สันติภาพปาตานีทำไมต้องประชาชน ณ คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี วิทยากรประกอบไปด้วย อาเตฟ โซะโก ประธานกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ The PATANI มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ พล.ต.สิทธิ ตะกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ฮาฟิส ยะโกะ ประธาน PerMAS ดำเนินรายการโดย สูไฮมี ดุละสะ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมแลกจำนวนมาก อีกทั้งยังมีนักข่าวจากส่วนกลางมาไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวด้วย
โดยในปีที่ผ่านมา PerMAS ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่จัดงานเสวนามากที่สุด โดยเฉพาะงานเสวนาที่ตรงกับวันสำคัญในอดีต เช่น วงสนทนา ทัศนะ มุมมอง ต่อ "กองกำลังติดอาวุธแห่งชาติปาตานี" ที่ Patani Artspace จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 นำการสนทนาโดย ซาฮารี เจะหลง, อัสมาดี บือเฮง, รักชาติ สุวรรณ และ ฮัสนะ ยูโซ๊ะ และในวันเดียวกันก็มีวงเสวนาในเรื่องเดียวกันนี้ที่กรุงเทพฯ ด้วย วิทยากรโดย อ.อาทิตย์ ทองอิน และ ฮากิม พงติกอ โดยวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 มีเหตุการณ์ที่ขบวนการต่อสู้โจมตีฐานทหารและเกิดการปะทะกันจนเป็นเหตุให้กองกำลังของขบวนการต่อสู้เสียชีวิตสิบหกราย ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
วันที่ 13 สิงหาคม 2561 เป็นวันครบรอบ 63 ปี ฮัจยีสุหลงถูกบังคับให้สูญหาย PerMAS จัดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนถอดบทเรียน "คุณูปการเเละขบวนการต่อสู้ของฮัจยีสุหลง" กิจกรรมเกิดขึ้นด้วยกันสองเวที โดยในพื้นที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และที่กรุงเทพฯจัดขึ้นที่ห้องประชุมสภามหาวิยาลัยรามคำแหง รายละเอียดของวงเสวนา มีการถกเถียงเเลกเปลี่ยนถึงเเนวทางการต่อสู้ของฮัจยีสุหลงตั้งแต่ต้นของการต่อสู้ สภาพบริบทปาตานี และโลกยุคสมัยดังกล่าว ทั้งตัวละครอื่นที่มีบทบาทในขบวนการต่อสู้สมัยเดียวกัน โดยมี มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ เเละ รอมฎอน ปันจอร์ เป็นผู้นำวงเเลกเปลี่ยนในพื้นที่ ส่วนที่กรุงเทพฯ มี อ.อาทิตย์ ทองอิน ร่วมนำวงแลกเปลี่ยน
วันที่ 21 กันยายน 2561 ณ มูลนิธิวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาและพัฒนา กรุงเทพฯ PerMAS ยังได้จัดเสวนาเนื่องในวันสันติภาพสากล หัวข้อ ปาตานี : สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองเพื่อสันติภาพ วิทยากรโดย นายฮาฟิส ยะโก๊ะ ประธาน PerMAS ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินรายการโดย นางสาวซูรัยยา วาหะ ประธานองค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี -2P2D
วันที่ 25 ตุลาคม 2561 ณ ร้านบูคู PerMAS จัดเสวนา หัวข้อ “โศกนาฏกรรมตาบา เราต่างเป็นเหยื่อร่วมกัน" ร่วมพูดคุยโดย รักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ, อารีฟิน โสะ Patani Resouce, อานัส พงศ์ประเสริฐ Saiburi locker, ดร.อันธิฌา เเสงชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ฯ ม.อ.ปัตตานี ดำเนินรายการโดย ซูกริฟฟี ลาเต๊ะ
วันที่ 10 ธันวาคม 2561 ซึ่งตรงกับวันสิทธิมนุษยชนสากล PerMAS จัดกิจกรรมในหัวข้อ "สิทธิทางการเมืองกับทางออกสงครามปาตานี" มีการปาฐกถาในหัวข้อ "สิทธิทางการเมืองว่าด้วยการกำหนดชะตากรรมตนเอง" โดย ฮากิม พงตีกอ คณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ The Patani และเสวนาในหัวข้อ "สิทธิทางการเมืองกับทางออกสงครามปาตานี" วิทยากรเสวนาโดย มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานมูลนิธินูซันตารา Nusantara Patani รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ Deep South Watch ฮาฟิส ยะโกะประธาน PerMAS ดำเนินรายการโดย ลุกมาน อีเมทา โดยงานนี้มีการประชาสัมพันธ์ในช่วงแรกๆ ว่าจะจัดที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แต่ได้ประกาศในตอนหลังว่าย้ายไปจัดที่ร้านบูคู เนื่องจาก ม.อ.ปัตตานีไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดงาน
3. เวทีเสวนาสาธารณะ "พหุวัฒนธรรม: อดีตและปัจจุบันของความหลากหลายในปาตานี"
งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ณ ห้องน้ำพราว 1 โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยมีสองช่วงหลักๆ ที่น่าสนใจ คือ เวทีเสวนาเพื่อเปิดตัวหนังสือ เรื่อง “พหุวัฒนธรรม : อดีตและปัจจุบันของความหลากหลายในปาตานี” วิทยากรโดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี สาขาวิชาสันติศึกษา ม.พายัพ ดร.อัมพร หมาดเด็น สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ดร.อันธิฌา แสงชัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ดำเนินรายการโดย อ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ร่วมวิพากษ์โดย อ.งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล และ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้
