Skip to main content
 
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 

 

         เก็บความคิดจากเวทีเสวนา ‘สิทธิเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ’ จัดโดยโครงการวิชาการสาธารณะ กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ ณ โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ระหว่างแนวคิด ‘ความมั่นคง’ ที่มุ่งหมายปกป้องชีวิตและทรัพย์สินโดยรัฐกับความกังขาที่มาจิตวิญญาณแห่ง ‘สิทธิเสรีภาพ’ อันเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นมนุษย์ ประเด็นสำคัญที่ยังไม่ตกผลึกบนพื้นที่แห่งการที่ปะทะสังสรรค์กันอย่างร้อนแรง แบข้อมูลกันอีกครั้งเพื่อนำไปสู่การหาขอบเขตและความเหมาะสมว่าควรอยู่ตรงไหนกันแน่

         ความต่างของ 2 ชุดความคิดนี้นี่เอง ที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างตัวแทนของรัฐและบางส่วนของภาคประชาสังคมไม่สามารถหาจุดบรรจบได้โดยง่าย นี่อาจเป็นอีกหนึ่งแนวปะทะของความขัดแย้งทางความคิดที่ดำรงอยู่จริงในพื้นที่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้จึงขอฉายภาพความคิดจากพื้นที่จาก 2 มุมมองที่ยืนต่างที่ทางมานำเสนอเป็นตอนแรก

 

000

“รัฐบาลกล้าที่จะทำประชามติใน 3 จังหวัดว่าต้องการกฎหมาย (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) นี้หรือไม่? ...ประชาชนหวังศาลเป็นที่พึ่ง แต่กระบวนการของศาลต้องใช้เวลา กว่าจะได้รับความยุติธรรมจากศาลตัวเขา ครอบครัว ชุมชนก็สาหัสสากรรจ์มาก”

สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์
เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม

         ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนเกือบ 1,000 เรื่อง เรื่องถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพถูกร้องเรียนมากที่สุดภายใต้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ คือ กฎอัยการศึกซึ่งประกาศใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา กฎหมายพิเศษอีกฉบับคือพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ประกาศบังคับใช้เฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด การนำมาใช้กฎหมายพิเศษทั้งสองจั่วหัวมาเลยว่า จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้เมื่อมีสถานการณ์ไม่ปกติซึ่งเป็นความจำเป็นจริงแต่ก็หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิและปฏิบัตินอกกรอบเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ

         อีกประการหนึ่ง การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่ยังไม่เคยมีการตรวจสอบ ผมหมายถึงองค์กรอิสระที่สามารถทำการตรวจสอบได้ ศูนย์ทนายความมุสลิมไม่พบว่ามีคดีที่เจ้าหน้ารัฐถูกอัยการฟ้องร้องในข้อหาละเมิดสิทธิสักคดี แต่กว่า 400 คดีที่ศูนย์ทนายความฯทำอยู่เป็นคดีที่ประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดีผ่านกฎหมายทั้งสองเกือบทั้งหมด ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของกฎหมายถ้าปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและตรวจสอบน่าจะเกิดผลดี แต่ปัจจุบันสถานการณ์ก็ยังไม่คลี่คลาย แม้จำนวนสถานการณ์จะลดลงแต่กลับมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและช็อกคนทั้งประเทศมากขึ้น

          กฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าหากมีความจำเป็นที่จะต้องทำการสอบปากคำสามารถใช้กฎอัยการศึกกักตัวผู้สงสัยเพื่อตรวจสอบไม่เกิน 7 วันได้ กฎหมายใช้คำว่า ‘กักตัว’ไม่ใช่ ‘จับกุม’ เมื่อใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและใช้คำว่า ‘กักตัว’ สิทธิของผู้ถูกจับกุมตาม ป. วิอาญาที่สามารถการพบทนายหรือพบญาติสองต่อสองจึงไม่มี สิทธินี้เขาถูกลิดรอนสิทธิไปแล้วและปราศจากองค์กรอิสระในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่

