Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

 

ทันทีที่เหตุผล กรณีหน่วยงานทหารนำตัวกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบซึ่งถูกควบคุมตัวหลังเปิดยุทธการปิดล้อมตรวจค้นมาเข้าค่ายฝึกอบรมอาชีพเป็นเวลา 4 เดือนถูกเปิดเผยว่า เป็นการดำเนินการตามประกาศกองทัพภาคที่ 4 ห้ามบุคคลเข้าพื้นที่ชายแดนภาคใต้ชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐไทยก็ดังขึ้นอีกครั้ง

ยิ่งมีการประกาศใช้ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม แต่กว่าที่สังคมจะรู้ก็ล่วงผ่านมา 3 เดือนเต็ม ก็ยิ่งทำให้ความโปร่งใสในการทำงาน รวมถึงความยุติธรรมจากการรวบรวมพยานหลักฐานถูกตั้งคำถามมากขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้น ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนด้อยในการทำให้สังคมเกิดความเข้าใจมาตรการและแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐ

ยุทธการปิดล้อมตรวจค้นควบคุมตัว ถือได้ว่าเป็นยาแรงที่รัฐเลือกใช้เพื่อบรรเทาสถานการณ์ให้คลี่คลาย ตัวเลขจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3  เดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากมาตรการเข้มข้นข้นของรัฐ

แต่การใช้ยาแรงอาจมี side effect หรือผลข้างเคียงตามมา

มาตรการเข้มข้นอาจทำให้สถานการณ์บรรเทาลงได้ แต่ในระยะยาวแล้วผลจะเป็นอย่างไร หากยาแรงตัวนี้ส่งผลกระทบต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ต่อสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอก รัฐได้เตรียมยาขนานใหม่ไว้แก้ปัญหาแล้วหรือไม่

มองอีกมุมหนึ่งก็น่าเห็นใจฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะทหารที่พยายามหามาตรการแนวทางเพื่อบรรเทาความรุนแรง เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป ฝ่ายตรงข้ามย่อมได้เปรียบในการสร้างสมความพร้อม การร่นเวลาของสงครามเพื่อมิให้ฝ่ายตรงข้ามชิงเป็นฝ่ายได้เปรียบจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ มาตรการเข้มข้นเพื่อตัดกำลัง ทำลายโครงสร้างของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแม้ว่าจะถูกตั้งคำถามในประเด็นสิทธิมนุษยชน ก็จำเป็นที่จะต้องเสี่ยงนำมาใช้ หากสถานการณ์รุนแรงลดลงได้จริง ก็เป็นโอกาสดีที่รัฐจะเข้าดำเนินการในด้านอื่นๆ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นศรัทธาต่ออำนาจรัฐให้กลับคืนมา

หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะหน่วยกำลังรบอย่างทหารอาจอ่อนด้อย หรือขาดความอ่อนไหวในเรื่องความรู้สึกของสังคมหรือของโลก แม้กระทั่งอาจถูกมองได้ว่าดื้อรั้นไม่ฟังเสียงทัดทาน แต่หากทุกฝ่ายเห็นร่วมกันถึงการยุติความรุนแรง ก็ควรให้โอกาสรัฐในการใช้ความพยายามแก้ปัญหาภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจ

หากรัฐใช้ยาแรงในประเด็นเพื่อความมั่นคง ภาคประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชนก็ควรระวังด้วยว่า ประเด็นนี้อาจจะเป็นยาแรงอีกตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ตามมา ซึ่งจะยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นได้ได้ยากขึ้น

เพื่อลด side effect ต่างๆ มีทางใดบ้างไหมให้รัฐโดยเฉพาะทหารและภาคประชาชน จับเข่าคุย ร่วมคิด ร่วมหาทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม ละวางความระแวงแคลงใจต่อกัน