Skip to main content
ตูแวดานียา ตูแวแมแง
 
 
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจาก Deep South Watch ระบุว่ายอดเสียชีวิตจากเหตุการณ์โดยเฉลี่ยประมาณ 2 คนต่อวัน
 
 
ระหว่างทางของความขัดแย้งที่มีปลายทางอยู่ที่คำว่าสันติภาพนั้น ช่างเต็มไปด้วยบรรยากาศความหวาดระแวงของการใช้ชีวิตในสังคมแบบจำเป็นจะต้องแยกแยะว่าใครคือมิตรใครคือศัตรูเพื่อความอุ่นใจเบื้องต้นในความปลอดภัยจากสายตาอันช่างสงสัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจกฎอัยการศึก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
 
บางช่วงบางคราวก็มีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อาทิเช่น เหตุการณ์กรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์ไอร์ปาแย เหตุการณ์ซ้อมทรมานอิหม่ามยะผา กาเซ็ง และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและเหตุการณ์เสียชีวิตในค่ายอิงคยุทธฯ ของสุไลมาน แนซา เป็นต้น
 
ปรากฎการณ์แบบนี้ส่งผลให้องค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศเข้ามามีบทบาทเรียกร้องความเป็นธรรมบ้าง ผลักดันให้เป็นประเด็นระหว่างประเทศ (ชาติพันธ์) บ้าง จนเกิดเป็นกระแสการกระจายอำนาจบ้าง การปกครองตนเองบ้าง และล่าสุดที่เป็นกระแสสูงมากในปัจจุบัน ก็คือกระแสของกระบวนการสันติภาพ (peace process) ซึ่งนำขบวนร่วมโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ/สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า/ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์/ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยามหิดล/สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี/ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ด้วยความร่วมมือสนับสนุนของมูลนิธิเอเชีย และมูลนิธิสนับสนุนสันติภาพเบิร์คฮอฟ
 
            อาจจะถือได้ว่ากระแสการกระจายอำนาจและกระแสการปกครองตนเองที่ตีคู่มากับกระแสกระบวนการสันติภาพนั้น ถ้าดูจากองค์กรหรือสถาบันที่ผลักดันข้างต้นแล้ว เป็นการสื่อสารที่เน้นกับกลุ่มเป้าหมายในสังคมชั้นนำและชั้นกลางทั้งในและต่างประเทศมากกว่าจะสื่อสารหรือเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนชั้นรากหญ้าได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของกระบวนการสันติภาพที่คาบเกี่ยวกับชะตาชีวิตของตนเองในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
เพราะในท้ายที่สุดของกระบวนการสันติภาพแล้ว จะสันติภาพแท้จริงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของประชาชนรากหญ้า แต่ทว่าสิ่งที่เป็นกระแสสูงในระดับความสัมพันธ์ของสังคมรากหญ้านั้นคือคำว่า PATANI MERDEKA กลับถูกเพิกเฉยไม่ให้ความสนใจในการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์เลย
 
หรือว่าเป็นเพราะคำๆนี้ไปอยู่บนท้องถนน บนหัวสะพาน บนป้ายริมถนน ไม่ได้ถูกสื่อสารในห้องประชุมในโรงแรมหรูอย่างคำว่า การกระจายอำนาจและการปกครองตนเอง
 
ทั้งๆ ที่คำว่า MERDEKA ถ้าแปลตรงๆ ก็คือ เอกราช นั่นเอง ซึ่งคำๆ นี้จะตามมาด้วยคำว่า อิสรภาพเสมอ
 
 
พูดถึงแล้วคำว่าเอกราชหรืออิสรภาพไม่ใช่เป็นคำใหม่หรือเรื่องแปลกใหม่สำหรับสังคมไทยที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
 
ในทางกลับกันคำว่าเอกราชหรืออิสรภาพเป็นจุดกำเนิดของโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป ดังคำประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกันทั้ง 13 อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ ในเอกสารสำคัญฉบับหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา ซึ่งร่างโดยโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ในการประชุมของผู้แทนทั้ง 13 อาณานิคม เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ซึ่งประกาศโดย จอร์จ วอชิงตัน ในฐานะแม่ทัพใหญ่มีความว่า
 
“เราถือความจริงเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง กล่าวคือ ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ต่างได้รับสิทธิบางอย่างที่จะโอนให้แก่กันมิได้จากพระเจ้า สิทธิเหล่านี้ได้แก่ สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข และเพื่อจะให้ได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้มนุษย์จึงได้ตั้งรัฐขึ้นมา และรัฐนี้ได้รับมอบอำนาจจากความยินยอมของผู้ที่อยู่ในปกครองของรัฐนั้น และเมื่อใด รูปการปกครองใด มุ่งทำลายหลักการสำคัญเหล่านี้แล้ว ประชาชนก็มีสิทธิที่เปลี่ยนรัฐนั้น หรือยุบเลิกรัฐนั้นเสีย แล้วจัดตั้งรัฐใหม่ขึ้นแทน ซึ่งวางรากฐานอยู่บนหลักการและจัดระเบียบการใช้อำนาจตามรูปดังกล่าวแล้ว เพื่อให้เกิดผลในการพิทักษ์ความปลอดภัย และความผาสุกของประชาชน”
 
            จากบริบทของการต่อสู้ของขบวนการอุดมการณ์ที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยซึ่งมีกลิ่นอายเพื่อการปลดแอกในหลักการคล้ายๆ กับคำประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกัน 13 อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษข้างต้น และมีการใช้ยุทธวิธีสู้รบแบบจรยุทธ์นั้น
 
คำว่า PATANI MERDEKA แม้ว่าจะอยู่บนท้องถนน บนหัวสะพาน บนป้ายริมถนน คงจะไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่เป็นงานศิลปะแน่นอน ส่วนจะมีความหมายเกี่ยวข้องอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพที่ปาตานีนั้น ฝ่ายที่กำลังขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อไปคงไม่ได้อีกแล้ว
 
เพราะสันติภาพที่แท้จริงนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่าคำตอบอยู่ที่ความพึงพอใจของประชาชนชั้นรากหญ้า ถ้าไม่เป็นไปตามหลักการนี้สันติภาพที่ยื่นมานั้นก็คงจะมีความหมายเพียงแค่สันติแค่ภาพ