          ขั้นตอนต่อมาหลังจาก 7 วันจะผ่านกรรมวิธีของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยจะจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร อาจจะมีการซัดทอดหรือสารภาพ จากกระบวนการตรงนี้จะนำส่งสู่พนักงานสอบสวนในการออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยศาล เมื่อศาลออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่จะมีสิทธิควบคุมตัวได้อีก 7 วัน แต่การออกหมายจับของศาลก็พบปัญหาในการตรวจสอบอย่างยิ่ง ทั้งนี้ หากเป็นการออกหมายจับตามปกติ ประธานศาลฎีกาจะมีแนวปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่พิจารณาการออกหมายจับ แต่การออกหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประธานศาลฎีกาไม่ได้ออกแนวปฏิบัติ แต่ให้แต่ละศาลวางแนวปฏิบัติเอง

          ในการควบคุม 7 วัน จะเรียกว่าผู้ที่ถูกจับว่าเป็น “ผู้ต้องหา” ไม่ได้ แต่จะต้องเรียกว่า “ผู้ถูกจับ” ตามมาตรา 7/1 ตาม ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ซึ่งต้องมีสิทธิพบทนายเช่นกัน แต่ปรากฏว่า สมัยแรกๆ เคยมีแนวปฏิบัติของ กอ.รมน.ภาคที่ 4 ระบุว่าห้ามเยี่ยมเป็นเวลา 3 วัน ในขณะที่บอกว่าเขาเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย ไม่ใช่ผู้ต้องหา ไม่ใช่นักโทษ สิทธิเขากลับด้อยกว่า “ผู้ต้องหา” ด้วยซ้ำ ต่อมาเมื่อมีการเรียกร้อง ปัจจุบันปลดแนวปฏิบัติห้ามเยี่ยม 3 วันออกแล้ว

          หลังจากควบคุมตัว 7 วัน คนเหล่านี้จะถูกนำไปสู่กระบวนการซักถาม เราพบว่ามีการนำตัวไปไว้ในสถานที่ นอกเหนือจากหมายจับ และหากคุมตัวต่อต้องยื่นต่อศาลเพื่อควบคุมตัวต่ออีกครั้งละ 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ใน ป.วิอาญาต้องนำตัวผู้ต้องหาไปที่ศาล แม้ศาลไม่ได้เบิกไปหน้าศาลเพื่อคัดค้านการควบคุมตัว แต่ผู้ต้องหาสามารถคัดค้านผ่านวิดิโอคอนเฟรอเรนซ์ใต้ถุนศาลได้ ทว่าการขอคุมตัวต่อตามกฎหมายพิเศษไม่จำเป็นต้องนำตัวผู้ต้องสงสัยไปที่ศาล ดังนั้นเขาจะโดนอะไรบ้างหรือไม่ ศาลก้ไม่มีวันได้รู้

          หากเจ้าหน้าที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลก็จะละเลยทางปฏิบัติตามกฎหมายพิเศษอย่างเคร่งครัด อย่างเช่นในกรณีขอให้ขยายระยะเวลาการควบคุมตัว 7 วัน ศาลระบุว่าต้องรายงานการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมต่อศาลทุกครั้งแต่ยังไม่เคยเจอ เจตนารมณ์ ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่แท้จริงคือการสร้างโอกาส สร้างความเป็นมิตร สร้างความโอบอ้อมอารีต่อผู้ที่ถูกเชิญตัวมา ดังนั้นต้องเปลี่ยนทัศนคติไม่ใช่ควบคุมตัวเพื่อซักถาม หรือเพื่อฟ้องเขาเป็นจำเลยในก่อการร้าย ซ่องโจร ในขณะที่ขั้นตอนการซักถามก็หมดสิทธิ์ในการมีผู้ไว้วางใจเคียงข้าง

          ในกฎหมาย ป.วิอาญา ระบุว่าผู้ต้องหาที่มีโทษจำคุกสูงกว่ากว่า 10 ปีขึ้นไปต้องมีทนาย แต่สิ่งที่พบใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือกระบวนการซักถามแบบนี้ไม่มีโอกาสที่จะมีทนายเคียงข้าง และกฎหมายก็ไม่ได้มีเจตนารมณ์เพื่อเปลี่ยนทัศนคติ แต่เป็นการสร้างหลักฐานผูกมัดเพื่อฟ้องต่อศาล แต่ปรากฏว่า 70 % ศาลพิพากษายกฟ้อง ถึงยกฟ้องคดีหนึ่งๆ เรื่องจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี คนที่ตกเป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายมีโอกาสประกันตัวน้อยมาก ถ้ารวมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาด้วยแล้วใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี แม้ว่าคดีจะถูกยกฟ้องไปแล้ว แต่อิสรภาพยังคงถูกจองจำ ผมจึงขอเรียกร้องให้ตั้งองค์กรอิสระตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่

          การจะขอขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกครั้งละสามเดือน รัฐบาลเคยฟังประชาชนว่าเขาต้องการจริงหรือไม่? กฎหมายนี้มีประโยชน์จริงหรือและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษและริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเคร่งครัดหรือไม่ รัฐบาลกล้าที่จะทำประชามติใน 3 จังหวัดว่าต้องการกฎหมายนี้หรือไม่ สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ไม่ปกติ ประชาชนหวังศาลเป็นที่พึ่ง แต่กระบวนการของศาลต้องใช้เวลา กว่าจะได้รับความยุติธรรมจากศาลตัวเขา ครอบครัว ชุมชนก็สาหัสสากรรจ์มาก

000

“เมื่อพูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน หนีไม่พ้นต้องพูดถึงกฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ ขอเน้นว่าปัจจุบันเราไม่ได้สู้กับโจรผู้ร้ายทั่วไป แต่กำลังต่อสู้กับขบวนการที่มีการจัดตั้ง อำพราง ปกปิด มีเป้าหมายชัดเจน คือปลดปล่อยรัฐปาตานี”

พล.ต.สุภัช วิชิตการ
รองผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร

          อยากเล่าความเป็นจริงของสถานการณ์ก่อน ความเป็นจริงของโรคร้ายที่เกาะกินในพื้นที่คืออะไร เพราะถ้ารู้ปัญหาจะหาทางเดินร่วมกันได้โดยทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

          ในเอกสารของนักวิชาการอาจบอกว่าปัญหามาจากเงื่อนไขทางโครงสร้างบ้าง วัฒนธรรมบ้าง การเมือง การปกครองบ้าง หรือไม่ก็เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา และยาเสพติด แต่จริงๆ แล้วที่ฝ่ายความมั่นคงได้ข้อมูลมากมายจากการมอบตัวหรือจับกุม พบว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นตัวกลางของปัญหาทั้งหมด แต่มีเงื่อนไขอย่างอื่นเป็นตัวเร่ง

          ในขั้นต้น ขบวนการต่อสู้เริ่มมีการต่อต้านจากผู้นำในอดีตที่สูญเสียสถานะปกครองต่อมาลงสู่มวลชนในเรื่องศาสนาโดยใช้เงื่อนไขเชื้อชาติสร้างเอกลักษณ์มลายู ในทางประวัติศาสตร์พื้นบ้าน เขาพยายามเล่าความเป็นมาของรัฐปัตตานี ด้านศาสนาก็มีการเบนข้อเท็จจริงตามคำสอน พยายามรวบยอดคำว่ามลายูคือมุสลิมเท่านั้น แต่ถามว่าเป็นไปได้หรือเป็นเพียงเพื่อหลอกผู้นำศาสนา ผู้นำจิตวิญญาณให้เห็นว่าการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ของคนมุสลิม เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ เป็นวาญิบที่ต้องร่วมทำ

          จากหลักฐานที่ได้จากการตรวจยึดพบว่ามีแนวปฏิวัติ 7 ขั้นตอนเพื่อแบ่งแยกรัฐปัตตานีโดยการทำสงครามประชาชน สร้างเงื่อนไขทางศาสนาของคนต่างศาสนิก แพร่มลทินต่อเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความกลัวเพื่อคุมประชาชนในพื้นที่ ยุให้รัฐใช้การตอบโต้ ซึ่งขบวนการนี้เป็นองค์กรลับคือ BRN มีโครงสร้างระดับบนเรียกว่า ‘สภาองค์กรนำ’ มีโครงสร้างที่สองคือองค์กรมวลชนทำงานทางการเมืองทับซ้อนอำนาจรัฐ คือ มีองค์กรตั้งแต่ระดับหมู่บ้านอย่างอาเยาะจัดตั้งซ้อนขึ้น รวมไปถึงมีกำนัน มีผู้ว่าของเขา แต่ที่สำคัญที่สุดคือระดับหมู่บ้านและมีโครงสร้างที่มีอูลามะทำเรื่องเกี่ยวกับศาสนา มีฝ่ายเศรษฐกิจ มีเด็กๆ เป็นเปอร์มูดอหรือ มี RKK ในหมู่บ้าน

          โครงสร้างกองกำลังติดอาวุธ ส่วนแรกคือ RKK คือกองกำลังประจำถิ่น จะปฏิบัติการเฉพาะในเขตหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีคอมมานโดที่สามารถปฏิบัติานข้ามเขตได้

          การจัดตั้งกองกำลังเหล่านี้จะมาจากการบ่มเพาะจากเด็กเล็กตั้งแต่ตาดีกา ปอเนาะ สถานศึกษา เยาวชนที่เรียนดีๆ จะถูกฝ่ายตรงข้ามเกณฑ์ตัวแบบไดเร็กเซลล์เหมือนขายแอมเวย์ จะเรียกมาทีละคนสองคนมาคุยกันแล้วเล่าประวัติศาสตร์สยามรุกรานปัตตานีให้ฟัง เล่าทุกวัน เด็กหนุ่มๆ ที่จะมีอนาคตถูกขบวนการหลอกล่อเข้าไปเป็นที่น่าเสียดาย ผมโทษขบวนการที่ทำสงครามประชาชนโดยใช้เด็กเป็นเครื่องมือ ทำได้อย่างไร อนาคตของเด็กหายไปหมด เด็กคนหนึ่งถูกหลอกให้โปรยเรือใบแค่ครั้งเดียวก็บอกว่าตำรวจจ้องแล้ว มีหมายแล้ว ต้องทำงานให้ต่อไป เมื่อเข้าไปแล้วถอยไม่ได้และลึกเข้าไปทุกทีก็เป็นวงจรขึ้นมา

          ยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างไร ขบวนการรู้ว่าใช้ยุทธวิวิธีรบชนะรัฐไม่ได้ ยุทธศาสตร์เขาคือใช้การสร้างสถานการณ์ให้เจ้าหน้าที่โต้ตอบ เมื่อเกิดความรุนแรงก็ยกระดับสู่สากล ให้องค์กรต่างประเทศมาแทรกแซงและมีรัฐใหม่เป็นจุดสุดท้าย

          ยุทธวิธีทางการเมือง เขาทำตามแผนบันได 7 ขั้น คือพยายามสร้างจิตสำนึกของเชื้อชาติมลายูบนเงื่อนไขของประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดและนำศาสนามาผลักดันในการต่อสู้ อีกแง่หนึ่งคือจัดตั้งมวลชน บ่มเพาะตามสถานศึกษาและพยายามตั้งองค์กรลับให้ได้ โดยจะส่งคนแทรกแซงไปในเป็นชมรม สหกรณ์ต่างๆ รวมทั้งสร้างแนวร่วม พันธมิตรกับองค์กรต่างๆระดับประเทศ

          ยุทธศาสตร์ทางทหารทำอย่างไร? จะมีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ ใช้สงครามกองโจรที่รบในป่าภูเขาและการก่อการร้ายที่ใช้คนเพียงคนเดียวหรือสองคนก็ก่อเหตุได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วงานการเมืองคือชัยชนะ งานทหารทำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองตามลำดับขั้นเท่านั้น คือทำให้ประชาชนในพื้นที่กลัว เกิดความขาดศรัทธาในรัฐ โดดเดี่ยวรัฐเพื่อให้ประชาชนหักเหเอาใจออกห่าง เขาไม่หวังชนะทางทหาร แต่สงครามที่ทำคือสงครามประชาชนเหมือนเหมาเจ๋อตุงโดยเปลี่ยนการต่อสู่จากเขตป่าภูเขามาเขตเมือง เมื่อเปลี่ยนมาเขตเมืองประชาชนจึงได้รับผลกระทบ ประชาชนจึงเป็นเครื่องมือหรือเป็นฐานสงครามโดยหลอกว่าเป็นการต่อสู้เพื่อพวกพ้อง ประชาชนจะรู้สึกมีส่วนในการทำสงคราม แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะมีผลกระทบจากสงครามเหมือนการสาดน้ำต้องมีคนเปียก สถิติตั้งแต่ พ.ศ.2547- มี.ค. 51 เสียชีวิต 3,378 คน บาดเจ็บ 5,900 คน

          สำหรับการปฏิบัติการของฝ่ายทหาร ที่ส่งกำลังมามากไม่ได้มาปราบ แต่เข้ามาจำกัดขอบเขตของสถานการณ์ไม่ให้ขยายวงออกไป จุดมุ่งหมายจริงๆ ผู้บังคับบัญชาสั่งว่า “พี่น้องทั้งหลาย สูเจ้าที่เข้าไป 3 จังหวัดภาคใต้เพื่อเข้าไปดู รักษาความปลอดภัยพี่น้องประชาชนที่มีถึง 1.9 ล้านคนให้อยู่ดีมีสุขให้ได้ และเพื่อเปิดทางให้หน่วยราชการที่ทำงานในมิติการพัฒนาเข้าไปทำงานได้”

           แต่เมื่อพูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนหนีไม่พ้นต้องพูดถึงกฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ ขอเน้นว่าปัจจุบันเราไม่ได้สู้กับโจรผู้ร้ายทั่วไป แต่กำลังต่อสู้กับขบวนการที่มีการจัดตั้ง อำพราง ปกปิด มีเป้าหมายชัดเจน คือ ปลดปล่อยรัฐปัตตานี หลังการปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 (4 ม.ค. 2547 ) ได้มีประกาศกฎอัยการศึก ต่อมา 20 ก.ค. 2548 นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎหมายที่นำมาใช้ในพื้นที่แน่นอนว่ากระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนบางประการ บางคนเห็นว่าให้อำนาจรัฐมากและเบ็ดเสร็จเกินความจำเป็น แต่เราพยายามหาทางแก้ไข ลดความระแวง ให้ประชาชนเข้าใจ ประชาสังคมเรียนรู้ ดำเนินการอย่างโปร่งใสเชิญตัวให้กำนันผู้ใหญ่บ้านรับรู้ ญาติติดต่อดูแลได้ตั้งแต่วันแรกที่ควบคุมตัว ประเด็นที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ผิดต้องรับโทษทางวินัยและมีคดีให้เห็นเป็นตัวอย่าง

          กฎอัยการศึกประกาศใช้มาก่อนที่หาดใหญ่ และสงขลา หลังการระเบิดซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจมาก และมีการให้ข้อมูลว่ามีเขตงานขยายไปที่สะบ้าย้อย เทพา นาทวี กฎอัยการศึกให้อำนาจทหารล้นฟ้าถ้าใช้ครบ แต่เราใช้อำนาจจริงๆ ไม่กี่ข้อ คือเชิญตัว ตรวจค้น และควบคุมการออกนอกสถานที่ที่ยะหาและบันนังสตาร์เท่านั้น แต่ไม่มีผลทางศาสนาหรือการทำกิจวัตรคือใช้กฎหมายอย่างอะลุ่มอล่วย ผู้ครองบางคนบอกว่าดี สามทุ่มกลับบ้านจะได้ไม่ไปมั่วสุม

          ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีหัวใจที่เป็นข้อกังวลคือการควบคุมตัว 30 วัน ความจริงการคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเป็นหน่วยซักถามเพื่อค้นหาความเกี่ยวพันทางโครงสร้างไม่ใช่หน่วยดำเนินคดีทางกฎหมาย ระหว่าง 30 วันจะมีครูสอนศาสนามาสอนคำถอนที่ถูกต้อง มาถอนสาบาน สร้างความคิด ความเชื่อ ปรับทัศนคติ เราถือว่ามีประโยชน์มาก ไม่ทำอะไรผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิแต่พัฒนาความเข้าใจ ได้ประโยชน์ในการทราบเครือข่าย หลายคนที่เข้าระบบการกล่อมเกลาทางสังคมกลับไปยุติการเคลื่อนไหว

โปรดติดตามตอนจบ
สิทธิเสรีภาพในสถานการณ์ไม่ปกติ [จบ] : ทัศนะวิชาการต่อปัญหา ‘สิทธิเสรีภาพ’ กับ ‘ความมั่นคง’