ไชยยงค์ มณีพิลึก
เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดูเหมือนจะลดจำนวนลง แต่กลับเกิดถี่ขึ้นและสร้างความสูญเสียมากขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.เป็นต้นมาซึ่ง “ครู” กลับมาเป็น “เหยื่อ” ของสถานการณ์อีกครั้ง โดยต้องสังเวยชีวิตไปถึง 4 ศพแล้ว ยังไม่นับรวมตำรวจ ทหาร อส. ทหารพราน ต้องมาตายและบาดเจ็บจากการถูกซุ่มโจมตีอีกจำนวนมาก ในขณะที่ประชาชนต้องตกเป็น “เหยื่อ” จาก “คารบอมบ์” ครั้งใหญ่ที่กลางอำเภอยี่งอ จ.นราธิวาส อีกหลายสิบคน
ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีคำตอบจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. หรือจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หรือคำตอบจาก พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 หรือแม้แต่คำตอบจาก นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผอ.ศอ.บต. เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ความรุนแรงจากการก่อการของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีแต่จะ รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ลดน้อยลงเลย
และการทำหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงล้มเหลว ไม่สามารถลดความรุนแรงทั้งโดยการปฏิบัติการทางทหาร รวมทั้งสลายการปลุกระดมมวลชนของฝ่ายตรงข้ามอย่างได้ผลแท้จริง
ถ้าติดตามกระบวนการการแก้ปัญหาเพื่อยุติความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่าโจทย์ที่ถูกนำมาตั้งเพื่อการแก้โจทย์ความไม่สงบ ยังคงเป็น “โจทย์เก่า” คือมองกันว่าสิ่งที่เป็น “รากเหง้า” ทำให้เกิดปัญหาความไม่สงบมาจากเรื่อง “ความคับแค้นทางจิตใจ” และ “ความยากไร้ทางวัตถุ”
ความคับแค้นทางจิตใจก่อให้เกิดกลุ่มคนที่ต้องการแก้แค้นรัฐ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนที่ทำงานให้กับรัฐ และสถานที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐ
หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในภารกิจสลายความคับแค้นทางจิตใจ คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งมีการตั้งงบประมาณไว้ถึง 7,500 ล้านบาทเศษ (เฉพาะงบปี 2552) เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา
ส่วนความยากไร้ทางวัตถุ มีการพูดถึงการว่างงาน พูดถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และการสร้างสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้พอเพียง โดยล่าสุดรัฐบาลอนุมัติกรอบงบประมาณ 68,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น (งบประมาณต่อเนื่อง 3 ปี)
ทั้งหมดคือ “โจทย์เก่า” ที่ผู้แก้ปัญหาใช้เวลาในการค้นหาวิธีแก้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปแล้ว 1.09 แสนล้านบาท (ไม่รวมงบเงินเดือน)
ตลอด 5 ปีของการแก้ไขปัญหา มีชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐต้องสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ “แนวร่วม” และ “แกนนำ” กลุ่มก่อความไม่สงบ จบชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ไปจำนวนหนึ่ง และยังถูกควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดีอีกไม่น้อย ขณะเดียวกันก็มี “แนวร่วม” และ “กลุ่มเสี่ยง” ในพื้นที่ ถูกปฏิบัติการ “ล้างสมอง” ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เปลี่ยนแนวคิดมาอยู่กับรัฐ โดยมีการประเมินจาก กอ.รมน.ภาค 4 ว่าการแก้ปัญหาทั้งหมด “เราเดินมาถูกทางแล้ว” โดยปัจจัยสำคัญของการประเมินดังกล่าวคือสถิติการก่อเหตุร้ายรายวันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ดี ในความเห็นของผู้เขียน มองว่าสถิติการก่อเหตุร้ายที่ลดลงนั้น ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายว่าปัญหาในพื้นที่จะดีขึ้น เช่นเดียวกับการที่ กอ.รมน.ภาค 4 โดยกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ส่งทหารชุด “พัฒนาสันติ” เข้าไปในหมู่บ้านเป้าหมายจำนวน 217 แห่ง จนทำให้แกนนำและแนวร่วมเคลื่อนไหวในหมู่บ้านไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายถึงชัยชนะทางการทหารของฝ่ายรัฐกำลังเกิดขึ้นแล้ว
เพราะโดยข้อเท็จจริง การปลุกระดมให้เกิดความคับแค้นทางจิตใจยังมีอยู่ โดยเปลี่ยนเป็นการปลุกระดมผ่านทางโทรศัพท์มือถือและช่องทางสื่อสารสมัยใหม่ แบบต่างๆ มีการส่ง “คลิปวิดีโอ” ผ่านอุปกรณ์อันทันสมัยเผยแพร่ในหมู่เยาวชนและสมาชิกขบวนการ แทนการนัดปลุกระดมตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งรัฐเข้าคุมพื้นที่ไว้ได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว
ขณะที่การนัดหมายเพื่อติดอาวุธทางความคิด และฝึกฝนทางยุทธการ ก็มีการนัดหมายนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ก่อนจะกลับเข้ามาปฏิบัติการเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย
สถานการณ์ร้ายที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่าเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ค. จากเหตุการณ์ลอบยิงครูเสียชีวิตที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เพิ่มดีกรีความรุนแรงและความถี่ขึ้นชนิด “รายวัน” ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.เป็นต้นมา โดยกลุ่มขบวนการฉวยเอาประเด็น “สลายม็อบตากใบ” มาเป็นหัวข้อในการ “ย้ำหัวตะปู” เรื่องความคับแค้นทางจิตใจ เพราะศาลมีคำสั่งในคดีไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิต 78 ศพว่า ตายเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ได้ถูกกระทำด้วยเหตุร้ายอย่างอื่น และเจ้าหน้าที่ที่เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม (จนมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น) เป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่
กรณีตากใบ ถูกหยิบขึ้นมาผนวกกับประเด็นความไม่เป็นธรรมอื่นๆ ที่ยังไม่มีการ “สะสาง” ให้เกิดความยุติธรรม แต่รัฐใช้เพียงช่องทางการ “เยียวยา” ซึ่งเหมือนกับการใช้ “เงิน” เพื่อซื้อความเป็นธรรมเท่านั้น
ฉะนั้นเมื่อ “ลิ่ม” ความคับแค้นทางจิตใจยังไม่ถูกถอน ซ้ำยังมีประเด็นใหม่ตอกย้ำเข้าไปอีก การแก้ปัญหาของรัฐที่ผ่านมาจึงไม่ได้ทำให้ “รากเหง้า” ของปัญหาหมดสิ้นไป วิธีการทุกอย่างที่ กอ.รมน.นำมาใช้ จึงยังไม่ได้ผล
นอกจากนั้นยังมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สิ่งที่ควรทำกลับไม่ทำ” เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภารกิจ “ดับไฟใต้” ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ปัญหาเรื่องเงินทุนสนับสนุนการก่อความไม่สงบ ซึ่งรู้กันดีว่ามาจากขบวนการค้ายาเสพติดและธุรกิจนอกกฎหมายในพื้นที่ แต่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา การปราบปรามยาเสพติดกลับ “ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิง มีเพียงการทุ่มงบสำหรับการ “บำบัดผู้เสพ” ซึ่งเปรียบเสมือนการ “ซื้อน้ำมาดับไฟ” แต่ไม่เคยคิด “ชักฟืนออกจากเตา” เพื่อให้ไฟดับอย่างแท้จริง
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจนไม่แพ้กันก็คือ การนำคำสอนทางศาสนามาบิดเบือนเพี่อปลุกระดมเยาวชนมาติดอาวุธเพื่อต่อสู้กับ รัฐ แต่ที่ผ่านมามีการถอนแกนความคิดจากเยาวชนกลุ่มเสี่ยงน้อยมาก ซ้ำยังกระท่อนกระแท่น ขาดเจ้าภาพที่แท้จริง ทุกหน่วยงานจะพูดเหมือนกันตลอดว่า “ศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” จึงไม่มีหน่วยงานไหนกล้าพูด กล้าทำ ในสิ่งที่ควรทำ
อีกปัจจัยหนึ่งคือภาคประชาสังคมในพื้นที่อ่อนแอ มีความขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่น และการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวาง ดูเหมือนรัฐบาลจะมองปัญหานี้ยังไม่ทะลุ ทำให้การใส่เงินอีก 68,000 ล้านบาทเพื่อรุกงานพัฒนาอาจสูญเปล่า เช่นเดียวกับงบประมาณที่ กอ.รมน.ใช้ในภารกิจดับไฟใต้มาตลอดหลายปี
อีกประเด็นหนึ่งที่ทุกๆ รัฐบาลชอบทำเหมือนๆ กันคือการหวัง “พึ่งพา” ประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายก รัฐมนตรี ก็เพิ่งเดินทางไปเจรจาความเมืองกับผู้นำมาเลเซีย โดยหัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งบนโต๊ะเจรจาคือการแสวงหาความร่วมมือในการแก้ไข ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และแน่นอนว่าสุดท้ายสิ่งที่มาเลเซียตอบกลับมาก็คือ “คำหวาน” เช่นเดียวกับที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตนายกฯท่านอื่นๆ เคยได้รับ แต่ก็แทบไม่มีมรรคผลใดๆ เป็นรูปธรรมให้จับต้องได้จริง
เหตุผลคือประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ไม่อาจยอมรับได้ว่าบรรดาแกนนำและแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบในประเทศไทยหลบ หนีไปหลบซ่อนตัวในประเทศของเขา เพราะหากยอมรับว่ามีเมื่อไหร่ ก็เท่ากับยอมรับต่อสังคมโลกว่าประเทศของตัวเองเป็น “ฐาน” ให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในประเทศอื่น
สรุปก็คือการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะประสบความสำเร็จหรือ ปรับทิศไปในแนวทางที่ดีขึ้นได้ รัฐบาลประชาธิปัตย์จะต้องกล้าตัดสินใจ ต้องมีนโยบายชัดเจน และกล้า “คิดต่าง” จากรัฐบาลในอดีต ที่สำคัญต้องไม่ปล่อยให้ กอ.รมน.เป็นผู้กำหนดนโยบายการแก้ปัญหาเหมือนที่ผ่านมา
บทพิสูจน์ความกล้าประการหนึ่งก็คือ การผลักดันให้จัดตั้งสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สบ.ชต. ขึ้นมารับผิดชอบการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการแทน กอ.รมน. เพื่อถ่วงดุลยุทธศาสตร์การพัฒนากับความมั่นคงให้ก้าวไปพร้อมๆ กัน
แต่วันนี้ร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรใหม่กลับถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก และนั่นคือคำตอบว่ารากเหง้าของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ได้รับการ แก้ไขเลย...แม้แต่น้อย!