Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

 

      สถานการณ์ชายแดนภาคใต้สั่นไหวอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการสั่นไหวทั้งในระดับพื้นที่และสากล

      ในพื้นที่เกิดเหตุสังหารข้าราชการครูอย่างโหดเหี้ยม 2 คน และบาดเจ็บอีก 1 คน

      ส่วนระดับสากล องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอตซ์' เผยแพร่รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ การอ้างคำให้สัมภาษณ์สมาชิกระดับสูงของขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ซึ่งถูกกล่าวหาเป็นกลุ่มก่อเหตุ ว่า "พวกเขาจะไม่เจรจากับรัฐไทย และในเวลา 3-5 ปีจากนี้ จะทำให้ความรุนแรงปรากฎชัดเจน พอที่จะยกระดับการต่อสู้ของขบวนการ เป็นกระบวนการทางการเมือง" ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน

      ประเด็นนี้น่าสนใจอย่างยิ่งว่า อะไรเป็นเงื่อนไขปัจจัยให้บีอาร์เอ็นมั่นใจถึงขนาดนั้น

      ความสั่นไหวของสถานการณ์สากลรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อสื่อระดับโลกอย่าง รอยเตอร์'  อ้างข้อมูลว่า บีอาร์เอ็น' ตั้งเป้าก่อเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 2 หมื่นคนถึงจะมีอำนาจต่อรองแยกตัวเป็นอิสระ

      ซึ่งทำให้หลายๆ คนเต้นไปตามๆ กัน

      ไม่ว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวจะมาจากไหน ใครพูด ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะภายใต้มาตรการรุกทางทหารในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงก็ยังมิได้ยุติลง มิหนำซ้ำ การกวาดจับผู้ก่อเหตุ และแนวร่วมไปเป็นจำนวนมาก ก็เริ่มมีเสียงต้าน และคำถามถึงความชอบธรรมของมาตรการดังกล่าว

        ขณะที่ผู้นำในรัฐบาลและกองทัพพอใจมาตรการทางทหารที่ผ่านมา ถึงขั้นประกาศว่าจะยุติปัญหาได้ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ความรุนแรงรายวันที่ยังเกิดขึ้น มิได้ทำให้ผู้คน สังคม เกิดความรู้สึกร่วม เชื่อมั่นและคล้อยตามไปด้วย

      วิเคราะห์ถึงการก่อเหตุที่ผ่านมา ขบวนการใต้ดินนั้นค้ากำไรเกินควรเสียด้วยซ้ำ ลอบยิงวันละ 2-3 คน วางระเบิดไม่กี่จุด ปลุกระดมชาวบ้านปิดถนนประท้วง เขียนใบปลิว เปิดเว็บไซต์ แถลงการณ์ประนามรัฐบาล ลงทุนต่ำ แต่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างความหวาดกลัว สร้างความรู้สึกว่ารัฐล้มเหลวในการแก้ปัญหา สมานฉันท์ก็แล้ว ใช้กฎหมายก็แล้ว สถานการณ์ก็เหมือนเดิม ชีวิตผู้คนยังตกอยู่ในความเสี่ยง

      หากความรู้สึกเช่นนี้ถูกตอกย้ำอย่างต่อเนื่อง รัฐจะยังหลงเหลือความเชื่อมั่นใดในสายตาชาวบ้าน หรือสังคมโลก

      หากปฏิบัติการของขบวนการใต้ดิน ทำให้เห็นว่าไม่รับข้อเสนอใดๆ ของรัฐบาล แม้จะถูกรุกอย่างหนัก ก็ยังสามารถก่อความรุนแรงได้ ยุทธศาสตร์ของสงครามก็น่าจะกล่าวได้ว่า คือการก่อเหตุต่อเนื่อง ทำลายความเชื่อมั่นต่อรัฐในทุกด้าน ผลักดันเข้าสู่ภาวะรัฐไร้อำนาจ หรืออนาธิปไตย เพื่อให้องค์กรสากลเข้ามาจัดการควบคุม ก่อนสถานการณ์ลุกลามไปถึงขั้น สงครามกลางเมือง'

        ชายแดนภาคใต้จึงเป็นแค่เวทีนำเสนอภาพเรื่องราวเหตุการณ์ แต่พื้นที่การรบที่แท้จริงนั้น คือความรู้สึกของสังคมโลก ซึ่งข้อมูลข่าวสารในการชิงนำสร้างความรู้สึก คืออาวุธสำคัญ