ช่วงต่อมา คือ เวทีเสวนาเพื่อเปิดตัวหนังสือ เรื่อง ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย ฉบับภาษาไทย วิทยากรโดย ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดีย์ พนมยงค์ ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร อ.อลิสา หะสาเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch ดำเนินรายการโดย อ.จิรวัฒน์ แสงทอง สำนักวิชาศิลปะศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
นอกจากงานดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลายวงเสวนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพหุวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เช่น งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “แสง น้ำ และรวงข้าว: ทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น” เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ Patani Artspace จ.ปัตตานี วิทยากรโดย ผศ.ดร.เดชา ตั้งสีฟ้า ผศ.ดร.สุรัยยา สุไลมาน และ ซะการีย์ยา อมาตยา ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง และงานเสวนา "สนทนากับพหุวัฒนธรรม บทสะท้อนจากนักวิชาการอิสลาม" เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ที่ Patani Artspace เช่นเดียวกัน วิทยากรโดย ผศ.เจ๊ะเลาะ แขกพงศ์ ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) และอุสตาซซอลาฮุดดิน หะยียูโซ๊ะ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง เป็นต้น
ยังมีอีกวงเสวนาที่น่าสนใจ คือ งานเสวนาในหัวข้อ "สังคมพหุวัฒนธรรม: การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ" วิทยากรโดย ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ ดร.พัทธ์ธารา นาคอุไรรัตน์ และ ลม้าย มานะการ ดำเนินรายการโดย อ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ: วันสันติภาพสากล ครั้งที่ 3 "ศาสนากับสันติภาพ" เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุม 210 สำนักงานอธิการบดี ม.อ.หาดใหญ่ จัดโดย สถาบันสันติศึกษา
4. เวทีสาธารณะ “สิทธิในการกำหนดใจตนเองเพื่อสันติภาพปาตานี”
งานนี้จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นวงเสวนาทางวิชาการ เรื่อง Right to self-Determination สิทธิในการกำหนดใจตนเองเพื่อสันติภาพปาตานี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.อณัส อมาตยกุล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย อ.พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
โดยงานดังกล่าวนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นชื่องานรวมไปถึงวิทยากร แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่าเหตุใดเวทีที่พูดถึงเรื่องสิทธิในการกำหนดใจตนเองเพื่อสันติภาพปาตานี กลับไม่มีคนปาตานีอยู่บนเวทีสักคน หรือถูกปฏิบัติการ IO โจมตีในโลกออนไลน์ถึงประเด็นการจัดงานในหัวข้อ Right to self-Determination ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากในพื้นที่ จนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ต้องออกแถลงการณ์อธิบายข้อเท็จจริง พร้อมเผยแพร่วีดีโอย้อนหลังเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจตรงกัน
5. เสวนาวิทยาศาสตร์ "วิทยาศาสตร์ของคนในดินแดนชายขอบ"
งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 ณ ห้องประชุมอีหม่ามอัลนาวาวีย์ ตึกวิทยาลัยอิสลามศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง วิทยาศาสตร์กับการหนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้ โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี การเสวนาหัวข้อ “วิทยาศาสตร์ของคนในดินแดนชายขอบ” วิทยากรโดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ดร.อาฎิล ศิริพัธนะ ดร.นารีมัส เจะและ และ อ.มูฮัมหมัดริฎวาน สมานุรัตน์ ดำเนินรายการโดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ จัดโดย กลุ่มพหุชนคนอาสา (The congregational assistance project) หรือ The CAP ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (CSCD) และ ปาตานีฟอรั่ม (Pataniforum)
เป็นอีกปีที่ทีมงานของ The CAP คิดงานเสวนาที่มีเป้าหมายเพื่อหนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องสันติภาพโดยตรง อย่างเมื่อปีที่แล้วก็พูดถึงเรื่องการเดินทาง ส่วนปีนี้พูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ โดยมีเยาวชนคนรุ่นใหม่สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนมากเช่นเดิม ต้องมาลุ้นกันดูว่าในปี 2562 นี้ พวกเขาจะยังคงสร้างสรรค์เวทีเสวนาประเด็นใหม่ๆ ขึ้นมาอีกหรือไม่
6. เวทีสาธารณะ “ปัญหาชายแดนใต้กับอนาคตประเทศไทย”
งานนี้ถูกจัดขึ้น 2 ครั้ง ทั้งในพื้นที่และที่ส่วนกลาง เวทีแรกคือ งาน คน + คน = สันติภาพ (People + People = Peace) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ณ อาคารพรี-คลีนิค คณะวิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในงานมีการเปิดตัวงานวิจัย “คนพุทธย้ายถิ่น” และ “ข้อเสนอไทยพุทธเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” โดย อัญชลี คงศรีเจริญ และ ลม้าย มานะการ ดำเนินรายการโดย อิมรอน ซาเหาะ และการเปิดตัวงานวิจัย “พหุวัฒนธรรมกับผู้นำ-ผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้” โดย ผศ.ดร. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง วิพากษ์โดย ผศ.ดร.บัณฑิต ไกรวิจิตร
