Skip to main content
หมายเหตุ: ข้อเขียนข้างล่างนี้เป็น “คำนำ” ในหนังสือรวบรวมข้อมูลและบทวิเคราะห์ที่ชื่อว่า สงขลา-สตูล: ก้าวสู่จังหวัดอุตสาหกรรมหนัก ที่เป็นการเผยให้เห็นข้อมูลที่ยังไม่เคยมีการเปิดเผยอย่างเป็นระบบ และพยายามตั้งคำถามว่าหายนะจะมาเยือนทั้งสองจังหวัดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในกรณีมาบตาพุดหรือไม่? หนังสือดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่ โดยจะพยายามทยอยเผยแพร่เนื้อหาในแต่ละบทตอนอย่างต่อเนื่อง  
 
 
การทำเวทีประชาพิจารณ์ หรือเวทีประชาสัมพันธ์ของหลายหน่วยงานของสารพัดโครงการการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล ได้สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแยกส่วน เกิดการเห็นภาพการพัฒนาแบบขาดแหว่งจนแทบไม่มีใครเห็นทั้งหมด
 
แต่ในภาวะที่พอจะมีร่องรอยของโครงการพัฒนาต่างๆ ที่พอมีให้เห็นบ้างในหลายโอกาส และในท่ามกลางข้อมูลโครงการที่หาได้ไม่ยากนักในโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร เมื่อนำมาปะติดปะต่อทำความเข้าใจ จนนำมาสู่การเห็นภาพใหญ่ของการพัฒนาจังหวัดสงขลา-สตูลอย่างที่น้อยคนจะเคยรับรู้ สงขลา-สตูล จังหวัดที่มีธรรมชาติงดงาม กำลังถูกวางทิศทางการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมหนักเช่นเดียวกับจังหวัดระยอง
 
ข้อมูลและภาพทั้งหมดที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ล้วนนำมาจากเอกสารของโครงการต่างๆที่ปรากฏในที่ต่างๆ บางส่วนเป็นเอกสารที่ประกอบการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ บางส่วนเป็นเอกสารเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ บางส่วนเป็นเอกสารที่ใช้นำเสนอประกอบการทำประชาพิจารณ์หรือประชาสัมพันธ์ เมื่อนำเอกสารและข้อมูลที่พอจะหาได้มาปะคิดปะต่อจนเห็นเค้าลางของหายนะที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดสงขลา-สตูล 
 
แผนภาพทุกภาพ เอกสารทุกชิ้น ไม่มีการทำแผนที่หรือทำแผนผังขึ้นมาใหม่ จะใช้แผนผังแผนที่จากเอกสารต้นฉบับของโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งสิ้น จะมีก็เพียงการเขียนอธิบายให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น เพื่อไม่ให้เจ้าของโครงการกล่าวหาได้ว่า มีการบิดเบือนข้อมูล เหมือนอย่างที่ภาคประชาสังคมในทั้งสองจังหวัดได้ตำหนิโครงการต่างๆ ที่มาทำการประชาสัมพันธ์อยู่เสมอว่า “บอกไม่หมด บิดเบือนความจริง”
 
การรวบรวมข้อมูล ได้ทำให้เห็นภาพการพัฒนาที่รัฐบาลกลางได้ค่อยๆ แบให้เห็น การค่อยๆ พัฒนามาทีละส่วน ต่างกรมกอง ต่างวาระกัน แต่เมื่อมารวมกันในพื้นที่ ภาพของสงขลา-สตูลในอนาคตอันใกล้ จะกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนักอีกพื้นที่หนึ่งของประเทศไทยอย่างแน่นอน สงขลา-สตูลจะมีโอกาสเป็นเหมือนมาบตาพุด 2 ที่จุดเริ่มต้นก็มาจากการมีโรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้า และท่าเรือน้ำลึกและระบบขนส่ง เช่นเดียวกัน
         
          ในทุกวันนี้ ข้อมูลการพัฒนาจังหวัดสงขลาและสตูล ได้กระเส็นกระสายออกมาอย่างแยกส่วน บางพื้นที่รับรู้เรื่องการสร้างท่าเรือน้ำลึก บางคนรับรู้เรื่องคลังน้ำมันที่จะมาตั้งที่สิงหนคร บางเครือข่ายกำลังคัดค้านการทำประชาสัมพันธ์เรื่องเหมืองถ่านหินที่สะบ้าย้อย บางจังหวะก็ได้ยินข่าวทางสื่อวิทยุว่าจะมีการสร้างรถไฟรางคู่ บางโอกาสก็มีเวทีประชาพิจารณ์ให้ประชาชนได้ไปแสดงความเห็นเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงที่  2  บางครั้งก็มีข่าวคราวคราบสารหนืดสีดำคล้ายน้ำมันกระจายสร้างความสกปรกตามแนวชายหาด บางชุมชนอาจกำลังสับสนในข้อมูลที่ได้รับว่าทำไมมีแต่สิ่งดีๆ เป็นโครงการเล็กที่เกิดขึ้นและคงไม่ส่งผลกระทบใดๆ เพราะเขาไม่เห็นภาพรวมที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งหมดนี้มีการแยกส่วนแยกวงการรับรู้ จนยากที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเห็นภาพทั้งหมดและตามได้ทัน
 
หนังสือฉบับนี้ คงจะสามารถทำให้คนสงขลา-สตูล และคนไทยทั้งประเทศ ได้เห็นถึงการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ภายในระยะเวลา 4-5 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้สงขลา-สตูล จังหวัดแห่งความสงบสุขและสมานฉันท์ เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ 
 
ขอขอบคุณประชาชนในพื้นที่หลายกลุ่มที่ยืนหยัดปกป้องแผ่นดินเกิดจากการพัฒนาที่ทำลายล้าง 
 
ขอเชิญชวนคนสงขลา-สตูลได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ที่ต้องการการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไม่เอาการพัฒนาที่ทำให้จังหวัดสงขลา-สตูลเป็นจังหวัดฐานอุตสาหกรรม ไม่ขอเป็นแบบจังหวัดระยอง ไม่เอาการพัฒนาที่ทำลายวิถีชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพียงเพราะมุ่งผลกำไรของคนกลุ่มน้อยและบริษัทข้ามชาติ
การรับรู้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน เป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่แท้จริง
 
 
ด้วยจิตคารวะ
คณะทำงานหยุดการพัฒนาสงขลา-สตูลสู่การเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมหนัก
มิถุนายน 2554