Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

            เกือบจะครบ 4 ปีเต็มแล้วที่สถานการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้ ยึดครองพื้นที่การนำเสนอของสื่อมวลชนไทยทุกแขนง ข้อมูลข่าวสารความรุนแรงถูกลำเลียงจากที่เกิดเหตุสู่การรับรู้ของสังคมทั้งภายในและนอกประเทศอย่างท่วมท้นตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

          แต่ข้อมูลอย่างท่วมท้นที่นำเสนอ ทำให้สังคมรับรู้ข้อเท็จจริงของสถานการณ์อย่างไรบ้าง อะไรคือสาเหตุของปัญหา วิธีการก่อความรุนแรงต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับคน สถานที่ และเวลา มีความหมายอย่างไร และปัญหาในปัจจุบันจะส่งผลอย่างไรต่อไปในอนาคต ?

          หากยังไม่อาจอธิบาย สร้างให้เกิดความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ได้ สังคมจะเอาความรู้อะไรไปพินิจพิเคราะห์เพื่อตรวจสอบแนวทางนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐว่า จะเกิดประสิทธิภาพแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

          "ความรู้" จึงเป็นหัวใจสำคัญของการร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดอย่างถี่ยิบรายวัน ทำให้สื่อตั้งตัวไม่ทันกับการนำเสนอแง่มุมเพื่อถ่วงดุลกับความรุนแรง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการนำเสนอในลักษณะการอธิบายนัยความหมายของสถานการณ์

          ไม่แปลก หากจะมีคำพูดในลักษณะกล่าวหาว่า สื่อขยายความรุนแรง เป็นกระบอกเสียงโฆษณาผลงานให้ขบวนการใต้ดินที่ก่อเหตุความไม่สงบ

          แม้ความรุนแรงจะเป็นข้อเท็จจริงซึ่งจำเป็นต้องรายงานให้สังคมได้รับรู้ รับทราบ แต่ ณ วันนี้ต้องกลับมาทบทวนว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ความรุนแรงกุมอำนาจในการบอกเล่าอยู่เพียงฝ่ายเดียว  

            หากสังคมรับรู้แต่ปรากฏการณ์ โดยปราศจากความเข้าใจเหตุผลของความรุนแรง  สิ่งที่จะตามมาก็คือ อารมณ์ความรู้สึกอย่างมีอคติ ซึ่งถือเป็นภาวะอันตรายอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหา ทำอย่างไรจะให้คำอธิบาย นัยยะ ความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ มีเสียงดังมากพอที่จะถ่วงดุลการรับรู้   

          สถานการณ์ชายแดนใต้ที่ระอุคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทา แม้ภาครัฐจะทุ่มสรรพกำลังปิดล้อม ตรวจ ค้น จับกุมแนวร่วม แกนนำไปนับพันคน ดำเนินมาตรการมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งอ่อนนุ่ม และเด็ดขาด แต่ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นซ้ำอยู่เช่นเดิม

          หากมีการสำรวจความคิดเห็นของสังคมในขณะนี้ ผลที่ออกมาอาจทำให้เห็นเห็นถึงอารมณ์ ความรู้สึกของสังคมที่น่าวิตกยิ่ง และหากปล่อยให้เนิ่นนานไป ไม่รู้ว่าความรู้สึกเหล่านี้จะแผ่ขยายออกไปอีกเท่าใด

          การสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่แท้จริง จึงเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างแนวตั้งรับกับความรู้สึกของสังคม การอธิบายให้สังคมได้เข้าใจเหตุและผลของความรุนแรง เป็นเสมือนส่งสัญญาณ ให้ภูมิคุ้มกัน เตือนให้สังคมมีสติ พร้อมยอมรับกับปัญหาซึ่งอาจต้องยืดเยื้อต่อไปอีกระยะหนึ่ง

            ที่สำคัญความเข้าใจจะช่วยให้สังคมเกิดความรู้ ซึ่งจะทำให้การพินิจ พิเคราะห์ เพื่อร่วมคิด หรือแม้แต่ตรวจสอบนโยบายมาตรการของภาครัฐ ก็จะเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์

          สังคมไทยผ่านความขัดแย้งเชิงแนวคิด อุดมการณ์ในยุคสงครามคอมมิวนิสต์มาแล้วก็จริง แต่ความรุนแรงที่ชายแดนภาคใต้ เป็นวิกฤติการณ์ความขัดแย้งรูปแบบใหม่ ซึ่งสังคมไทยไม่เคยมีบทเรียนมาก่อน เพราะเกี่ยวโยงกับประเด็นเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมอย่างซับซ้อน การแก้ปัญหาจึงมิอาจคิดเพียงฝ่ายเดียว แนวคิดเดียว ใช้มาตรการ นโยบายใดเพียงนโยบายเดียว แต่จำเป็นต้องร่วมคิด ร่วมกำหนดแนวทาง และร่วมดำเนินการพร้อมกันไปหลายฝ่าย หลายแนวทาง เพื่อรับมือกับความซับซ้อนของสถานการณ์

          "ความไร้เอกภาพ" ที่มักมีผู้กล่าวโทษภาครัฐ อาจทำให้สังคมไทยต้องทบทวนตัวเองว่า จริงๆ แล้ว ความไร้เอกภาพนั้น เป็นเพราะสังคมไทยอ่อนแอ และขาดความรู้ในการจัดการปัญหาที่ซับซ้อนนี้หรือไม่

          หากเราเข้าใจถึงความซับซ้อนดังกล่าวนี้ เราคงไม่ฝากความหวังไว้กับการแก้ปัญหาของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว เพราะการแก้ปัญหาซับซ้อน จำเป็นต้องรวมความรู้ ความคิดที่หลากหลาย การทำเช่นนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ

          จะสร้างสันติภาพได้อย่างไร หากยังไม่เข้าใจสงคราม !