กษมา จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 เวลา 9.00 น. – 17.00 น. ณ โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท ปัตตานี ห้องขวัญจุฑา 1 คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ได้จัดโครงการ “เตรียมความพร้อมสู่การสร้างร่วมมือกับประชาคมอาเซียน” ให้หน่วยงานราชการ, ผู้อำนวยการสถานศึกษาต่างๆ, พนักงานมหาวิทยาลัย และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี
ดร.สามารถ ทองเฝือ รักษาการคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ได้กล่าวบรรยายเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานเรื่องอาเซียนให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเน้นไปที่การทำความเข้าใจถึงจุดกำเนิดอาเซียน การตระหนักรู้ถึงความสำคัญของอาเซียน และอธิบายให้เห็นความพลวัตรความเปลี่ยนแปลงของอาเซียนไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน เพราะการเปลี่ยนแปลงจากอาเซียนที่มีวัตถุประสงค์สร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของภูมิภาคร่วมกันไปเป็นประชาคมอาเซียนที่เน้นการสร้างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นครอบครัวเดียวกัน (ความเป็นอยู่ของแต่ละประเทศสมาชิกดีขึ้น มีความมั่นคงปลอดภัย มีการค้าที่สะดวกสบายในภูมิภาค) เพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศมหาอำนาจให้มากขึ้นจากอาเซียน และสามารถรับมือกับปัญหาระดับโลกที่จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาค โดยประชาคมอาเซียนจะแบ่งความร่วมมือเป็น 3 ภาค ดังนี้ 1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคง โดยวิธีการสร้างกติกาและค่านิยมร่วมกัน เน้นสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา 2. ประชาคมเศรษฐกิจ โดย ให้เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกมั่นคง มั่งคั่ง มีการแข่งกันกันได้อย่างเสรีในภูมิภาค มีเขตการค้าเสรีในภูมิภาค ให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวในการแข่งขันในการส่งออกกับประเทศคู่ค้า และขยายการลงทุนให้ทั่วถึงในภูมิภาค 3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยส่งเสริมให้สังคมของภูมิภาคเป็นสังคมเอื้ออาทรต่อกัน ให้ทุกประเทศสมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคงทางสังคม สร้างความเข้าใจระหว่างกันในประชาชนในภูมิภาค
ดร.สามารถ กล่าวว่า เราอยู่ในพื้นที่ได้เปรียบในทางภูมิศาสตร์ของประชาคมอาเซียน เป็นเรื่องสำคัญมากของหน่วยงานราชการ และภาคประชาสังคมรู้เท่าทันประชาคมอาเซียน ที่จะเกิดขึ้นมาใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เพราะบางพื้นที่หน่วยราชการ หรือทางโรงเรียน ได้ปฏิบัติตามนโยบายเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เพียงแค่เอาธงชาติของประเทศสมาชิกในอาเซียนมาติดหน้าดรงเรียนเท่านั้น โดยไม่เข้าใจว่าอาเซียนคืออะไร และมีการสำรวจว่า 10 ประเทศสมาชิกในอาเซียนที่เข้าใจประชาคมอาเซียนและมีความพร้อมต่อประชาคมอาเซียนมากที่สุด คือ ประเทศลาว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาคมอาเซียนทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม
รักษาการณ์คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ได้กล่าวอีกว่า การเกิดของประชาคมอาเซียนจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี (MUTUAL RECOGNITION ARRANGEMENT) ซึ่งครอบคลุมหลายสาขาอาชีพ ได้แก่ แพทย์, วิศวกร, พยาบาล, ทันตแพทย์, สถาปนิก, บัญชี, ช่างสำรวจ และบุคลาการด้านการท่องเที่ยว
