หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มบุหงารายาและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเวทีความรู้ครั้งที่ 1 หัวข้อ “กระบวนการสันติภาพ เริ่มต้นอย่างไร?” ขึ้นที่ มอ.ปัตตานี (คลิกดูกำหนดการ) โดยมี ดร.นอร์เบิร์ท รอปเปอร์ส ผู้อำนวยการมูลนิธิสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟจากเยอรมันมาอภิปรายนำ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศราได้สรุปบทสนทนาดังกล่าวมาบันทึกไว้อย่างน่าสนใจ กองบรรณาธิการฯ จึงขอนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง
"3 ทฤษฎีสู่เจรจาสันติภาพดับไฟใต้" ประเด็นท้าทายว่าที่รัฐบาลใหม่ป้ายแดง
ปรัชญา โต๊ะอิแต
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา
“ความขัดแย้งทุกเรื่องทุกที่บนโลกใบนี้ล้วนยุติลงบนโต๊ะเจรจา” เป็นสัจธรรมที่พิสูจน์แล้วและไม่มีใครปฏิเสธ หลายคนจึงเชื่อว่าการจะหยุดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ย่อมหนีไม่พ้นการ “เปิดเจรจา” เช่นกัน
แม้จนถึงปัจจุบันการเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อ “ดับไฟใต้” ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลยก็ตาม (ถึงจะมีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการหลายกลุ่มหลายระดับต่อเนื่องมาตลอด แต่ก็ยังไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานการณ์ในภาพรวม) อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าคู่ขัดแย้งยังไม่พร้อมเจรจา หวั่นว่าเจรจาไปแล้วจะเสียเปรียบ หรือคิดว่าฝ่ายตนได้เปรียบอยู่จึงยังไม่เจรจา ฯลฯ
แต่กระนั้น การเข้าถึงองค์ความรู้ในเรื่อง “การเจรจาสันติภาพ” ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ เนื่องจากในที่สุดสถานการณ์ความขัดแย้งย่อมเดินไปสู่โต๊ะเจรจาดังที่กล่าวแล้ว และการเจรจาที่จะมีขึ้นไม่วันใดวันหนึ่งในอนาคต จักต้องได้รับฉันทานุมัติและมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ (ทั้งจากสถานการณ์และการเจรจาโดยตรง) จึงจะก่อร่างสร้างสันติภาพได้อย่างยั่งยืนสถาพร
หาใช่การเจรจาที่ตกลงกันเฉพาะบุคคลระดับนำของคู่ขัดแย้งแต่อย่างใดไม่...
และนี่คือที่มาของการจัดเวทีความรู้ครั้งที่ 1 เรื่อง “กระบวนการสันติภาพเริ่มต้นอย่างไร?” โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้ และกลุ่มบุหงารายา โดยเชิญ ดร.นอร์เบิร์ท รอปเปอร์ส (Dr.Norbert Ropers) นักวิชาการชาวเยอรมัน ผู้อำนวยการมูลนิธิ Berghof Peace Support มาถ่ายทอดความรู้ในแง่ทฤษฎีและประสบการณ์ตรง
ดร.นอร์เบิร์ท ผ่านงานด้านกระบวนการสันติภาพ และการเปลี่ยนถ่ายความขัดแย้งไปสู่สันติภาพในหลายประเทศมาอย่างโชกโชน ทั้งยังทำงานแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเอเชียมาแล้วมากกว่า 10 ปี โดยกลุ่มเป้าหมายที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเชิญมาร่วมรับฟัง มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนทั้งพุทธและมุสลิมในพื้นที่
๐ แค่หยุดความรุนแรงยังไมใช่ “สันติภาพ”
ดร.นอร์เบิร์ท บรรยายเอาไว้ตอนหนึ่งว่า การเริ่มต้นสร้างสันติภาพจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสันติภาพและความขัดแย้งเสียก่อน จึงค่อยมาเรียนรู้เรื่องกระบวนการ
“คนทั่วไปมักเข้าใจว่าความขัดแย้งต้องเป็นเรื่องของความรุนแรงเท่านั้น แต่ที่จริงความไม่เข้าใจและความเห็นที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่มีความต้องการที่แตกต่างกันก็เป็นความขัดแย้งแล้ว ยกตัวอย่างเช่นในสังคมที่มีทาสกับเจ้าของทาส ในยุคนั้นไม่มีใครเห็นว่าเป็นความขัดแย้ง แต่หากมองในยุคนี้จะพบว่านั่นคือความขัดแย้ง เพราะทั้งสองฝ่ายมีความต้องการที่แตกต่างกัน”
ส่วนคำว่า “สันติภาพ” ซึ่งมักถูกมองว่าตรงกันข้ามกับคำว่า “ความขัดแย้ง” แท้ที่จริงก็มีมิติที่ต้องพิจารณาเช่นกัน โดย ดร.นอร์เบิร์ท ยกตัวอย่างปัญหาในแคชเมียร์ (เขตปกครองทางตอนเหนือของอินเดีย) ซึ่งอินเดียส่งกองกำลังของตนเข้าไปอยู่ในพื้นที่เพื่อกดความรุนแรงเอาไว้ และสามารถทำให้ปลอดความรุนแรงได้บางช่วงเวลา ตรงนี้หลายคนเรียกว่า “ความรุนแรงแง่บวก” ซึ่งมักจะถูกอ้างว่าคือ “สันติภาพ” แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพียงแต่ต่างจาก “ความรุนแรงแง่ลบ” ที่มองเห็นภาพความรุนแรงปรากฏอยู่ต่อหน้าเท่านั้นเอง
“ความรุนแรงแง่บวกมีลักษณะสำคัญคือ มักเกิดจากความแตกต่างของกลุ่มที่มีอัตลักษณ์แต่เป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งพวกเขาต้องการให้สังคมใหญ่ให้ความสำคัญ แต่สังคมใหญ่ก็ส่งกำลังไปกดทับเอาไว้ ความขัดแย้งประเภทนี้หลายพื้นที่ในหลายๆ ประเทศกินเวลานานมากเป็นสิบๆ ปีหรือมากกว่านั้น”