นอกจากนั้นยังมีวงเสวนา เรื่อง “คน + คน = สันติภาพ : บทเรียนการทำงาน 3 ปีของภาคประชาสังคม” โดย ผู้แทนจาก 5 องค์กร ได้แก่ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและเครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความฯ (MAC/SPAN) เครือข่ายคนพุทธเพื่อสันติภาพ (B4P) ปาตานีฟอรั่ม (Patani Forum) และกลุ่มสายบุรีลุคเกอร์ (Saiburi Looker)
เวทีที่ 2 คือ ปัญหาชายแดนใต้กับอนาคตประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2561 ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในงานมีวงเสวนา เรื่อง ประชาสังคมชายแดนใต้กับสันติภาพแนวราบ วิทยากรโดย มูหมัดอัสมิง เปาะแมรีซอ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม, ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ เครือข่ายวาระผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้, รักชาติ สุวรรณ์ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ, อ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ ปาตานีฟอรั่ม และ อานัส พงศ์ประเสริฐ สายบุรีลุคเกอร์
นอกจากนั้นยังมีวงเสวนา เปิดโลกปัญหาชายแดนใต้กับอนาคตประเทศไทย วิทยากรโดย โซรยา จามจุรี, อัญชลี คงศรีเจริญ, ปรัชญา โต๊ะอีแต, อับฮา เบ็ญจมนัสกุล, วอเฮะ เจ๊ะแม และ อ.อาทิตย์ ทองอินทร์ ดำเนินรายการโดย ณรรธราวุธ เมืองสุข สรุปและปิดงาน โดย ผศ.ดร.มูฮำหมัด อิลยาส หญ้าปรัง โดยทั้งสองงาน จัดโดย มูลนิธิเอเชีย
7. งาน Waqaf Madinatussalam และ Waqaf JISDA
งานแรกคืองานมหกรรมวากัฟ ครั้งที่ 2 และงานวันพบปะมุสลีมะห์ ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2561 ที่บริเวณมูลนิธิมะดีนะตุสสลาม (ปัตตานีจายา) อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งจัดโดยจังหวัดปัตตานี สำนักงานการศึกษาธิการจังหวัด, มหาวิทยาลัยฟาฏอนี,วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, สภาความร่วมมือองค์กรสตรีมุสลิมเพื่อสันติภาพ มูลนิธิมะดีนะตุสสลาม (ปัตตานีจายา) และสมาคมสตรีไทยมุสลิมจังหวัดปัตตานี มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดงาน และมีนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมายค่อยให้ความรู้บนเวทีตลอดสอง
งานที่สองคืองานระดมทุนเพื่อก่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้น สถาบันอิสลามศึกษาชั้นสูงเช็คดาวุดฟาฏอนีอัลอิสลามียะห์ (JISDA) ระหว่างวันที่ 21-22 เมษายน 2561 ที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในงานมีกิจกรรมวิชาการมากมายบนเวที โดยมีวิทยากรจากทั้งในพื้นที่และต่างประเทศคอยให้รู้ตลอดงาน เช่น วงเสวนาวิชาการ “วิวัฒนาการการศึกษา” วิทยากรโดย ดาโต๊ะ ดร.บัดรุดดีน อดีตกอรีรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย , แซะมารวาซี , อามีนุดดีน เบ็ญ ฮายีอับดุลรอฮีม และ อาฮมัดฮุซซาม เบ็ญมูฮัมหมัดบัดรุดดีน เป็นต้น
8. เวทีสาธารณะ "สันติภาพที่เรามุ่งหวัง พลังขับเคลื่อนที่ขาดหาย"
เวทีเสวนาสาธารณะ "สันติภาพที่เรามุ่งหวัง พลังขับเคลื่อนที่ขาดหาย" จัดขึ้นภายในงาน "สลามชาวไทยปัตตานี" เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2561 ณ สนามกีฬากลาง อบจ.ปัตตานี วิทยากรร่วมเสวนาโดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, มูฮำมัดอายุบ ปาทาน, ดร.อานิส พัฒนปรีชาวงศ์, และท่านจันทร์ สมณะจันทเสฏโฐ ดำเนินรายการโดย ดร.ฮาฟิส สาและ นอกจากนั้นภายในงานยังมีวงเสวนา “อิสลาม...ระบอบชีวิตที่สันติ” วิทยากรโดย อ.นาอีม วงศ์เสงี่ยม อ.มุฮัมหมัดฆอซาลี บินเซ็ง และ อ.มุฮัมหมัดต็อยยอบ ฮามะ และมีปาฐกถพิเศษ หัวข้อ “อิสลาม...ศาสนาแห่งสันติภาพ” โดย รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา จัดโดย White Channel สถานีความดี 24 ชั่วโมง มีผู้สนใจเข้างานร่วมจำนวนมาก
โดย White Channel ยังได้จัดงานในลักษณะที่คล้ายงานเดียวกันนี้อีกครั้ง คือ งานต่าง..ก็รักกัน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2561 ณ สนามช้างเผือก เทศบาลนครยะลา ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากเช่นเดิม
9. เวทีสาธารณะ "Anarchism and BRN: ทำความเข้าใจบีอาร์เอ็นผ่านแว่นตาอนาธิปไตย"
งานนี้จัดโดย โรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (College of Deep South Watch) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2561ณ ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อาคารเรือนพักรับรอง ม.อ.ปัตตานี เป็นการบรรยายสาธารณะในหัวข้อ Anarchism and BRN ทำความเข้าใจบีอาร์เอ็นผ่านสายตาอนาธิปไตย โดย พอล โมรูชง นักศึกษาปริญญาเอกสถาบันภูมิรัฐศาสตร์แห่งฝรั่งเศส, มหาวิทยาลัยปารีส 8 โดยงานนี้เป็นที่สนใจของพื้นที่ไม่น้อย เพราะมีการประชาสัมพันธ์ก่อนงานแค่เพียงไม่กี่วัน แต่ในวันงานมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีงานบรรยายสาธารณะ เรื่อง "ทบทวนแนวทางการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ(ปปส.)ในชายแดนใต้" โดย ดร.พอล แชมเบอร์ส อาจารย์ประจำและที่ปรึกษาวิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ณ ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อาคารเรือนพักรับรอง ม.อ.ปัตตานี เช่นกัน
