Skip to main content

ศราวุฒิ อารีย์
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "มุสลิมอุษาคเนย์ศึกษา" (Muslim of Southeast Asia Monitoring Project) ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2552

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาชิกระดับแกนนำของกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต (National Revolutionary Front Co-ordination) ซึ่งอ้างตัวว่ามีส่วนอยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมุสลิมโลกอย่างอัล-ญะซีเราะห์ (Al-Jazeerah)

โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า "เป้าหมายหลักของเราไม่ใช่สงคราม แต่เราถูกบีบให้ต้องเดินเข้าไปทางนี้ เพราะหากปราศจากความรุนแรง ฝ่ายสยาม (ประเทศไทย) ก็จะยังไม่ยุติการเลือกปฏิบัติต่อชาวมลายูในภาคใต้"

นอกจากนั้นเขายังกล่าวอีกว่า กลุ่มของเขาพร้อมจะต่อสู้จนกว่าจะหมดลมหายใจเฮือกสุดท้าย เพื่อปลดปล่อยดินแดนชาวมุสลิมจากการเป็นอาณานิคมของไทย

ในรายงานข่าวเดียวกัน นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับอัล-ญะซีเราะห์เช่นกันเกี่ยวกับนโยบายปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยมีใจความตอนหนึ่งกล่าวว่า "รัฐบาลกำลังเร่งทำงาน โดยใช้วิธีเยียวยาความอยุติธรรมและความเจ็บแค้นในอดีตเป็นแนวทางการรุกคืบในพื้นที่"

นายกฯ กล่าวว่า "รัฐบาลของผมมีนโยบายชัดเจนว่ากุญแจที่จะนำไปสู่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือความยุติธรรม"

ข้อสังเกตประการหนึ่งจากเนื้อหาบางตอนที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้สัมภาษณ์กับอัล-ญะซีเราะห์ จะเห็นได้ว่า ฝ่ายผู้ก่อการอ้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงจากการกระทำของฝ่ายรัฐที่มีลักษณะความไม่เข้าใจและการเลือกปฏิบัติต่อชาวมลายูมุสลิมมาตลอด

ซึ่งเป็นประเด็นที่นายกฯอภิสิทธิ์เองก็ยอมรับว่าปัญหาภาคใต้ที่ลุกลามบานปลายอยู่ในขณะนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในพื้นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกกระทำมาตลอดในอดีตอันก่อให้เกิดความเจ็บแค้น

ดูเหมือนว่าทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ก่อการจะมองต้นเหตุแห่งปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน หากแต่มีแนวทางแก้ปัญหาต่างกัน เพราะฝ่ายผู้ก่อการมองว่าปัญหาได้ล่วงเลยเกินกว่าจุดที่จะมาประนีประนอมกันได้แล้ว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปลดปล่อยดินแดนของชาวมลายูออกจากประเทศไทย

ส่วนฝ่ายรัฐบาล (ที่ผู้เขียนมองผ่านคำสัมภาษณ์ของนายกฯ) มีนโยบายที่จะสร้างสันติภาพที่ถาวรขึ้น โดยการนำเอาความยุติธรรมมาให้กับชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แน่นอนว่าแนวทางแก้ปัญหาที่นายกฯได้นำเสนอผ่านอัล-ญะซีเราะห์จะได้รับการตอบรับอย่างเป็นสากลมากกว่าจุดยืนของฝ่ายผู้ก่อการ เพราะเป็นแนวทางที่ยอมรับความผิดพลาดในอดีตและพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

แต่จุดเริ่มต้นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขก็คือ การพิจารณาความผิดพลาดในอดีต โดยเฉพาะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ปัญหาภาคใต้อยู่ในการดูแลของพรรคประชาธิปัตย์เอง อันเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน

๐ ข้อผิดพลาดของประชาธิปัตย์ในอดีต

ในบทวิเคราะห์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เรื่อง "บทเรียนความผิดพลาดของพรรคประชาธิปัตย์กับไฟใต้" ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ พับลิกโพสต์ ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดของพรรคประชาธิปัตย์ในการบริหารจัดการปัญหาชายแดนภาคใต้ในอดีตอย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน

1.ข้อผิดพลาดในการบริหารความรู้สึกของมลายูมุสลิม เช่น การสร้างสมดุลประชากรโดยการเคลื่อนย้ายคนจากภาคอื่นๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐาน การเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน สถานที่หรือแม้แต่ชื่อคน จากภาษามลายูมาเป็นภาษาไทย การวางแผนครอบครัวโดยการคุมกำเนิด การควบคุมสถาบันปอเนาะ

มาตรการเหล่านี้ยังผลให้เกิดกระแสความไม่พอใจมานาน แต่ก็ถูกกดทับไว้ จนกระทั่งความไม่พอใจถูกแสดงออกมาอย่างเด่นชัดใน พ.ศ.2528 เมื่อมุสลิมสตูลลุกขึ้นประท้วงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการสมัยที่มีนายมารุต บุนนาค และนายสัมพันธ์ ทองสมัคร เป็นรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกคำสั่งให้ประดิษฐานพระพุทธรูปในสังกัดกระทรวงศึกษาทั่วประเทศ

การชุมนุมประท้วงครั้งนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่มุสลิมชายแดนใต้ลุกขึ้นรวมตัวกันแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมจากจังหวัดต่างๆ กว่า 3 หมื่นคน

อีก 3 ปีต่อมาในสมัยของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯคนเดิมก็เกิดเหตุประท้วงใหญ่ขึ้นอีกจากกรณีคำสั่งของวิทยาลัยครูยะลาที่ห้ามนักศึกษาหญิงคลุมศีรษะ (ฮิญาบ) เข้ามาในสถานศึกษา

ถึงแม้ว่าในตอนหลังกระทรวงศึกษาฯจะมีท่าทีผ่อนปรนโดยให้วิทยาลัยครูแต่ละแห่งกำหนดการแต่งกายของนักศึกษาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่ แต่ความไม่พอใจของชาวมลายูมุสลิมก็ขยายตัวออกไปจากการที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ นายไสว พัฒโน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์กรณีฮิญาบว่า ไม่เห็นด้วยกับกระทรวงศึกษาฯที่มีคำสั่งอนุโลมผ่อนปรน เพราะต้องว่ากันตามระเบียบวินัย คำพูดของนายไสวสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวมุสลิมทั่วไปเป็นอย่างมาก

2.การแก้ไขปัญหาที่มุ่งแต่การปราบปราม จากแนวทางในอดีต พรรคประชาธิปัตย์มักใช้แนวทางการทหารเพื่อปราบปรามขบวนการที่ถูกเรียกโดยรัฐว่าเป็นพวก "แบ่งแยกดินแดน" มาตลอด

ซึ่งเห็นได้จากนโยบายความมั่นคงของชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกฉบับ ตั้งแต่ พ.ศ.2521-2541 ซึ่งเน้นการปกป้องดินแดนและการรักษาอำนาจรัฐ ฉะนั้น แนวทางแก้ปัญหาตามกรอบนโยบายนี้จึงมุ่งแต่การปราบปราม ซึ่งเมื่อเอามาผนวกรวมเข้ากับนโยบายที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงทำให้ปัญหายิ่งเกิดความทับถมซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ความรุนแรงและการตอบโต้จึงเกิดขึ้นมาตลอด ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ยุคก่อนก็มิได้มองปัญหาไกลไปกว่าโจทย์ "การแย่งแยกดินแดน" อันทำให้รัฐบาลมองไม่เห็นประเด็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนที่มีอัตลักษณ์แตกต่าง ทั้งด้านชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดให้เห็นจากนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2542-2546 ซึ่งได้มีการเชิญผู้นำศาสนาและผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ จนได้รับการตอบรับในเชิงบวกมากขึ้นว่า หน่วยงานรัฐเริ่มเข้าใจปัญหาและรัฐบาลเริ่มทำในสิ่งที่ถูกต้องสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของมุสลิม

แต่กว่าที่พรรคประชาธิปัตย์จะเริ่มเข้าใจปัญหาก็เป็นช่วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังจะหมดอำนาจปกครองบ้านเมืองพอดี

3.ไม่ส่งเสริมการพัฒนาตามกรอบอิสลาม แม้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะกำหนดนโยบายที่เข้าใจมากขึ้น ซึ่งเป็นเสมือนยุทธศาสตร์สำคัญ แต่การปฏิบัติของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังก้าวไม่พ้นกรอบแนวคิดเดิมๆ นั่นคือ การเน้นความมั่นคงของรัฐและการทหารมากกว่าการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะโครงการพัฒนาที่สำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางผลิตอาหารฮาลาลโลก และ พ.ร.บ.ธนาคารอิสลาม ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกเสนอขึ้นมาตั้งแต่ยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่ก็ถูกเก็บดองไว้นานจนไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในยุคนั้น

การพัฒนาดังกล่าวกลับปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในรัฐบาลชุดต่อมาภายใต้การนำของอดีตพรรคไทยรักไทย

ฉะนั้น หากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลพวงจากการเตรียมบ่มเพาะปลูกฝังแนวคิดมายาวนานบนพื้นฐานการสร้างอคติต่อรัฐไทยในช่วงเวลาเหล่านี้ พรรคประชาธิปัตย์ทั้งในฐานะรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาลในยุคต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ควรมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

๐ ท่าทีของบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต VS อิสลาม

ในรายงานข่าวเดียวกัน แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตได้เปิดเผยกับอัล-ญะซีเราะห์ว่า "ศัตรูของเรามี 3 ประเภท สยามกับพันธมิตรของพวกเขา และอีกหนึ่งศัตรู ซึ่งเราไม่รู้จักเขามากนัก แต่พวกเขาทำตัวเป็นอุปสรรคต่อการปฏิวัติของเรา ดังนั้น เราต้องทำให้พวกเขาทราบว่า ในฐานะที่เป็นมุสลิม เขาจะต้องอยู่ฝ่ายเดียวกับเรา"

คำพูดของแกนนำผู้นี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่เฉพาะแต่ทางการไทยและกลุ่มบุคคลที่เป็นพันธมิตรทั้งหลายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนใต้เท่านั้นที่จะตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี แต่ยังรวมถึงชาวมุสลิมที่ทำงานให้กับฝ่ายรัฐอีกด้วย

ซึ่งสอดคล้องกับรายงานข่าวเดียวกันที่อัล-ญะซีเราะห์ได้อธิบายถึงวิธีการรุนแรงที่กลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตนำมาใช้ ทั้งการเข่นฆ่าพลเรือน การลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร และการกระหน่ำยิงร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาจนทำให้เจ้าของร้านเสียชีวิต

ชาวมุสลิมที่ทำงานเป็นครูหรือมีตำแหน่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐกลายเป็นเป้าหมายของการโจมจี บางรายถึงกับถูกตัดคอและเผาทั้งเป็น ทั้งหมดนี้ก็เป็นไปเพื่อกอบกู้เอกราชรัฐปัตตานีกลับคืนมาโดยที่จะไม่ประนีประนอมใดๆ ในเรื่องนี้ทั้งสิ้น

ท่าทีและการกระทำของกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตตามที่ถูกรายงานผ่านอัล-ญะซีเราะห์ (หากเป็นเรื่องจริง) อาจจะไม่ได้สร้างผลดีให้แก่กลุ่มเลย โดยเฉพาะในสายตาของโลกมุสลิม เพราะท่าทีและการกระทำดังกล่าวดูจะขัดกับหลักคำสอนของอิสลามว่าด้วยเรื่องการทำศึกสงครามอยู่หลายประการ ดังนี้

1.การทำสงครามของศาสนทูตมุฮัมมัดมีลักษณะพิเศษตรงที่ท่านมิได้สู้รบกับประชาชน แต่สู้กับผู้ที่บงการอยู่เบื้องหลัง ท่านไม่เคยเห็นชอบต่อการเข่นฆ่าผู้ที่ไม่ได้มีส่วนในการทำศึกสงคราม ท่านได้สั่งห้ามมิให้ฆ่าผู้หญิง คนชราและเด็ก ซึ่งไม่มีส่วนกับการทำศึกโดยตรง

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กฎในการทำสงครามของอิสลามห้ามมิให้มุสลิมเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงคราม

2.ในการทำศึกสงคราม ท่านศาสนทูตมุฮัมมัดจะคำนึงถึงเรื่องเกียรติยศศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง ท่านสั่งห้ามการตัดแขนตัดขาฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่การตัดศีรษะ บรรดาแม่ทัพในความบังคับบัญชาของท่านก็ไม่เคยตัดศีรษะหรือเผาฝ่ายศัตรูทั้งเป็น ถึงแม้ว่าฝ่ายศัตรูจะได้ทำเช่นนั้นก่อนก็ตาม

3.ยุติความเป็นปรปักษ์ทันทีเมื่ออีกฝ่ายโน้มเอียงสู่สันติภาพ

ประเด็นสุดท้าย จะเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของนายกฯอภิสิทธิ์ต่ออัล-ญะซีเราะห์ว่า "มันอาจเป็นจุดมุ่งหมาย (ของกลุ่มก่อความไม่สงบในการเรียกร้องรัฐเอกราช) แต่รัฐบาลของผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับการปฏิบัติที่ยุติธรรม นอกจากนั้นพวกเขายังจะได้รับโอกาสต่างๆ และเป็นกลุ่มคนที่มีคุณค่าในสายตาของรัฐบาล"

คำพูดดังกล่าวย่อมถือเป็นคำมั่นสัญญาและการโน้มเอียงสู่สันติภาพ อันเป็นความจำเป็นที่กลุ่มก่อความไม่สงบต้องให้เวลาแก่รัฐบาลในการพิสูจน์ความจริงใจในการแก้ปัญหา มิใช่จะยืนกรานต่อสู้จนกว่าลมหายใจเฮือกสุดท้ายจะหมดลงท่าเดียว ซึ่งผิดเป้าประสงค์ของการต่อสู้ตามกรอบของศาสนา

๐ บทส่งท้าย

จากรายงานข่าวของอัล-ญะซีเราะห์ (ซึ่งเป็นสำนักข่าวเกิดใหม่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับเชื่อถือในหมู่ประชาคมมุสลิมโลก) เกี่ยวกับท่าทีของสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตและนายกฯอภิสิทธิ์ในประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้โลกมุสลิมภายนอกเข้าใจมากขึ้นว่า ปัญหาภาคใต้เกิดจากความอยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติต่อชาวมลายูมุสลิมที่สืบเนื่องยาวนานมาตั้งแต่อดีต

แต่ท่าทีในการแก้ปัญหาปัจจุบันของฝ่ายบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตเป็นไปในลักษณะที่แข็งกร้าวไม่ยอมประนีประนอมอ่อนข้อใดๆ ทั้งสิ้น

ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีก่อความไม่สงบที่เกินเลยขอบเขตตามกรอบที่ศาสนากำหนด อันไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมมุสลิมโลกส่วนใหญ่

แต่แม้ว่าท่าทีของนายกฯอภิสิทธิ์จะโน้มเอียงสู่สันติภาพและให้คำมั่นที่จะนำความยุติธรรมมาให้กับชาวมลายูมุสลิม พร้อมทั้งสัญญาที่จะพัฒนาพื้นที่อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ประชาชน ตลอดจนการคำนึงถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ แต่นั่นก็เป็นเพียงคำพูดหรือแนวนโยบายกว้างๆ ที่ยังไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ต้องพิสูจน์ตัวเอง เริ่มต้นจากการนำเอาบทเรียนที่ผิดพลาดในอดีตมาทบทวนและปรับปรุงแก้ไข เพื่อมิให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจนเป็นการทำลายโอกาสของตนเอง และทำลายความหวังของประชาชนคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด