ไชยยงค์ มณีพิลึก
ถ้าติดตามเหตุการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด จะพบว่าในห้วงของเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมา เหตุการณ์การก่อวินาศกรรมโดยการวางระเบิด มีจำนวนลดน้อยลงกว่าในห้วงเดือนมกราคา-กุมภาพันธ์ เหตุผลที่การใช้ระเบิดในการก่อวินาศกรรมสถานที่และลอบโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐลดลงน่าจะมาจาก 2 สาเหตุด้วยกัน คือ
1. “สายข่าว” ของเจ้าหน้าที่รัฐ ในพื้นที่อิทธิพลของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามารถหาข่าวในเชิงลึกถึงความเคลื่อนไหวของแนวร่วมได้อย่าง “เข้าถึง” กว่ากว่าที่ผ่านมาและชาวบ้านในพื้นที่เริ่มให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น เนื่องจากแนวร่วมระดับปฏิบัติการที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ในหมู่บ้านที่คุกคามข่มขู่ประชาชนได้หลบออกจากพื้นที่ หลังจากที่กำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ในหมู่บ้านเหล่านั้นได้มากขึ้น
2. “แนวร่วม” ระดับปฏิบัติการรุ่นใหม่ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่มีบัญชีรายชื่อซึ่งถูกส่งเข้ามาทดแทนคนเก่าที่ต้องหลบออกจากพื้นที่ยังไม่มีขีดความสามารถในการก่อวินาศกรรมได้ดี สังเกตได้ถึงความ “ล้มเหลว” ในการก่อวินาศกรรมหลายต่อหลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่สามารถตรวจพบระเบิดได้ก่อนที่จะระเบิด รวมทั้งระเบิดหลายครั้ง “ด้าน” และหลายครั้งพลาดเป้าหมาย
3. “เม็ดเงิน” ที่ กอ.รมน. ใช้ “หว่าน” ลงไปในพื้นที่อิทธิพล 217 หมู่บ้านจำนวนมหาศาลสู่บุคคลทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และลูกจ้าง “สี่พันห้า” เริ่มออกฤทธิ์ในทางบวกมากขึ้น จำนวนความถี่ของการก่อความไม่สงบโดยการก่อวินาศกรรมจึงลดน้อยลง
แต่ในขณะเดียวกันจะพบว่าการก่อเหตุด้วยการใช้อาวุธปืนต่อ “บุคคล” กลับเกิดขึ้นมากกว่าปกติ “เหยื่อ” ของสถานการณ์ยังเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำท้องถิ่น และ “สายข่าว” กับ “แกนนำ” และ ”แนวร่วม” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เป็นหลัก สำหรับเหตุผลของสาเหตุที่มีคนตายโดยการลอบยิงและการประกบยิงหรือยิงถล่มรถยนต์ อาจเป็นเพราะ หนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐลงมือต่อ “แกนนำ” และ ”แนวร่วม” สอง “แนวร่วม” ลงมือต่อเจ้าหน้าที่รัฐและ “สายข่าว” ที่เป็นประชาชนในพื้นที่ เรียกว่าเป็นการ “ฆ่ากันไป ฆ่ากันมา” ระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับเจ้าหน้าที่
และนี่คือ “ปัญหาใหม่” ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการดับ “ไฟใต้” ในอนาคต เพราะเหตุร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัญหาอาชญากร ปล้น ฆ่า หรือประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน แต่เป็น “อาชญากรการเมือง” ที่ไม่สามารถยุติได้ด้วยการลดจำนวนผู้ทำผิดเหมือนอาชญากรทั่วไป เพราะระบบที่ทำให้ “แกนนำ” และ “แนวร่วม” หายไป โดยเชื่อว่าจะทำให้จำนวนคนในขบวนการลดลงนั้นเป็นการเข้าใจผิด เพราะแทนที่จำนวนคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนลดลง ยิ่งจะทำให้เพิ่มมากขึ้นและยิ่งเป็นการเติม “เชื้อ” ให้ “ไฟแค้น” ในใจของคนกลุ่มหนึ่งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังเห็นชัดว่าเรากำลัง “ละเลย” ที่จะยุติปัญหาความรุนแรงด้วย “กระบวนการยุติธรรม” อย่างที่พูดกัน
เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่มีคนถูกยิงถล่มที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นที่ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส คนในพื้นที่ต่างรู้กันหมดว่า “เหยื่อ” เป็นใคร และใครเป็นผู้ลงมือปลิดชีพ ยกเว้นคนนอกพื้นที่เท่านั้นที่ไม่ทราบ ซึ่งโดยข้อเท็จจริง หากกลุ่มผู้หลงผิดเหล่านั้นยังมีหนทางเยียวยา ให้หลุดพ้นจากการหลงผิดได้และเป็นสิ่งที่ควรทำ หรือการใช้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการกับคนเหล่านั้น น่าจะเป็นการที่ถูกต้องมากกว่า ส่วนวิธีการใช้กฎหมายเถื่อนควรจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการแก้ปัญหา
เช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกเอาเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาพิจารณาใหม่ โดยสั่งการให้นายถาวร เสนเนียม มท.3 เป็นผู้ศึกษาให้รอบด้านเพื่อที่จะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในอีก 2 เดือนข้างหน้า เพราะเรื่องนี้เป็น “เงื่อนไข” หนึ่ง ที่มีคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยและต้องการให้ยกเลิก
