Skip to main content

ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอชท์ได้ขยายภาพของความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ ด้วยมุมมองของกฎหมายสากลซึ่งนำพาเราให้พยายามเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริง และข้อจำกัดที่ผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่ายต้องเผชิญ รวมถึงแนวโน้มของการก่อตัวการต่อสู้ห้ำหั่นใน "หนทางการเมือง" ด้วย

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
Deep South Watch

บทสนทนากับ "สุณัย ผาสุข" ครั้งนี้เกิดขึ้นในระหว่างการจัดทำต้นฉบับ "ดีพเซ้าท์ บุกกาซีน" เล่ม 4 ฉบับ "Change ไฟใต้" โดยเป็นส่วนหนึ่งของรายงานเรื่องจากปก (Cover Story) หัวข้อ "การเมือง ทำลาย การเมือง ดุลการเมืองสุมไฟใต้" ซึ่งกำลังจะวางแผงเผยแพร่เร็วๆ นี้

แน่นอนว่าด้วยระยะเวลาที่ทอดยาวระหว่างการสัมภาษณ์ครั้งดังกล่าวเมื่อหลายเดือนก่อนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงที่ผ่านมาไม่นาน ทำให้ประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมากล่าวนั้นไม่ได้รวมถึงเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญอีกหลายเหตุการณ์

แต่กระนั้น ก็ใช่ว่ามุมมองของเขาในฐานะที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ (Human Right Watch – HRW) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีบทบาทติดตามสถานการณ์ที่ชายแดนใต้อย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาจะไม่แหลมคม

การขยายความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายสากลที่ว่าด้วยสงคราม - ความขัดแย้งและปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขาได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่สถานการณ์ความรุนแรงจะนำพาเราไปยังจุดใด แน่นอนว่าทุกฝ่ายควรต้องรับฟัง!!

๐ สังคมโลกมองปัญหาของเราอย่างไรในขณะนี้?

HRW มองปัญหาตั้งแต่ต้นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 47 ว่าเป็นการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนด้วยกำลังอาวุธ เราไม่ได้มองว่าเป็น "การก่อความไม่สงบ" ซึ่งเป็นคำที่คลุมเครือ นั่นคือหมายถึง "ไม่สงบ" อะไร เราคิดว่าที่นี่มีกลุ่มที่ติดอาวุธชัดเจนและมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่จะใช้กำลังและอาวุธที่มีอยู่ต่อสู้ ถือเป็นความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ เพียงแต่ตอนแรกเราจะเอากรอบกฎหมายระหว่างประเทศมาจับก็ยังไม่ชัดเจน

ในช่วงปี 47 อย่างน้อยจนกระทั่งช่วงตากใบ เป็นสิ่งที่ลำบากเพราะเรายังคลำไม่เจอว่ากลุ่มติดอาวุธคือใคร มีโครงสร้างและเจตนารมณ์อย่างไร จนกระทั่งตุลาคมถึงธันวาคมในปีนั้น เราเริ่มได้ข้อมูลชัดเจนขึ้นว่ากลุ่มก่อความไม่สงบในขณะนั้น มีการโยงใยกับบีอาร์เอ็น โคออดิเนต เริ่มมีเอกสารและการเปิดจากฝ่ายนั้น

เราเริ่มเข้าถึงตัวเขาได้มากขึ้น สามารถเข้าถึงตัวบุคคลที่เรารู้ว่าเป็นบีอาร์เอ็นโคออดิเนต เราเริ่มเห็นเอกสารที่เชื่อถือได้ว่าเป็นเอกสารของพวกเขาจริงๆ ไม่ใช่เอกสารที่มีความคลุมเครือว่าเป็นของรัฐสร้างมาหรือไม่ หรือว่าเป็นงานตอบโต้ข่าวกรองของรัฐหรือไม่

เอกสารหลังเดือนตุลาคม 47 ที่พบ มันยืนยันว่าเป็นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนชัดเจน อย่างน้อยก็หลักๆ ประมาณ 3 – 4 ข้อ ว่านี่คือการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ มีวัตถุประสงค์เพื่อการแบ่งแยกดินแดน สร้างรัฐอิสระขึ้นมา รัฐอิสระที่ว่านี้อยู่บน 2 ฐานรากใหญ่ หนึ่งคือรากในทางชาตินิยมมลายูปาตานี คือการฟื้นฟูดินแดนของคนมลายูปาตานี สองคือรากของศาสนาอิสลาม ต้องการเอากฎหมายของอิสลามมาบังคับใช้ในพื้นที่

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่อยู่ในเอกสารหลายชิ้น คือ เมื่อแบ่งแยกแล้วดินแดนตรงนี้จะเป็นของคนมลายูมุสลิมเท่านั้น คนต่างศาสนิกต้องออกไป ถ้าไม่ออกไปต้องต่อสู้ห้ำหั่นให้ตาย และในส่วนสุดท้ายก็คือ ในทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นวาญิบ (ภาระหน้าที่บังคับเหนือปัจเจกทุกคนที่เป็นมุสลิม - กองบรรณาธิการ) ที่ประนีประนอมไม่ได้ ถือเป็นพันธะหน้าที่ ต่อรองไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชัดเจน

พอถึงจุดนี้ก็เห็นตัวตน เห็นวัตถุประสงค์ชัดเจน เริ่มเห็นว่ามีการจัดตั้งกองกำลัง ซึ่งจะเข้าเกณฑ์กฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ กฎหมายสงคราม (Law of War) เนื่องจากมีตัวตน มีสายการบังคับบัญชา มีโครงสร้าง มีการจัดกำล้งรบ พวกอาร์เคเคเริ่มเข้ามาในส่วนนี้ได้ องค์ประกอบก็ชัดขึ้น

การทำงานของ HRW เราจะไม่เลือกข้างเลย เราเลือกจะอยู่ข้างสิทธิมนุษยชนจริงๆ ใครเป็นผู้ละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือไม่ใช่รัฐก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีความผิดทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าถ้าเราสามารถนำกฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎหมายสงครามมาวิเคราะห์ได้นั้น ระดับความรับผิดชอบจะเข้มข้นมากขึ้น

อย่างช่วงก่อนเดือนตุลาคม 47 เราอาจพูดได้ว่าการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน ได้แค่กว้างๆ แต่หลังจากเดือนตุลาคมปีนั้น พอเราเริ่มเข้าใจกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เราสามารถฟันธงได้เลยว่า เขากำลังทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศข้อนี้ๆ ไล่ไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นรายงานของ HRW ที่ทำออกมากลางปี 2549 ก็เลยเอาข้อกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายสงครามมาจับคู่กับกฎหมายสิทธิมนุษยชน ว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนทำผิดกฎหมายข้อไหนบ้าง นี่คือการมองของ HRW ซึ่งอาจจะต่างกับองค์กรสิทธิมนุษยชนกระแสหลักส่วนใหญ่ ที่ยังไม่เน้นประเด็นเรื่องของการกระทำของฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือไม่แม้กระทั่งระบุตัวตนของกลุ่มเหล่านี้ได้

๐ เพราะเหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น?

มองได้หลายทาง ทางหนึ่งก็คือการเข้าถึงข้อมูลอาจต่างกัน เราอาจได้ข้อมูลอย่างนี้มา แต่องค์กรอื่นอาจจะยังไม่ได้อย่างเรา หรือยังไม่เชื่ออย่างสนิทใจกับข้อมูลเหล่านี้ อาจจะรอไปอีกสักพักหนึ่ง แต่ก็เชื่อว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนมีตัวตนอยู่จริง

ถ้าทำงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยไม่ยอมรับความจริงว่าภาคใต้เป็นปัญหาสองส่วน ส่วนแรกคือความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน กับอีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการที่หนักมือของรัฐกับการอยู่เหนือกฎหมายของรัฐ การมองว่าเกิดขึ้นจากรัฐเพียงอย่างเดียวก็เป็นการละเลยข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นหลักใหญ่ของปัญหา เพราะต้องยอมรับความจริงว่า คนที่ตายทุกวันนี้ร้อยละ 95 เป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่รัฐก็มีส่วนรับผิดชอบกับส่วนที่เหลือด้วย แต่ว่าจะเลือกจับอำนาจรัฐอย่างเดียวก็ไม่สะท้อนความเป็นจริงของพื้นที่

ก็หวังว่าจะมีพัฒนาการขององค์กรสิทธิที่สอดรับกับข้อเท็จจริงนี้ เมื่อสอดรับแล้ว ความยอมรับของคนในพื้นที่และเจ้าหน้าทีรัฐต่อการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนก็จะดีขึ้นด้วย จะไม่มีข้อกล่าวหาว่านักสิทธิฯ ช่วยโจร นักสิทธิฯ เลือกข้าง ช่วยเฉพาะคนมลายู อคติอย่างนี้ทำให้หมดไปได้ด้วยการที่นักสิทธิฯ ก็ต้องปรับบทบาทของตัวเองด้วย

มันก็เป็นคำตอบในตัวมันเองว่า ทำไม HRW ทำงานในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีความเสี่ยงสูง วิจารณ์ในประเด็นแรงๆ ทั้งสองข้างอย่างแรงๆ จุดขายที่เป็นภูมิคุ้มกันที่ไม่เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ที่ปาเลสไตน์ – อิสราเอล อัฟกานิสถาน หรืออิรัก เราก็เน้นเรื่องความเป็นกลาง คือใครละเมิดสิทธิก็ผิดทั้งนั้น เวลาเราทำงานก็ไม่ประนีประนอมในเรื่องนี้ จะเป็นเพื่อนหรือไม่เราก็สามารถวิจารณ์ได้ เราสามารถทวงถามความรับผิดชอบได้ นี่คือภูมิคุ้มกันของเรา ได้รับการยอมรับว่าปฏิบัติหน้าที่ที่ซื่อตรง ตรงไปตรงมา หากถามว่าองค์กรระหว่างประเทศมองอย่างไร ก็มองอย่างนี้

๐ องค์กรสากลอื่นๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศเขามองเรื่องภาคใต้อย่างไร หากมองแบบที่ HRW มองจะส่งผลต่อการแทรกแซงปัญหาอย่างไรบ้าง?

