Skip to main content
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
 
 
หมายเหตุ: ข้อเขียนข้างล่างนี้เป็นรายงานชิ้นที่สองจากชุดรายงานจำนวน 4 ตอนจบ ซึ่งเรียบเรียงมาจากรายงานฉบับสมบูรณ์ของโครงการสำรวจและจัดทำแผนผังองค์กรประชาสังคม/องค์กรชุมชนที่ทำงานในภาคใต้ ซึ่งจัดทำโดย มูฮำมัดอายุบ ปาทาน และคณะ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP) เนื้อหาในตอนแรกเป็นการทบทวนแนวคิด “ประชาสังคม” ในฐานะมโนทัศน์ที่มีข้อถกเถียงในต่างบริบท (ตอน 1) ตอนต่อไปจากนี้เป็นการสำรวจการทำงานขององค์กรและเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ในเบื้องต้น และจัดจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ (ตอน 3) และการประเมินบทบาทและศักยภาพของพวกเขาที่ชี้ช่องโอกาสและข้อจำกัดบางประการต่อการทำงานในฐานะตัวแสดงสำคัญในกระบวนการสันติภาพ (ตอน 4) ซึ่งจะทยอยเผยแพร่ในวาระต่อไป  
 
 
บริบทสำคัญที่ควรค่าแก่การพิจารณาถึงบทบาทของกลุ่มประชาสังคมในที่นี้คือความรุนแรงทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ อันเป็นผลมาจากปัญหาของพัฒนาการของความเป็นรัฐ (Stateness) ที่ทำให้สัดส่วนของประชากรในพื้นที่หนึ่งๆ ไปด้วยกันไม่ได้กับเขตแดนที่ถูกสถาปนาขึ้นในยุคสมัยใหม่ (Oberschall, 2007: 10) นี่คือปัญหาใหญ่ที่รัฐประชาชาติจำต้องเผชิญ เมื่อบางชาติพันธุ์ถือครองอำนาจเหนือดินแดนใดที่มีขอบเขตเฉพาะซึ่งมีผู้คนหลากหลายอยู่เหนือดินแดนเหล่านั้น แต่การสถาปนาหน่วยทางการเมืองดังกล่าวนี้จำเป็นอ้างอิงกับ “ประชาชน” ที่เป็นหนึ่งเดียว ไร้พลวัตและความหลากหลาย (ธเนศ, 2550: 21) ในรัฐไทยสมัยใหม่ โครงการรัฐ-ชาติเดี่ยวมีฐานความคิดที่ว่ารัฐหนึ่งรัฐ กับชาติหนึ่งชาติ (ซึ่งในกรณีนี้คือ “ไทย”) ซ้อนทาบทับกันสนิทจึงเป็นหลักการที่ถูกยึดถือหนักแน่นและกว้างขวางเรื่อยมา (วีระ, 2553: 10-11)
 
คำถามที่น่าสนใจคือเมื่อความขัดแย้งถูกพัฒนาวิธีการของกลุ่มต่างๆ ไปสู่การใช้ความรุนแรงเช่นนี้ การรวมกลุ่มของผู้คนในอาณาบริเวณประชาสังคมภายในบริบทของความขัดแย้งดังกล่าวสามารถมีบทบาทหรือทำหน้าที่อย่างไรได้บ้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านสถานการณ์ไปสู่ภาวะที่เรียกขานกันว่าสันติยุติธรรม
 
          แม้ว่าการดำรงอยู่ของประชาสังคมจะเป็นการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยและโดยรากฐานของตัวมันเองแล้วนั้นก็หนุนเสริมบรรทัดฐานที่ควรจะเป็นที่อิงอยู่กับสันติภาพในท่ามกลางสังคมที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม กล่าวอีกอย่างก็คือการดำรงอยู่ของประชาสังคมเป็นพื้นฐานสำหรับการแสวงหาฉันทามติในสังคมการเมืองหนึ่งๆ ผ่านวิธีการอันสันติ แทนที่จะหาข้อยุติโดยการใช้กำลังบังคับ (Wanis-St.John and Kew, 2008: 17) แม้หลายคนจะโต้แย้งว่าการรวมกลุ่มกันในทางการเมืองและติดอาวุธเคลื่อนไหวเพื่อเป้าหมายบางอย่างนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งทีเราเรียกว่าองค์กรประชาสังคม (Civil Society Organization: CSOs) เพราะโดยตัวมันเองมีสาระของการใช้กำลังเข้าบีบบังคับผู้คนในสังคม
 
แต่กระนั้น องค์กรประชาสังคมก็สามารถถูกพิจารณาได้ด้วยว่าสามารถเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนสงครามเท่าๆ กับการแสวงหาสันติภาพด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีไม่น้อยที่กลุ่มติดอาวุธเหล่านั้นมักได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประชาสังคมบางส่วน โดยให้เหตุผลข้ออ้างเพื่อรองรับการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงดังกล่าว
 
๐ “ความชอบธรรม” ของพลเรือนมือเปล่า
 
องค์กรประชาสังคมเองก็มีขีดความสามารถทั้งในการขยายความขัดแย้งและสนับสนุนกระบวนการแสวงหาทางออก และบทบาทอย่างหลังนี่เองที่แยกไม่ออกกับการเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งผ่านพัฒนาการทางการเมืองและสังคมในระยะยาวที่จำเป็นต้องวางรากฐานอยู่บนการสร้างวัฒนธรรมสันติภาพ ซึ่งเรื่องสำคัญคือการทำให้ตัวแสดงสำคัญที่เป็นปฏิปักษ์ในความขัดแย้งเข้ามาพัวพันอยู่ในกระบวนการพูดคุยที่สามารถทำงานได้บนความแตกต่าง พัฒนาสิ่งที่สนใจพื้นฐานร่วมกัน ตลอดจนเปลี่ยนผ่านการรับรู้ที่ถูกบิดเบือนไปด้วยความกลัว ความเข้าใจผิด และความเกลียดชัง (Barnes, 2005: 10-11)
 
          ความสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้องค์กรประชาสังคมมีความชอบธรรมอย่างยิ่งยวดในกระบวนการสันติภาพ ได้แก่ สัดส่วนของเหยื่อที่เกิดจากความโหดร้ายของสงครามนั้นมีพลเรือนที่ต้องรับเคราะห์หนักหนาสาหัสที่สุด ไม่ว่าความขัดแย้งนั้นๆ จะเป็นความขัดแย้งภายในหรือระหว่างประเทศ การรวมตัว จัดตั้ง และเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคมเพื่อต่อต้านการใช้กำลังในฐานะที่เป็นวิธีการจึงไม่เพียงแต่พอเข้าใจได้ หากแต่ชอบธรรมอย่างยิ่ง
 
ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดคะเนว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของผู้บาดเจ็บล้มตาย (casualties) ในสงครามนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมาคือพลเรือน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่ากองกำลังติดอาวุธของทุกฝ่าย ทั้งยังเป็นสัดส่วนที่ตรงกันข้ามกันอย่างสุดขั้วกับภาพของสงครามเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 (หรือเมื่อราวร้อยปีก่อน) สิ่งนี้นี่เองที่ทำให้แมรี่ คัลดอร์ (Mary Kaldor) ชี้ให้เห็นว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า “สงครามใหม่ (New War)” (2006: 107)
 
ในขณะที่เมื่อปี 2544 เลขาธิการสหประชาชาติได้หยิบยกความห่วงกังวลต่อความสูญเสียของพลเรือนที่ไม่ติดอาวุธในรายงานที่เสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคง โดยระบุว่ามีพลเรือนที่ตกเป็นเหยื่อและเสียชีวิตจากความขัดแย้งภายในประเทศในทศวรรษที่ 1990 ถึงร้อยละ 75 (UNSG, 2001) สิบปีให้หลัง สัดส่วนของผู้ตกเป็นเหยื่อดังกล่าวก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก หากแต่พบว่าพลเรือนมักถูกสังหารในสัดส่วนที่เป็นกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหยื่อที่เป็นผู้หญิงและเด็ก (UNSG, 2011)
 