เรื่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหารและตำรวจ ในการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องสงสัย โดยไม่ต้องหาหลักฐานพยานและขอหมายศาลในการจับกุม ซึ่งวิธีการนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจจะเป็นผลเสียกับประชาชน ซึ่งอาจถูกกลั่นแกล้ง และการใช้วิธีการ “เหวี่ยงแห” ซึ่งเป็นวิธีการที่เจ้าหน้าที่ชอบใช้ในการแก้ปัญหา และมีผู้ร้องเรียนกันมากจึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังกล่าวข้างต้น
แต่ผลดีของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือสามารถทำให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยไปสอบสวน เพื่อหาข้อเท็จจริงเพื่อเชื่อมโยงไปยังบุคคลอื่นๆ ที่ร่วมขบวนการ ซึ่งหลายครั้งนำมาซึ่งการตรวจค้น จับกุม ได้มาซึ่งสิ่งของที่เกี่ยวข้องและบุคคลที่อยู่ในขบวนการ
การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุนเฉิน จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะสำหรับคนไทยพุทธในพื้นที่นั้น ย่อมมีความเห็นที่จะให้รัฐคง พ.ร.ก.ฉุนเฉินเอาไว้เพราะไม่มีผลกระทบต่อพวกเขา ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่สามจังหวัด ซึ่งเป็น “มุสลิม” ซึ่งเป็นกลุ่มที่เห็นว่ามีผลกระทบ ย่อมต้องการให้รัฐยกเลิก พ.ร.ก.ฉุนเฉินโดยเร็ว เพียงแต่ไม่กล้าพูดเสียงดังเพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากเจ้าหน้าที่รัฐ
จึงเป็นไปได้ที่หากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะหาคะแนนเสียงกับชาว “มุสลิม” โดยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และนำเอา พ.ร.ก. ความมั่นคง มาใช้แทนในพื้นที่แห่งความขัดแย้ง เพราะโดยข้อเท็จจริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตำรวจสามารถกฎหมายอาญา หรือ ป.วิอาญา ในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิด หรือหากมีสถานการณ์ร้ายแรง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ก็มีอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เช่นกัน แต่ถ้า กอ.รมน. ภาค 4 และรัฐบาลมั่นใจว่าสถานการณ์ดีขึ้น นโยบายของ กอ.รมน.และ ศอ.บต. เดินมาถูกทางแล้ว การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นการดีต่อทั้งภาพลักษณ์ของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่และภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย
แต่ถ้า กอ.รมน.และรัฐบาลเชื่อในข้อมูลลับหรือข้อมูลเชิงลึกที่หน่วยข่าวความมั่นคงหลายหน่วยงานรายงานให้ทราบว่า สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัด 4 อำเภอ ยังไม่คลี่คลาย เพียงแต่อยู่ระหว่างที่ฝ่ายตรงข้ามปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อปฏิบัติการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐที่รุกคืบเข้าแย่งชิงพื้นที่อิทธิพลของฝ่ายตน โดยมีการรายงานว่าจะมีการก่อความไม่สงบขึ้น ก่อนถึงวันที่ 22-23 พ.ค.นี้ ซึ่งมีการประชุมโอไอซีหรือองค์กรอิสลามโลกที่ประเทศซีเรีย เพื่อให้ประเทศที่เข้าประชุมให้การสนับสนุนขบวนการในการต่อสู่กับอำนาจรัฐหรือรวมทั้งข่าวของ อดีตทหารกองกำลังอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 20,000 คน ที่บางส่วนถูกชักจูงเข้าเป็น “แนวร่วม” ของขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแม้กระทั่งข่าว การเจรจาระหว่าง “แกนนำ” บีอาร์อ็นฯ กับกองกำลังขบวนการอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ร่วมมือกันในการสร้างความไม่สงบให้เกิดขึ้น
ถ้าข่าวระดับนี้เป็นเรื่องจริง การที่รัฐบาลจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย่อมเป็นการเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่อาจะรุนแรงขึ้นและในทางกลับกัน ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าข่าวที่ออกมาในครั้งนี้ เป็นข่าว “ปล่อย” เพื่อที่จะไม่ให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่
ข้อมูลทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจทั้งในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือการผลักดันให้ ศอ.บต. เป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของ กอ.รมน. เพื่อให้ ศอ.บต. มีศักยภาพในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้ารัฐบาลตัดสินใจถูกต้องบนพื้นที่ของข้อเท็จจริง และยึดหลักที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ย่อมเกิดผลดีทั้งกับประชาชน ประเทศชาติ และพรรคประชาธิปัตย์เองด้วย