Skip to main content
เมธัส อนุวัตรอุดม
สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
 
หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นรายงานที่ปรับปรุงเพิ่มเติมจากรายงานที่เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการจัดทำรายงานในคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา เมื่อเดือนมกราคม 2554
 
1. ปรากฏการณ์ของปัญหา
 
4 มกราคม 2547 วันที่เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ยาวนานได้ปะทุขึ้นเหนือผิวน้ำ ปลุกให้ผู้คนในสังคมไทยรวมทั้งประชาคมระหว่างประเทศ ได้หันมารับรู้และมองเห็นความขัดแย้งที่ถูกกดทับมานานนับศตวรรษ
 
ในวันนั้น คงมีน้อยคนที่คาดคิดว่าความรุนแรงดังกล่าวจะยืดเยื้อมาจนเข้าสู่ปีที่ 8 และถึงวันนี้ หลายฝ่ายก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าประเทศไทยจะสูญเสียเลือดเนื้อของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐต่อไปอีกนานเท่าใด ภายใต้พลวัตการขึ้นลงของสถานการณ์ตามจังหวะเวลาและการดำเนินการของผู้มีบทบาทสำคัญในภาคส่วนต่างๆ
 
เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปแม้จะมีการใช้งบประมาณแผ่นดินในการแก้ไขปัญหาไปแล้วกว่า 145,000 ล้านบาท[1] มีการใช้วัตถุสังหารที่รุนแรงด้วยวิธีการที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เหตุระเบิดและการสังหารรายวันยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความหวาดกลัวของประชาชนที่ตระหนักดีว่าความสูญเสียอาจมาเยือนตนเองและคนใกล้ชิดได้ตลอดเวลา พร้อมๆกับข่าวที่สร้างความสับสนว่ากลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงมีผสมปนเปทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ กลุ่มปฏิกิริยาแก้แค้นตอบโต้ กลุ่มธุรกิจอิทธิพลนอกกฎหมาย กลุ่มการเมืองท้องถิ่น และกลุ่มขัดแย้งส่วนตัว ทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ 10,386 ครั้ง สร้างความสูญเสียต่อ 4,453 ชีวิต บาดเจ็บ 7,239 ราย[2] และก่อผลกระทบทางจิตใจต่อผู้คนจำนวนมากอย่างที่ไม่อาจหาตัวเลขใดมาชี้วัดได้ ก่อเกิดบรรยากาศแห่งความหวาดระแวงและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันที่ปกคลุมไปทั่วทั้งประเทศ
 
2. รากเหง้าของความขัดแย้ง
 
บนความเคยชินที่ผู้คนได้รับรู้ถึงเหตุร้ายรายวันตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องและสังคมไทยจะต้องตระหนักคือ ความรุนแรงดังกล่าวเป็นเพียงอาการของการเจ็บป่วยเรื้อรัง แน่นอนว่าการดำเนินการเพื่อยุติเหตุรายวันโดยยุทธการทางทหารเป็นสิ่งจำเป็น แต่กระนั้นก็เป็นเพียงการจำกัดพื้นที่การต่อสู้ทางกายภาพของผู้ก่อความไม่สงบและเป็นการระงับอาการของโรคไม่ให้เลวร้ายลงชั่วคราวเท่านั้น  
 
สิ่งสำคัญที่จะสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนคือ การมองให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหา (Root Causes of Conflict) ทำความเข้าใจเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงความรุนแรง และมีความจริงจังจริงใจที่จะหาหนทางขจัดความคับข้องใจ (Grievances) ต่างๆที่ประชาชนในพื้นที่ส่วนหนึ่งรู้สึกว่าตนเองกำลังประสบอยู่ เพื่อปลดล็อคเงื่อนไขของความรุนแรงที่มีอยู่ให้ได้ โดยมีสมมติฐานว่าหากปัญหารากเหง้าได้รับการแก้ไขแล้ว ตัวละครอื่นๆ ที่มาผสมโรงทั้งกลุ่มอิทธิพลหรือกลุ่มบุคคลที่คอยแสวงประโยชน์จากสถานการณ์จะถูกจำกัดพื้นที่และหลบหายไปในที่สุด
 
คำถามตั้งต้นที่สำคัญคือ เพราะเหตุใดอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อเอกราชจึงยังคงมีพลังอยู่เสมอมาในการปลุกเร้าคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูจำนวนหนึ่งให้ลุกขึ้นสู้กับรัฐไทย?  
 
ผู้เขียนเชื่อว่ารากเหง้าของความขัดแย้งในชั้นที่ลึกที่สุดคือ ความกังวลที่ถูกสั่งสมมาแต่อดีตสู่ปัจจุบันของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าอัตลักษณ์มลายูมุสลิมของตนจะถูกทำให้จางหายไปด้วยวิธีคิดและการกระทำของผู้มีอำนาจรัฐบางส่วน และด้วยโครงสร้างทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรมที่ไม่ได้สะท้อนถึงความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่จริงในสังคมไทย ในขณะเดียวกันกับที่รัฐและสังคมใหญ่บางส่วนมองความแตกต่างทางชาติพันธุ์โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสายตาที่หวาดระแวงและเกรงว่าคนในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่มี “ความเป็นไทย” ตามจินตภาพของตน
 
เมื่อความรู้สึกถูกกดทับทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ยังคงดำรงอยู่ และเมื่อความต้องการ (Needs) ของคนในพื้นที่ที่เสนอผ่านข้อเรียกร้องด้วยสันติวิธีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของฮัจญีสุหลง อันเป็นเรื่องของการรักษาอัตลักษณ์มลายูมุสลิมและการยืนยันสิทธิพื้นฐานในการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามหลักประชาธิปไตยเพื่อดูแลกิจการท้องถิ่นภายใต้กรอบกฎหมายไทยนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง เสียงร้องแห่งสันติจึงแปลงเปลี่ยนเป็นเสียงปืนแห่งความรุนแรง
 
การต่อสู้ปะทะกันได้ส่งผลข้างเคียงตามมาคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากกระทำทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจจากทั้งกลุ่มก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ซึ่งในส่วนของการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวที่แม้จะเป็นส่วนน้อยนั้นก็ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกที่ฝังลึกและการรับรู้ที่สะสมว่ารัฐเลือกปฏิบัติและไม่ให้ความเป็นธรรม มีการตอบโต้แก้แค้นกันไปมาด้วยความรุนแรงในลักษณะของตาต่อตา ฟันต่อฟัน ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ความหวาดระแวงและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคม เปรียบเสมือนน้ำมันที่หล่อเลี้ยงเชื้อไฟให้ลุกไหม้อย่างต่อเนื่อง   
 
แน่นอนที่สุด การพยายามทำความเข้าใจสาเหตุรากเหง้าดังกล่าวของความรุนแรงมิได้หมายความว่าการใช้ความรุนแรงดังกล่าวมีความชอบธรรมแต่ประการใด หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะขจัดความรุนแรงอันเลวร้ายนี้ด้วยการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
 
3. ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา
 
รัฐบาลและหน่วยงานรัฐทั้งผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการส่วนใหญ่ได้พยายามปรับทัศนคติ วิธีคิด และแนวทางการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 209/2549 เรื่องนโยบายเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2550-2554 ตลอดจนวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนในพื้นที่และหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
 
โดยจะเห็นได้จากความพยายามในการปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม การพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษาที่คำนึงถึงหลักศาสนาและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ รวมถึงนโยบายการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ประจำปี 2554 ซึ่งมีทิศทางที่มุ่งใช้การเมืองนำการทหารที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย
 
มีการปรับโครงสร้างในการบริหารจัดการของภาครัฐให้เป็นเอกภาพและเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระดับนโยบายมากขึ้นผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553
 
มีการนำร่องยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ใน 4 อำเภอจังหวัดสงขลา และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี พร้อมทั้งประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งโดยหลักการแล้ว ภาครัฐต้องการที่จะเปิดพื้นที่ให้กับแนวร่วมที่ต้องการจะกลับคืนสู่สังคมมากขึ้น
 
มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นของการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและบทเรียนจากต่างประเทศมากขึ้นในส่วนของผู้บริหารภาครัฐ มีการฝึกอบรมเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนและวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้นในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาคมระหว่างประเทศได้รับทราบถึงการดำเนินงานของภาครัฐเป็นระยะผ่านกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่จะเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือ การนำนโยบายที่เหมาะสมไปปฏิบัติจริงบนพื้นฐานของความจริงใจ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้และจับต้องได้ ซึ่งที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดอยู่บ้างในการสร้างความเข้าใจต่อแนวทางสันติวิธีและแนวคิดการเมืองนำการทหาร การประเมินผลการทำงานของภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ภาครัฐจะมีการปรับเปลี่ยนในเชิงบวกอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ด้วยเหตุที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนาน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่การแก้ไขปัญหาโดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะยังคงมีส่วนที่ต้องปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้สมบูรณ์และสอดคล้องกับรากเหง้าของปัญหามากยิ่งขึ้น
 
4. ทิศทางที่ควรจะเป็นจากนี้ไป
 
สำหรับทิศทางการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับอัตลักษณ์วัฒนธรรมนี้ (Identity-based Conflict) จะต้องให้ความสำคัญกับการใช้แนวทางทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น การดำเนินการใดๆ ของภาครัฐจะต้องสามารถตอบโจทย์ทางอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ สามารถทำให้คนในพื้นที่สัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมทางการเมือง สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐยังไม่ได้ให้น้ำหนักในการทำงานเชิงสร้างสรรค์ในมิติทางการเมืองและวัฒนธรรมมากพอที่จะแก้ปัญหารากเหง้าได้ตรงจุด แต่กลับมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยทั่วไป
 
โดยพื้นฐานแล้ว รัฐมีหน้าที่จะต้องปกป้องคุ้มครองและธำรงรักษาทุกกลุ่มชาติพันธุ์บนผืนแผ่นดินไทยให้อยู่ในสังคมไทยได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมให้สามารถอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์มลายูมุสลิมก็ถือเป็นอีกกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งที่รัฐต้องดูแลให้เขาเกิดความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมและเกิดความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ด้วยแนวทางนี้จึงจะจัดว่าเป็นงานการเมืองอย่างแท้จริง
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทิศทางหลักในการแก้ปัญหาความไม่สงบด้วยสันติวิธีที่รัฐจะต้องทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นเป็นรูปธรรมจึงมีอยู่ 5 ประการ
 
ประการแรก ต้องลดหรือขจัดเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมที่จะถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนำมาอ้างความชอบธรรมให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมา แม้ภาครัฐจะพยายามป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือมีการกระทำใดๆ ที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน แต่การกระทำนอกแถวของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงจำนวนเล็กน้อยก็สามารถที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ภาครัฐทั้งหมดได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนนั้นยังมีความเชื่อที่คลาดเคลื่อนว่าสันติวิธีเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา จึงมุ่งเน้นการสถาปนาอำนาจและความมั่นคงของรัฐมากกว่าการเสริมสร้างความมั่นคงของประชาชนและชุมชน
 
ประเด็นสำคัญคือ เมื่อมีการละเมิดกฎหมายขึ้นแล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรัดนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว พิสูจน์ให้พื้นที่ได้เห็นว่าผู้ละเมิดกฎหมายจะต้องได้รับโทษไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม รวมถึงการเปิดเผยความจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีตากใบ หรือเหตุที่มัสยิดอัลฟุรกอน เป็นต้น โดยจัดตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงและความสมานฉันท์สำหรับเป็นกลไกในการแสวงหาความจริงที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน
 
โดยที่ผ่านมา ไม่ปรากฏต่อสาธารณะว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสวนทางกับการรับรู้ความจริงในพื้นที่ของประชาชน ทั้งนี้ การจัดตั้งองค์กรดังกล่าวก็เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้การกระทำผิดกฎหมายต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น ถูกนำมาอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยกลุ่มต่อต้านรัฐที่อาศัยบาดแผลดังกล่าวเป็นเชื้อไฟในการปลุกเร้าและหล่อเลี้ยงวงจรความรุนแรงต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
 
