Skip to main content
 
 
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

วงสัมมนาจุฬาเสนองานวิจัยดับไฟใต้หลังฟังความเห็นประชาชนร่วม 3 ปี แนะรัฐตั้งทบวงดับไฟใต้ ตั้งรัฐมนตรีดูแลเหมือนอังกฤษ - ญี่ปุ่นปรับผู้ว่าฯ เป็นรองปลัดทบวงขณะที่เสนอจัดตั้งสมัชชาประชาชนให้สร้างพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการเชื่อแก้ความรุนแรงระยะยาว

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมจุมภฎ - พันธุ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเสนองานวิจัยในหัวข้อ "การปกครองท้องถิ่นพิเศษจังวัดชายแดนภาคใต้" โดยมี ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณะศิลปศาสตร์ ม.อิสลามยะลา และ ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้นำเสนองานวิจัย

ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า งานวิจัย "รูปแบบการจัดการปกครองท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่ตนและคณะร่วมกันจัดทำมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อต้องการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาว ซึ่งจะต้องเข้าใจปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและปัญหาความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ซึ่งก่อตัวมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันเกิดเหตุทั้งสิ้น 8,064 ครั้ง หัวใจสำคัญคือจะต้องแก้ปัญหาอัตลักษณ์ของคนในท้องถิ่นและจะต้องสร้างความมั่นใจของประชาชนต่ออำนาจรัฐซึ่งเป็นที่มาของการเก็บข้อมูลจากผู้นำศาสนาผู้นำท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปเพื่อเสนอรูปแบบการปกครองที่คนในพื้นที่ต้องการ

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า แนวคิดสำคัญของงานวิจัยดังกล่าวขึ้นอยู่กับหลัก 3 ประการได้แก่ ความสมดุลระหว่างองค์ประกอบทางอำนาจและทางวัฒนธรรมสำนึกทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นตัวแปรที่เร่งให้เกิดความรุนแรงขึ้นและสุดท้ายคืออำนาจรัฐที่ปัญหาคือมีความแปลกแยกกับประชาชนการคิดรูปแบบการปกครองจะต้องเชื่อมโยงระหว่างการปกครองส่วนท้องถิ่นกับการปกครองส่วนภูมิภาคที่จะต้องปรับให้สอดคล้องกับลักษณะพิเศษในท้องถิ่น

ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่ามีข้อเสนอการปกครองส่วนภูมิภาคจะต้องมีการปรับองค์กรที่คล้ายกับ ศอ.บต. แต่จะต้องมีกฎหมายรองรับในลักษณะทบวงการบริหารมีรัฐมนตรีรับผิดชอบชัดเจน ส่วนโครงสร้างจะมีปลัดทบวงรองปลัดทบวงซึ่งรับผิดชอบแต่ละจังหวัดและในระดับผู้อำนวยการเขตหรือเดิมคือตำแหน่งนายอำเภอขณะที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านอาจต้องปรับบทบาทของตนเองในการปกครองส่วนท้องถิ่น

เขากล่าวต่อว่า ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีตัวแทนประชาชนกลุ่มอาชีพและกลุ่มต่างๆเข้ามากำหนดนโยบายภาคประชาชนเสนอให้ฝ่ายบริหาร โดยมีที่มาจากการสรรหาส่วนในระดับชุมชนจะมีสภาท้องถิ่นในระดับล่าง ซึ่งมีที่มาจากการสรรหาจากผู้นำศาสนาที่มีการคัดเลือกตามกลไกภายในไม่ว่าจะเป็นชุมชนพุทธหรือชุมชนมุสลิมโดยในที่นี้คือสภาชูรอในระดับชุมชนของมุสลิม ทั้งนี้สภาเหล่านี้จะคู่ขนานไปกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมไม่วาจะเป็น อบจ. หรือ อบต.

"รูปแบบนี้เป็นรูปแบบการปกครองแบบพิเศษในรัฐเดี่ยว ซึ่งในประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวอื่นๆ ก็มีการจัดการใกล้เคียงกันทั้งอังกฤษที่มีมีรูปแบบจัดการเวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ส่วนญี่ปุ่นก็มีทบวงฮอกไกโด"

ดร.ศรีสมภพ ยังกล่าวต่อว่า ในข้อเสนอรูปแบบการปกครองแบบใหม่นี้ กองกำลังของทางการไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจก็ยังอยู่เหมือนเดิมแต่อาจจะผ่อนภารกิจ ขณะที่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็อาจจะอยู่ในโครงสร้างใหม่นี้ โดยมีเงื่อนไขว่าหากจะอยู่ในโมเดลนี้จะต้องไม่ใช้ความรุนแรงตนเชื่อว่าโครงสร้างเช่นนี้ก็เพื่อจัดการปัญหาความรุนแรงในระยะยาว

         ด้าน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ตนอยากถามว่าข้อเสนองานวิจัยดังกล่าวได้มาอย่างไรเพราะเชื่อว่าประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันรูปแบบที่นำเสนอมาจะได้รับการยอมรับมากเพียงใด อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าอำนาจในการบริหารก็เป็นของคนในพื้นที่อยู่แล้ว ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกฎทางสังคมที่ควบคุมคนอยู่ ตนเกรงว่าข้อเสนอที่ให้มีการปรับการบริหารส่วนภูมิภาคโดยให้อำนาจการจัดการอยู่ที่ราชการอีกก็อาจไม่ผลมาก

หมายเหตุ: อ่านบทคัดย่องานวิจัยดังกล่าวได้จากเอกสารแนบ >>