ถ้าพูดกันจริงๆ HRW ก็เป็นหัวหอกในการเปิดมุมมองในลักษณะนี้ องค์กรที่คู่ขนานที่ใกล้เคียงกันคือ ICG (International Crisis Group) คือมีการวิเคราะห์กลุ่มแบ่งแยกดินแดนด้วย ไม่ใช่วิเคราะห์แต่นโยบายรัฐเพียงอย่างเดียว อย่างน้อยก็สององค์กรที่มีมิติดังที่กล่าวมานี้

ส่วนองค์กรอื่นยังไม่เห็นท่าทีที่เกลี่ยความกังวลและความสนใจต่อสถานการณ์ที่สะท้อนภาพความจริงอย่างที่เราทำอยู่ แต่เชื่อว่าข้อเท็จจริงมันจะท่วมท้นจนปฏิเสธไม่ได้ จนต้องปรับท่าทีกัน เพราะอย่างที่บอกว่า อคติของเจ้าหน้าที่ต่อนักสิทธิฯ ส่วนหนึ่งก็มาจากการวางตัวของนักสิทธิฯ ทั้งตัวบุคคลและท่าทีขององค์กรโดยรวมซึ่งเปิดทางให้ถูกกล่าวหาว่าลำเอียง ตัวเราก็ต้องปรับตัวเองด้วย หวังว่าจะปรับอย่างนั้น

เพราะหากมองว่าเรื่องภาคใต้เป็นเรื่องของอยุติธรรมเพียงอย่างเดียว ถามว่าจริงหรือไม่ ก็มันจริง แต่ไม่จริงทั้งหมด มันเป็นเรื่องของเชื้อของการจุดความไม่พอใจ ความหวาดระแวง ความไม่สามารถที่จะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ เป็นเชื้อที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนปลุกระดมชักจูงคนเข้าสู่ขบวนการ สามารถอ้างความชอบธรรมในการก่อความรุนแรงได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะว่าความรุนแรงรายวันในภาคใต้ร้อยละ 95 เกิดจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ทำไมไม่พูดถึง 95% นี้ ทำไมพูดเรื่องของ 5% อาจจะบอกว่ารัฐมีพันธะหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายก็ใช่ แต่ความเป็นจริงมันก็ต้องเป็นความเป็นจริง

๐ มิติการมองว่าเป็นความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธจะกระทบต่อปัญหาอย่างไรบ้าง อย่างน้อยก็ต่อการรับผิดชอบของรัฐบาลในฐานะภาคีของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ?

จริงๆ รัฐไทยก็ไม่ต้องการให้มีการยกระดับการประเมินสถานการณ์เป็นความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธภายในประเทศ เพราะว่าจะยกระดับพันธะความรับผิดชอบของรัฐ การปฏิบัติหลายๆ อย่างของรัฐหากเอากฎของสงครามมาจับ มันจะถูกตั้งคำถามทันที

๐ เช่น ?

อย่างเช่น กรณีกรือเซะหรือปิดล้อมตรวจจับในหลายกรณี ที่มีข้อสงสัยว่ายอมจำนนแล้ว แต่ก็ยังยิง หรือว่ากฎการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะกำหนดว่าจะใช้อาวุธได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะคับขัน เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และหากจะใช้อาวุธก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เสียชีวิต ทำได้แค่เจ็บก่อนเกินกว่าเหตุไม่ได้

กฎการใช้อาวุธหรือกฎการปะทะจะถูกจับตามอง มีรายละเอียดมาก เช่น ผลกระทบต่อพลเรือน การไปตั้งค่ายในโรงเรียน การไปตั้งค่ายในสถานที่ทางศาสนา จะถูกต้องคำถามว่าทำได้หรือไม่ จะมีการโต้เถียงกันกันอย่างมากว่าไปเพื่อคุ้มครองสถานที่และบุคคลที่อยู่ในสถานที่เหล่านั้น แต่ในอีกทางหนึ่งก็อาจจะถูกวิจารณ์ได้ว่า เป็นการเปลี่ยนสถานที่ต้องห้ามที่แตะต้องไม่ได้ตามกฎสงครามให้เป็นสถานที่ทางการทหาร ซึ่งผิด มันจะมองได้ทั้งสองด้าน ก็ต้องโต้เถียงกัน เป็นภาระในการพิสูจน์

แต่ในทางกลับกัน หากมีการยกระดับการประเมินสถานการณ์เป็นความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธภายในประเทศแล้ว ซึ่งก็เป็นผลเสียในมุมกลับของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนด้วย เพราะจะเติมความรับผิดชอบให้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอย่างมาก ข้ออ้างที่ว่าเขามีความชอบธรรมในการต่อสู้ ก็จะถูกตั้งคำถาม เพราะทั้งนโยบายก็ดี ทั้งการกระทำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็ดี มันขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศด้านกฎของสงครามทั้งหมดเลย

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งที่กฎของสงครามระบุไว้ คือ ไม่สามารถนำประเด็นทางศาสนามาเป็นข้ออ้างในการละเมิดกฎของสงครามได้ คือไม่สามารถอ้างว่านี่เป็นการทำให้ "ดารุลฮัรบี" (ดินแดนภายใต้การถูกรุกรานยึดครอง - กองบรรณาธิการ) ให้เป็น "ดารุสลาม" (ดินแดนที่มีการปกครองตามระบอบอิสลาม - กองบรรณาธิการ) และจัดการคนที่ไม่ใช่เป็นมุสลิมให้หมดไป โดยไปเผาทำลายวัด ฆ่าพระ ฆ่าเณร ไปทำร้ายบุคลากรทางการศึกษา เผาโรงเรียน มันอ้างไม่ได้ จะเอาหลักการทางศาสนามาอ้างไม่ได้ เพราะกฎของสงครามห้ามหมด

๐ จริงๆ แล้วกฎของสงครามในอิสลามก็ขัด?