นอกจากนั้นยังมีงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSW)ที่น่าสนใจอีก 2 งาน โดยครั้งนี้จัดร่วมกับสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (CSCD) คือ วงเวียนวิจัย ครั้งที่ 1 : อิสลามในความเคลื่อนไหว (Islam in Movements) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ประเด็นนำเสนอ คือ บทบาทของ 'อิควานุลมุสลิมูน' ในการเมืองอียิปต์หลังอาหรับสปริง โดย ศิริวัฒน์ ฮะยีเลาะ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี และประเด็น การปรับตัวทางการเมืองของกลุ่ม Salafi-reformist ในประเทศไทย โดย ดร.ฮาฟิส สาและ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี นำอภิปรายเปิดประเด็นโดย อัสนี ดอเลาะแล ประธานศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา ดำเนินรายการโดย อิมรอน ซาเหาะ
วงเวียนวิจัย ครั้งที่ 2 หัวข้อ (พรรค)การเมือง การเลือกตั้ง และชายแดนใต้ Political (Parties), Election and the Deep South ประเด็นย่อย คือ การเมืองเรื่องสามจังหวัด: ทหารธิปไตยหรือประชาธิปไ(ท)ย? โดย ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และประเด็น พรรค(นัก)การเมืองมุสลิมในประเทศไทย: บทสนทนาระหว่างอิสลามและประชาธิปไตยกับทางเลือกในการต่อสู้ โดย อิมรอน ซาเหาะ เจ้าหน้าที่/นักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งฯ ม.อ.ปัตตานี นำอภิปรายโดย มูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา อดีตกรรมการนโยบายพรรคชาติไทยพัฒนา นักศึกษาปริญญาเอกสาขาการจัดการองค์กร University Utara Malaysia ดำเนินรายการโดย อ.ฟารีดา ปันจอร์ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ณ ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อาคารเรือนพักรับรอง ม.อ.ปัตตานี
10. เวทีสาธารณะ “สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทย ต่ออนาคตสันติภาพปาตานี”
งานนี้จัดโดย สหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) เป็นการเสวนาพิเศษเนื่องในวันประชาธิปไตยสากล ในหัวข้อ “ สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทย ต่ออนาคตสันติภาพปาตานี” เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุม PATANI CENTER อาคารคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี (หลังเก่า) วิทยากรร่วมเสวนาโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ ตัวแทนพรรคเกรียน, อารีเพ็ญ อุตรสิทธุ์ ตัวแทนพรรคประชาชาติ, จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์, พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ตัวแทนพรรคสามัญชน, รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ และ อาเต็ฟ โช๊ะโก ตัวแทนขบวนการกำหนดชะตากรรมตนเอง (ปาตานี) โดยขบวนการกำหนดชะตากรรมตนเองปาตานีเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองในระบบการเมืองไทยแต่อย่างใด ดำเนินรายการโดย คุณสุไฮมี ดูละสะ
นอกจากนั้นยังมีเวทีเสวนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองหรือการเลือกตั้งอีกหลายเวทีที่น่าสนใจ เช่น เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง "อนาคตสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน" โดยมีนักการเมืองรุ่นใหม่จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคภูมิใจไทย ร่วมเสวนา ณ ม.อ.ปัตตานี ดำเนินรายการโดย อ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ หรือต้นปีมีงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง "การเลือกตั้งและความขัดแย้งในสังคมไทย" เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 วิทยากรโดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร, รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก, ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จัดโดย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี เป็นต้น
อีกเวทีสาธารณะในประเด็นดังกล่าวนี้ที่น่าสนใจ คือ งาน “ออแฆกำปงเสวนา” ครั้งที่ 2 "ทรัพยากรที่ดินชายแดนภาคใต้: พรรคการเมืองกับบทบาทในการแก้ปัญหา" เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561 ณ บริเวณมัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย ธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย, วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานงานฝ่ายกฎหมายและอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, ปกรณ์ อารีกุล โฆษกพรรคพรรคสามัญชน และ นิรามาน สุไลมาน กรรมการบริหารพรรคของพรรคอนาคตใหม่ ดำเนินรายการโดย อ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ลัยสงขลานครินทร์
อีกเวทีที่น่าสนใจเช่นกัน คือ งานเสวนาวิชาการ "การก่อร่างการเมือง/มวลชนฝ่ายขวา ผ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทย " เมื่อวัน ที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ณ ร้านหนังสือบูคู จ.ปัตตานี มีวิทยากรหลากหลายท่าน เช่น โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ตัวแทนพรรคประชาชาติ อ.อุเชนทร์ เชียงเสง เป็นต้น โดยงานนี้วางกำหนดการไว้ตอนแรกว่าจะจัดที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แต่ต้องย้ายไปจัดที่ร้านบูคู เพราะ ม.อ.ปัตตานี ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดงาน
ช่วงเกือบปลายปียังมีอีกวงเสวนาที่น่าสนใจ คืองานเสวนาหัวข้อ “บทบาทผู้หญิงในทางการเมือง” ในเวทีการสัมมนาเรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาชายแดนใต้ จัดโดย Civic Women และ Un Women เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561ที่ จ.สงขลา โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองหลากหลายพรรคเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน อาทิ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคสามัญชน เป็นต้น
11. เวทีสาธารณะ "เราทั้งผอง พี่น้องกัน"
งานนี้จัดโดย สำนักจุฬาราชมนตรี และเครือข่าย ชื่องาน {เราทั้งผอง..พี่น้องกัน} เพื่อการสร้างสมานฉันท์สู่สังคมพหุวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 15-16 กันยายน 2561 ณ มัสยิดกลางจังหวัดสงขลา มีท่านจุฬาราชมนตรีกล่าวเปิดงาน และมีวิทยากรมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจหลากหลายท่าน เช่น ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ, พระครูสิริญาณวิมล, ศจ.โมเสส เลิศพฤทธิพร, อ.อาลี เสือสมิง, นุ๊ก สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา, ลม้าย มานะกาล, โซรยา จามจุรี, ฐปนีย์ เอียดศรีไชย, จิมมี่ ชลาวา, หทัยมาต ปูรณานนท์ เป็นต้น
โดยท่านจุฬาราชมนตรีกล่าวตอนหนึ่งในช่วงเปิดงานว่า “ความเป็นพี่น้องกันในพื้นพิภพนี้ได้กำหนดมาตั้งแต่ดั้งเดิม เพราะมนุษย์ทุกคนคือบ่าวที่ถูกสร้างและมีความทัดเทียมกัน ศาสนาอิสลามยอมรับในความแตกต่างของมนุษยชาติบนหลักพื้นฐานที่ว่า มนุษยชาติถือกำเนิดมาจากบุรุษคนเดียวกัน คือ อาดัม การแบ่งก๊ก เป็นเหล่า ความต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรม มิใช่อุปสรรคของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุขและเป็นพี่น้องกัน ดังพระดำรัสแห่งอัลลอฮ์ พระองค์ทรงตรัสไว้ ความว่า “มนุษยชาติทั้งหลาย เราได้สร้างพวกเจ้าทั้งหลายจากชายและหญิง ได้แก่ อาดัมและฮาวา และเราได้ให้พวกเจ้าเป็นชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อพวกเจ้าจะได้ทำความรู้จักกัน” การรู้จักกันจะนำมาซึ่งการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การสร้างความเข้าใจและการร่วมมือระหว่างกัน จนในสุดเราทั้งผองคือพี่น้องกัน เพื่อรังสรรค์สังคมให้มีความสงบสุขและความมั่นคงตลอดไป และพลังยึดมั่นศรัทธาที่มีต่อหลักคำสอนของศาสนา จะเป็นพลังแห่งความยำเกรงและผลักดันให้มนุษย์มีศีลธรรม และยึดมั่นในจริยธรรมสืบไป”
12. เวทีสาธารณะ From Violence to Peace? Thailand's Deep South and Indonesia's Aceh Province
งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ที่ the Foreign Correspondents Club of Thailand (FCCT) Penthouse, Maneeya Center in Bangkok. วิทยากรโดย Dr.Napisa Waitoolkiat (Director, College of ASEAN Community Studies, Naresuan University), Dr.Paul Chambers (College of ASEAN Community Studies, Naresuan University), Asst.Dr.Srisompob Jitpiromsri (Director of Center for Conflict Studies and Cultural Diversity and Director of Deep South Watch, Prince of Songkhla University), Ms.Soraya Jamjuree (Leader of Peace Agenda of Women (PAOW), Dr.Teuku Zulfikar (Former Director of International Centre for Aceh and Indian Ocean Studies (ICAIOS), Mr.Juanda Djamal (Director of KontraS Aceh)
นอกจากนั้นยังมีเวทีสาธารณะ เรื่อง “ACEH PATANI คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าในการเปลี่ยนแปลง” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2561 ณ Patani Artspace จ.ปัตตานี วิทยากรโดย Otto Syamsuddin Ishak, Juanda Djamal, Prof.Eka Sri Mulyana, อัญชนา หีมมิหน๊ะ, มะยุ เจ๊ะนะ ดำเนินรายการโดย ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ และแปลภาษาโดย อ.ฮารา ชินทาโร่ ทั้งสองงานจัดโดย วิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา ม.นเรศวร สถานวิจัยความขัดแย้งฯ ม.อ.ปัตตานี และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
13. เวทีสาธารณะ "สุรินทร์ พิศสุวรรณ : ชีวิตไร้พรมแดน Surin Pitsuwan: No Man is an Island"
งานนี้จัดโดย สถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2561 ณ หอประชุมสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิทยากรโดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร, รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน, อ.อุสมาน ราษฎร์นิยม, อ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล, เพ็ญพิชา เอกพิทยตันติ และ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ โดยมี ซะการีย์ยา อมตยา อ่านกวี "บทกวีระหว่างสองโลก" มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นยังสถาบันสมุทรรัฐฯ ยังได้จัดเวทีสาธารณะ หัวข้อ ตันศรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ : คุณูปการต่อภูมิภาคอาเซียนและเวทีโลก เนื่องในวันระลึกอาเซียนครบรอบ 51 ปี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิทยากรโดย ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม, ศ.ดร.ครองชัย หัตถา, ฮูวัยดียะห์ พิศสุวรรณ และ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ (ออนไลน์) ดำเนินรายการโดย อ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ กล่าวรายงานโดย รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ
14. เวทีประชุมวิชาการสาธารณะ "ผ่าวิกฤติปาเลสไตน์: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต"
งานนี้ถือเป็นการรวมตัวของนักวิชาการสายสังคมศาสตร์มุสลิมของประเทศไทยก็ว่าได้ ชื่องานคือ โครงการสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง ผ่าวิกฤตปาเลสไตน์ : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต หรือ International Seminar on Palestine: Past, Present and Future จัดโดย ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสภาเครือข่ายช่วยเหลือมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี และเครือข่ายมหาวิทยาลัย องค์กรกว่า 40 แห่ง ระหว่างวันที่ 22- 23 พฤศจิกายน 2561 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิทยากรโดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม, รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา, ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี, ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ, ผศ.ดร.อับดุลรอนิง สือแต, ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ, ดร.ฮาฟิส สาและ, ดร.อณัส อมาตยกุล, ดร.ศราวุฒิ อารีย์, ดร.มาโนชญ์ อารีย์, ดร.นิพนธ์ โซะเฮง, ดร.ยาสมิน ซัตตาร์, อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูรณ์, อ.อาทิตย์ ทองอิน, อ.ซากีย์ พิทกษ์คุมพล, สุณัย ผาสุข เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการจากต่างประเทศอีกหลายท่าน เช่น Madam Mary Ann Wright, Anwar Ibrahim, YB HJ Mohd Anuar Mohd Tahir, Prof.Mohd Nazari Ismail, Asst.prof.Nicholas Ferriman, Asst.Prof.Dr.Hafid Mohd Noor เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีวงเสวนา "70 ปี วิกฤติความขัดแย้งในดินแดนปาเลสไตน์" อีกสองวง เมื่อวันที่ 17 และ 18 ธันวาคม 2561 ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนีและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปาฐกถาพิเศษโดย ดร.วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ ร่วมเสวนาโดย ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ, ดร.มาโนชญ์ อารีย์, ผศ.ดร.อับดุลรอนิง สือแต และ ดร.ยาสมิน ซัตตาร์ แม้ว่าเวทีดังกล่าวนี้จะไม่ได้พูดถึงประเด็นชายแดนใต้หรือปาตานีโดยตรง แต่กระบวนการสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลที่ยาวนานก็ย่อมสามารถเป็นบทเรียนที่ดีต่อปาตานีต่อไปได้
15. เวทีสันติสนทนาฯและสันติวิธีสู่สมานฉันท์ชายแดนใต้
ท้ายปีมีงานที่สำคัญและน่าสนใจ 2 งาน คือ งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "สันติสนทนา: เส้นทางเผชิญความรุนแรงชายแดนใต้, 2534-2554" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ร่วมเสวนาโดย: รศ.ดร.มารค ตามไท อดีตผู้อำนวยการสถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ ม.พายัพ, สมเกียรติ บุญชู อดีตรองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้, รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย ศูนย์วิจัยดิเรกชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ
ถัดมาอีก 3 วัน มีงานเสวนาสาธารณะ “สันติวิธีสู่สมานฉันท์ชายแดนใต้” จัดโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีและเครือข่าย มี ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, รศ.ดร.มารค ตามไท อดีตผู้อำนวยการสถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ ม.ยพายัพ, เมธัส อนุวัตรอุดม นักวิชาการด้านสันติวิธี, สมใจ ชูชาติ ผู้ใหญ่บ้านบ้านนอก อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี และ จตุรนต์ เอี่ยมโสภา สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ณาตยา แวววีรคุปต์ นอกจากนั้นยังมีการบรรยายเรื่อง “บนเส้นทางสมานฉันท์ของอดีต กอส. นายอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง นางจิราพร บุนนาค และ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” โดย รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด โดยงานนี้มีคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ณ คอนเวนชันฮอลล์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
นับว่าเป็นการปิดเวทีสาธารณะประเด็นสันติภาพชายแดนใต้ในปี พ.ศ. 2561 ได้อย่างยิ่งใหญ่และน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นเวทีที่จัดที่ส่วนกลางของประเทศไทย เพราะเอาเข้าจริงแล้วกระบวนการสันติภาพจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นทางตอนใต้ของประเทศไทย เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจจะไปโทษว่าพวกเขาไม่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพย่อมไม่ได้ เพราะจะให้ผู้คนส่วนใหญ่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพต้องเริ่มต้นที่การให้พวกเขาเข้าใจที่มาที่ไปและเข้าใจถึงความสำคัญของกระบวนการสันติภาพเสียก่อน
นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีอีกหลายเวทีที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น งานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “10 ปีกระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ย้อนอดีต วิเคราะห์ปัจจุบัน ผลักดันอนาคต” เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ณ ม.อ.ปัตตานี มีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนสังคมสมานฉันท์ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว อดีตกรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมกับการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในงานดังกล่าวยังมีการเสวนา เรื่อง “10 ปีกระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ย้อนอดีต วิเคราะห์ปัจจุบัน ผลักดันอนาคต” วิทยากร ประกอบด้วย รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โสภณ ทิพย์บำรุง รองอธิบดีอัยการภาค 9, สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, กิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการ ศอ.บต., สมชาย หอมลออ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา, สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม โดยงานนี้มีความน่าสนใจทั้งประเด็นและวิทยากร แต่น่าเสียดายที่มีผู้เข้าร่วมงานน้อยเกินไป
การสื่อสารกับกระบวนการสันติภาพไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ในปีที่ผ่านมาเวทีสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นการสื่อสารก็มีให้เข้าร่วมด้วยเช่นกัน เช่น งานสัมมนาเสริมสร้างความรู้วารสารศาสตร์สันติภาพ เสริมบทบาทสื่อมวลชนสร้างสรรค์สันติสุขชายแดนใต้/ปาตานี “สถานการณ์ชายแดนใต้ที่เปลี่ยนแปลง สถานการณ์สื่อที่เปลี่ยนไป คนทำสื่อจะปรับตัวอย่างไร” เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2561 ณ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ในงานมีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ทางออกของสื่อชายแดนใต้ในยุคดิจิตอล โดยเทพชัย หย่อง มีบรรยายหัวข้อ สถานการณ์ชายแดนใต้ที่เปลี่ยนไป โดย รอมฎอน ปันจอร์ มีวงเสวนา ทิศทางการพูดสันติสุขกับบทบาทสื่อในบริบท วิทยากรโดย ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รักษาการผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์, ภูวสิษฏ์ สุขใส นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (STMA), ปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ภาคใต้ ผู้จัดการออนไลน์, รพี มามะ ประธานสื่อมวลชนสื่อมวลชนเพื่อสันติชายแดนภาคใต้ (SPMC), รักษ์ชาติ สุวรรณ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ (B4P) และ กิตติภพ สุทธิสว่าง ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ นำการพูดคุยโดย อ.สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี และ คุณตูแวดานียา มือรีงิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน
นอกจากนั้นยังมีงานเสวนาประเด็นใหม่ๆ ที่มีความสำคัญและน่าสนใจ เช่น การเสวนา เรื่อง “ก้าวข้าม โลก ซึมเศร้า” วิทยากรโดย ดร.รอฮานิ เจะอาแซ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ชญานภัส จิตตรัตน์ นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ รพ.หาดใหญ่ และ จรรยา เจตนสมบูรณ์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ รพ.ธัญญารักษ์สงขลา ในงานสัมมนาวิชาการ I’M ALL EARS เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2561 ณ ม.อ.ปัตตานี ในงานยังมีปาฐกถา เรื่อง “บทบาทงานสังคมสงเคราะห์กับการเข้าใจ เรียนรู้ ผู้มีภาวะซึมเศร้า” โดย ผศ.โสภา อ่อนโอภาส เลขาธิการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
อีกงานเสวนาที่น่าสนใจ คือ งานเสวนา “สันติภาพปาตานีกับบทเรียนทางการเมืองของไต้หวันและพม่า” โดยมีประเด็นย่อย คือ ไต้หวันกับประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนไหวและมีชีวิต โดย กิตติศักดิ์ ปัตตานี, ไต้หวันประสบการณ์อารยะขัดขืนภายใต้กฎอัยการศึก โดย อารีฟีน โสะ, พม่าและประสบการณ์ภายใต้เผด็จการทหาร โดย ชฎาพร ชินบุตร และ ความสำคัญต่อขบวนการประชาธิปไตยในพม่า โดย ภัทราภรณ์ แก่งจำปา โดยงานนี้จัดที่ร้าบบูคู เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 ส่วนในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและตุรกี และบทบาทของตุรกีในเวทีโลก” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ณ คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี วิทยากรโดย คุณธฤต จรุงวัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา, ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ยาสมิน ซัตตาร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป็นศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสตันบูล ประเทศตุรกี