ด้วยเหตุนี้นี่เองที่ประชาชนคนธรรมดาจึงมีความชอบธรรมอย่างยิ่งในการเป็นตัวแสดงสำคัญของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง โดยการร่วมกันแสวงหาทางออกของปัญหาอย่างถาวรที่บ่มเพาะขัดเกลาชะตากรรมของสังคมการเมืองของพวกเขาและสถาปนากลไกในเชิงสถาบันต่างๆ เพื่อที่จะให้หลักประกันว่าเพียงพอที่จะปกป้องระชาชนจากการใช้อำนาจการปกครองในทางที่ผิด (Wanis-St.John and Kew, 2008: 18) หรือในที่นี้ก็คือการมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ (peacebuilding) นั่นเอง
 
Peacebuilding ในฐานะ “กระบวนการ”
 
          อันที่จริงแล้ว กระบวนการสร้างสันติภาพนั้นเริ่มได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเป็นเรื่องเป็นราวนับตั้งแต่ข้อเรียกร้องของเลขาธิการสหประชาชาติที่ชื่อว่า “An Agenda for Peace (วาระสันติภาพ)” ในปี 2535 ที่ระบุว่าสหประชาชาติและประชาคมนานาชาติมีความรับผิดชอบต่อการจัดการกับความขัดแย้งร่วมสมัย โดยมีข้อเสนอตั้งแต่มาตรการของการทูตในเชิงป้องกัน การใช้กองกำลังของสหประชาชาติในการรักษาสันติภาพ (peacekeeping) และสิ่งที่เขาเรียกขานว่าการสร้างสันติภาพหลังความขัดแย้ง (postconflict peacebuilding) ที่เน้นไปยังมาตรการในการสนับสนุนข้อตกลงสันติภาพและการรื้อฟื้นสร้างสรรค์สังคมที่แตกร้าวหลังสงคราม
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับ จอห์น พอล เลอเดอรัค (John Paul Lederach) แล้ว นอกจากเขาจะตั้งข้อคลางแคลงต่อความเสี่ยงของการใช้กำลังทหารเพื่อรักษาสันติภาพ ดังที่มีหลายกรณีชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่สะท้อนกลับ เขายังเห็นต่างว่ากระบวนการสันติภาพนั้นไม่สามารถจะพิจารณาได้จากกรอบของระยะเวลาหรือเงื่อนไขสภาพแวดล้อมเป็นตัวจำแนก หากแต่โดยแท้แล้ว การสร้างสันติภาพคือการประกอบสร้างสังคมอย่างมีพลวัตและจำต้องพิจารณาสิ่งนี้ในแง่ของกระบวนการทางสังคมชนิดหนึ่ง กระบวนการสร้างสันติภาพจึงเป็นมากกว่าการบูรณะหลังการเจรจาสันติภาพ หากแต่เป็นทั้งมโนทัศน์ที่ครอบคลุมกว้างขวางเกี่ยวกับกระบวนการ แนวการวิเคราะห์ปัญหา ตลอดจนจังหวะก้าวที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่ความสัมพันธ์ที่อยู่บนฐานของสันติภาพที่ยั่งยืน (Lederach, 1997: 20)
 
ด้วยเหตุนี้ สำหรับเลอเดอรัคแล้ว กระบวนการสร้างสันติภาพจึงมีอาณาเขตที่กว้างขวาง ทั้งกิจกรรมและบทบาทหน้าที่ในห้วงเวลาที่วางอยู่ทั้งก่อนและหลังข้อตกลงสันติภาพอย่างเป็นทางการ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะมีเนื้อหาที่ออกแบบให้สังคมในพื้นที่ความขัดแย้งในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นเช่นไรก็ตาม
 
๐ ปิรามิดการนำ: ตัวแสดงและแนวทางการทำงาน
 
          นอกจากนี้ เพื่อที่จะมองเห็นบทบาทของผู้คนสามัญในกระบวนการสร้างสันติภาพ เลอเดอรัคยังได้ชี้ให้เห็นถึงวิธีการที่จะเข้าใจกระบวนการสร้างสันติภาพว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องถูกกำหนดมาจากข้างบน (top down approach) หากแต่สามารถเป็นการสร้างมาจากข้างล่าง (bottom up approach) ได้ด้วยเช่นกัน การพิจารณาถึงมุมมองในภาพรวมชนิดอย่างหลังนี้จำเป็นต้องเข้าใจโครงสร้างที่ประชากรทั้งหมดในสังคมหนึ่งๆ จะเกี่ยวโยงในความขัดแย้งชนิดติดอาวุธภายในประเทศ เลอเดอรัค ให้ภาพโครงสร้างที่อธิบายทั้งชนิดของตัวแสดงและแนวทางที่ตัวแสดงดังกล่าวกระทำการในการสร้างสันติภาพโดยผ่านแผนภาพปิรามิดในแผนภาพที่ 1 (Lederach, 1997: 37-39)
 
แผนภาพที่ 2.1  ตัวแสดงและแนวทางการทำงานในกระบวนการสร้างสันติภาพของเลอเดอรัค
 
 
 
           ในชั้นแรกซึ่งอยู่ในส่วนยอดของปิรามิด ตัวแสดงหลักจะได้แก่ผู้นำที่มีบทบาทอย่างชัดเจนในวิกฤตการณ์ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นระดับนำของฝ่ายของทางการหรือฝ่ายต่อต้าน ในระดับชั้นนี้จะมีตัวแสดงเพียงจำนวนไม่มากนัก แต่ไม่ว่าจะอยู่ในฝ่ายใด พวกเขาต่างตระหนักว่าตนมีอำนาจในการตัดสินใจที่สามารถนำพาความขัดแย้งไปยังจุดต่างๆ ด้วยฐานรองรับที่มีความชอบธรรมในฐานะตัวแทนของฝ่ายที่ขัดแย้งกัน
 
แต่กระนั้น สถานภาพและตำแหน่งของพวกเขาก็อาจถือได้ว่าเป็นข้อจำกัดสำคัญ เพราะผู้นำในชั้นนี้มักมีแรงกดดันนานาประการห้อมล้อมอยู่มากเสียจนกระทั่งว่าไม่สามารถจะยอมรับหรือเรียกร้องข้อเสนอที่เป็นผลบวกต่อกระบวนการสันติภาพได้โดยง่ายนัก
 
ในขณะที่ภาวะผู้นำในชั้นที่สองแตกต่างออกไป พวกเขาอาจเป็นคนที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องหรือถูกควบคุมโดยโครงสร้างอำนาจของรัฐหรือในฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านเลยก็ได้ หากแต่มีฐานะหลากหลายในพื้นที่ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่ได้รับการนับหน้าถือตาในแวดวงต่างๆ อาทิเช่น การศึกษา สาธารณสุข ธุรกิจ การเกษตร เป็นต้น หรืออาจเป็นกลุ่มเครือข่ายหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับศาสนา วิชาการ หรือองค์กรสาธารณกุศลเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งหลอมรวมเอาผู้คนที่มีบทบาทในด้านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน หรือในอีกกรณีอาจเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันบนฐานของอัตลักษณ์ร่วมบางอย่างที่มีนัยสำคัญต่อความขัดแย้งนั้นๆ ในอีกแง่หนึ่งผู้นำจากกลุ่มทำนองนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ พวกเขาอาจได้รับการเคารพนับถือจากผู้คนในพื้นที่และเป็นที่รู้จักโดยคนนอกพื้นที่
 
ลักษณะสำคัญของผู้นำในระดับชั้นกลางเช่นนี้อาจได้แก่การที่มีสายสัมพันธ์ทั้งต่อผู้นำในระดับชั้นแรก (ยอดปิรามิด) และผู้นำในระดับชั้นรากหญ้า (ฐานปิรามิด) อำนาจของพวกเขาไม่ได้วางอยู่บนฐานของอำนาจทางการทหารหรืออำนาจทางการเมือง หากแต่สถานะและอำนาจต่อรองของพวกเขาวางอยู่บนความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่กับผู้คน ในขณะเดียวกันก็มีขีดความสามารถที่จะสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ตัดข้ามอัตลักษณ์ที่ความขัดแย้งปริฉีกอยู่แต่เดิมได้ง่ายกว่า ตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของพวกเขาไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการมีสถานะทางสังคมที่สำคัญและความมีชื่อเสียงเหมือนผู้นำในระดับชั้นแรก ด้วยจุดนี้นี่เองที่ทำให้การทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งของพวกเขาค่อนข้างยืดหยุ่นมากกว่า
 