ใช่ เพราะกฎของสงครามร่างกันมาตั้งแต่ครูเสด เพราะไล่กันจริงๆ คริสต์กับอิสลามข้อห้ามคล้ายกันมาก แต่ตอนหลังก็เอามาบิด เพราะคริสต์ก็อ้างสงครามศาสนาในยุคครูเสด จึงต้องมีการวางกติกากลางกัน ทำนองว่าอย่ามาอ้างอย่างนี้นะ ยังไงก็ต้องมีที่ที่ควรต้องได้รับการคุ้มครอง คนบางจำพวกที่ต้องได้รับการคุ้มครองที่ไม่สามารถละเมิดได้ แม้ว่าจะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ลูกหลานก็ละเมิดกันทั้งคู่

๐ ฝ่ายขบวนการเขาห่วงเรื่องความรับผิดชอบที่ถูกยกระดับขึ้นเหล่านี้หรือไม่ ?

จริงๆ การรับผิดชอบของขบวนการมากกว่ารัฐเสียด้วยซ้ำ เท่าที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 47 ไม่เคยถูกกดดันบีบคั้นให้แสดงความรับผิดชอบจากแวดวงระหว่างประเทศเลย อย่างที่บอกว่ามีเพียง HRW เท่านั้นที่แหลมอยู่คนเดียวที่เรียกร้องให้รับผิดชอบ เรียกร้องให้ประชาชาติระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประชาชาติมุสลิมแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยหรือไม่ยอมรับกับการกระทำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ น่าจะมีเพียงเราที่พูดถึงข้อเรียกร้องในรายงานตรงนี้ว่าจะต้องไม่ยอมรับหรือสนับสนุนการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายเหล่านี้

เพราะฉะนั้น หากมีการยกระดับขึ้นมาจะกลายเป็นภาระและความกังวลของขบวนการแบ่งแยกดินแดนแน่นอนอยู่แล้ว หากว่าพวกเขามีธงที่จะหาความชอบธรรมในการเรียกร้องให้มีการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ ถ้าหากเขาถูกประเมินว่ามีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ความชอบธรรมในระยะยาวในการขับเคลื่อนทางการเมืองระหว่างประเทศในอนาคต ไม่ว่าจะห้าปีสิบปีมันก็จะยากขึ้น

เพราะฉะนั้น หากถามผมว่า ผมก็จะมองว่าการยกระดับการประเมินสถานการณ์ในภาคใต้อย่างนี้จะเป็นประโยชน์ให้ทั้งรัฐและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทบทวนการกระทำของตัวเอง

กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ห้ามการทำสงคราม หรือไม่ได้ห้ามการใช้กำลังอาวุธต่อกัน แต่เมื่อใช้กำลังอาวุธแล้ว มันมีกติกา จะรบก็รบกันระหว่างกองกำลังของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกับกองกำลังของรัฐ แต่อย่าไปทำให้พลเรือนเดือดร้อน อย่าไปทำให้ประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์สาธารณะต้องถูกทำลายเสียหายไป

ที่น่าสนใจก็คือว่ากฎหมายด้านมนุษยธรรมกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนมันมีที่มาต่างกัน พวกกฎหมายสิทธิมนุษยชนไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง เพราะฉะนั้นการตัดชีวิตจึงรับไม่ได้ ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กฎข้อแรกคือว่าทำลายชีวิตไม่ได้ แต่กฎหมายมนุษยธรรมและกฎของสงครามไม่ได้ห้ามเรื่องการตัดชีวิต แต่มีประเภทของคนประเภทไหนและเงื่อนไขใดบ้างที่ตัดชีวิตได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นรากสองรากที่ต่างกัน พวกกลุ่มสิทธิมนุษยชนมีรากมาจากศาสนา คือ รักษาสิทธิของชีวิตไว้เหมือนกับการรักษาศีล

๐ แล้วสองแนวคิดนี่ปะทะกันหรือไม่?

ถามว่าปะทะกันหรือไม่ พวกนักสันติวิธีคงต้องถามว่าเขายึดแนวไหนกันแน่ เพราะนักสันติวิธีในบ้านเราก็ไม่ประกาศท่าทีชัดเจนว่าตกลงว่าคุณจะใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) หรือกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Human Right Law)

ต้องดูเงื่อนไขในพื้นที่ว่ามันสามารถจะห้ามตายได้หรือไม่ อาจต้องถอดโจทย์แต่ละข้อว่า ตอนนี้ยังมีความรุนแรงและการปะทะอยู่ แต่เราจะจำกัดผลกระทบจากความรุนแรงอย่างไร จะแสวงหาความรับผิดชอบต่อผู้ที่ก่อความรุนแรงนั่นได้อย่างไร และเมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์อาจคลี่คลายและต้องไปทวงถามกันว่าอย่าสู้กันเลย มาเจรจากันดีกว่า ซึ่งก็เป็นแนวทางสันติวิธี

แต่ในชั้นต้น แม้จะมองว่ารัฐมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพียงแต่รัฐจะต้องกระทำหน้าที่นั้นตามกฎหมายทั้งภายในและต่างประเทศ จะบอกว่าให้รัฐถอนทหารออกจากพื้นที่ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นการละเมิดหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่เบื้องต้นในการคงอยู่ของรัฐเลย ทุกคนที่เรียนรัฐศาสตร์ก็รู้ว่านี่คือหน้าที่เบื้องต้นของรัฐ รัฐก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว

และสอง สภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ถามว่าถ้ารัฐทำอย่างนั้น ทางกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจะยุติความรุนแรงหรือไม่ ก็ไม่ แต่กลับเข้าทางของเขาอยู่แล้ว ที่นี่ก็ฆ่าสนุกเลย เพราะเขามีธงชัดเจน การกู้ดินแดนกลับมาเป็นการกำจัดคนต่างศาสนิก คนต่างชาติพันธุ์ไปด้วย

๐ แต่ข้อเรียกร้องการถอนทหาร หรือการยกเลิกการใช้กฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษกับเจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีอยู่?

ข้อเรียกร้องให้เลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นพอรับได้ เพระว่าเป็นกฎหมายที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมด้วย รัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย แต่กฎหมายนั้นๆ ก็ต้องสอดคล้องกับหลักการด้วย ทั้งสองด้านคือด้านสิทธิมนุษยชนกับด้านมนุษยยธรรม กฎหมายฉบับนี้เรียกได้ว่าละเมิด รัฐจึงต้องมีกฎหมายฉบับใหม่ ผมไม่ได้บอกว่ารัฐใช้กฎหมายพิเศษไม่ได้นะ รัฐใช้ได้ แต่กฎหมายพิเศษต้องเข้าท่ากว่านี้ ที่มีอยู่ในปัจจุบันมันห่วย

แต่ว่าข้อเรียกร้องเรื่องการถอนทหาร อาจต้องเปลี่ยนไปเป็นว่าเป็นการปรับกำลังหรือไม่ มีการฝึกอบรมที่ดีกว่านี้หรือไม่ หรือให้มีความรับผิดชอบตามสายบังคับบัญชาหรือไม่ มีวินัยมากขึ้นหรือไม่ เหล่านี้จะเป็นข้อเรียกร้องที่มีเหตุมีผล

อย่างการฝึกหรือติดอาวุธให้กับประชาชนควรจะทำหรือไม่ เพราะว่าการทำอย่างนั้นมันก็เป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งคือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้คนดูแลตัวเองได้ เพราะว่ารัฐมีกำลังไม่พอ แต่ในทางกลับกันเท่ากับว่าคุณเพิ่มตัวแสดงที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความรุนแรง และทำให้ประชาชนเหล่านั้นเป็นเป้าที่ชอบธรรมตามมุมมองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ทั้งๆ ที่กฎหมายสงครามระหว่างประเทศไม่ได้รวมพวก militia หรือทหารบ้าน หรือ อส. อาสา หรือแม้แต่ตำรวจก็ไม่ใช่กำลังรบ กำลังรบคือทหารของแต่ละฝ่าย

เพราะฉะนั้นอย่างตำรวจที่ถูกระเบิดในวันนี้ ก็ถือว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศนะ ตำรวจที่ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ชอบตามกฎหมายระหว่างประเทศคือ ตชด. (ตำรวจตระเวนชายแดน) หรือ นปพ. (หน่วยปฏิบัติการพิเศษ) ซึ่งเป็นตำรวจสายรบ ถือว่าเป็นเป้าที่ต่อสู้กันได้ ยังสามารถแยกได้อีก

๐ เข้าใจว่ากฎหมายทั้งสองชุดมากันก่อนหน้าสภาพแวดล้อมที่เรียกกันว่าสงครามในยุคที่ 4 หรือสงครามที่ไม่สมมาตร ซึ่งมีลักษณะที่รอยต่อระหว่างกองกำลังกับพลเรือนมันเหลื่อมกัน แยกไม่ออก ในขณะที่ยุทธศาสตร์กับยุทธวิธีก็ซ้อนกัน เขตแดนที่ก่อนหน้านี้มันชัด ก็กลับไม่ชัด ข้อถกเถียงคืออะไร?

กฎหมายระหว่างประเทศก็ต้องมีการวิวัฒนาการ เพราะว่าตอนนี้สภาพความขัดแย้งระหว่างประเทศมันก็เปลี่ยน ตอนที่อเมริกาทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย พวกนักกฎหมายระหว่างประเทศหลายคนก็ตั้งข้อสงสัยอย่างมากว่าคุณสามารถประกาศสงครามกับสิ่งที่เป็นนามธรรมได้หรือ? ทั้งๆ ที่การทำสงครามมันต้องทำกับตัวบุคคลหรือกลุ่ม หรือประเทศ เหมือนกับการประกาศทำสงครามกับยาเสพติด

นี่เป็นข้อโต้แย้งของนักกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อถกเถียงก็คือว่า มันไม่มีตัวตน ไม่มีองค์กร ไม่มีโครงสร้างการบังคับบัญชา คุณจะทำสงครามกับใคร บอกว่าเป็นสงครามก็ต้องเอากฎของสงครามมาบังคับใช้ อเมริกาก็มีการตีความที่เบี้ยวไปเบี้ยวมาในบางเรื่องที่เขาเห็นว่านำกฎของสงครามมาเป็นประโยชน์ เขาก็นำมาบังคับใช้ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เรื่องไหนที่เห็นว่าเป็นอุปสรรค เขาก็ไม่เอามาใช้

เพราะฉะนั้นก็มีการพยายามตีความว่าคนที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายถือเป็นนักรบหรือไม่? หรือเป็นอะไร? ถ้าไม่ใช่นักรบ เราจะปฏิบัติอย่างไร? ถ้าเป็นนักรบ จะปฏิบัติอย่างไร? ต้องเอาไปขังที่ไหน ขังในดินแดนได้หรือไม่ หรือต้องขังในเรือที่ลอยกลางทะเล มันต้องมีการหลบเลี่ยงกันไปมา

นี่เป็นประเด็นที่ดีว่า ในสภาพเงื่อนไขความขัดแย้งที่ต่างไปจากความขัดแย้งเมื่อหลายร้อยหลายพันปีที่แล้ว มันก็ต้องทำให้กฎหมายระหว่างประเทศมีวิวัฒนาการไปด้วย และการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนและนักสันติวิธีก็ต้องมีวิวัฒนาการ

๐ แล้วคุณมองเห็นวิวัฒนาการของกฎหมายระหว่าประเทศที่ว่านี่หรือไม่ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 911 เป็นต้นมา?

มันเห็นในลักษณะดีเบต แต่ไม่ได้มีการปรับกันเป็นข้อๆ

๐ จริงๆ แล้วในช่วงสงครามเย็น ก็มีปรากฎการณ์สงครามกองโจรเกิดขึ้นหลายแห่ง ชาวบ้านก็มีบทบาทในการส่งข้าว ส่งข่าว ส่งน้ำ หรือส่งปืนให้กับกองกำลังในป่าด้วยซ้ำ ทำไมไม่เกิดประเด็นโต้เถียงหรือวิวัฒนาการตั้งแต่ตอนนั้นมา?

ต้องคิดว่ามีบทบาทในการสู้รบหรือไม่? คือไปในฐานะผู้ส่งยุทธปัจจัยนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอันนี้ และสามารถปฏิบัติได้แค่ไหน มันมีข้อจำกัดอย่างนี้ การที่มวลชนกลายเป็นกองกำลังติดอาวุธเสียเองมันไปอีกขั้น แต่ว่าอย่างน้อยองค์กรสิทธิมนุษยชน หลังๆ การทวงถามความรับผิดชอบ เราก็มองตัวแสดงทั้งที่เป็นรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เพราะฉะนั้น เราก็มองกลุ่ม Militia ด้วย

แต่ว่าอย่างที่บอกว่ากฎหมายสิทธิมนุษยชนมันก้าวหน้ากว่ากฎของสงคราม กฎหมายอย่างแรกเริ่มพูดกันถืงพวก militia แล้ว คือต่อให้ไม่สามารถระบุตัวตนไม่ได้ชัดเจนก็เอามาพูดเรื่องสิทธิมนุษชนได้ เพราะว่ามันตัดชีวิตจริง

๐ ไม่ต้องมีกองกำลังที่แสดงตนชัดเจน พวกเขาไม่ต้องมีกองกำลังชัดเจน?

ไม่ต้องมีเครื่องแบบ ไม่ต้องมีสายการบังคับบัญชา หรือกฎการปะทะ มีคำประกาศในการสู้รบหรือไม่? ไม่จำเป็น แค่เพียงละเมิดสิทธิ เช่น การฆ่าตัดชีวิต ทำร้ายร่างกาย ใช้ความรุนแรงทางเพศ หรือผลกระทบจากความรุนแรงที่ทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ซึ่งก็ผิดหลักการสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การทำลายสาธารณูปโภคเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเด็นนี้ก็ผิดกฎของสงครามเช่นเดียวกัน แต่ก็จะไม่ทวงถามความรับผิดชอบกับใคร หากยังไม่ยกระดับว่าฝ่ายตรงกันข้ามมีตัวตน จะไปกล่าวหาผีไม่ได้

๐ เหมือนกับว่ากฎหมายสิทธิมนุษยชนมันทำงานในสถานการณ์ปกติ?

ไม่หรอก จริงๆ ก็สามารถทำงานได้ในทุกสถานการณ์ โดยที่ไม่แคร์ว่าจะเป็นสถานการณ์สงครามหรือไม่ แต่ในขณะที่กฎของสงครามก็ใช้ในสถานการณ์ที่เฉพาะ ซึ่งจะต้องมีกฎหมายพิเศษ มีกองกำลังพิเศษ จะว่าเป็นภาคขยายก็ไม่เชิง แต่มันเป็นสิ่งที่อยู่ในสถานการณ์พิเศษ สงครามถูกเหมาว่าเป็นสถานการณ์พิเศษของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และถูกยกระดับเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและระหว่างประเทศ

๐ ถ้าในมุมของฝ่ายใต้ดิน หากพิจารณากฎหมายระหว่างประเทศ พวกเขามีทางเลือกที่จะใช้กฎหมายเหล่านี้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับการต่อสู้ของตัวเอง สามารถเลือกที่จะยึดหลักแบบไหน อย่างในกรณีของอเมริกาที่เลือกจะใช้?

ใช่ อเมริกาเป็นสุดยอดของการใช้มาตรฐานทับซ้อน เป็นตัวแบบที่น่ากลัวที่สุด ในฐานะที่เขาเป็นคนที่เซ็ตมาตรฐานต่างๆ ในโลก

๐ เท่ากับว่าจะหาจุดร่วมได้ยากที่จะหากฎร่วมที่ใช้กันทั่วโลกในการมองความขัดแย้ง?

แน่นอนว่าร่วมกันไม่ได้ และประการที่สอง เราต้องยอมรับว่าการเมืองระหว่างประเทศมันเป็นการเมืองแบบพวกมากลากไป ใครเสียงดัง คนนั้นก็เป็นใหญ่ เราก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงอันนี้ แล้วก็ต้องโต้แย้งกับมัน บอกว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของพวกมากลากไป แต่มันมาตรฐานเดียว จะสร้างมาตรฐานซับซ้อนอย่างนั้นไม่ได้

๐ อยากให้ช่วยให้ภาพขององค์กรระหว่างประเทศที่จับประเด็นความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ของไทยว่ามีองค์กรใดบ้าง แต่ละองค์กรยึดหลักคิดเช่นไร นอกเหนือจาก HRW ที่ได้พูดมาแล้ว?

จริงๆ เป็นหลักเดียวกันหมด แต่จะพูดกันหรือไม่ เลือกที่จะพูดหรือไม่ หรือว่ารอให้องค์ประกอบชัดเจนแค่ไหน ซึ่งก็มีสองเรื่อง เรื่องแรกคือจุดยืนในเชิงอุดมการณ์ ผลประโยชน์ทั้งที่แอบแฝงและเปิดเผย และเรื่องการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งทำให้แต่ละองค์กรปรับท่าทีไม่เหมือนกัน

อย่างบางองค์กรเช่นเรา ที่ได้เปรียบเพราะอยู่ในพื้นที่ เราเข้าถึงข้อมูลมากกว่า เราก็จะฟันธงได้ก่อนเพื่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรอื่นไม่ฟันธงแต่ความพร้อมไม่เท่ากัน การเข้าถึงข้อมูลไม่เท่ากัน แต่สุดท้ายความจริงก็คือความจริง

๐ ในเวทีระหว่างประเทศ องค์กรใดมีแรงกดดันสูงสุดต่อกรณีสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ของไทย?

โอไอซี ในชั้นต้นคือโอไอซีก่อน เพราะมีความพยายามผลักดันมาทุกปีในที่ประชุมโอไอซีให้สถานการณ์ภาคใต้เป็นที่ยอมรับ แล้วเราก็เห็นการปรับท่าทีของแถลงการณ์โอไอซีที่ไทยต้องล็อบบี้อย่างหนักในการที่จะบอกว่าคำที่ใช้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรจะต้องใช้คำว่าอะไร

ถ้าไปดูที่ร่างแรกก่อนหน้าที่จะมีการล็อบบี้จากฝ่ายไทย ซึ่งจะพูดถึงชายแดนภาคใต้ว่าเป็นรัฐ แต่มีการล็อบบี้จากทางฝ่ายไทย จึงมีการขีดทิ้งไป เพราะนี้เป็นเรื่องของการที่จะมองว่าการต่อสู้ที่ชอบธรรมในบริบทของศาสนาอิสลามและในกรอบความสัมพันธ์ของประชาชาติมุสลิม เพื่อที่จะเอาการสนับสนุนในระดับเวทีเหล่านี้เพื่อขับเคลื่อนในเวทีที่สูงไปกว่านี้ ซึ่งก็คือยูเอ็น

ส่วนที่เป็นโจทย์กดดันเฉพาะหน้าก็คือเวทีโอไอซี ว่าโอไอซีมีการประเมินสถานการณ์ในชายแดนใต้อย่างไร และมองว่าเป็นปัญหาแบบไหนกันแน่ เป็นเรื่องของการกดขี่ปราบปรามมุสลิมหรือไม่? หรือว่าเป็นความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธระหว่างรัฐ ซึ่งไม่ได้เป็นรัฐมุสลิม แต่เป็นรัฐของคนไทยพุทธกับกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนของมลายูมุสลิม บริบทมันจะต่างกัน เพราะถ้าหากเป็นเรื่องของรัฐปราบปรามมลายูมุสลิม นี่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของกลุ่มติดอาวุธกลุ่มเล็กๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นตัวแทนของประชาชนมุสลิมในพื้นที่ ความหมายก็จะต่างกัน