ในพื้นที่นอกตัวเมืองนอกจากจะมีการบรรยายสาธารณะของผู้รู้ทางศาสนาแล้ว ก็ยังมีหลายวงเสวนาที่น่าสนใจ เช่น งาน TERIMA KRESEK ครั้งที่ 1 “วันเวลาที่สวยงาม” ระหว่างวันที่ 29 - 30 กรกฎาคม 2561 ณ มัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี งาน TERIMA KRESEK ครั้งที่ 2 “ณ คราฟต์” ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายนนี้ 2561 และงาน TERIMA KRESEK ครั้งที่ 3 “กลับสู่ปฐมภูมิ” ระหว่างวันที่ 29-30 กันยายน 2561 โดยทั้ง 3 ครั้งของงานนี้มีหลายการบรรยายและวงเสวนาที่น่าสนใจ เช่น ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ระเบียงแห่งเมกกะ” โดย ต่วนฆูรู ฮัจญีอิสมาอีล อิสฮาก เบญจสมิทธิ์ วงเสวนา เรื่อง "กรือเซะกับวันเวลาที่งดงาม: ย้อนอดีตอันรุ่งเรืองและมุ่งสู่อนาคตที่เรืองรอง" วิทยากรโดย ดร.อาฮาหมัดกาแม แวมูซอ, เจ๊ะสุไลมาน บาแม, มะรอยะ เปาะโอะ, อนุสรณ์ ละอองแก้ว และ ผศ.โชคชัย วงศ์ตานี เป็นต้น หรืองานรวมพลเยาวชนชาบ๊าบครั้งที่ 7 ตอน PEACE และงาน MULTAQA MUSLIMAH เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2561 ณ สวนวันนอร์ เทศบาลตำบลโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา มีวิทยากรคอยห้ความรู้บนเวทีมากมาย เช่น การบรรยาย หัวข้อ “Peace of Nation” โดย ดร.อนิส พัฒนปรีชาวงศ์, การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “บทบาทสตรีในการสร้างสันติภาพ” โดย ดร.รูฮานา สาแม็ง, การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ” โดย รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา และ การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายการสร้างสันติภาพ” โดย ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน เป็นต้น นอกจากนนั้น สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (POSBO) มักจะจัดเวทีสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพในชุมชนต่างๆ โดยจะมีวิทยากรประจำคือ รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ ผศ.ดร.ไฟซ็อล หะยีอาวัง และ ดร.ปรีดี มะนีวัน คอยให้ความรู้
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเวทีวิชาการที่น่าสนใจ เช่น งานสัมมนานานาชาติ เสริมสร้างความเข้มแข็งภาษามลายู/อินโดนีเซียสู่ประชาคมอาเซียน ครั้งที่ 4 ภาษาเป็นสื่อสู่สันติภาพในสังคมพหุวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2561 มีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากเข้าร่วม หรือการประชุมและนำเสนอผลงานในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2561 “การบูรณาการสหวิทยาการกับอิสลามานุวัตรสู่การสร้างสันติภาพและสังคมคุณธรรมอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ทั้งสองงานจัดโดย มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ขณะที่เวทีที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยในปีที่ผ่านมา ก็คือ งานอิจตีมาอฺโลก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม 2561 ณ ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา มีผู้รู้จำนวนมากจากทั่วโลกเดินทางมาให้ความรู้ โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 200,000 คน นอกจากนั้นในงานต้อนรับปีใหม่อิสลามของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสก็มีวงเสวนาและการบรรยายในหลายๆ ประเด็นที่น่าสนใจจากผู้รู้ทั้งในพื้นที่และต่างประเทศจำนวนมาก และมีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมากเช่นเดียวกัน
ปีที่ผ่านมายังคงเป็นอีกหนึ่งปีที่เวทีสาธารณะจำนวนมากมายยังคงถูกจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าเสียดายก็คือหลายเวทีจัดไปแล้วผ่านไปเลย โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อสังคม ในขณะที่หลายเวทีก็ถูกต่อยอดประเด็นต่ออย่างสร้างสรรค์ และการไม่มีโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ที่คอยสรุปเนื้อหาสาระตามเวทีสาธารณะต่างๆ อีกต่อไปแล้ว ก็น่าเสียดายไม่ใช่น้อยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2562 ก็ยังคงมีอีกหลายเวทีสาธารณะต่อแถวที่จะคอยมอบความรู้ให้กับผู้อ่านทุกท่าน อยู่ที่ว่าท่านผู้อ่านจะรับเอาความรู้เหล่านั้นหรือไม่เท่านั้นเอง
ท้ายที่สุดสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ก็ย่อมต้องใช้ความรู้มาหนุนเสริมอย่างปฏิเสธไม่ได้ และเพราะความรู้คืออำนาจ เวทีความรู้สาธารณะจึงถูกผู้มีอำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แค่เริ่มต้นปีก็มีเวทีสาธารณะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและภาคใต้ต้องย้ายสถานที่จัดงานจากมหาวิทยาลัยไปเป็นที่โรงแรมแทน ทั้งที่มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ของการเผยแพร่ความรู้ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2562 นี้ จึงน่าจะมีเรื่องที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับเวทีความรู้สาธารณะให้พวกเราได้ติดตามกันอย่างแน่นอน
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
14 เวทีความรู้สาธารณะโดดเด่นหนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ปี 2560
13 เวทีสาธารณะเด่น ปี 2559 ในการหนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี
13 เวทีวิชาการเด่นปี 2559 ในการหนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี
12 ประเด็นเด่นปี 2558 ในเวทีสาธารณะชายแดนใต้/ปาตานี
ความรู้ในพื้นที่สาธารณะกับการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี