มูฮำมัดอายุบ ปาทาน
การลงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญสำหรับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ มีแง่มุมหลายที่น่าสนใจอยู่หลายแง่มุม
ท่ามกลางความกังวลว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น อาจทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์น้อย แต่ผลที่ออกมาปรากฏว่า ประชาชนพากันออกมาใช้สิทธ์กว่า 50% แม้แต่ในพื้นที่สีแดง และในจำนวนนี้กว่า 70% เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ก็คือ นอกการการแสดงความบริสุทธ์ใจ ให้ความร่วมมือกับทางราชการ ซึ่งแม้จะไปอยู่พื้นที่อื่น หรือไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ส่วนใหญ่ก็กลับคืนภูมิลำเนาเพื่อใช้สิทธิ์
ที่สำคัญพวกเขาตระหนักว่า หากรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ ก็จะทำให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น สถานการณ์ที่ผ่านมาหลังการยึดอำนาจ พวกเขาไร้ตัวที่จะเป็นปากเสียงแทน ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่สงบ ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ พวกเขาแทบไร้ช่องทางในการสื่อสารปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไข
หากมีการเลือกตั้ง ย่อมทำให้พวกเขามีตัวแทน ที่จะสะท้อนเรื่องราวปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไข
ชายแดนภาคใต้อาจถูกมองเป็นดินแดนแห่งฝันร้าย อาณาจักรแห่งความหวาดกลัว ความไม่สงบ รายได้ต่อหัวของประชากรต่ำสุดในประเทศ แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ ชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ซึ่งการเมืองฝังรากลึกในความรู้สึกของประชาชนมาโดยตลอด อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
หากประเด็นทางประวัติศาสตร์ คือปมเงื่อนของปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ปมเงื่อนดังกล่าวได้สร้างลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ สำนึกทางการเมือง ซึ่งไม่ว่าจะแปรไปเป็นการต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธ หรือการต่อสู้ทางแนวคิด แต่ก็ทำให้ความตื่นตัวทางการเมืองของคนในพื้นที่มีอยู่สูงยิ่ง
กรณีฮัจยีสุหรง โต๊ะมีนา คือตัวอย่างนักต่อสู้ทางการเมือง ที่สังคมไทยได้รู้จัก แต่ประวัติศาสตร์ชายแดนภาคใต้ หรือ ‘ฟาฏอนี' นั้น ตลอดระยะเวลาซึ่งดินแดนนี้ถูกผนวกรวมเข้ากับสยาม ได้เพาะสร้างนักต่อสู้ทางการเมืองขึ้นมาไม่น้อย ซึ่งตกทอดจนถึงปัจจุบัน
ความตื่นตัวทางการเมืองของคนชายแดนภาคใต้ มิใช่แค่ความสนใจรับรู้การเมืองของนักการเมือง แต่ในมิติเชิงลึก การเมืองสำหรับพวกเขาคือการปกป้องสิทธิเสรีภาพภายใต้วัฒนธรรมของตนเอง
พลังทางการเมืองเหล่านี้ คือช่องทางที่รัฐต้องรีบเข้าไปต่อเชื่อม สร้างโอกาสเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่ผู้นำศาสนา หรือกลุ่มชนชั้นกลางปัญญาชน ที่รัฐต่อเชื่อมไว้แล้วเท่านั้น
อย่างน้อยก็เป็นที่พูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็น ตลอดจนระบายความคับข้องใจ รัฐเองก็ได้ประโยชน์ในการรับรู้ว่า ชาวบ้านคิดอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้แนวทางการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างถูกต้องได้ผล เป็นก้าวแรกของการรุกทางการเมือง เพื่อเอาชนะทางความคิด