          สำหรับชั้นสุดท้ายอันเป็นฐานของปิรามิด เลอเดอรัคชี้ให้เห็นว่าผู้นำในระดับรากหญ้านั้นยึดโยงอยู่กับมวลชนที่ตกอยู่ในสภาวะความขัดแย้งที่จำต้องแสวงหาหนทางในการอยู่รอด ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ผู้คนพยายามเอาชีวิตรอดให้ได้วันต่อวัน ผู้นำในระดับนี้จึงมีบทบาทอย่างสำคัญในงานที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของผู้คน พวกเขาอาจเป็นผู้นำชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ หรือคนทำงานของเอ็นจีโอท้องถิ่น ซึ่งทำงานเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือชาวบ้านในแง่มุมต่างๆ พวกเขาเป็นคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับการเมืองในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ทั้งยังอาจรู้จักมักคุ้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับท้องถิ่นและผู้นำของฝ่ายต่อต้านรัฐในระดับท้องถิ่นเป็นอย่างดี
 
และแน่นอนว่าพวกเขาเป็นคนแรกๆ ที่เป็นพยานต่อความรู้สึกเกลียดชังอย่างเข้ากระดูกดำและความเป็นศัตรูที่ก่อตัวขึ้นผู้คนรากหญ้าในชีวิตประจำวัน
 
          กระบวนการสร้างสันติภาพที่มีผู้นำในระดับชั้นแรกเป็นแกนหลักนั้นเป็นแนวทางในการกำหนดจากบนลงล่างอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เลอเดอรัคกลับเห็นว่ากระบวนการสร้างสันติภาพที่ต้องอาศัยภาวะผู้นำจากระดับชั้นล่างลงไปนั้นอาจมีความสำคัญมากกว่า เมื่อเราพิจารณาแนวทางการสร้างสันติภาพที่ผลักดันจากผู้อยู่ในระดับชั้นตรงกลาง (middle-out) ของผู้นำในระดับกลางและแนวทางการสร้างสันติภาพจากล่างขึ้นบนของผู้นำในระดับรากหญ้า
 
          กล่าวสำหรับแนวทางการทำงานสร้างสันติภาพของกลุ่มคนในระดับชั้นตรงกลางนั้นอยู่บนฐานความคิดที่ว่าพื้นที่ตรงกลางเหล่านี้จะกอบเอาพวกเขาเหล่านี้ให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่แน่นอนบางอย่าง ซึ่งจะเอื้อให้พวกเขาค้นพบกุญแจสำคัญในการประกอบโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนได้ ซึ่งในที่นี้อาจได้แก่แนวทางการทำงานในหลายรูปแบบ อาทิเช่น การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างพื้นที่หรือช่องทางให้กับผู้คนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันในฐานะผู้นำที่มีอิทธิพลทางความคิดให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาที่เกี่ยวกับความขัดแย้งที่แยกพวกเขาออกจากกัน
 
กระบวนการทำนองนี้เน้นไปที่การขยายการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพและการวิเคราะห์ในเชิงลึกต่อปัญหาความขัดแย้ง ทั้งยังเป็นการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการปลดปล่อยและทดลองความคิดใหม่ๆ
 
นอกจากนี้ บทบาทของตัวแสดงตรงกลางยังอาจสร้างกระบวนการอบรมที่มีเป้าหมายในการยกระดับการรับรู้และทักษะในการรับมือกับความขัดแย้งโดยปราศจากอคติ ในขณะเดียวกัน พวกเขาอาจกรุยทางสำหรับการสร้างสิ่งที่เรียกว่าคณะกรรมการสันติภาพในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งๆ (ซึ่งอาจเป็นคณะทำงาน เครือข่าย หรือสถาบัน แล้วแต่บริบทของกรณีความขัดแย้ง) ขึ้นมาเป็นตัวกลางทำงานสร้างความปรองดองในพื้นที่ ทั้งในระหว่างที่มีการปะทุของความรุนแรงหรือหลังจากนั้น
 
          ทว่าสำหรับกระบวนการสร้างสันติภาพในระดับรากหญ้านั้นมีความท้าทายที่แตกต่างออกไป เนื่องจากเกี่ยวโยงกับมวลชนหรือผู้คนจำนวนมาก จึงไม่ง่ายที่จะแปรยุทธศาสตร์ในระดับนี้สู่การปฏิบัติ บ่อยครั้งที่ประชาชนซึ่งจมอยู่กับความขัดแย้งและดำรงตนอยู่ในมิติของการเอาตัวรอดในชีวิตประจำวันจะมองว่ากระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องไกลตัว แต่กระนั้น สำหรับเลอเดอรัคแล้วก็ยังมองเห็นความเป็นไปได้ของกระบวนการสร้างสันติภาพจากล่างขึ้นบนที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเป็นรูปธรรมจับต้องได้
 
ที่เขาเชื่อเช่นนี้ก็เนื่องจากบทเรียนจากความขัดแย้งในหลายพื้นที่นั้น แรงกดดันที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นผุดขึ้นมาจากพลังของรากหญ้า สิ่งเหล่านี้อาจกระทำผ่านกิจกรรมหลากหลายชนิดที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากข้างล่างเอง
 
          บทบาทของผู้นำในระดับกลางและระดับรากหญ้านี่เองที่เป็นการกระทำบนอาณาบริเวณที่อาจเรียกได้ว่าเป็นขอบเขตของประชาสังคมในความหมายอย่างกว้าง แต่ก็เป็นดังที่เลอเดอรัคได้แยกแยะเอาไว้ว่าบทบาทของกลุ่มคนในแต่ระดับชั้นทั้งสองนั้นแสดงบทบาทที่แตกต่างกัน
 
          ปิรามิดของเลอเดอรัคอาจสามารถเทียบเคียงได้กับกลยุทธของฝ่ายที่สาม (Third-party) ในการจัดการความขัดแย้งที่ชี้ให้เห็นบทบาทของตัวแสดงอันหลากหลาย หรือในที่นี้คือแนวทางการแก้ปัญหาแบบหลายช่องทาง (multi-track approach) ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นระบบในห้วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา โดยนักวิชาการและนักปฏิบัติที่อาศัยประสบการณ์จากความขัดแย้งหลายกรณีทั่วโลก (Reimann, 2004) (กรุณาดูตารางที่ 2.1 และอ่านบทวิเคราะห์ตัวแบบดังกล่าวนี้ต่อกรณีชายแดนใต้โดย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ ที่ “ไฟใต้หลังเลือกตั้ง (1): รัฐบาลใหม่กับ 3 ประเด็นใหญ่ใน ‘กระบวนการสันติภาพ’ )
 
ตารางที่ 2.1 แสดงตัวแสดงและกลยุทธ์ในช่องทางที่ 1, 2 และ 3 (Reimann, 2004: 47)
 
 
ช่องทางที่ 1
(Track I)
ช่องทางที่ 2
(Track II)
ช่องทางที่ 3
(Track III)
บทบาทตัวแสดง
บรรดาผู้นำทางการเมืองและการทหาร ในฐานะทั้งที่เป็นตัวกลาง และ/หรือ ตัวแทนขนองฟากฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน
จากปัจเจกบุคคลเอกชน, ผู้เชี่ยวชาญ, ตัวกลางในการไกล่เกลี่ย, ทูตพลเรือน ไปจนถึงองค์กรเอกชนในท้องถิ่นและในระดับนานาชาติที่มีส่วนร่วมต่อการแก้ไขความขัดแย้ง
 
จากองค์กรรากหญ้าในท้องถิ่น ไปจนถึงหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ, องค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
กลยุทธ์
[เน้นในเชิงผลลัพธ์]
 
จากมาตรการที่เป็นทางการและมีผลบังคับผูกมัด เช่น การอุดหนุนช่วยเหลือ, การตัดสินชี้ขาด, การไกล่เกลี่ยโดยตัวกลางที่ทรงอำนาจ ไปจนถึงการอำนวยการ, การเจรจา, การเป็นตัวกลาง, ปฏิบัติการค้นหาข้อเท็จจริง และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยชอบ
 
[เน้นในเชิงกระบวนการ]
 
มาตรการที่ไม่เป็นทางการและไม่มีผลบังผูกมัด เช่น การอำนวยการและการปรึกษาหารือในรูปแบบของการจัดประชุมปฏิบัติการหรือประชุมโต๊ะกลม เป็นต้น
[เน้นในเชิงกระบวนการ และ/หรือ ในเชิงโครงสร้าง]
 
การเสริมสร้างศักยภาพ, งานเยียวยา, การฝึกอบรมชาวบ้าน, งานพัฒนาและรณรงค์สิทธิมนุษยชน
 
 
          กล่าวอย่างรวบรัด แนวทางดังกล่าวประกอบด้วย 3 ช่องทาง (Track) หลักที่มีตัวแสดงและจุดเน้นแตกต่างกัน ช่องทางที่ 1 (Tract I) วางอยู่บนกลยุทธการยุติความขัดแย้ง (Conflict Settlement) ที่มุ่งขจัดความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ (แม้ว่าอาจจะยังไม่ถึงขั้นปลดล็อกเงื่อนไขรากเหง้าของความขัดแย้งนั้นๆ ทั้งหมด) ซึ่งมีตัวแสดงที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของฝ่ายที่ขัดแย้งกันเข้าไปมีส่วนร่วมหลัก ปฏิบัติการทั้งหมดจะเริ่มต้นจากความเป็นทางการที่ไม่ได้มีผลบังคับไปสู่การมุ่งให้เกิดการบังคับใช้อย่างได้ผล กล่าวคือ ตั้งแต่การ
 
          ในขณะที่ช่องทางที่ 2 (Tract II) เน้นไปที่กลยุทธ์ของการแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution) ที่เน้นเปลี่ยนแปลงลักษณะความสัมพันธ์ต่างๆ ในความขัดแย้ง และหวังผลในการขจัดสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้ง ทั้งในแง่ของโครงสร้าง พฤติกรรม และทัศนคติต่อความขัดแย้งนั้นๆ ในขณะที่ตัวแสดงสำคัญจะอยู่ในภาคสังคมที่ไม่มีความเป็นทางการ อาทิเช่น องค์กรประชาสังคม (หรือเอ็นจีโอในความหมายอย่างกว้าง) นักวิชาการ เป็นต้น ปฏิบัติการในช่องทางนี้เป็นเรื่องที่ไม่เป็นทางการมากนัก ทั้งยังไม่มีผลผูกพันบังคับ หากแต่มุ่งเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการสันติภาพผ่านการสร้างพื้นที่สนทนาหรือประชุมหารือเกี่ยวกับข้อขัดแย้งต่างๆ
 
          แม้จะมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน แต่ช่องทางทั้งสองก็จุดที่ซ้อนเหลื่อมและหนุนเสริมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในกรณีที่การเจรจาในช่องทางแรกประสบกับความตีบตันด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง การใช้พื้นที่ของช่องทางที่สองผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยมีผู้คนเข้าร่วมหลากหลายนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้กระบวนการพูดคุยมีความต่อเนื่องแล้ว ยังอาจช่วยให้การเจรจาสามารถเดินหน้าได้ต่อด้วยเช่นกัน
 
แต่ถึงกระนั้น ประสบการณ์ในกรณีความขัดแย้งหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนบทเรียนว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้เข้าไปมีส่วนร่วมต่อกระบวนการสันติภาพให้มากที่สุดตราบเท่าที่ความขัดแย้งยิ่งขยายตัวไปมากเท่านั้น แนวคิดเกี่ยวกับช่องทางที่สาม (Tract III) ก็ก่อตัวขึ้น โดยเน้นไปยังการมีส่วนร่วมของประชาชนรากหญ้า และปฏิบัติการที่เผชิญหน้ากับปัญหาที่ผู้คนต้องประสบท่ามกลางระหว่างที่ความขัดแย้งดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในทักษะด้านต่างๆ ต่อชาวบ้านรากหญ้า งานเยียวยา การรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และงานพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น
 
๐ สายสัมพันธ์ที่ผนึกตรึงความรุนแรง
 
ในการศึกษาบทบาทของประชาสังคมในท่ามกลางบริบทของการจลาจลทางชาติพันธุ์ในประเทศอินเดีย อชูทอร์ช วาร์ชนีย์ (Ashutosh Varshney) ก็พบถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชีวิตประจำวันซึ่งแตกต่างกันทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทที่ทำให้โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงทางชาติพันธุ์มีความเป็นไปได้ลดน้อยลง กล่าวคือ หากเครือข่ายสายสัมพันธ์ระหว่างชุมชนที่แตกต่างทางชาติพันธุ์เหล่านี้ดำรงอยู่ ความตึงเครียดและความขัดแย้งจะถูกกำกับและจัดการ แต่ในทางตรงกันข้าม หากสายสัมพันธ์ดังกล่าวหายไป อัตลักษณ์ของชุมชนจะนำพาไปสู่ความรุนแรงอันเลวร้ายและมีลักษณะเฉพาะที่เฉพาะถิ่น (Varshney, 2002)
 
          เครือข่ายสายสัมพันธ์นั้นสามารถพิจารณาได้ในสองรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบของการสร้างองค์กร (associational form) ที่เกี่ยวพันผู้คนไว้ด้วยการสร้างกลุ่มหรือองค์กร เช่น สมาคมธุรกิจ องค์กรวิชาชีพ สหภาพการค้า ชมรมอ่านหนังสือ หรือแม้แต่ชมรมด้านการกีฬาต่างๆ เป็นต้น ในกรณีของอินเดียจะพบเจอโดยมากในเขตเมือง ในขณะที่อีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ รูปแบบความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน (everyday form) ที่เป็นปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในวิถีชีวิตปกติ ไม่ว่าจะเป็นการไปมาหาสู่กันและกันระหว่างครอบครัวมุสลิมและฮินดู การร่วมงานเทศกาลบางอย่างด้วยกัน หรือแม้แต่การที่ให้เด็กๆ ในแต่ละบ้านได้วิ่งเล่นร่วมกัน ในความสัมพันธ์เช่นนี้หากว่าเข้มแข็งเหนียวแน่นจะเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันโดยสันติ แต่หากอ่อนแอก็จะเปิดช่องและโอกาสให้เกิดความรุนแรงระดับชุมชนได้ (communal violence)
 
อย่างไรก็ตาม วาร์ชนีย์ยังชี้ให้เห็นว่ากลไกสำคัญที่เชื่อมต่อเครือข่ายเหล่านี้ไว้ด้วยกัน ได้แก่ การเสริมสร้างการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คนต่างอัตลักษณ์ ในขณะที่ความเกี่ยวพันระหว่างผู้คนในชีวิตประจำวันอาจนำมาสู่การจัดตั้งทีมงานชั่วคราวในห้วงเวลาของความตึงเครียด ซึ่งบางคนอาจเรียกขานมันว่าคณะกรรมการสันติภาพในระดับท้องถิ่นที่มีสมาชิกมาจากชุมชนที่ขัดแย้งกัน
 
สิ่งที่ทีมงานเหล่านี้ทำก็คือการอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างชุมชนที่ขัดแย้งกัน ทำลายข่าวลือที่พือสะพัดและเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญให้กับผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น
 
กลไกที่สำคัญอีกประการ ได้แก่ การมีเป้าประสงค์ร่วมกันในการรวมกลุ่มสร้างองค์กรที่รองรับความจำเป็นในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงในตัวมันเองก็เป็นการสร้างพื้นที่สำหรับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชน (intercommunal) สายสัมพันธ์เหล่านี้จะเข้มแข็งยิ่งกว่าความสัมพันธ์ปกติของผู้คนในชีวิตประจำวัน ทั้งยังเป็นการสร้างอุปสรรคสำหรับนักการเมืองท้องถิ่นบางรายที่ใช้ยุทธศาสตร์ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ในการขับเคลื่อนงานการเมืองของตัวเอง ซึ่งอาจทำให้สันติภาพระหว่างชุมชนหรือผู้คนต่างอัตลักษณ์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายลงไป
 
กล่าวโดยสรุปแล้ว สิ่งที่วาร์ชนีย์ทำในงานชิ้นนี้ของเขาคือพยายามเพ่งสำรวจไปยังชีวิตของผู้คน (civil life) หรือในอีกแง่ก็คือการพิจารณาบทบาทของประชาสังคมในท่ามกลางความขัดแย้ง โดยเฉพาะในมิติที่บทบาทหน้าที่ของความสัมพันธ์ของผู้คนนอกรัฐเช่นนี้มีศักยภาพที่จะเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันโดยสันติได้
 
8 บทบาทหลักใน “ความขัดแย้ง”
 
เพื่อจะชี้บ่งถึงบทบาทขององค์กรประชาสังคมให้ชัดเจนขึ้น แคทเธอรีน บาร์เนส (Catherine Barnes) พยายามจะรวบรวมและแจกแจงบทบาทหน้าที่ของประชาสังคมในการทำงานเพื่อสันติภาพอย่างรอบด้าน เธอเห็นว่าประชาสังคมสามารถจะแสดงบทบาทสำคัญทั้งในการพัฒนาความขัดแย้งและการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งเหล่านั้นได้อย่างโดดเด่น บาร์เนสแยกแยะบทบาทหน้าที่ของประชาสังคมในกระบวนการสร้างสันติภาพออกเป็น 8 บทบาทหลัก (Barnes, 2009: 137-147) ได้แก่
 
ประการแรก ทำความขัดแย้งให้สร้างสรรค์ ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรประชาสังคมสามารถแสดงบทบาทที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้โดยการทำเผยให้เห็นหน้าตาของความขัดแย้งอย่างที่ควรจะเป็นและขับเคลื่อนด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตรงหน้า
 
ด้วยยุทธศาสตร์เช่นนี้การขับเคลื่อนความขัดแย้งขององค์กรประชาสังคมจึงเป็นแนวทางการทำงานเชิงรุกในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปพร้อมๆ กับสร้างลักษณะการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม พวกเขาจึงอาจสำแดงให้เห็นทั้ง “อำนาจในการต่อต้าน (power to resist)” ต่อการใช้อำนาจเข้ากดข่ม ไปพร้อมๆ กับ “อำนาจในการเปิดโปง (power to expose)” เพื่อบ่อนทำลายความชอบธรรมของการใช้อำนาจดังกล่าว
 
นอกจากนี้ พวกเขาอาจแสดงให้เห็นถึง “อำนาจในการโน้มน้าว (power to persuade)” ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงบางประเด็นที่ดำรงอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง รวมถึงชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ก่อความขัดแย้งเหล่านั้นขึ้น โดยที่สิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นสาธารณะและต่อผู้กำหนดนโยบายในที่สุด
 
ในหลายกรณี การทำหน้าที่เผชิญหน้าและเปิดโปงการใช้อำนาจละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้คนจะสามารถบ่อนเซาะสิทธิอำนาจและความชอบธรรมของผู้กระทำได้ ในขณะเดียวกันการเปิดโปงและ/หรือประณามสิ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้การกระทำดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเพิกเฉยต่อไปได้
 
ในกรณีอีกไม้น้อย แนวทางดังกล่าวจึงพุ่งตรงไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในการลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ซึ่งบางครั้งได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กระตุ้นให้บังเกิดความล่มสลายของระบอบการเมืองที่กดขี่อย่างเลวร้ายลงในระยะยาว
 
อย่างไรก็ดี มีไม่น้อยเช่นกันที่กระบวนการเหล่านี้มักถูกใช้ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวแบบติดอาวุธเพื่อต่อต้านระบอบเดิม หากแต่ก็มีกรณีตัวอย่างจำนวนมากเช่นกันที่มีการแปรขบวนจากการเคลื่อนไหวด้วยวิธีการที่รุนแรงมาสู่การใช้กลยุทธ์ที่ไร้ความรุนแรงเพื่อเปิดช่องทางที่สร้างสรรค์ให้กับความขัดแย้ง
 
ประการที่สอง ยกระดับทัศนคติเกี่ยวกับความขัดแย้งผ่านการวางกรอบการมองใหม่และเปลี่ยนแปลงการรับรู้เดิม บทบาทในทำนองนี้อาจขึ้นอยู่กับการทำงานสื่อสารระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ความขัดแย้งนั้นๆ ได้สร้างเส้นแบ่งเอาไว้ หลายกรณีองค์กรประชาสังคมทำหน้าที่ในการสร้างกระบวนการพูดคุยระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกันเอง หรืออำนวยความสะดวกให้กับการสื่อสารทางตรงระหว่างผู้คนในกลุ่มต่างๆ ทั้งที่ขึ้นอยู่กับกลุ่มอาชีพ (ครู, นักข่าว), การมีอัตลักษณ์ร่วมบางอย่าง (กลุ่มผู้หญิง, กลุ่มเยาวชน) หรือในบางกรณีก็เป็นการรวมกลุ่มที่อยู่บนฐานของการมีประสบการณ์เกี่ยวกับความขัดแย้งร่วมกัน (ทหารผ่านศึกของแต่ละฝ่าย, ที่ปรึกษาทางนโยบาย)
 
ความสัมพันธ์ของผู้คนเหล่านี้จะนำไปสู่การทบทวนการรับรู้เดิมเกี่ยวกับ “ศัตรู” และ “ความเป็นคนอื่น” เสียใหม่ รวมถึงท้าทายวาทกรรมว่าด้วยความเกลียดชังอีกด้วย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะเริ่มทำให้ผู้คนมองเห็นความจำเป็นในการหาทางออกอย่างสันติ เมื่อพวกเขาเริ่มมองเห็นความเป็นมนุษย์ในกันและกัน
 
ประการที่สาม พัฒนาวาระหรือนโยบายเพื่อสันติภาพ ตัวแสดงอย่างองค์กรประชาสังคมสามารถช่วยขัดเกลานโยบายเพื่อสันติภาพบางประการ โดยการบ่งชี้จุดที่เป็นปัญหาซึ่งเคยถูกมองข้ามและเป็นจุดที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและนำเสนอทางออก กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ยังสามารถเข้าไปเกี่ยวดองหนองยุ่งกับการพูดคุยในทางนโยบายเพื่อหยิบยกประเด็นข้อขัดแย้ง และนำมาขับเคลื่อนรณรงค์ไปสู่การสร้างเจตจำนงทางการเมืองร่วมกันระหว่างผู้กำหนดนโยบาย รวมไปถึงการขับเคลื่อนแปรเปลี่ยนยุทธศาสตร์เหล่านั้นไปสู่ผลที่พึงปรารถนา
 
อย่างไรก็ตาม กระบวนการสันติภาพดังกล่าวที่องค์กรประชาสังคมมุ่งผลักดันเหล่านี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะการหาหนทางเพื่อให้มีการการหยุดยิงเท่านั้น หากแต่จุดเน้นสำคัญได้แก่กระบวนการสนับสนุนให้สังคมนั้นๆ มีอนาคตที่มีความเป็นธรรมและสันติ ด้วยเหตุนี้ ในบางกรณีความขัดแย้ง กลุ่มประชาสังคมนี่เองที่เป็นฝ่ายที่กระตุ้นให้สาธารณะถกเถียงกันว่าสังคมที่ประชาชนต้องการสร้างขึ้นนั้นมีหน้าตาเป็นเช่นไร? ข้อเสนอในทำนองนี้หาได้เป็นเพียงแค่ “พิมพ์เขียว” สำหรับอนาคตของสังคมที่พวกเขาร่วมกันสร้างเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการช่วยเผยสาเหตุของความขัดแย้งที่ลึกลงไปยิ่งกว่า บางกรณี เนื้อหาของพิมพ์เขียวเหล่านี้นี่เองที่กลายเป็นวาระสำคัญในวงพูดคุยเพื่อสันติภาพหรือการเจรจาเพื่อสันติภาพในที่สุด
 
ประการที่สี่ ขับเคลื่อนผู้สนับสนุนสันติภาพโดยการสร้างทั้งแรงสนับสนุนและแรงกดดัน ในความขัดแย้งที่ติดอาวุธ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านมักสร้างเหตุผลรองรับปฏิบัติการทางทหารของตนเองบนฐานของสิทธิอำนาจอันชอบธรรมในฐานะกองกำลังที่ถูกกฎหมายของฝ่ายแรก และบนฐานของการเป็นตัวแทนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้งของฝ่ายหลัง
 
ทว่าตัวแสดงอย่างองค์กรประชาสังคมทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป พวกเขาอาจท้าทายข้อกล่าวอ้างดังกล่าวด้วยการแสดงให้เห็นว่าความคิดเห็นสาธารณะนั้นปฏิเสธต่อต้านแนวทางของการใช้กำลังของทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งยืนยันเรียกร้องการแสวงหาทางเลือกในการหาทางออกจากความขัดแย้ง
 
กิจกรรมและปฏิบัติการของพวกเขาก็อาจมีรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่นิทรรศการศิลปะ การนำเสนอข่าวสารสันติภาพ ไปจนกระทั่งถึงการเดินขบวน กระบวนการเหล่านี้มีส่วนสำคัญในบางกรณีความขัดแย้งที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้เกิดกระบวนการสร้างสันติภาพจากภายใน
 
ประการที่ห้า เสริมสร้างความมั่นคงโดยการลดความรุนแรงและหนุนเสริมการสร้างเสถียรภาพแม้ว่าบทบาทหลักในการรักษาความมั่นคงและปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจะตกอยู่ในมือของกองกำลังของรัฐ (หรือในบางกรณีคือกองกำลังรักษาสันติภาพของนานาชาติ) แต่ก็พบว่ามีไม่น้อยที่พวกเขากลับกลายเป็นปัญหาเสียเอง หาไม่แล้วก็ไม่มีความสามารถเพียงพอต่อการภาระหน้าที่ตนเองต้องรับผิดชอบ หรือในบางกรณีก็มีกำลังที่น้อยและล่าช้าเกินไปที่จะปกป้องชีวิตของพลเรือน ในช่องว่างดังกล่าวนี่เองที่ชุมชนหรือองค์กรประชาสังคมที่เคยตกอยู่ในฐานะของการเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรง กรณีจำนวนมากก็พบว่าพวกเขาลุกขึ้นมาทำหน้าที่ในการป้องกันความรุนแรงและช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ
 
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีนั้นการลุกขึ้นของประชาชนในชุมชนเหล่านั้นคือการใช้อาวุธ ซึ่งในอีกแง่หนึ่งก็เป็นทางออกของข้อจำกัดของกองกำลังหลักดังกล่าว ดังเช่นการติดอาวุธให้กับพลเรือนเพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันตนเองและหนุนเสริมการทำงานของกองกำลังทหารหลักในกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็พบว่ามีความเสี่ยงที่จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งที่รุนแรงนั้นแหลมคมขึ้นและยากจะเยียวยาในระยะยาว (คยส., 2554: 7-10; Sarosi and Sombutpoonsiri, 2009: 24-27)
 
แต่กระนั้น ในอีกหลายกรณี โครงสร้างในระดับชุมชนก็สามารถทำงานร่วมกับหลายฝ่ายในการติดตามพัฒนาการและจัดวางจังหวะก้าวเชิงรุกในการลดทอนความรุนแรง หนึ่งในวิธีการเหล่านั้นได้แก่การพยายามจะจัดการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในระดับท้องถิ่นและป้องกันความเจ็บแค้นเฉพาะบุคคลในบางกรณีไม่ให้ขยายไปขับเคลื่อนความขัดแย้งในวงกว้าง
 
ประการที่หก บทบาทในกระบวนการจัดทำข้อตกลงสันติภาพโดยทั่วไปแล้ว กระบวนการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งที่ติดอาวุธ (peace negotiation) มักเป็นอาณาบริเวณเฉพาะสำหรับคณะผู้แทนของทางรัฐบาลและตัวแทนฝ่ายตรงกันข้ามที่มีอาณัติชัดเจน รวมไปถึงตัวกลางที่อาจมาจากเอ็นจีโอระหว่างประเทศหรือตัวแทนขององค์กรระหว่างประเทศ โดยที่ธรรมชาติของกระบวนการเจรจาสันติภาพกระแสหลักมักมองข้ามกลุ่มประชาสังคม
 
กระนั้นก็ตาม ข้อค้นพบในงานศึกษาบางชิ้นก็โต้แย้งการกีดกันเอากลุ่มองค์กรประชาสังคมออกจากกระบวนการสร้างสันติภาพในมิติดังกล่าว การพิจารณาย้อนหลังไปยังข้อตกลงสันติภาพ 25 ฉบับนับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมาของ แอนโธนี วานิส-เซนต์ จอห์น (Anthony St.John) และ ดาร์เรน คิว (Darren Kew) พบว่า การมีส่วนร่วมในระดับที่สูงขององค์กรประชาสังคมในกระบวนการเจรจาสันติภาพจะมีส่วนช่วยให้เกิดความยั่งยืนของข้อตกลงสันติภาพนั้นๆ (Wanis-St.John and Kew, 2008)
 
กล่าวในอีกแบบก็คือ กลุ่มองค์กรประชาสังคมได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะที่พวกเขาเรียกว่า “สันติภาพยั่งยืน (Sustained Peace)” นอกจากนี้ ราวครึ่งหนึ่งของกรณีศึกษาก็พบว่าการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชาสังคมในระดับกลางก็ยังผลให้เกิดสันติภาพยั่งยืนขึ้น ยิ่งเฉพาะในกรณีที่ฝ่ายในฝ่ายหนึ่งของคู่ขัดแย้งมีลักษณะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือในอีกความหมายคือมีลักษณะเผด็จอำนาจ (ดังกรณีรัฐบาลไลบีเรียและเนปาล) การมีส่วนร่วมขององค์กรประชาสังคมกลุ่มสำคัญในวงเจรจาสันติภาพเพื่อที่จะนำไปสู่ภาวะสันติภาพถาวรนั้นถือเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยทีเดียว (กรุณาดูตาราง 2.2)
 
ตารางที่ 2.2  บทบาทขององค์กรประชาสังคมในกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ (Wanis-St.John and Kew, 2008: 26)
 
ประเทศ
ปีที่มีข้อตกลงสันติภาพ
บทบาทของ
ประชาสังคม
ผลลัพธ์ของ
กระบวนการสร้างสันติภาพ
กัวเตมาลา
กัวเตมาลาซิตี้, 1996
สูง
สันติภาพยั่งยืน
ไลบีเรีย 2
อัครา, 2003
สูง
สันติภาพยั่งยืน
โมซัมบิก
1992
สูง
สันติภาพยั่งยืน
เซียรา ลีโอน 2
2000, ข้อตกลงหยุดยิงอบูจา
สูง
สันติภาพยั่งยืน
บอสเนีย
เดย์ตัน, 1995
ต่ำ
สันติภาพยั่งยืน
บุรุนดี 1
1995, ข้อสัญญาแห่งรัฐบาล
ต่ำ
สงครามหวนคืน, 1995
บุรุนดี 2
2000, ข้อตกลงอารูชา
ต่ำ
สงครามหวนคืน, จนถึง 2002
และข้อตกลงหยุดยิงในปี 2006
บุรุนดี 3
2006, ข้อตกลงเพื่อทำความเข้าใจการหยุดยิง
ต่ำ
สันติภาพเย็นชา
คองโก 1
คองโก-คินชาซา, 1999
ต่ำ
สงครามหวนคืน, 2000
เอธิโอเปีย-เอริเธรีย
อัลเจียร์, 2000
ต่ำ
สันติภาพเย็นชา
อิสราเอล-ปาเลสไตน์
1993
ต่ำ
สงครามหวนคืน, 2001
โคโซโว
แรมบัวเลอร์, 1999
(ฝ่ายเซิร์บ/สาธารณรัฐยูโกสลาเวียไม่ได้ร่วมลงนาม)
ต่ำ
สงครามหวนคืน, 1999
และแยกตัวในปี 2008
ไลบีเรีย 1
อบูจา, 1996
ต่ำ
สงครามหวนคืน, 2000
เนปาล
2005, สนธิสัญญา 12 ข้อ
ต่ำ
สงครามหวนคืน, 2006
ไนจีเรีย
(สามเหลี่ยมแม่น้ำไนเจอร์)
2004, ข้อตกลงสามเหลี่ยมแม่น้ำไนเจอร์
ต่ำ
สงครามหวนคืน, 2005
รวันดา
1993, ข้อตกลงอารูชา
ต่ำ
สงครามหวนคืน
และเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994
ทาจิกสถาน
1997, ข้อตกลงทั่วไป
ต่ำ
สันติภาพเย็นชา
คองโก 2
คองโก-คินชาซา, 2003
กลาง
สันติภาพเย็นชา
เอลซัลวาดอร์
แชพพุลเทอเพ็ก, 1992
กลาง
สันติภาพยั่งยืน
มาซิโดเนีย
2001, ข้อตกลงกรอบการทำงานโอริด
กลาง
สันติภาพยั่งยืน
ไอร์แลนด์เหนือ
1998, ข้อตกลงกู๊ดฟรายเดย์
กลาง
สันติภาพยั่งยืน
เซียรา ลีโอน 1
1999, ข้อตกลงสันติภาพโลเม
กลาง
สงครามหวนคืน, 2000
แอฟริกาใต้
1994
กลาง
สันติภาพยั่งยืน
ศรีลังกา
2002
กลาง
สงครามหวนคืน, 2005
ซูดาน (ใต้)
2004
กลาง
สันติภาพเย็นชา
 
 
 
หมายเหตุ: ทั้งสองวางกรอบการวิเคราะห์โดยการพิจารณาตัวชี้วัดที่เป็นระดับของการเข้าไปมีส่วนร่วมของกลุ่มประชาสังคมในกระบวนการสันติภาพ 3 ระดับ ได้แก่
 
ระดับสูง (high) หมายถึง กลุ่มประชาสังคม (หรือพันธมิตร) ได้เข้าไปมีที่นั่งในโต๊ะเจรจาสันติภาพ
ระดับกลาง (moderate) คือระดับที่แม้กลุ่มประชาสังคมจะไม่มีที่นั่งดังกล่าว แต่ก็มีอิทธิพลอย่างชัดเจนต่อฝ่ายต่างๆ ที่อยู่บนโต๊ะเจรจา
ระดับต่ำ (low) หมายถึง กลุ่มประชาสังคมไม่มีที่นั่งและไม่มีหรือแทบจะมีอิทธิพลน้อยมากต่อฝ่ายต่างๆ บนโต๊ะเจรจาเลย.
 