ประการที่สอง ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองบนพื้นฐานของความไว้ใจซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่ทั้งพุทธและมุสลิม ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา หรือนักวิชาการต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น กำหนดแนวทางและตัดสินใจในเชิงนโยบาย รวมถึงประเมินผลการทำงานของภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของท้องถิ่นทั้งในแง่ของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบและการพัฒนาบ้านเมือง โดยไม่ควรระแวงว่าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเป็นแนวร่วมของกลุ่มขบวนการ
 
ในเบื้องต้น สามารถกระทำได้โดยผ่านสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในโครงสร้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือรัฐจะต้องมีความจริงใจที่จะรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่และนำมาดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง เนื่องจากที่ผ่านมานั้น ภาครัฐจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในลักษณะของการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไปผ่านเวทีการสัมมนาเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ยังไม่ได้ให้มีส่วนร่วมในระดับที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายและการริเริ่มโครงการต่างๆ ตามความต้องการของท้องถิ่นจริงๆ
 
แนวโน้มในอนาคต ภาครัฐจะต้องมีการกระจายอำนาจให้ประชาชนในพื้นที่ได้ดูแลตัวเองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
 
ประการที่สาม ต้องริเริ่มและส่งเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (Peace Talk) อย่างจริงจังและต่อเนื่องกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่ม โดยเริ่มต้นจากส่วนที่ต้องการจะใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาทั้งที่อยู่ภายในประเทศและภายนอกประเทศก่อน อีกทั้งต้องเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากภาครัฐที่สามารถเข้าถึงกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ได้ดำเนินการพูดคุยควบคู่กันไปด้วยโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสของประเทศชาติในการสร้างสันติภาพ
 
ทั้งนี้ กระบวนการพูดคุยดังกล่าวมิใช่การเจรจาต่อรองกับรัฐแต่อย่างใด หากแต่เป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการสร้างบรรยากาศที่จะเอื้อต่อการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีต่อไป การจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการใช้สันติวิธีนี้จะเป็นการจำกัดพื้นที่การใช้ความรุนแรงให้เหลือน้อยมากที่สุดไปโดยปริยายโดยมิต้องใช้การสู้รบทางการทหารมากเกินความจำเป็น
 
ประการที่สี่ ต้องเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมด้วยการยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างสนิทใจ รูปธรรมที่ดำเนินการได้เลยคือการให้ลูกหลานของคนในพื้นที่ได้เรียนหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนรัฐที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม กล่าวคือเป็นหลักสูตรที่บูรณาการสายสามัญกับศาสนาเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม บรรจุวิชาภาษามลายูไว้ในหลักสูตรการศึกษาอีกวิชาหนึ่งเพื่อให้มีการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบโดยมีครูผู้สอนที่จบทางด้านการสอนภาษาโดยเฉพาะ ซึ่งครูผู้สอนในส่วนของวิชาภาษาไทยก็ควรต้องมีคุณสมบัติดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน มีการจัดตั้งหรือพัฒนามหาวิทยาลัยของรัฐในพื้นที่ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นสอนสาขาวิชาต่างๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของหลักอิสลาม
 
นอกจากนี้ ในแง่ของจิตวิทยานั้น ควรต้องมีการใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยและภาษาอังกฤษกำกับบนป้ายต่างๆ โดยเฉพาะป้ายของทางราชการ ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ก็มีการใช้ป้ายภาษาท้องถิ่นในจำนวนมากขึ้นแล้ว ทั้งนี้ การส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นดังกล่าวไม่ได้เป็นการก่อให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น หากแต่ทำให้ประชาชนในพื้นที่กลับรู้สึกว่าสังคมไทยเปิดรับความแตกต่าง และรู้สึกสบายใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย
 
ประการที่ห้า ต้องสื่อสารกับสังคมใหญ่และผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความเข้าใจต่อรากเหง้าความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้และเสริมสร้างทัศนคติที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี โดยผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ
 
