Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์นี้ ทั้งการระเบิดฆ่าทหาร 8 นายและหนึ่งในนั้นถูกตัดศีรษะที่นราธิวาส การวางระเบิดร้านอาหารไทยพุทธในเขตเมืองยะลา คงทำให้เห็นว่าความรุนแรงกลับมาอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปพักใหญ่

ถ้ามองเช่นนี้ก็คงมีคำถามว่า มาตรการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมผู้ก่อความไม่สงบที่ทำมาก่อนหน้านี้ ตลอดจนการทุ่มกำลัง การปรับโครงสร้างหน่วยรับผิดชอบพื้นที่กันใหม่ ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้อีกหรือ ซึ่งมักจะจบลงด้วยบทสรุปว่า แม้จะทุ่มกำลังปราบปรามอย่างไร ขบวนการใต้ดินก็ยังแสดงศักยภาพตอบโต้ได้เสมอ อาจเรียกได้ว่านี่คือบทสรุปแบบสูตรสำเร็จทุกครั้งที่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

แต่หากมองภาพรวมสถานการณ์ คงต้องตั้งคำถามว่า การก่อเหตุในช่วงที่การเมืองยังไม่หยุดนิ่งเช่นนี้ มีเป้าหมายอื่นใดหรือไม่

การเมืองขณะนี้เด่นชัดแล้วว่า พรรคพลังประชาชนซึ่งถอดรูปมาจากอดีตพรรคไทยรักไทยเดิม กำลังจะจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลใหม่กับกองทัพ

หลังการยึดอำนาจรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ช่วงเวลากว่าขวบปีที่ผ่านมา กองทัพมีบทบาทการนำอย่างสูงในการแก้ปัญหา แต่ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ใดๆ ว่า หลังจากตั้งรัฐบาลได้แล้ว ทิศทางการแก้ไขปัญหาจะดำเนินต่อไปอย่างไร ดังนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวะความคลุมเครือเช่นนี้ จึงเสมือนแรงกดดันต่อทุกฝ่าย

การมีบทบาทนำในการแก้ปัญหาที่ผ่านมากว่าปี กองทัพอ่วมไปไม่น้อยกับการถูกตั้งคำถามในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการประกาศเคอร์ฟิว การปิดล้อม กวาดจับ ห้ามผู้ต้องสงสัยเข้าพื้นที่โดยนำไปเข้าค่ายทหารเพื่อฝึกอาชีพ และล่าสุดกรณี พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งถูกกล่าวหาอย่างหนักหน่วงว่าเป็นกฎหมายเผด็จการ ลิดรอนและละเมิดสิทธิเสรีภาพ

ภายใต้ภาวะซึ่งรัฐบาลใหม่ไม่ถูกกับกองทัพ ทำให้หวังได้ยากกับมาตรการแก้ปัญหาที่ดีและมีเอกภาพ ผสานกับพรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ที่มีจำนวน ส.ส.ในพื้นที่กว่าครึ่ง ย่อมทำให้การแสดงบทบาทในการตรวจสอบต้องเป็นไปอย่างเข้มข้น ความรุนแรงระลอกนี้ จึงอาจมีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่ปะทะทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ให้ขยายออกไป ทำลายความเข้มแข็งของทุกฝ่าย เอาให้ไม่มีโอกาสตั้งหลักคิด เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหากันเลย

ยิ่งช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ภาคประชาชนในพื้นที่ยื่นข้อเรียกร้องการจัดรูปแบบการปกครองซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายการแก้ปัญหาในระยะต่อไป

ไม่ว่าจะใช้แนวทางการเมืองนำทหาร หรือทหารนำการเมือง แต่วันนี้สมรภูมิทางการเมืองเกิดขึ้นแล้ว ภายใต้ภาวะเช่นนี้ การตั้งหลักวางแนวทางแก้ปัญหา และการบริหารจัดการที่ดี เป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยไม่ให้สถานการณ์ความได้เปรียบของรัฐต้องพลิกกลับ

 

 

 

 

 

ข่าวอื่นๆ

ความรู้คืออำนาจ

วิเคราะห์สังคมเพื่อสร้างยุทธศาสตร์

ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดแนวทาง

ความอ่อนด้อยเชิงยุทธวิธี

เฝ้าระวังพื้นที่ เป้าลวงในสงครามความคิด

การคุมเชิง 'ความรุนแรง'

นิ่งเงียบแต่ไม่สงบ

การทหารไม่คืบ การเมืองถดถอย

สร้างจุดเปลี่ยนจากความรุนแรง

เอกภาพความเข้าใจปัญหา