ส่วนผลลัพธ์ของกระบวนการเจรจาสันติภาพดังกล่าวก็ได้รับการจำแนกออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
 
สันติภาพยั่งยืน (sustained peace) หมายถึง การแปรข้อตกลงในทางปฏิบัติมีความก้าวหน้า แม้ว่าจะมีสะดุดบ้างในบางช่วงเวลาและความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคู่ขัดแย้งจะยังคงดำรงอยู่ แต่ก็ไม่ได้หวนกลับไปสู่การสู้รบเหมือนดังก่อนหน้าการทำข้อตกลงสันติภาพ ในขณะเดียวกัน ประเทศก็เดินหน้าการพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับขั้นตอนการสร้างความสมานฉันท์ การยุติการเคลื่อนไหวทางการทหารและการวางอาวุธ
สันติภาพเย็นชา (cold peace) ที่หมายถึงภาวะที่แม้ว่าจะไม่มีต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธจากทุกฝ่าย แต่ประเทศก็ไม่สามารถเดินหน้าในด้านต่างๆ ได้โดยง่ายนัก เนื่องจากอยู่ในภาวะที่ไร้ซึ่งเสถียรภาพ มีแนวโน้มที่จะกลับไปสู่การใช้ความรุนแรงอีกครั้ง ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองก็ไม่ได้กลายเป็นวาระหลัก การวางอาวุธและเคลื่อนไหวต่อต้านยังดำรงอยู่ เพียงแต่ยังไม่เกิดการปะทุขึ้นของความรุนแรง
สงครามหวนคืน (resumed war) ซึ่งหมายถึงภาวะที่ฝ่ายต่างๆ ละทิ้งข้อตกลงสันติภาพและหวนกลับมาใช้อาวุธต่อกรกันอีกครั้ง หากจะมีการเจรจากันอีกรอบก็ไม่ได้วางอยู่บนเนื้อหาของการสร้างสันติภาพในระยะยาว หากแต่มีความคาดหวังเพียงแค่การหยุดยิงเท่านั้น.
 
 
นอกจากนี้ เมื่อกลับพิจารณาจากบทบาทหน้าที่ขององค์กรประชาสังคมในกระบวนการเจรจาสันติภาพแล้ว การสร้างเงื่อนไขและบรรยากาศที่นำไปสู่การพูดคุยถือเป็นบทบาทสำคัญที่กระทำผ่านการเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน โดยใช้สถานะที่ไม่เป็นทางการและไม่ได้เป็นตัวแสดงหลักในกระบวนการเจรจา สิ่งเหล่านี้นี่เองที่สามารถทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะดึงตัวแสดงสำคัญเข้าสู่กระบวนการ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะสูญเสียความชอบธรรมใดๆ หรือถูกปฏิเสธตั้งแง่จากมวลชนที่สนับสนุนตน (ซึ่งนี่คือข้อจำกัดของผู้นำในระดับสูงที่ต้องกังวลต่อความคิดเห็นสาธารณะในบางกรณี หรือมวลชนสนับสนุนในอีกบางกรณี ความสร้างสรรค์ในการต่อรองจึงหดแคบ)
 
สิงที่พวกเขาเหล่านี้ทำดูคล้ายเป็นดั่ง “ประตูหลังบ้าน (back channel)” ในการสื่อสารระหว่างคู่ขัดแย้งดังที่พบในหลายกรณีนั่นเอง
 
หรือในอีกทางหนึ่ง พื้นที่ของประชาสังคมยังสามารถเอื้อให้เกิดกระบวนการพูดคุยช่องทางที่สอง (Track II) ที่ไม่เป็นทางการ เพื่อเสริมกับช่องทางหลักที่เป็นทางการ (Track I) อย่างไรก็ตาม ยังมีบางกรณีที่ตัวแสดงประชาสังคมได้รับความเชื่อมั่นให้กลายเป็นตัวกลางหรือผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการเจรจาสันติภาพในช่องทางที่เป็นทางการ ในกรณีเช่นนี้ บางกลุ่มอาจมีบทบาทสนับสนุนงบประมาณเพื่ออำนวยความสะดวกต่อกระบวนการ ในขณะที่บางกลุ่มอาจช่วยเหลือเพียงสร้างความไว้วางใจระหว่างคู่สนทนาและทักษะบางประการที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการโดยรวม
 
นอกจากนี้ ตัวแสดงอย่างองค์กรประชาสังคมยังสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณชนอย่างสร้างสรรค์ต่อกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ เนื่องจากพวกเขาสามารถจะสร้างแรงสนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนมากกว่าการตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจโดยไม่ชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
 
ตำแหน่งแห่งที่ของตัวแสดงประชาสังคมอาจอยู่ในฐานะแรงผลักดันวาระต่างๆ เหล่านี้ต่อพรรคการเมืองดังที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือหรือแอฟริกาใต้ หรืออาจเป็นกลไกในการสร้างคำปรึกษาหารือ ตลอดจนการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงที่ดึงเอาประเด็นที่เป็นจุดสนใจของประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้งไปพัฒนาขึ้นในข้อตกลงสันติภาพ หรือแม้แต่มีส่วนอย่างสำคัญในแปรเนื้อของข้อตกลงเหล่านั้นสู่การปฏิบัติ
 
ประการที่เจ็ด การสร้างสันติภาพในระดับชุมชน ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเป้าหมายหลักของกระบวนการสร้างสันติภาพโดยรวม เนื่องจากว่าการป้องกันความขัดแย้งอย่างได้ผลในระดับท้องถิ่นหรือชุมชนนั้นจะมีส่วนสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการสันติภาพโดยภาพรวมด้วย ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับการริเริ่มการทำงานสร้างสันติภาพในพื้นที่หรือชุมชนอื่นๆ ตามมา
 
ทั้งนี้ มีบางกรณีที่กระบวนการสันติภาพในระดับชาติอาจประสบกับภาวะชะงักงัน (ดังเช่นกรณีชายแดนใต้ในปัจจุบัน) หากแต่ในระดับชุมชนซึ่งมีพลวัตที่แตกต่างกันออกไปอาจสร้างความเป็นไปได้ในการก่อรูปพื้นที่ซึ่งเรียกกันว่า “โซนสันติภาพ (Zone of Peace)” ขึ้น บนฐานที่ตอบสนองต่อจุดสนใจหรือผลประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่ที่ต่างตระหนักว่าจำต้องหาหนทางที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้โดยสันติ
 
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้อาจอยู่นอกเหนือตัวบทกฎหมายที่มารองรับ แต่การสร้างสันติภาพในหน่วยที่เล็กกว่าเช่นนี้ นอกจากจะมีความต่อเนื่องยั่งยืนแล้ว ยังอาจจะส่งผลในแง่ของการสร้างแรงกดดันทางบวกต่อการสร้างสันติภาพในระดับอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
 
ประการที่แปด เปลี่ยนผ่านรากเหง้าและผลที่ตามมาของความขัดแย้ง ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมสันติภาพให้เกิดขึ้น ข้อตกลงสันติภาพที่ได้รับการลงนามจะไร้ประโยชน์หากผู้คนยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและจมอยู่กับบาดแผลจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น การอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการฟื้นฟูสังคมหลังจากความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งสำคัญ
 