๐ 3 ทฤษฎีเจรจาสู่สันติภาพยั่งยืน
ดร.นอร์เบิร์ท กล่าวต่อว่า มีคำถามเกี่ยวกับความรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนานว่าเมื่อไหร่จะจบลง เมื่อไหร่ถึงจะมีสันติภาพ คำตอบมีอยู่ 3 ทฤษฎีที่อธิบายเรื่องนี้ได้
ทฤษฎีที่หนึ่ง คือ คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างไม่ยอมกัน สู้กันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีสัญญาณแห่งชัยชนะของแต่ละฝ่าย ต่อมาคู่ขัดแย้งก็จะพบว่าตัวเองไม่มีทางชนะ อยู่ในสถานการณ์ที่มืดมน ก็จะกดดันให้เกิดการเจรจา เช่น สถานการณ์ในซูดานเหนือกับซูดานใต้ เป็นต้น
ทฤษฎีที่สอง คือ หน้าต่างแห่งโอกาส เกิดจากการยอมเปลี่ยนแปลงโดยคู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภายนอก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีความขัดแย้งระหว่างอาเจะห์กับอินโดนีเซีย ซึ่งกระบวนการที่ก่อให้เกิดความสำเร็จมาจากการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือโดยองค์กรระหว่างประเทศ
ทฤษฎีที่สาม คือ การได้มาซึ่งสันติภาพที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนที่เป็นกลุ่มก้อนซึ่งปฏิเสธความรุนแรง จนเกิดภาวะสุกงอม ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยก็มีความพยายามกันอยู่
“แนวทางการสร้างสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการขับเคลื่อนจากหลายระดับ เป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีของทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชน เมื่อมาดูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคำถามว่าสถานการณ์เดินมาถึงจุดเปลี่ยนของความขัดแย้งหรือยัง หากถึงจุดเปลี่ยนแล้ว ก็จะไปถึงขั้นตอนก่อนการเจรจา ซึ่งอาจหมายถึงสถานการณ์ในสามจังหวัดขณะนี้ จากนั้นจึงจะก้าวสู่ขั้นของการเจรจาจริงๆ และขั้นการตกลงทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงแค่จุดเริ่มของกระบวนการสันติภาพเท่านั้น ซึ่งในระหว่างทางของกระบวนการมักพบปัญหาเรื่องข้อตกลงที่มีการตีความแตกต่างกัน ทำให้เกิดความไม่เห็นด้วยในข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งหลังจากนั้นอาจมีความรุนแรงเกิดขึ้นตามมาอีกก็เป็นได้”
๐ ระหว่างทางเจรจาย่อมมีความรุนแรง
ดร.นอร์เบิร์ท ยังได้สรุปแนวคิดของกลุ่มนักวิชาการที่ทำงานแก้ปัญหาความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือว่า ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 10 ข้อ คือ
หนึ่ง ผู้เข้าร่วมกระบวนการต้องรวมถึงคู่ขัดแย้งที่นิยมความรุนแรงด้วย
สอง ต้องยอมรับว่าระหว่างทางของการเจรจาย่อมมีความรุนแรงเกิดขึ้น
สาม จะต้องมีการให้และรับในเวลาเดียวกัน กล่าวคือจะต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน ไม่มีกระบวนการสันติภาพที่ไหนที่แต่ละฝ่ายจะได้สิ่งที่ต้องการทั้งหมด
สี่ ผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่ายจะต้องขายความคิดให้กับประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งด้วย ไม่ใช่บริหารเองโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ห้า จะต้องบูรณาการกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดให้กลับคืนสู่สังคมโดยปกติได้ ไม่ถูกกล่าวหาหรือตีตราว่าเป็นสาเหตุแห่งความรุนแรง
หก จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก แล้วเข้าไปจัดการ ป้องกัน
เจ็ด จะต้องพัฒนาพื้นที่ขัดแย้งในด้านต่างๆ
แปด จะต้องดำรงไว้ในเรื่องความยุติธรรม เพราะเป็นไปไม่ได้ที่สันติภาพจะเกิดขึ้นท่ามกลางความอยุติธรรมที่ยังดำรงอยู่
เก้า จะต้องเฝ้าระวังการใช้ความรุนแรง และปัญหาการเมืองในพื้นที่
สิบ จะต้องใช้เอกลักษณ์ในพื้นที่มาช่วยจัดการปัญหา
๐ “สัญญาณดี” พูดเรื่องกระจายอำนาจ
“จากคำถามที่ว่าตอนนี้มีจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์หรือยัง ผมเองอาจมองเห็นภาพได้ไม่ชัดนัก แต่สิ่งที่ปรากฏชัดคือมีการพูดเรื่องการกระจายอำนาจมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และรัฐบาลไทยก็ยินดีที่จะพูดคุยกับคู่กรณีมากกว่าเดิม แต่อีกฝ่ายยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจน อาจเป็นความลังเลที่เกิดจากฝ่ายขบวนการจากบทเรียนในอดีตที่มองว่าโดนหลอกมาตลอด และฝ่ายขบวนการอาจเชื่อว่ารัฐบาลยังไม่พร้อมรับข้อเสนอก็เป็นได้” ดร.นอร์เบิร์ท กล่าว
แต่กระนั้น นักวิชาการจากเยอรมันผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการสันติภาพ บอกว่า ความลังเลของฝ่ายขบวนการเกิดขึ้นในประเทศที่มีความขัดแย้งอื่นๆ ทั่วโลก ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ก็เป็นสัญญาณที่น่าสนใจ และต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะฝ่ายใด จะไม่มีใครได้หรือต้องให้ทั้งหมด
“หลายฝ่ายอาจพยายามค้นหาทางลัดที่จะนำไปสู่สันติภาพ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือฝ่ายการเมืองต้องมีความมุ่งมั่น ต้องมีผู้นำที่ฉลาดเฉลียว มีพรสวรรค์ และเตรียมผู้นำระดับต่างๆ ให้สามารถทำงานได้ในทุกๆ สถานการณ์ที่เผชิญและในบริบทที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อคู่เจรจาได้ในระดับหนึ่ง”
ดร.นอร์เบิร์ท กล่าวทิ้งท้ายเสมือนหนึ่งเป็นความท้าทายต่อว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ป้ายแดง!
English version
An expert’s view on peace process
Pratchaya Toh-e-tae
Southern News Center, Isranews Agency
“Every conflict can be resolved on the negotiating table”. This is a proven and undeniable truth that several people believe that the bloody conflict in the deep South can be resolved only through negotiations.
Although no formal negotiations have ever been held between all the parties in the conflict in the strife-torn deep South, informal peace talks have been occasionally been held and at different levels in the past several years but without success.
In order to have a better understanding about peace process and how it works, Cross Cultural Foundation which is a non-governmental organization dedicated to human rights promotion and legal counseling recently invited Dr Norbert Ropers, director of Germany’s Berghof Foundation for Peace Support, to give a lecture on the topic: “How to start a peace process” and to share his experience in peace process.
In his lecture, Dr Ropers said that one needs to have a clear understanding of peace and conflict before peace building process can start. He said that most people appeared to have misconception about conflict that it has to do with violence. He noted that conflict is not all about violence, difference in opinions or wishes is also regarded as a conflict.
Peace, he added, is not the opposite of conflict. He cited the Kashmir problem in which the stationing of Indian troops in the region managed to keep violence under checks – a condition several people described as “constructive violence” while a handful claimed as “peace”.
Dr Ropers offered three theories of peace building.
The first theory is about two conflicting parties which are equally obstinate and continue to war against each other with neither side has the prospect of winning. In this case, the doomed situation will compel the two conflicting parties into the negotiating table. A case in point is the conflict in Sudan.
The second theory concerns a window of opportunity when a third party, due to an external factor, steps in to offer a helping hand to negotiate a conflict. A case in point is the conflict between Indonesia and Aceh separatists. Peace was successfully brokered by the international community in the aftermath of a tsunami devastated most of Aceh province.
The third theory is about the unification of people to put pressure on the conflicting parties to come to the negotiating table to end the conflict. In the deep South, there have been attempts by various groups of people in the strife-torn region to unite together with enough pressure to push for peace talks.
From the experience of peace process in Northern Ireland, Dr. Ropers outlined a number of factors before the beginning of peace process. The factors include: the peace process must involve the parties which are prone to violence; all parties must accept that violence can take place in the course of peace talks; the conflicting parties must be willing to give and take; the victims of the conflict must be rehabilitated; peace cannot be attained without justice; conflict solution must involve people who are caught in the conflict.
Asked whether he has seen any turning point regarding the situation in the deep South, Dr Ropers admitted he had not seen any clear picture yet. However, he pointed out that talk about decentralization from the government side was a good sign but there is no clear response from the “other side” yet.