สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ซึ่งความรุนแรงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องถึง 5 ปี ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีถึง 4 คน ซึ่งมีที่มาแตกต่างกัน และการพลิกเปลี่ยนทางการเมืองล่าสุดในช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กำลังเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานนี้
5 ปีของปัญหาไฟใต้ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลอย่างเข้มข้น ดังนั้น เมื่อพรรคประชาธิปัตย์พลิกกลับมาเป็นผู้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหา จึงถูกจับจ้องว่าจะทำให้สถานการณ์รุนแรงที่ผ่านมา 5 ปีนี้พลิกเปลี่ยนไปอย่างไร
แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีตถึงความเป็นพรรคการเมืองที่ครองพื้นที่ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จะเห็นว่ากว่า 2 ทศวรรษนับแต่การเลือกตั้งในปี พ.ศ.2522 พรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐมาโดยตลอด และช่วง 2 ทศวรรษดังกล่าว ประชาธิปัตย์ก็ทำความผิดพลาดมาไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้นการเรียนรู้ทบทวนความผิดพลาดในอดีต เพื่อกำหนดแนวทางในปัจจุบัน ป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่น่าจะวิเคราะห์ศึกษากันอย่างจริงจัง
อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลในอดีต ซึ่งแม้กระทั่งช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา มิได้มองปัญหาชายแดนภาคใต้ไกลไปกว่าโจทย์ ‘การแบ่งแยกดินแดน' นโยบายการแก้ปัญหาจึงมุ่งเน้นไปในด้านการปราบปรามด้วยกำลัง มากกว่าการคำนึงถึง ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์' ของผู้คนซึ่งมี ‘อัตลักษณ์' ที่แตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งหลายครั้งในอดีตที่นโยบายของรัฐที่ขาดความตระหนักต่อประเด็น ‘ความรู้สึก'กลับสร้างปัญหา
นโยบายของรัฐที่สร้างปัญหาต่อความรู้สึกของคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อาทิ การสร้างสมดุลประชากรโดยการเคลื่อนย้ายอพยพคนจากภาคอื่นๆ เจ้ามาตั้งถิ่นฐาน การเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน สถานที่และชื่อคนจากภาษามลายู เป็นภาษาไทย นโยบายวางแผนครอบครัวด้วยการคุมกำเนิด การควบคุมสถาบันศึกษาปอเนาะ ซึ่งผลกระทบจากนโยบายเหล่านี้ก่อกระแสความไม่พอใจมานาน แต่ก็ถูกกดทับไว้ กระทั่งกระแสไม่พอใจปรากฏให้เห็นชัดครั้งแรกในปี 2528 เมื่อประชาชนมุสลิมในจ.สตูลลุกขึ้นมาประท้วงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ สมัยที่นายมารุต บุญนาค นายสัมพันธ์ ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยจากพรรคประชาธิปัตย์ มีคำสั่งให้ประดิษฐานพระพุทธรูปในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งหากเป็นพื้นที่ภาคอื่นปัญหานี้คงไม่ก่อกระแสไม่พอใจ แต่สำหรับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชากรกว่า 80 % นับถือศาสนาอิสลาม กระแสความไม่พอใจได้ปะทุขึ้นอย่างรุนแรง
แม้นายสัมพันธ์ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเดินทางมาชี้แจงต่อประชาชน และรับปากว่าจะยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเฉพาะพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยนำพระพุทธรูปออกจากโรงเรียน แต่ก็เป็นข้อรับปากที่ไม่ได้รับการปฏิบัติ คำยืนยันต่อมาก็คือ เรื่องนี้เป็นนโยบายไปแล้วมิอาจยกเลิกได้
ผลพวงของการเพิกเฉยต่อกระแสเรียกร้องของประชาชนมุสลิมครั้งนั้นก็คือ จำนวนผู้ชุมนุมที่จ.สตูลจากที่เคยมีแค่ 2-3 พันคน เพิ่มขึ้นถึง 3 หมื่นคน จากประชาชนมุสลิมในจังหวัดใกล้เคียงที่เดินทางเข้ามาร่วมด้วยอย่างต่อเนื่อง มีการชุมนุมยืดเยื้อกว่า 4 เดือน รัฐบาลจึงมีคำสั่งโยกย้ายข้าราชการสังกัดสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดสตูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พ้นพื้นที่ จึงช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายลง แม้จะยังไม่มีการนำพระพุทธรูปออกจากโรงเรียนตามข้อเรียกร้อง
การชุมนุมครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมุสลิมชายแดนภาคใต้ ลุกขึ้นรวมตัวกันแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐอย่างชัดเจน ในขณะที่เหตุการณ์ชุมนุมที่จ.ปัตตานีในปี 2518 เป็นการลุกขึ้นมาประท้วงการใช้ความรุนแรงของรัฐ
แต่เหตุการณ์ครั้งนี้มิได้ให้บทเรียนใดๆ แก่รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เลย เพราะอีก 3 ปี ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงคำสั่งของวิทยาลัยครูยะลา ที่ห้ามนักศึกษาสตรีมุสลิม แต่งกายตามหลักศาสนา โดยใช้ผ้าคลุมศรีษะ หรือฮิญาบ เข้ามาในสถานศึกษา ในปี 2531 กระทรวงศึกษาธิการซึ่งทั้งนายมารุต และนายสัมพันธ์ สองรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์กำกับดูแล ก็ยังใช้วิธีซื้อเวลา โดยการมีคำสั่งผ่อนปรนให้จนถึงสิ้นปีการศึกษา แต่ข้อเรียกร้องของสังคมมุสลิม ที่ต้องการให้มีการรับรองการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อปฏิบัติตามหลักศาสนา ขยายบายปลายออกไป กระทรวงศึกษาธิการจึงรับปากว่าจะแก้ไขพรบ.วิทยาลัยครู ให้อำนาจวิทยาลัยครูแต่ละแห่งกำหนดการแต่งกายของนักศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความไม่พอใจของประชาชนมุสลิมขยายบานปลาย ก็มาจากท่าทีของคนในพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายไสว พัฒโน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฮิญาบว่า ไม่เห็นด้วยกับกระทรวงศึกษาธิการที่มีคำสั่งอนุโลมผ่อนปรน เพราะต้องว่ากันตามระเบียบวินัย
"เราต้องยืนยันบนหลักการนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาแบ่งแยกพวก สีสัน หรือหลักศาสนา ผมไม่แคร์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับผม ผมไม่กลัว ขอให้เรายึดหลักเดียวกันให้เป็นเอกภาพก็พอ" เป็นคำให้สัมภาษณ์ของนายไสวในขณะนั้นซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่มุสลิมทั่วไปเป็นอย่างมาก (มติชนรายวัน 16 ม.ค.2531)
กระแสความไม่พอใจที่พุ่งสูง ทำให้จำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้นนับหมื่นคน ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นมุสลิมในพื้นที่ ต้องออกมายืนข้างการเคลื่อนไหวของประชาชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภายในของพรรคประชาธิปัตย์เองในฐานะเจ้าของพื้นที่ ก็มิได้มีเอกภาพที่จะมองปัญหาด้วยความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากส.ส.มุสลิมซึ่งลุกขึ้นมาพูดแทนประชาชนแล้ว ประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองไม่เคยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหานี้แต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขบวนการก่อความไม่สงบในปัจจุบันเชื่อมั่นในการใช้ความรุนแรง โดยปฏิเสธการต่อสู้ในระบบรัฐสภา
กรณีประท้วงฮิญาบทำให้นายเด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานี นายอารีเพ็ญ อุตรสินธ์ ส.ส.นราธิวาส นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.ยะลา นานสมบูรณ์ สิทธิมนต์ ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2531 และในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นส.ส.ทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชนในพื้นที่จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเลยแม้แต่คนเดียว
การแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นแต่การปราบปราม ผนวกเข้ากับนโยบายรัฐที่สร้างผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ยิ่งทำให้ปัญหาทับถมกันมากขึ้น ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งการแก้ปัญหาของรัฐบาลก็ยังพ้นไม่พ้นแนวทางการใช้กำลังเข้ากดดันปราบปราม
ความรุนแรงชายแดนภาคใต้เพิ่มความถี่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปลายปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งขบวนการก่อความไม่สงบตอบโต้ฝ่ายรัฐด้วยการประกาศจะสังหารเจ้าหน้าที่ให้ได้ 120 คน หลังนายอาลียา โต๊ะบาลา หัวหน้ากลุ่มบีอาร์เอ็นเขต 2 ถูกซุ่มโจมตีและถูกกับระเบิดเจ้าหน้าที่เสียชีวิต ในพื้นที่อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เมื่อเดือนเมษายน 2540
คำประกาศดังกล่าวของขบวนการก่อความไม่สงบ รู้จักกันในชื่อ ‘แผนใบไม้ร่วง'
เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนี้ เกิดเหตุลอบวางระเบิดเสาตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี บนถนนสายเบตง-ยะลา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ขณะที่พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เดินทางไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่
พล.ต.สนั่น ให้สัมภาษณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นการก่อกวนปกติ เป็นฝีมือโจรธรรมดา ไม่ใช่โจรก่อการร้าย
เหตุการณ์ในขณะนั้นเพียงช่วง 3 เดือน เกิดเหตุความรุนแรงทั้ง เผาโรงเรียน ยิงถล่มป้อมตำรวจสถานีตำรวจ ยิงรถบรรทุก เรียกค่าคุ้มครอง และลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจ อส. ครู และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียชีวิต 18 คน การแก้ปัญหาในขณะนั้นคือส่งตำรวจตระเวนชายแดนจากค่ายนเรศวรเข้าไปกดดันกวาดล้าง
หลังจากนั้นในเดือนมกราคม 2541 พล.ต.สนั่นก็เปิดแถลงข่าวใหญ่ การจับกุมแกนนำขบวนการพูโลได้ถึง 3 คน ประกอบด้วยหะยีบือโด เบตง ประธานกลุ่มพูโลใหม่ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ แกนนำสำคัญ และนายอับดุลรอมัน บินอับดุลกาเดร์ ลูกน้องหะยีบือโด ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ก็สามารถจับกุมหะยีสะมะแอ ท่าน้ำได้อีกหนึ่งคน
พล.ต.สนั่นประกาศให้ขบวนการก่อความไม่สงบมอบตัวภายในเดือนมีนาคม หลังจากนั้นจะเปิดฉากกวาดล้างขั้นเด็ดขาด ซึ่งคำประกาศของพล.ต.สนั่นนับว่าได้ผลเมื่อมีสมาชิกขบวนการออกมามอบตัวกว่า 60 คน แต่ส่วนใหญ่เป็นเพียงระดับผู้ประสานงาน ขณะที่แกนนำคนสำคัญยังคงกบดานตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย และปฏิบัติการก่อความไม่สงบอยู่เป็นระยะ โดยปฏิบัติการตามแผนใบไม้ร่วงสังหารเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง
การจับกุมแกนนำขบวนการพูโลเป็นผลงานที่พรรคประชาธิปัตย์ภาคภูมิใจ ท่ามกลางกระแสข่าวเบื้องหลังการจับกุมดังกล่าวนั้นเป็นความช่วยเหลือของรัฐบาลมาเลเซียที่ส่งตัวให้ทางการไทย ซึ่งผู้นำมาเลเซียเองถูกประชาคมมุสลิมตำหนิถึงการส่งตัวคนศาสนาเดียวกันไปให้คนต่างศาสนาลงโทษ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากนั้นมา รัฐบาลมาเลเซียไม่มีท่าทีในการให้ความร่วมมือแก้ปัญหาใดๆ อีกเลย
ขณะเดียวกันกรณีการจับกุมแกนนำขบวนการพูโลก็ส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหลังปี 2547 เป็นต้นมา นั่นคือกระบวนการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มก่อความไม่สงบต้องติดขัดเพราะข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวแกนนำพูโลที่ถูกจับกุม ซึ่งรัฐบาลไทยมิอาจตอบสนองได้
จากแนวทางในอดีตจะเห็นได้ว่ารัฐบาลซึ่งพรรคประชาธิปัตย์อยู่ร่วมมาโดยตลอด ไม่ว่าในฐานะพรรคร่วมหรือพรรคแกนนำ ให้แนวทางการทหารเพื่อปราบปรามขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาโดยตลอด ซึ่งเห็นได้จากนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกฉบับตั้งแต่พ.ศ.2521-2541 ยังเน้นการปกป้องดินแดนและการรักษาอำนาจรัฐ ซึ่งแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดให้เห็นในนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2542-2546 ซึ่งเชิญผู้นำศาสนา ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ทำให้ได้รับการตอบรับจากคนในพื้นที่มากขึ้นว่า หน่วยงานรัฐเริ่มเข้าใจปัญหามากขึ้น รัฐบาลเริ่มทำในสิ่งที่ถูกต้อง สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของประชาชนมุสลิม ซึ่งถือเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้ในช่วงสุดท้ายของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
แต่ถึงแม้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะกำหนดนโยบายดังกล่าว ซึ่งเสมือนยุทธศาสตร์สำคัญ แต่การปฏิบัติก็ยังไปไม่พ้นกรอบคิดแนวทางเดิมๆ นั่นคือ การเน้นความมั่นคงของรัฐ และการทหารมาก่อนการพัฒนา โดยเฉพาะโครงการพัฒนาที่สำคัญเช่น ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางผลิตอาหารมุสลิมโลก หรืออาหารฮาลาล และพรบ.ธนาคารอิสลาม ก็ถูกเสนอขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่ถูกเก็บดองเอาไว้นานจนไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจ
อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์เองก็ถูกตั้งคำถามถึงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด เพราะนับแต่นายสิดดิก ซารีฟ ส.ส.นราธิวาส ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สมัยรัฐบาลนายเสนีย์ ปราโมช เมื่อปี 2519 ก็ไม่เคยมีส.ส.มุสลิมของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีอีกเลย
หากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลพวงจากการเตรียมพร้อมบ่มเพาะปลูกฝังแนวคิดมายาวนานบนพื้นฐานการสร้างอคติต่อรัฐไทย ในช่วงเวลาเหล่านี้ พรรคประชาธิปัตย์ทั้งในฐานะรัฐบาล และพรรคการเมืองซึ่งสมควรจะเป็นตัวแทนของคนพื้นที่ มิได้ทำหน้าที่สะท้อนปัญหา หรือขจัดเงื่อนไขให้หมดไป ซ้ำนโยบายที่มุ่งเน้นการทหารมากกว่านโยบายทางการเมือง กลับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การบ่มเพาะอคติเติบโตขึ้นจนปรากฏชัดในปัจจุบัน
ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะที่ผ่านมา รัฐบาลซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ไม่เคยมีนโยบายที่ชัดเจนต่อชายแดนภาคใต้เลย การดำเนินการล้วนแต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะกองทัพ ขณะเดียวกันประชาธิปัตย์กลับแก้ปัญหาในเชิงการเมือง จากความไม่พอใจของคนในพื้นที่ด้วยการซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ดังเห็นได้จากกรณีพระพุทธรูปที่จ.สตูล และฮิญาบที่จ.ยะลา
จากการดำเนินการในอดีตกล่าวได้ว่า แม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในเชิงการเมือง สามารถเป็นตัวแทน เป็นความหวังให้กับคนในพื้นที่ได้เลย
ภายใต้โอกาสครั้งใหม่ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาล ยังไม่ปรากฏแนวนโยบายแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ชัดเจน แต่เมื่อครั้งที่ยังเป็นพรรคฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาเอาไว้ว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาในทุกด้าน พร้อมๆ กับสร้างความสงบให้เกิดขึ้นเป็นพื้นฐาน
เมื่อมองถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นว่า หากยึดแนวทางพัฒนาทุกด้านควบคู่ไปกับการสร้างความสงบนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างเอกภาพในการจัดการ ซึ่งรัฐบาลจะยืนหยัดได้ขนาดไหน เพราะมิอาจปฏิเสธได้ว่า หลังการยึดอำนาจเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา อำนาจในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ตกอยู่กับกองทัพ
ดังนั้นภายใต้โครงสร้างของรัฐบาลปัจจุบันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกองทัพยิ่งกว่ารัฐบาล อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์มิได้กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ก็แทบไม่เคยได้แสดงบทบาทใดๆ เกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้มาก่อนเลย มีเพียงนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือมท.3 ที่ถูกวางตัวไว้เป็นผู้รับผิดชอบ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินนโยบายไปได้อย่างหนักแน่นแค่ไหน
ดังนั้น ภายใต้งบประมาณด้านการทหารจำนวนมหาศาล จากการทุ่มกำลังพลลงไปในพื้นที่มากกว่า 5 หมื่น ซึ่งทำให้ตัวเลขจำนวนเหตุร้ายลดลงอย่างไม่มีข้อถกเถียง การคงกำลังทหารเอาไว้ภายใต้งบประมาณที่ต้องทุ่มลงไปอีกมหาศาลจึงกลายเป็นความจำเป็น แต่ขณะเดียวกัน การเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐบาล หมายถึงการทุ่มงบประมาณอีกจำนวนมหาศาลลงพื้นที่เช่นกัน ภายใต้ข้อจำกัดทั้งอำนาจในการควบคุมองค์กรแก้ปัญหา ภาวะเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่องบประมาณ ยังไม่รวมถึงสถานการณ์ซึ่งยากจะคาดเดาว่าจะพลิกโฉมไปอย่างไร ภายใต้การถูกกดดันอย่างหนักหน่วงทางการทหาร ขบวนการก่อความไม่สงบจะมีวิธีการใดๆ อีกหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ท้าทายการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนี้อย่างยิ่ง
ภายใต้วิกฤติที่เกิดขึ้นคือโอกาสของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในการพิสูจน์ตัวเอง บทเรียนจากอดีตเป็นสิ่งที่ต้องทบทวน เพื่อมิให้ความผิดพลาดซ้ำรอยจนทำลายโอกาสของตัวเอง เพราะต้นทุนในการซื้อเวลานั้นมีน้อยยิ่งนัก