องค์กรประชาสังคมอาจแสดงบทบาทสำคัญในจุดนี้ โดยการผลักดันเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะสร้างสรรค์และค้ำจุนข้อตกลงทางการเมืองที่เกี่ยวกับการสถาปนาโครงสร้างและบรรยากาศทางการเมืองที่จะสามารถหลอมรวมเอาความต้องการของแต่ละฝ่ายเข้าไว้ด้วยกัน
 
ทั้งนี้ การยืดหยัดที่จะรักษาโครงสร้างทางการเมืองก่อนความขัดแย้งปะทุเอาไว้นั้น รังแต่จะยืดความขัดแย้งให้ดำรงอยู่ยาวนานขึ้น (หรือในบางกรณีก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงรอบใหม่) มากกว่าจะเป็นหนทางแก้ไขปัญหา กล่าวในอีกแบบก็คือความยั่งยืนของสันติภาพนั้นขึ้นอยู่ที่กับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองที่จะสามารถรองรับความต้องการของแต่ละฝ่ายได้อย่างสมดุล
 
เพื่อที่ก่อให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ กลุ่มประชาสังคมในท้องถิ่นที่อาจร่วมมือกับกลุ่มประชาสังคมระหว่างประเทศจึงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างดังกล่าวในระยะยาว
 
องค์กรประชาสังคมยังมีต้นทุนมากมายสำหรับการแสดงบทบาทในกระบวนการสร้างความปรองดองระหว่างผู้คนในพื้นที่ความขัดแย้ง โดยการเปลี่ยนผ่านความรู้สึกของความเป็นศัตรูและความเป็นอื่นไปสู่การมองเห็นความเป็นมนุษย์ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
 
การริเริ่มของกระบวนการดังกล่าวอาจเกิดจากการพยายามสร้างสายสัมพันธ์ข้ามเส้นแบ่งต่างๆ ที่ก่อตัวขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง โดยที่บ่อยครั้งมักจะใช้พื้นฐานความคิดความเชื่อที่ดำรงอยู่ในทางจารีตวัฒนธรรมและจิตวิญญาณเพื่อให้เข้าถึงความหมายที่ล้ำลึกในใจของผู้คน ในขณะเดียวกัน องค์กรประชาสังคมอาจมีส่วนช่วยทำให้กระบวนการในการปลดอาวุธ (Disarmament) การสลายกำลังรบ (Demobilisation) และการหวนกลับคืนสู่สังคม (Re-Integration) (หรือที่เรียกกันว่า DDR) โดยพิจารณาจากปัจจัยแห่งความสำเร็จและล้มเหลวของกระบวนการเหล่านี้ที่จำต้องขึ้นอยู่กับความต้อการและแรงสนับสนุนของชุมชนในพื้นที่ความขัดแย้งนั้นๆ
 
นอกจากนี้ ภารกิจในระยะยาวที่องค์กรประชาสังคมจำนวนไม่น้อยทุ่มเทกำลังลงไปในการทำงานคือการพยายามหยิบยกรากเหง้าของความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่และเรียกร้องการให้หลักประกันต่อความมั่นคงของมนุษย์ การมีส่วนร่วมของพวกเขาในกระบวนการต่างๆ จะทำให้รัฐบาลหรือโครงสร้างของรัฐไม่สามารถเพิกเฉยต่อความต้องการของประชาชนได้ บทบาทสำคัญของพวกเขาคือการบรรเทาความตึงเครียดและความขัดแย้งในสังคมไปพร้อมๆ กับท้าทายและตั้งคำถามกับแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ (Racism) การเกลียดกลัวคนอื่น (Xenophobia) และการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ในทางกลับกันก็สนับสนุนความอดทนอดกลั้น (Tolerance) และวัฒนธรรมสันติภาพ (Culture of Peace) ให้ก่อตัวขึ้นในหมู่ผู้คน
 
ความขัดแย้งที่ในหลายกรณีปะทุขึ้นมาเป็นความรุนแรงที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์นั้นไม่สามารถจะถูกจัดการจากคนจำนวนเพียงน้อยนิดจากข้างบนได้อีกต่อไป แม้ว่ากระบวนการสร้างสันติภาพจากข้างบนจะมีส่วนกำหนดทิศทางของสันติภาพ แต่บทบาทของตัวแสดงประชาสังคมในความขัดแย้งเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นหลักประกันสำคัญในการก่อตัวและดำรงอยู่ของสันติภาพยั่งยืน
 
นอกจากนี้ หากพิจารณาการสร้างสันติภาพในฐานะที่เป็นกระบวนการทางสังคมอย่างหนึ่ง ในแง่นี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีปัจจัยสำคัญคือการกระทำจากผู้คนภายในสังคมนั้นๆ นั่นเอง ในหลายกรณี สิ่งนี้หมายถึงการพยายามประกอบสร้างโครงสร้างทางการเมืองและสังคมชนิดใหม่ที่จะสามารถทำให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ได้เยี่ยงมนุษย์ด้วยกัน ในขณะที่เงื่อนไขของความขัดแย้งที่จะนำมากล่าวอ้างรองรับการใช้ความรุนแรงนั้นก็มีน้ำหนักถดถอยน้อยลงไป กระบวนการดังกล่าวนี้จึงหาใช่เพียงแค่การค้นหาวิธีการที่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมจำนนและวางอาวุธลงเท่านั้น
 
 
บรรณานุกรมตอนที่ 2
 
คณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี (คยส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. (2554). “รายงานยุทธศาสตร์จัดการความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2554-2547”. เอกสารประกอบการนำเสนอต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์. เข้าถึงเมื่อ 11 เมษายน 2554.  http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/SouthernReport (TRFmar2011).pdf.
 
ธเนศ วงศ์ยานนาวา. (2550). “รายงานวิจัยเรื่องบทวิพากษ์ปรัชญา/ตรรกะของระบอบเสรีประชาธิปไตย”. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. เอกสารอัดสำเนา.
 
วีระ สมบูรณ์. (2553). รัฐ-ชาติ ชาติพันธุ์: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยความเป็นชาติ ความเป็นรัฐ และปัญหาชาติพันธุ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมมติ.
 
Barnes, Catherine. (2005). “Weaving the Web: Civil-Society Roles in Working with Conflict and Building Peace.” Paul van Tongeren et al. (eds.) People building Peace II: Success Stories of Civil Society. Boulder and London: Lynne Rienner.
 
Barnes, Catherine. (2009). “Civil Society and Peacebuilding: Mapping Functions in Working for Peace.” The International Spectator 44, 1 (March). 131-147.
 
Kaldor, Mary. (2006). New and Old War: Organized Violence in a Global Era. Cambridge: Polity Press. Second edition.
 
Lederach, John Paul. (1997).Building Peace: Sustainable Reconciliation in Divided Societies. Washington DC: United States Institute of Peace Press.
 
Oberschall, Anthony. (2007). Conflict and Peace Building in Divided Societies: Responses to ethnic violence. New York: Routledge.
 
Reimann, Cordula. (2004). “Assessing the State-of-the-Art in Conflict Transformation.” Alex Austin, Martina Fischer and Norbert Ropers (eds.) Transforming Ethnopolitics Conflict: The Berghof Handbook. Wiesbaden: VS Verlag für Sozialwissenschaften.
 
Sarosi, Diana and Sombutpoonsiri, Janjira. (2009). Rule By the Gun: Armed Civilians and Firearms Proliferation in Southern Thailand. Bangkok: Nonviolence International Southeast Asia.
 
United Nations Secretary-General. (2001). “Report to the Security Council on the Protection of Civilians in Armed Conflict (S/2001/331).” Website accessed April 13, 2011. http://www.securitycouncilreport.org/ atf/cf/%7B65BFCF9B-6D27-4E9C-8CD3-CF6E4FF96FF9%7D/Civilians%20S2001331.pdf.
 
 
United Nations Secretary-General. (2010). “Report to the Security Council on the Protection of Civilians in Armed Conflict (S/2010/579).” Website accessed April 13, 2011. http://www.securitycouncilreport.org/ atf/cf/%7B65BFCF9B-6D27-4E9C-8CD3-CF6E4FF96FF9%7D/POC%20S2010%20579.pdf.
 
Varshney, Ashutosh. (2002). Ethnic Conflict and Civil Life: Hindus and Muslims in India. New Haven & London: Yale University Press. second edition.
 
Wanis-St.John, Anthony and Kew, Darren. (2008). “Civil Society and Peace Negociation: Confronting Exculsion.” International Negociation 13 (2008): 11-36.
 
 
 
และกรุณาติดตามอ่านตอนต่อไป