Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

      ระฆังสัญญาณการต่อสู้ทางการเมืองในสนามเลือกตั้งทั่วไปดังขึ้นแล้ว พรรคการเมืองต่างๆ อวดโอ่ ประชันนโยบายกันเต็มที่ ถูกใจหรือขัดเคืองกันอย่างไรก็ตัดสินไปตามสภาพ

      สำหรับนโยบายต่อชายแดนภาคใต้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งทุกพรรคให้ความสำคัญกับการเคารพวิถีความแตกต่าง แนวทางของทุกพรรคจึงเน้นในเรื่องการสนับสนุนวิถีชีวิตซึ่งผูกพันกับหลักศาสนา เพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชน เพิ่มบทบาทการปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้ศาสนาเข้ามานำการเมือง หรืออื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นแนวโน้มการพัฒนาที่ดี แนวทางแต่ละพรรคก็ไม่อ่อนด้อย หรือโดดเด่นไปกว่ากันสักเท่าไหร่

       แต่ไม่มีพรรคใดเลยที่จะพูดให้ชัดๆ ถึงแนวนโยบายการจัดการกับความรุนแรง

      นโยบายสนับสนุนการรักษาอัตตลักษณ์และการพัฒนา แม้จะเป็นสิ่งดีและส่งผลอย่างยั่งยืนในระยะยาว แต่สำหรับการจัดการปัญหาความรุนแรงซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเฉพาะหน้า จะมีวิธีการกันอย่างไร สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีการพูดถึงกัน

       ปัญหาในขณะนี้ คือความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความสูญเสีย ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บล้มตายเกิดขึ้นทุกวัน

      แนวทางการพัฒนาต่างๆ แม้เป็นสิ่งดี และเห็นผลในระยะยาว แต่ยังไม่มีพรรคไหนพูดกันถึงการระงับความรุนแรงที่เกิดขึ้นเลย

      ในขณะที่ฝ่ายกองทัพเปิดยุทธการเต็มรูปแบบมานานแล้ว แนวทางดำเนินการทางการเมืองของรัฐบาลในอนาคต จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้อง ป้องกันมิให้เกิดช่องว่าง ซึ่งจะทำให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่ปราถนาตามมา

      การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองกำลังที่รับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยให้กองทัพภาคที่ 1 2 3 และ 4 แบ่งพื้นที่รับผิดชอบกันกองทัพภาคละ 1 จังหวัด คือการสร้างความต่อเนื่องในการรับผิดชอบพื้นที่เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มว่าจะต้องยืดเยื้อ

       ว่าไปแล้วการจัดการกับความรุนแรง ควรจะเป็นยุทธศาสตร์หลักของทุกพรรค จะเอาด้วยกับแนวทางของทหารขณะนี้ หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมอย่างไร นี่คือสิ่งที่ต้องพูดให้ชัด

      หากแต่ละพรรคมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลใหม่ในอนาคตจะตอบโจทย์ในประเด็นแนวทางปฏิบัติ การปรับปรุงกฎหมาย การให้อำนาจหน้าที่ และแนวทางวิธีการอื่นๆ เพื่อขจัดอุปสรรคต่อการจัดการความรุนแรงอย่างไร

      การเมืองนำการทหาร การยึดมั่นแนวทางสันติวิธี ซึ่งทุกพรรคประกาศชัด แต่ยังไม่เห็นรูปธรรมของสันติวิธีว่าจะเป็นแบบไหน ที่จะช่วยลดความรุนแรงไปได้พร้อมๆ กับการพัฒนา ซึ่งถือเป็นการรุกทางการเมืองควบคู่ไปกับมาตรการทางทหาร

      นโยบายการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องเป็นแนวทางคู่ขนานกันทั้งการพัฒนาเพื่อขจัดเงื่อนไข และการสลายความรุนแรง

 

 

 

 

 

ข่าวอื่นๆ

ความรู้คืออำนาจ

วิเคราะห์สังคมเพื่อสร้างยุทธศาสตร์

ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดแนวทาง

ความอ่อนด้อยเชิงยุทธวิธี

เฝ้าระวังพื้นที่ เป้าลวงในสงครามความคิด

การคุมเชิง 'ความรุนแรง'

นิ่งเงียบแต่ไม่สงบ

การทหารไม่คืบ การเมืองถดถอย

สร้างจุดเปลี่ยนจากความรุนแรง

เอกภาพความเข้าใจปัญหา