ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
หมายเหตุ : นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 เกี่ยว กับนโยบายของรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติต่ออายุการประกาศใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (หรือที่เรียกขานกันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่ออกไปอีก 3 เดือน พร้อมๆ กับการแต่งตั้ง "คณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้" ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน
นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องนี้ถือเป็นนโยบายสำคัญซึ่งรัฐบาลเห็นว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้ต้องได้ รับการเสริมเรื่องการพัฒนาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม ขณะที่ปัจจุบันทางฝ่ายความมั่นคง ก็เดินหน้าทำงาน แต่ในนโนบายจำเป็นต้องมีการตั้งสำนักงานขึ้นมา ซึ่งต้องออกเป็นกฎหมาย ต้องผ่านสภา หมายความว่าต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นสิ่งที่เราดำเนินการไปก่อนคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วยรัฐมนตรีหลายกระทรวง โดยที่ตนเป็นประธานทำหน้าที่ดูแลการพัฒนาตรงนี้
ทั้งนี้ ในวันเสาร์ที่ 17 มกราคมนี้ ทางคณะกรรมการชุดนี้จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมและรับฟังข้อคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่ทำงานในพื้นที่ ขณะนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำลังประสานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว
นอกจาก นี้ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการเสนอให้ครม.ต่ออายุการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะหมดเวลาในวันที่ 19 มกราคม นี้ เนื่องจากเวลากระชั้นมาก ทาง ครม.จึงอนุมัติให้ต่ออายุไปอีก 3 เดือน แต่กำหนดไว้ว่าก่อนที่จะมีการมาเสนอต่ออายุครั้งต่อไปในอีก 3 เดือนข้างหน้า หลังจากที่ต่ออายุมาแล้ว 14 ครั้ง ขอให้ทุกฝ่ายไปสรุปเรื่องกลไกทางกฎหมายที่ใช้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเสียก่อน ซึ่งขณะนี้มีทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกที่ครอบคลุมไปในจังหวัดสงขลาบางส่วนด้วย ขณะที่กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่ออกมาแต่ยังไม่ได้ปรับกลไกการทำงานเข้า สู่กฎหมายฉบับนั้น ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะรัฐบาลต้องการจะเห็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายที่ มีความหลากหลายอย่างนี้ในทางปฏิบัติจริงๆ ควรจะเลือกใช้กฎหมายฉบับไหนอย่างไร และจะมีผลอย่างไร
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ได้ กำหนดให้มีการประเมินทางสถิติว่ากรณีที่มีการส่งฟ้องศาลในคดีต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาคใต้ ซึ่งพบว่ามีทั้งกรณีที่ศาลลงโทษและศาลยกฟ้อง ลองทำข้อเปรียบเทียบมาให้ดูว่า การใช้กระบวนการและกฎหมายฉบับใดนำไปสู่คดีที่มีการลงโทษผู้กระทำความผิดได้ คดีใดใช้กฎหมายใด แล้วนำไปสู่คดีที่ขึ้นสู่ศาลแล้วกลับมีการยกฟ้อง รวมทั้งให้ตรวจสอบดูด้วยว่าการใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการเข้ามาทำคดีต่างๆ ครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน และมีนัยสำคัญกับเรื่องการตัดสินของศาลหรือไม่ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีการทบทวนเรื่องการใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นการต่ออายุโดยอัตโนมัติในทุกๆ 3 เดือนเหมือนกับที่ผ่านมา
นาย อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในวันเดียวกันทราบว่ามีรายงานขอองค์กรนิรโทษกรรมสากลที่เข้ามาตรวจสอบเรื่อง นี้ จึงขอเรียนว่านี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องมาตรวจทานว่าการทำงานใน ปัจจุบันไปสร้างปัญหาหรือเงื่อนไขหรือไม่ ทั้งนี้ในส่วนของตัวรายงานเองก็คงต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยว่าเป็นไปตาม ที่มีการรายงานหรือไม่
"ทั้งหมด เพื่อยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่มีความประสงค์ที่จะใช้กฎหมายที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายใด ก็ตามและไม่มีการไปสนับสนุนส่งเสริมให้มีการใช้อำนาจในลักษณะนอกกฎหมาย โดยมีกฎหมายมาบังหน้า" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ต่อ จากนี้คือบทสัมภาษณ์คำต่อคำของนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มีการ วิพากษ์วิจารณ์ว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยแรงสนับสนุนจากกองทัพ ในขณะที่การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของฝ่ายรัฐก่อนหน้านี้อย่างน้อยนับตั้งแต่ รัฐประหารเมื่อกลางปี 2549 ก็ ถูกยึดกุมโดยกองทัพผ่าน กอ.รมน. เป็นด้านหลัก สัญญาณการเข้ามีบทบาทของภาคการเมืองที่มากขึ้นในครั้งนี้ จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะต้องเผชิญกับการต่อรองจากฝ่ายกองทัพมากน้อย เพียงใด อีกทั้งยังมีแรงเสียดทานจากเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติและชนกลุ่มน้อยใน พื้นที่เช่นผู้นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์มาเนิ่นนาน
Q การตั้งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวขึ้นมาเป็นการตั้งมาเพื่อดูแลชีวิตทรัพย์สินของประชาชนมากกว่าแก้ไขปัญหาความไม่สงบโดยตรงหรือไม่?
การ สร้างความปลอดภัยต้องทำโดยมาตรการทางด้านความมั่นคงและมาตรการทางการพัฒนา จุดประสงค์ของเราคือ ที่ผ่านมามาตรการทางการพัฒนา 1.คือการขาดเอกภาพ ขาดการเข้าไปมีกลไกที่จะทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 2.ขาดการขับเคลื่อนระดับนโยบายเพราะทุกอย่างจะไปอยู่ภายใต้ของ ศอ.บต. ซึ่งขึ้นอยู่กับข้าราชการที่อยู่ในกระทรวงเพียงกระทรวงเดียว 3.การขับเคลื่อนในเรื่องของการพัฒนาต้องประสานกับฝ่ายความมั่นคง เพราะในที่สุดแล้วจะต้องนำไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน หากเรายึดแนวทางเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และไปด้วยกันอย่างนี้ เราก็คาดหวังที่จะเห็นผลชัดเจนขึ้น และการพัฒนาเองก็จะต้องนำไปสู่คำตอบเรื่องความปลอดภัยด้วย
Q ต้องมีการทบทวนเรื่องของการใช้กำลังในการแก้ไขปัญหาหรือต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่หรือไม่?
เมื่อ มีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาคงจะทำให้กลไกที่ดูแลเรื่องนี้มีมุมมองที่หลากหลาย มากขึ้น และสอดคล้องกับที่ตนได้ไปประมวลและทบทวนเรื่องการใช้กฎหมาย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ง่ายขึ้น ถ้าเรามีข้อมูลตรงนี้
Q กรณีที่มีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการซ้อมผู้ต้องหาในคดีความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดภาคใต้ ได้มีการสอบถามแม่ทัพภาค 4 หรือไม่?
แม่ทัพ ภาค 4 ได้ชี้แจงไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่คงต้องมีการตรวจสอบในรายละเอียดอีกที ตนคิดว่าปัญหาการใช้กำลังเกินขอบเขตของกฎหมายอาจเป็นไปได้ว่ามีอยู่บ้าง แต่ขอยืนยันว่าไม่ใช่นโยบาย และไม่ใช่สิ่งที่ทำแบบเป็นระบบ และตนคิดว่ากรณีที่ศาลจังหวัดนราธิวาสก็เคยมีการดำเนินคดีพิพากษาให้เจ้า หน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้นำศาสนานาจะเป็นเครื่องยืนยัน ได้ว่า เราได้ให้ความเป็นธรรม และจะไม่ปล่อยให้มีการใช้อำนาจหรือความรุนแรงในทางที่ผิดโดยเจ้าหน้าที่
อย่างไร ก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังในส่วนของกองทัพก็ชัดเจน โดยผบ.ทบ.ในช่วงที่เกิดปัญหาเวลาที่มีใครเสียชีวิตหรือได้รับการ้องเรียน ระหว่างถูกควบคุมตัว ท่านก็พูดชัดว่าจะต้องมีการตรวจสอบ แม้จะเป็นบุคลากรของกองทัพก็ต้องรับผิดชอบหากมีการกระทำความผิด อย่างไรก็ตามตนตั้งใจที่จะพบกลุ่มสิทธิมนุษยชน เวลานี้กำลังนัดหมายกันอยู่ และไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้ยังมีอีกหลายๆ กลุ่มด้วย
Q ได้มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารเรื่องของการใช้กำลังหรือไม่?
ใน การเสนอขออนุมัติต่ออายุพระราชกำหนดฯก็ได้มีการพูดถึงการใช้อำนาจพิเศษต้อง พึ่งระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายตรงข้ามนำไปกล่าวอ้าง และสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง ความเกลียดชัง
Q การที่นายกฯ บอกว่าการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน ใน 3 จังหวัดภาคใต้จะไม่เป็นไปโดยอัตโนมัติแล้วแสดงว่าจากนี้อาจมีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการต่ออายุอีก
ถูก ต้องครับ และจริงๆ โดยสภาพของพระราชกำหนดฯที่เป็นเรื่องการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป้าหมายของรัฐบาลคือ ต้องทำให้ภาวะในพื้นที่นั้นไม่เป็นภาวะฉุกเฉินให้ได้ ฉะนั้นเป้าหมายจริงๆ ก็ต้องนำไปสู่การยกเลิกในที่สุด แต่ถ้าสถานการณ์ยังจำเป็นเพื่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เราก็เข้าใจ แต่มันต้องมีการประเมินที่เป็นระบบมากกว่าที่ผ่านมา นี้คือสิ่งที่ย้ำไป
Q ใน ฐานะที่นายกฯ เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ จะให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่หรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีการใช้กำลังพลที่เยอะมาก
จริงๆ แล้วเราจะเห็นว่าความถี่ของเหตุการณ์ลดลง แต่ความรุนแรงยังตอบยากว่าลดลงหรือไม่ และ เหตุผลที่ความถี่ลดลงเชื่อว่า มาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ และมีการใช้กำลังพลที่เยอะมาก ซึ่งตรงนี้ไม่มีทางจะเป็นคำตอบที่ยั่งยืน นั้นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องทบทวนเรื่องกลไก และเอาเรื่องการพัฒนาเข้าไป โดยเฉพาะกฎหมายความมั่นคง เป็นกลไกที่ได้พยายามคำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้พระราชกำหนดฯ และกำลังพลอย่างที่เป็นอยู่ ฉะนั้นถ้าปรับเข้าสู่กฎหมายใหม่ได้ น่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญ ขณะนี้รายงานมาเพียงว่า ยังไม่พร้อมที่ทจะปรับเข้าโครงสร้างนี้ ซึ่งต้องไปเร่งรัดกัน
Q ทำไมถึงยังไม่มีความเรียบร้อยในการจัดกำลังพลในกองพลทหารราบที่ 15 ให้เรียบร้อยจะได้ไม่ต้องมีการผลัดเปลี่ยนกำลังพลอื่นลงพื้นที่ ?
จริงๆ แล้วตนได้ให้แนวทางเรื่องการมีกำลังพลที่มีความรับผิดชอบที่ชัดเจน เพราะขณะนี้เราหมุนเวียนกำลังพลจากที่อื่นเข้าไป แม้ว่าจะมีความตั้งใจดีอย่างไร ก็ไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับการที่เราให้ความสำคัญกับกำลังพลที่จะต้องประจำ อยู่ที่นั้น และรับผิดชอบตรงนั้นอย่างชัดเจน ส่วนในเรื่องของงบประมาณที่ลงไปเป็นแสนล้านนั้น ตนก็ตามอยู่ในเรื่องของงบประมาณ และทราบว่ามีประเด็นอยู่เหมือนกัน ในเรื่องงบประมาณที่ค้างอยู่
Q ความไม่เป็นเอกภาพเกิดจากตรงจุดไหน?
หลายๆ รัฐบาลเข้าใจทิศทางนโยบายเรื่องการศึกษา และการสร้างให้เกิดการยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรม แต่คนที่ทำงานจริงๆ ไม่สามารถที่จะกำหนดแนวทางการปฏิบัติได้มากนัก เพราะการจะทำได้หลายๆ ฝ่ายต้องประสานกัน แต่ที่ผ่านมาน้ำหนักไปทิ้งอยู่กับฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก โดยเฉพาะรัฐบาลที่ผ่านมาจะเน้นว่า ตำรวจ ทหาร ดูแลอยู่ ซึ่งจะไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ตลอดไป
Q หากความสงบไม่เกิดแล้วการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
มัน ก็เหมือนไก่กับไข่ ถ้าเราไม่พัฒนาก็ไม่สงบเหมือนกัน ฉะนั้นตรงนี้จึงต้องเดินควบคู่กันไป ส่วนที่มองว่าต่างฝ่ายต่างทำแนวทางแก้ไขปัญหานั้น นี้คือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพราะฝ่ายนโยบายหลายกระทรวงจะต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกัน คล้ายๆ กับครม.เศรษฐกิจในขณะนี้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการกำหนดเป้าหมาย ร่วมกันในการฟื้นเศรษฐกิจ
Q มีการให้เหตุผลหรือไม่ว่า ทำไมจึงยังไม่สามารถใช้กฎหมายความมั่นคงได้ ?
ส่วนใหญ่พูดว่า ยังไม่พร้อมในเชิงโครงสร้าง แต่ผมจะไปเร่งรัด
Q ขณะนี้รัฐบาลกับกองทัพถือว่าเป็นเอกภาพแล้วหรือยัง?
ดูจะเข้าใจกันในเรื่องของทิศทางการทำงาน การประชุม ครม.เมื่อวานมีเรื่องจำนวนมากได้อนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอมา ตามนโยบายของรัฐบาล
Q หากกฎหมายความมั่นคงดำเนินการแล้วเสร็จก็ไม่จำเป็นต้องใช้ พรก.ฉุกเฉินแล้วใช่ไหม ?
ถูกต้อง และ รัฐมนตรีกลาโหมเป็นประธานร่างกฎหมายฉบับนี้ ฉะนั้นคิดว่า น่าจะทำให้มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ได้ ซึ่งไม่ควรจะใช้เวลานาน ซึ่งตนได้ขอให้กลาโหมทำเรื่องตัวเลขที่ได้ขอไป เพราะเราไม่อยากใช้ความรู้สึก เราอยากใช้ข้อเท็จจริงมาประเมินดูว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้นแนวที่ให้ไปประมวลมา ทั้งเรื่องข้อกฎหมายที่ทับซ้อน คดีความ เหตุการณ์ จะช่วยให้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น โดยขอให้มารายงานก่อนที่จะมีการต่อพรก.ฉุกเฉินคราวหน้า และไม่อยากให้ขอกระชั้น เพราะ ครม.จะไม่มีทางเลือก
Q มั่นใจแค่ไหนที่เป็นพรรคประชาธิปัตย์แล้วมาจัดตั้งรัฐบาลจะคลี่คลายปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้มากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา ?
ตั้งใจ ที่จะคลี่คลายแต่ต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่ง และต้องการให้มีทิศทาง และความก้าวหน้าที่ชัดเจนโดยลำดับ เมื่อถามต่อว่า รัฐบาลกล้าที่จะกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการคลี่คลายปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าต้องระมัดระวังเรื่องการขีดเส้น อย่าลืมว่าปัญหาภาคใต้ที่หนักหน่วงขึ้นมา เพราะช่วงหนึ่งไปขัดเส้นว่า 6 เดือน เลยทำให้เจ้าหน้าที่ถูกกดดันโดยเส้นตาย และยิ่งไปปฏิบัติ ไปสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่
Q ทำอย่างไรจะรุกมากกว่าตั้งรับ ?
เชื่อว่ากระบวนการพัฒนาคือการรุก เพราะการรุกตรงนี้คือการรุกเข้าไปหามวลชน ก
Q การลงพื้นที่คาดหวังอะไรมากกว่าการรับฟังการบรรยายสรุป ?
จริงๆ เราจำเป็นต้องไปทำงานกับคนในพื้นที่ ฉะนั้นการรับฟังกับการแสดงเจตนาที่ชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่สุดแล้วเราต้องได้ใจประชาชนในพื้นที่ ถ้าได้ใจเขาก็ได้ความร่วมมือ ถ้าไม่ได้ใจไม่ได้ความร่วมมือของเขา ตนว่ายาก ทำได้ก็แค่ตึงสถานการณ์
Q รัฐบาลจะใช้แนวทางไหนดึงผู้ก่อความไม่สงบกลับใจมาอยู่ฝั่งรัฐบาล ?
ถ้า พื้นที่ที่นั้นสงบจะเป็นประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ เมื่อถามถึงแนวทางการเจรจากับผู้ก่อการร้าย นายกฯ กล่าวว่า คนที่ทำงานจะใช้การพูดคุยเป็นเรื่องปกติ
มติคณะรัฐมนตรี 13 มกราคม 2552 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะ รัฐมนตรีอนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ เพื่อ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและมาตรการ พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการ และการจัดตั้งงบประมาณ รวมทั้งกำกับดูแล เร่งรัด ติดตาม แก้ไขกฎระเบียบและลดขั้นตอนการปฏิบัติในพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
องค์ประกอบ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นางจุฑามาศ บาระมีชัย) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
อำนาจหน้าที่
1. กำหนดนโยบายและมาตรการ พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการ และการจัดตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส)
2. กำกับดูแล เร่งรัดติดตาม แก้ไขกฎระเบียบ และขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปตามนโยบายอย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ
3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อดำเนินการอื่นใดได้ตามความเหมาะสม
4. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
สำหรับ การเบิกจ่ายเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของคณะกรรมการรัฐมนตรี พัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