เมธัส อนุวัตรอุดม
นักวิชาการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
ในระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ 1 หรือที่มีชื่อเล่นว่า “4ส.” ประจำสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า จำนวน 26 คน ได้เดินทางไปศึกษากรณีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาตินิยม (Nationalist) ต่อต้านรัฐกับรัฐบาลอังกฤษ ณ กรุงเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ สหราชอาณาจักร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้แนวคิดและประสบการณ์ในการแก้ไขความขัดแย้งไอร์แลนด์เหนือของผู้ที่เกี่ยวข้อง และนำมาประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ไอร์แลนด์เหนือเขาขัดแย้งกันเรื่องอะไร?
ความขัดแย้งที่ไอร์แลนด์เหนือเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาตินิยม (Nationalist) ซึ่งนับถือคริสต์นิกายคาทอลิกและมีกองกำลังติดอาวุธที่รู้จักกันทั่วโลกในนาม Irish Republican Army (IRA) กับกลุ่มสหภาพนิยม (Unionist) และรัฐบาลอังกฤษซึ่งนับถือคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์
โดยที่ฝ่ายแรกต้องการที่จะแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลอังกฤษ ในขณะที่ฝ่ายหลังก็ยืนยันว่าไอร์แลนด์เหนือถือเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ซึ่งการปะทะกันรุนแรงระหว่างทั้งสองฝ่ายนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี
ตัวแสดง |
จุดยืน (Position) |
จุดสนใจ (Interest) |
วิธีการ |
รัฐบาลอังกฤษ |
ไอร์แลนด์เหนือเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร |
อำนาจอธิปไตย/ การเคารพเสียงส่วนใหญ่/ สันติภาพในประเทศ |
การใช้กำลังทหาร/ การพูดคุยสันติภาพ/ การเจรจา |
กลุ่ม Loyalist/ Unionist (โปรเตสแตนท์) |
ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอังกฤษต่อไป |
ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยหากตนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ |
กองกำลังติดอาวุธ/ การพูดคุยสันติภาพ/ การเจรจา |
กลุ่ม Nationalist (คาทอลิก) (IRA/ Sinn Fein) |
ต้องการแยกตัวจากรัฐบาลอังกฤษเพื่อไปอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลไอร์แลนด์ |
ความเป็นธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม/ ความภาคภูมิใจใน อัตลักษณ์ของตน/ ความกลัวที่จะสูญเสียเสรีภาพในการนับถือศาสนาหากไปขึ้นกับอังกฤษเนื่องจากเป็นเสียงส่วนน้อยในพื้นที่ |
กองกำลังติดอาวุธ/ การพูดคุยสันติภาพ/ การเจรจา |
ในที่สุดเมื่อปี 1998 ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลง “Good Friday Agreement” ที่รัฐบาลอังกฤษตกลงที่จะถ่ายโอนอำนาจ (Devolution) ให้แก่คณะผู้บริหารไอร์แลนด์เหนือเพื่อให้ฝ่ายชาตินิยมมีอิสระในการปกครองตนเอง และแก้ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองภายในไอร์แลนด์เหนือด้วยหลักการแบ่งอำนาจ (Power Sharing) ที่ให้ผู้นำของพรรคการเมืองสองขั้วเข้ามาบริหารไอร์แลนด์เหนือ
ทำไมต้องไอร์แลนด์เหนือ?
ความขัดแย้งกรณีไอร์แลนด์เหนือเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาตินิยมไอริชต่อต้านรัฐกับกลุ่มสหภาพนิยม รวมถึงรัฐบาลอังกฤษ ที่สืบเนื่องมาจากกลุ่มชาตินิยมถูกกดขี่กีดกันจากกลุ่มสหภาพนิยม และไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมจากรัฐบาลอังกฤษ ทั้งในเรื่องของการจัดสรรที่อยู่อาศัย การจ้างงาน การศึกษา การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆในสังคม ตลอดจนการมีส่วนร่วมทางการเมือง และเกิดความกังวลว่าอัตลักษณ์ของตนจะถูกกลืนหายไปกับของอีกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการนับถือและประกอบกิจกรรมทางศาสนาที่มีนิกายต่างกัน
สาเหตุรากเหง้าที่กล่าวมานี้มีความคล้ายคลึงกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนอกจากสาเหตุจะมีความใกล้เคียงกันแล้ว วิธีการที่ใช้ก็ยังมีความคล้ายคลึงกันด้วย กล่าวคือเป็นการใช้ความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะใช้เพื่อล้อมปราบกลุ่มต่อต้านรัฐ หรือใช้เพื่อเรียกร้องสิ่งที่กลุ่มตนต้องการโดยการฆ่าผู้บริสุทธิ์
การไปเรียนรู้ถึงสาเหตุรากเหง้าของปัญหา ตลอดจนวิธีการที่ทั้งสองฝ่ายใช้ในการแก้ไขความขัดแย้ง ไม่ว่าจะด้วยความรุนแรงในอดีตซึ่งก่อให้เกิดวงจรแห่งความเกลียดแค้น หรือด้วยสันติวิธีซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงประวัติศาสตร์ ย่อมมีคุณค่าต่อการหันมามองย้อนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้บ้านเราว่าเขาดีกันได้อย่างไรที่ไอร์แลนด์เหนือ
อะไรเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้?
1. รัฐบาลอังกฤษเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่กลุ่มต่อต้านรัฐมากขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ต้องการมีอิสระในการปกครองตนเองหรือมีอุดมการณ์ต่อต้านรัฐ (ซึ่งมีพรรคหลักคือพรรคชินเฟน -Sinn Fein) สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยสันติวิธีได้อย่างเสรี ไม่ปิดกั้น ซึ่งทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐที่ใช้ความรุนแรงเริ่มถูกโดดเดี่ยว และหามวลชนมาร่วมยากขึ้น เนื่องจากประชาชนก็มองว่าทางรัฐบาลเขาเปิดพื้นที่ให้เรียกร้องความต้องการทางอื่นด้วยสันติวิธีแล้ว เหตุใดจึงต้องมาใช้ความรุนแรงทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์และทำลายเศรษฐกิจของประเทศด้วย ด้วยการนี้ ทำให้สมาชิกจากกลุ่มต่อต้านรัฐเริ่มหันมาใช้สันติวิธีในการต่อสู้เรียกร้องแทนมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ต่อต้านรัฐเหล่านี้บางส่วนก็ยังมิได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเขาตระหนักแล้วว่าความรุนแรงไม่ได้ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย แต่การใช้สันติวิธีกลับจะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า
2. นอกจากเปิดพื้นที่ทางการเมืองแล้ว กลุ่มนักวิชาการไอริชและอังกฤษ ตลอดจนรัฐบาลอังกฤษยังได้ริเริ่มการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการ IRA อย่างลับๆด้วย (Peace Talks) เพื่อ “ฟัง” และทำความเข้าใจกลุ่มขบวนการเหล่านี้ว่าแท้จริงแล้วต้องการอะไร ซึ่งเป็นผลให้ภาครัฐสามารถวิเคราะห์สาเหตุของความขัดแย้ง และหาทางตอบสนองต่อความต้องการได้ตรงจุดมากขึ้น โดยการพูดคุยสันติภาพที่ใช้เวลานานและต้องอาศัยความอดทนของทุกฝ่ายนี้ ก็ได้ออกดอกผลเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่ยุติความรุนแรงซึ่งดำเนินมากว่า 30 ปีลงได้ในที่สุด
3. ในช่วงก่อนบรรลุข้อตกลง แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะใช้กำลังทหารเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา แต่ก็มีการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่กับชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือควบคู่กันไปด้วยในขณะเดียวกัน อันเป็นผลทำให้ชาวคาทอลิกจำนวนหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าภาครัฐก็มีการปรับตัว และพยายามที่จะแก้ไขความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้ความรู้สึกของประชาชนต่อรัฐบาลอังกฤษเริ่มที่จะดีขึ้นตามลำดับ
4.ทั้งสองฝ่ายคือกลุ่มชาตินิยมและรัฐบาลอังกฤษ ต่างตระหนักดีหลังจากสู้รบกันยืดเยื้อว่า ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของปัญหา ต่างฝ่ายต่างเหนื่อยล้าจากการใช้ความรุนแรง เอาชนะคะคานกันโดยที่มองไม่เห็นหนทางแก้ไข และก็ยังมองไม่เห็นเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ด้วยวิธีการที่ใช้อยู่ เริ่มรู้สึกตัวกันทั้งสองฝ่ายแล้วว่า อย่างไรเสียก็ไม่มีทางที่จะ “เอาชนะ” อีกฝ่ายอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้โดยที่ไม่หันมาแก้ปัญหาด้วยการเมือง ซึ่งตรงประเด็นกับปัญหามากกว่าการใช้การทหาร เพราะการใช้การทหารนั้น อย่างดีก็สามารถที่จะ “คุม” ความรุนแรงมิให้ขยายตัวเกินกว่าที่เป็นอยู่เท่านั้น แต่ไม่อาจ “ยุติ” ความรุนแรงลงได้
มองสะท้อนย้อนดูใต้
ความแตกแยกระหว่างชุมชนไทยพุทธและมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านเรายังไม่ถึงขั้นที่ต้องมีการสร้างกำแพงมาแบ่งกั้นสองชุมชนออกจากกันอย่างที่เขาเคยทำกันในไอร์แลนด์เหนือ แต่หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและตรงจุด ความไม่ไว้วางใจระหว่างกันอันเกิดจากสภาพความรุนแรงในพื้นที่ก็อาจจะร้าวลึกไปสู่ความแตกแยกที่ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใดในการเยียวยากลับคืนได้
ความขัดแย้งในบ้านเขาต้องต่อสู้กันมานานกว่าสามสิบปีจึงจะรู้ตัวว่าไม่มีใครที่จะสามารถชนะใครได้โดยเด็ดขาดพอที่จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งยุติลงได้อย่างยั่งยืน แล้วบ้านเราละ ผ่านมา กว่าห้าปีแล้ว คงไม่น่าจะต้องรอให้ถึงสามสิบปีเหมือนกับชาวไอร์แลนด์เหนือกับรัฐบาลอังกฤษ แล้วค่อยตระหนักว่าจริงๆน่าจะหันหน้ามาคุยกันและทำความเข้าใจกันและกันอย่างแท้จริงมาตั้งนานแล้ว (นะเนี่ย)
จากการที่ได้ไปเรียนรู้มานั้น แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็พอจะสามารถถอดบทเรียนหลักๆได้ดังนี้
1. ปัญหาความขัดแย้งจะจบลงได้อย่างยั่งยืนก็ด้วยการหันหน้าพูดคุยกันของคู่ขัดแย้ง ในช่วงต้น ต่างฝ่ายต่างคิดว่าจะเอาชนะอีกฝ่ายได้ แต่สุดท้ายแล้ว เวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ในทุกพื้นที่ทั่วโลกว่าไม่มีใครจะสามารถเอาชนะอีกฝ่ายอย่างเบ็ดเสร็จได้โดยปราศจากความเสียหายยับเยิน จะรังแต่แพ้ด้วยกันทั้งคู่ สุดท้ายก็ต้องหันหน้ามาคุยกัน แม้กองทัพอังกฤษจะมีกำลังมหาศาลกว่าของกลุ่มขบวนการ IRA มากเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจเอาชนะสงคราม (War) นี้ได้อย่างยั่งยืน อย่างมากก็เพียงแต่อาจจะเอาชนะการรบ (Battle) เป็นครั้งไปเท่านั้น
2. ในความขัดแย้งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งที่มีรากเหง้ามาจากความไม่เป็นธรรม เราต้องมองให้เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ฟังความรู้สึกและความต้องการของกันและกัน ให้เกียรติกัน เคารพในตัวตน (อัตลักษณ์) ของกันและกัน การที่เขาใช้ความรุนแรงก็คือการที่เขาเชื่อว่าไม่มีทางออกอื่นที่ดีกว่าแล้วในการที่จะทำให้คนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐ ได้ยินเสียงความต้องการของเขา (To be heard) หากเขารู้สึกว่าเราฟังความรู้สึกและความต้องการของเขาอย่างจริงจังและจริงใจ ความรุนแรงจะก็กลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นและแปลกปลอมไปในที่สุด
3. ผู้นำทางการเมืองมีบทบาทสำคัญในการยุติความรุนแรงในประเทศ ผู้นำต้องกล้าที่จะยึดมั่นในสันติวิธี และทำให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ประชาชน และกลุ่มขบวนการ ได้เห็นเป็นรูปธรรม ในอังกฤษ จอห์น เมเจอร์ คือคนแรกที่ริเริ่มให้เกิดการพูดคุยกัน (Peace Talks) ส่วนโทนี่ แบลร์ ก็เป็นผู้สานต่อด้วยความเชื่อมั่นในสันติวิธีว่าเป็นหนทางเดียวในการแก้ปัญหา ส่วนบิล คลินตัน ก็เป็นผู้ที่ทำให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นเนื่องจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างไว้วางใจในตัวคลินตันและชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา
4. ภาคประชาสังคมในพื้นที่ความขัดแย้งจะต้องมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสันติวิธี ริเริ่มผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในพื้นที่ อันจะทำให้สันติสุขสามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน สันติภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยการริเริ่มจากฝ่ายนโยบายคือผู้นำการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยกำลังสำคัญที่ฐานรากในการเคลื่อนไหวผลักดันด้วย
5. ข้อตกลงใดๆที่อาจจะเกิดขึ้น คงจะไม่ใช่ข้อตกลงที่ทำให้เกิดการแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐบาล หากแต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่ ยอมรับและชื่นชมอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูมุสลิม ตลอดจนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนในพื้นที่ เพื่อให้เขาภาคภูมิใจในความเป็นตัวตนของเขาที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในสังคมไทยภายใต้กรอบกฎหมายแห่งรัฐธรรมนูญ
ได้แต่หวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเรียนรู้ประสบการณ์ความขัดแย้ง ผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา รวมทั้งข้อดีของการใช้สันติวิธีเพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจากต่างประเทศ และนำมาเป็นบทเรียนในการนำสันติสุขกลับสู่ชายแดนใต้ อันเป็นเป้าหมายที่ทุกๆคนเห็นตรงกัน