5. บทส่งท้าย
 
โดยที่สุดแล้ว ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ลึกลงไปถึงชั้นความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลใจในเรื่องของอัตลักษณ์ที่ถูกกดทับและการไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ว่ารัฐจะกำหนดนโยบายหรือมาตรการใดๆ ออกมา นโยบายหรือมาตรการนั้นจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาความรู้สึกนี้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของการเข้าถึงจิตใจประชาชน มิใช่เรื่องของการยึดพื้นที่ทางกายภาพแต่อย่างใด
 
 กระบวนการสันติภาพ (Peace Process) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องเกิดขึ้นโดยเร็วและต่อเนื่อง บนพื้นฐานของการยึดมั่นในความจริง มีความมุ่งมั่นและจริงใจ โดยเน้นการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกๆ ฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนร่วมมือจากทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยอมรับฟังและให้น้ำหนักอย่างแท้จริงกับทุกๆ เสียงหรือข้อเรียกร้อง แม้เสียงนั้นจะแตกต่างไปจากของรัฐก็ตาม เพื่อที่จะลดเงื่อนไขเก่าและไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ให้กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐนำมาขยายผลในการสร้างความรุนแรงขึ้นอีกต่อไป
 
ด้วยบรรยากาศของการทำงานร่วมกันดังกล่าวนี้เท่านั้นที่จะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเปิดประตูไปสู่ปลายทางสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นจุดหมายที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน
 
สรุปย่อภาพรวมความพยายามในการจัดการปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา (ดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
 

 

แนวทางแก้ไข
มุมมองต่อปัญหา
สมมติฐานเบื้องต้น
ยุทธศาสตร์
ยุทธวิธี
ข้อดี
ข้อจำกัด
ตัวแสดงหลัก
1. การปราบปราม
การแบ่งแยกดินแดน
เชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มคนที่ต้องการแยกดินแดนและไม่ถือว่าตนเป็นคนไทย การใช้กำลังทหารในการปราบปรามอย่างเด็ดขาดจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเอาชนะอริราชศัตรู
รุกทำลาย – จำกัดพื้นที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน
- ปิดล้อมตรวจค้น
- สอบปากคำ/ อบรมปรับทัศนคติ
- เสริมกำลังทหาร
- ตอบโต้ด้วยอาวุธ
- จำกัดพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มขบวนการ
- ลดความถี่ของการเกิดเหตุการณ์
- อาจสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม
- ต่อวงจรความรุนแรง
- ได้เพียง “ยัน” ไม่อาจ “รุก”
- ใช้งบประมาณมาก
- ขาดความชำนาญในการรบนอกแบบ
- ทหาร/ตำรวจ
- กองกำลังไม่ทราบฝ่าย
2. การพัฒนาคุณภาพชีวิต
ยาเสพติด/ ความยากจน/ ด้อยการศึกษา
เชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากการที่ประชาชนบางส่วนถูกชักจูงและหลงผิดโดยตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ไม่หวังดี หากประชาชนส่วนใหญ่กินดีอยู่ดีมีการศึกษา ก็จะไม่หลงผิดไปเป็นแนวร่วม ประชาชนจะเอาใจออกห่าง และสุดท้ายขบวนการเหล่านี้ก็จะสูญเสียมวลชนและ ‘ฝ่อ’ ไปในที่สุด
เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา – ทำดีมีอาชีพ
- ใช้เศรษฐกิจพอเพียง
- สร้างงาน สร้างอาชีพ
- ส่งเสริมการลงทุน (อุตสาหกรรม)
- ส่งเสริมการศึกษา
- แก้ปัญหายาเสพติด
- ประชาชนจำนวนหนึ่งมีอาชีพและรายได้มากขึ้น
- ประชาชนจำนวนหนึ่งมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
- การพัฒนาไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่
- ประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าเป็นการ “ให้” จากรัฐ แต่ “ไม่รู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของ”
- ใช้งบประมาณมาก
- เกิดข่าวลือว่ามีการคอร์รัปชั่นจากโครงการพัฒนาต่างๆ
- ศอ.บต.
- กอ.รมน.
-กระทรวง ศึกษาธิการ
- องค์กรพัฒนาเอกชน
- ภาคประชาสังคม
3. การเคารพสิทธิมนุษยชน
การเรียกร้องความเป็นธรรมจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและเลือกปฏิบัติ
เชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากความไม่พอใจของผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนละเมิดสิทธิมนุษยชนและเลือกปฏิบัติจนเกิดเป็นปฏิกิริยาตอบโต้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม หากเจ้าหน้าที่รัฐเคารพยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด ความไม่พอใจต่างๆก็จะลดหายไปในที่สุด
ปฏิบัติต่อประชาชนตามหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัดบนความเสมอภาคเท่าเทียม
- ใช้พรก.ฉุกเฉินฯตามกรอบของกฎหมาย
- ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย
- ไม่สร้างเงื่อนไขใหม่
- ประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ
- ยังไม่อาจทำให้ประชาชน “รู้สึกและสัมผัสได้” ถึงความจริงใจของรัฐในการเคารพสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค
- ประชาชนส่วนหนึ่งยังรับรู้จากการแพร่กระจายของข่าวการปฏิบัตินอกกรอบของกฎหมายอยู่อย่างต่อเนื่อง
- กระทรวงยุติธรรม
- ทหาร/ตำรวจ
- องค์กรพัฒนาเอกชน
4. การรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรม
การรู้สึกว่าอัตลักษณ์ของตนถูกทำลายโดยการทำให้เป็น “ไทย” ผ่านมาตรการกลืนกลายทางวัฒนธรรม
เชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากความคับข้องใจของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าอัตลักษณ์ของตนถูกกดทับและไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ เป็นเสมือนกับพลเมืองชั้นสอง หากรัฐมีนโยบายที่ยอมรับและให้เกียรติอัตลักษณ์วัฒนธรรมมลายูมุสลิม ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าถูกกลืนกลายทางวัฒนธรรม แรงต่อต้านก็จะหมดไปในที่สุด 
ยอมรับและให้เกียรติอัตลักษณ์วัฒนธรรมมลายูมุสลิมอย่างเป็นรูปธรรม
- มีระบบการศึกษาของรัฐที่บูรณาการสายสามัญกับศาสนาในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา
- ใช้ภาษามลายูควบคู่ภาษาไทยกำกับบนป้ายของทางราชการ
- บังคับใช้กฎหมายอิสลามกับคนมุสลิม
- ประชาชนรู้สึกว่าอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตนมีคุณค่าและเท่าเทียมกับคนไทยในภูมิภาคอื่น
- ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของตน
- ยังไม่อาจดำเนินการได้เต็มที่เนื่องจากกรอบ “ความเป็นไทย” ที่ค่อนข้างจำกัดอยู่ที่วัฒนธรรมไทย พูดภาษาไทย และนับถือศาสนาพุทธของสังคมใหญ่โดยรวม
- ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีหลักประกันว่าจะมีความต่อเนื่องและยั่งยืน
- กระทรวงวัฒนธรรม
- กระทรวง ศึกษาธิการ
- องค์กรพัฒนาเอกชน
- ภาคประชาสังคม
5. การปรับโครงสร้างการปกครอง
การกอบกู้
เอกราช/ความต้องการปกครองตนเอง
เชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นอาการของความขัดแย้งทางการเมืองที่ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องการที่จะมีอำนาจในการปกครองตนเองในลักษณะที่สามารถแสดงถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเป็นอิสระ หากรัฐให้อำนาจแก่ประชาชนท้องถิ่นในการดูแลตนเองอย่างแท้จริงภายใต้โครงสร้างการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการ สอดคล้องกับอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย ก็จะเป็นการปลดเงื่อนไขสงคราม หมดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนได้ในที่สุด 
มอบอำนาจในการปกครองตนเองแก่ประชาชนในพื้นที่ในระดับที่มีนัยสำคัญภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
- พัฒนาโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
- ประชาชนรู้สึกว่าตนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและได้มีโอกาสในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นตามความต้องการอย่างแท้จริง
- ประชาชนสามารถเรียกร้องกดดันผู้บริหารให้กำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นได้
- ความกังวลจากสังคมไทยพุทธว่าจะเป็นก้าวแรกไปสู่การแยกดินแดน
- ความไม่ชัดเจนว่าการปรับโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นเป็นทางออกที่ภาครัฐและกลุ่มขบวนการยอมรับร่วมกันได้
- แรงต้านจากกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการบางส่วนที่เห็นว่ารูปแบบการปกครองท้องถิ่นปัจจุบันมีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว
- องค์กรพัฒนาเอกชน
- เครือข่ายภาคประชาสังคม
 
6. การพูดคุยสันติภาพ (Peace Talk)
ความไม่เป็นธรรม/ ความคับข้องใจ
เชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกของประชาชนส่วนหนึ่งว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรม มีความไม่สบายอึดอัดใจในสภาพความเป็นอยู่ปัจจุบัน การพูดคุยกันระหว่างคู่ขัดแย้งและผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆเป็นจุดเริ่มต้นที่จะร่วมกันหาทางออกที่ทุกฝ่ายพึงพอใจและยอมรับได้มากที่สุด
เปิดพื้นที่ปลอดภัยทางการเมืองเพื่อรับฟังและทำความเข้าใจมุมมองและความต้องการระหว่างกัน รวมทั้งค้นหาทางออกที่ยอมรับได้ร่วมกัน
- ส่งสัญญาณผ่านช่องทางและวิธีการต่างๆให้อีกฝ่ายได้รับรู้ถึงความจริงใจที่จะใช้สันติวิธีด้วยการพูดคุย
- ริเริ่มกระบวนการสร้างความไว้วางใจ
- สร้างและรักษาช่องทางสื่อสารระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง
- ทำให้เข้าใจรากเหง้าของปัญหา มุมมองและความต้องการระหว่างกันเพื่อที่จะแสวงหาทางออกได้ตรงจุด
- ขยายพื้นที่การใช้สันติวิธีและจำกัดพื้นที่การใช้ความรุนแรง
- กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทในด้านนี้ยังมีลักษณะการทำงานที่ขาดการประสานความร่วมมือระหว่างกัน
- มีแรงต้านจากกลุ่มสายเหยี่ยวในภาคส่วนต่างๆว่าเป็นการพูดคุยกับศัตรู ยกฐานะและยอมจำนนต่อ ‘ผู้ก่อการร้าย’
- ยังไม่ปรากฏคู่ขัดแย้งชัดเจนที่ต้องการจะพูดคุย
- สภาความมั่นคงแห่งชาติ
- กอ.รมน.
- ศอ.บต.
- องค์กรพัฒนาเอกชน
- ภาคประชาสังคม



 

หมายเหตุ
 
แน่นอนว่าทั้ง 6 แนวทางนั้น คงจะต้องดำเนินไปด้วยกันด้วยระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม จะมีเพียงแนวทางใดแนวทางหนึ่งคงไม่ได้
 
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหารวมทั้งสังคมใหญ่นั้น ยังมีความเข้าใจต่อรากเหง้าของปัญหาที่ไม่ตรงกัน ส่งผลให้มีความเชื่อมั่นในแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันไป
 
คำถามสำคัญคือแล้วแนวทางใดที่จะเป็นตัวปลดล็อกเงื่อนไขของความรุนแรง? แนวทางใดที่จะตอบโจทย์กลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐและนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่? วันนี้เรามีคำตอบนั้นแล้วหรือยัง?

 

 


[1] ปกรณ์ พึ่งเนตร, เปิดตัวเลขทางการ 7 ปีดับไฟใต้ 1.45 แสนล้าน ป่วน 11,523 ครั้ง ตาย 4,370 ราย ยกฟ้อง 45%, โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา, วันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2554 [Online] 12 เมษายน 2554. แหล่งที่มา http://south.isranews.org/academic-arena/684--7-145-11523-4370-45.html
 
[2] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, เดือนที่ 82 ของไฟใต้: บทเพลงแห่งความรุนแรง ความยุติธรรมและสันติภาพยังไม่จบ, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน 2553 [Online] 12 เมษายน 2554. แหล่งที่มา http://www.deepsouthwatch.org/node/1123

 

File attachment
Attachment Size
apptable_mathus_.pdf (37.47 KB) 37.47 KB