ณ วันนี้มีแค่ 8 สาขาอาชีพ แต่ ดร.สามารถ ได้ทำนายไว้ว่า ต่อไปจะมีสาขาอาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรีเพิ่มขึ้นอีก ตามกระแสโลกาภิวัฒน์และความต้องการของตลาดแรงงานในภูมิภาค ดังนั้น การรู้เท่าทันประชาคมอาเซียนจึงมีความสำคัญอย่างมากไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะแรงงานไหลออกจากประเทศ หรือ ภาวะว่างงานเพิ่มขึ้นเพราะการจ้างงานคนในประเทศลดลงและจ้างงานคนในประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น ดร.สามารถ ทองเฝือ ยังเสนอถึงการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ว่าควรจะเตรียมตัวอย่างไร โดยเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร, งบประมาณ, ด้านการจัดองค์กร, ทางด้าน ยุทธศาสตร์, การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ, การสร้างกลไกควบคุมตรวจสอบ ประเมินผลงานตามแผนปฏิบัติการสู่อาเซียนของส่วนราชการ และการติดามความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนของหน่วยงานต่างๆ ในส่วนราชการ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูล และเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆในการขับเคลื่อนสู่อาเซียน พร้อมๆ กับการเตรียมพร้อมของส่วนราชการในการประสานงานกับส่วนราชการอื่นๆ หรือภาคส่วนอื่นสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างมีเอกภาพ
ในช่วงบ่ายมีการเสวนาในหัวข้อ “จังหวัดชายแดนใต้บนเส้นทางสู่ประชาคมอาเซียน” โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา, นายเศรษฐ อัลยุฟรี อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี และ นายณัฐพงศ์ สิทธิชัย นักการทูตชำนาญการ ดำเนินการเสวนาโดย อ.ฮาฟิส สาและ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์
นายณัฐพงศ์ สิทธิชัย นักการทูตชำนาญการ ประจำ ศอ.บต. ได้มาอธิบายถึงความสัมพันธ์ของประชาคมอาเซียนกับนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ถือว่าการเตรียมตัวให้พร้อมกับประชาคมอาเซียนในปี 2558 เป็นเรื่องเร่งด่วนเช่นกัน
ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ ได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิศาสตร์ที่ดีในการเป็นศูนย์กลางของภูมิอาเซียนโดยภาคเหนือติดพม่า ตะวันออกเฉียงเหนือติดลาว, กัมพูชา ใต้ติดมาเลย์เซีย ตะวันตกติดพม่า ภาษาไทยที่เป็นภาษาประจำชาติสามารถติดต่อสื่อสารกับเป็นเทศลาวได้ และที่สำคัญคือภาษามลายูในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีคนใช้ประมาณ 1 ล้านคน สามารถพูดคุยติดต่อสื่อสารกับประชาชนส่วนใหญ่ในประชาคมอาเซียนที่ใช้ภาษามาเลย์ (Bahasa Malay) หรือ ภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia) ที่มีลักษณะภาษาคล้ายคลึงกัน เพียงแค่รัฐเห็นว่าภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาที่เป็นต้นทุนของคนในพื้นที่และยกระดับให้เป็นภาษาหลักในพื้นที่ อาจจะมีการเพิ่มการศึกษาภาษามาเลย์หรือภาษาอินโดนีเซียให้คนในพื้นที่เพื่อให้3จังหวัดชายแดนใต้เป็นประตูสู่ประชาคมอาเซียนในภาคใต้ของไทย
นายเศรษฐ อัลยุฟรี มีความเห็นว่า การขับเคลื่อนเรื่องประชาคมอาเซียนของพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ ยังเป็นไปอย่างช้า คงต้องให้หน่อยงานราชการในพื้นที่ปรับนโยบายให้สอดคล้องกับประชาคมอาเซียนและในส่วน การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสนับสนุนทางการศึกษาและภาษาได้ ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่ควรทำที่สุดก่อนที่เป็นประชาคมอาเซียนในเร็ววันนี้คือ การปรับปรุงระบบการศึกษาให้แต่พื้นที่สอดคล้องกับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนอย่างเร่งด่วน
เราจะเห็นได้ว่าประชาคมอาเซียนได้ใกล้เข้ามาทุกวินาที การเตรียมพร้อมและรู้เท่าถึงข้อมูลทั้งข้อดีและข้อเสียของประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนทุกคนต้องรู้ เข้าใจ และเตรียมพร้อมกับสิ่งที่ต้องเผชิญเมื่อเกิดประชาคมอาเซ๊ยน โดยเฉพาะหน่วยงานของทางราชการต้องตระหนักให้มากถึงความสำคัญของประชาคมอาเซียน และต้องพร้อมที่จะเป็นหัวแถวในการนำให้ความรู้เพื่อการเตรียมตัวให้กับประชาชนในพื้นที่