Skip to main content
 
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน
 

ความอ่อนด้อยทางยุทธวิธีของรัฐไทยที่ไม่อาจแปรความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์มาแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้นั้น อาจกล่าวได้ว่ามาจากการขาดความรู้ที่จะนำมาสร้างแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารบรรลุผลต่อปัญหาชายแดนภาคใต้

กล่าวได้ว่า รัฐไทยมีบทบาทนำทางการเมืองในเวทีโลก ในระดับภูมิภาค แต่กลับต้องพ่ายแพ้การเมืองในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของขบวนการใต้ดิน

ในช่วงหลังนี้เห็นได้ว่ารัฐไทยให้ความสำคัญกับงานการเมืองงานมวลชนมากขึ้น หลากหลายหลักสูตรฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ผุดออกมาให้เห็นมากมาย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่ารัฐเริ่มจับทางได้ว่า ถ้าจะชนะสงครามนี้ต้องใช้งานการเมืองนำ

แต่สิ่งที่ยังน่าห่วงอยู่ก็คือ ความรู้ที่นำมาถ่ายทอดแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัตินั้น เป็นความรู้ในเชิงทฤษฎีซึ่งเป็นผลผลิตจากสงครามแย่งชิงมวลชนเมื่อครั้งต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อกว่า 40 ปีก่อน

สิ่งที่ขาดหายไปในการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ก็คือ ‘ความเป็นมลายูและอิสลาม' เพราะเครื่องมือในการเผยแพร่แนวคิดการต่อต้านรัฐไทยก็คือความเป็นมลายูและอิสลาม แต่วันนี้การนำงานมวลชนในพื้นที่ นอกจากเข้าไปช่วยเหลือบริการประชาชนแล้ว สิ่งที่หายไปคือการเข้าไปพูดคุยเสนอแนวคิดเพื่อเจือจางความรู้สึกต่อต้าน

ภายใต้การปฏิบัติเช่นนี้ ทำได้อย่างมากก็แค่ขจัดภาพลักษณ์ในแง่ลบของรัฐให้ลดน้อยลง แต่มิอาจขจัดความรู้สึกต่อต้านได้ 

       อีกประเด็นที่ควรให้ความสนใจก็คือ ระหว่างปัจจัยแนวทางวิธีปฏิบัติ ตัวบุคคล และพื้นที่ สิ่งใดมีผลต่อความสำเร็จของงานมวลชนมากที่สุด

วันนี้งานมวลชนซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำงานการเมืองถูกปิดกั้นด้วยความรุนแรง และความรุนแรงที่เกิดขึ้นมิใช่ความสะเปะสะปะ แต่มีจุดมุ่งหมายวัตถุประสงค์ ลักษณะรูปแบบความรุนแรงในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน จากการคิดกำหนดวิธีการของผู้กุมการจัดตั้ง การสร้างแนวทางปฏิบัติจึงมิอาจคิดแบบเหมารวมได้ แต่ต้องแยกย่อยออกเป็นพื้นที่ ในสถานการณ์เช่นนี้ หัวหน้าชุดปฏิบัติงานมวลชนของรัฐในแต่ละพื้นที่ จึงต้องมีขีดความสามารถสมน้ำสมเนื้อกับผู้กุมการจัดตั้งในขบวนการใต้ดิน ดังนั้นการกำหนดแนวทางที่เหมาะสมจึงไม่ควรมาจากเบื้องบน

เป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ซึ่งอยู่ห่างพื้นที่ไป 10 กิโลเมตร 100 กิโลเมตร หรือนับพันกิโลเมตรจะเข้าใจ เข้าถึงพื้นที่ได้มากกว่าผู้ที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่

หากรูปแบบโครงสร้างองค์กรของขบวนการใต้ดิน มีลักษณะเป็นหน่วยย่อย ซึ่งมีอิสระในการคิดตัดสินใจ แต่โครงสร้างของรัฐยังเป็นในลักษณะรวมศูนย์ ระดับปฏิบัติมีอำนาจตัดสินใจที่จำกัด เพียงเท่านี้ก็คงเห็นถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของแต่ละฝ่าย

วันนี้จึงควรให้ผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ได้มีโอกาสกำหนดแนวทางปฏิบัติ สะสมข้อมูล สร้างเป็นฐานความรู้ เกาะติดแนวคิดของผู้กุมการจัดตั้งขบวนการใต้ดินในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

กลไกสายการบังคับบัญชาภายใต้ระบบราชการของทุกหน่วย ทุกฝ่าย อาจจำเป็นต้องรื้อต้องสร้างใหม่ สงครามนี้มิได้รบกันด้วยกำลังพลและอาวุธ  ปัจจัยชี้ขาดมิใช่การทำลายกองกำลังฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นการกุมความรู้สึกและครองใจมวลชน

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสถานการณ์ชายแดนภาคใต้
กับ
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ได้ที่ bangyub.multiply.com
หรือที่
www.oknation.net/blog/ayub