อย่างในกรณีของปาเลสไตน์ก็จะถูกมองว่าเป็น Suppression of Islam and Muslim คือถูกมองว่าเป็นการกดขี่ทางศาสนาและประชาชนที่เป็นมุสลิม การสอบสวนจากนานาชาติมุสลิมเขาก็แรง แต่พื้นที่ภาคใต้มันอาจมีการวิเคราะห์ว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่หรอก กลุ่มแบ่งแยกดินแดนมีอยู่ไม่ถึง 5% ของมุสลิมในพื้นที่ และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นด้วย กลับหวาดกลัวการกระทำของพวกนี้ด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องของกลุ่มติดอาวุธสู้กับรัฐ อาจจะมีความเห็นอกเห็นใจบ้าง แต่ก็จะแสดงท่าทีมากไม่ได้

๐ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่ประกาศตัวชัดเจนด้วยหรือไม่ เพราะจะยิ่งทำให้เขาถูกโดดเดี่ยว?

ไม่รู้ เหตุผลนี้ไม่เคยคิดกัน มีแต่เพียงว่าการไม่ประกาศตัวเพราะว่ากลัวว่าจะถูกแทรกซึมจากฝ่ายไทยได้ง่าย ถูกระบุตัวแล้วก็มีการอุ้มฆ่า จะจับตัวได้ง่าย เวลาถามเรื่องเหตุผลในการที่ไม่ประกาศตัวมักจะได้คำตอบเกี่ยวกับความปลอดภัย เหตุผลของถ้าไม่รู้ตัวแล้วจะทำให้ขบวนการมีความขลัง น่าเกรงขาม ซึ่งขบวนการปฏิบัติหลายขบวนการก็ใช้วิธีการอย่างนี้ ใช้ความลับ (Secrecy) เป็นที่มาของอำนาจได้ ส่วนประเด็นเรื่องความกังวลว่าจะโดดเดี่ยวเขาไม่เคยพูด แต่อาจจะคิด

๐ อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ คือการป้องกันการระบุไว้ในคำฟ้องที่อ้างอิงถึงองค์กรซึ่งจะทำให้การตั้งข้อหาเกี่ยวโยงกับฐานความผิดที่หนัก เช่น กบฏ อั้งยี่ ซ่องโจร หรืออีกประเด็นการสร้างการบังคับเหนือทุกคน (วาญิบ) ในการต่อสู้ให้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะที่ผ่านมาประสบการณ์การต่อสู้มีการช่วงชิงการนำกันสูงในอดีต?

รวมถึงพวกมลายูปาตานีที่พลัดถิ่นอยู่ในต่างประเทศด้วย ซึ่งไปได้ไกลมาก แต่เรื่องอั้งยี่ ซ่องโจรนี่ ผมเคยถามเขาว่ากลัวกฎหมายไทยหรือไม่ เขาบอกว่าเขาไม่กลัวกฎหมายไทย แต่เชื่อว่าประเด็นการทำให้เป็นวาญิบมันมีเหตุผลมากกว่า แต่มันก็สะท้อนว่า หากเขาคิดอย่างนี้จริงก็สะท้อนความซับซ้อนความคิดและนโยบายของขบวนการ รัฐไทยในช่วงต้นไปประเมินพวกเขาผิด

จริงๆ เขามีความซับซ้อนของพัฒนาการในการตกผลึกทางยุทธศาสตร์พอสมควรทีเดียว และมีวิวัฒนาการไม่หยุดนิ่ง มันไปเรื่อยๆ ตัวขบวนการมันมีการหมุนไปเรื่อยๆ ยืดหยุ่นและปรับตามสถานการณ์ อย่างตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไปตามยุทธการ จะไปปรับอย่างไร จะเข้าไปสู่การนั่งนิ่งๆ เพื่อจะตกผลึกทางความคิดมากขึ้นหรือไม่? หรือจะแก้จะปรับออกมารูปแบบไหน

ผมมองว่าตั้งแต่ช่วงหลังปฏิวัติกันยาปี 49 เป็นต้นมานี้ เป็นช่วงของการทบทวนนโยบายว่าการทำที่ผ่านมา ขบวนการที่รุกคืบทางยุทธการแล้วอยู่ๆ ก็มีการรุกกลับอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการทหาร จะปรับกระบวนการหรือไม่ เพราะปีนี้จะเป็นปีที่น่าสนใจสำหรับขบวนการ สำหรับคนที่วิเคราะห์ขบวนการแบ่งแยกดินแดน เรามองว่าการปรับตัวหลังการปฏิวัติน่าสนใจ และกำลังรอดูผลอยู่ว่าจะมีการปรับออกมาในรูปใด

๐ เห็นสัญญาณการปรับตัวหรือไม่ อย่างไร?

เห็น แต่ยังไม่เห็นผลที่ออกมาในทางปฏิบัติ คือ เรื่องการบีบประเด็นเรื่องวาญิบให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ทำฟัตวาว่าการต่อสู้ในครั้งนี้จะต้องเป็นการต่อสู้ของทุกคน บีบคั้นคนมลายูมุสลิมที่ไม่เห็นด้วย และแสดงท่าทีขัดขืน แต่เป้าตรงนั้นกลับเป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งของขบวนการเสียมากกว่า ผมไม่เชื่อว่าการปกครองด้วยความกลัวจะยั่งยืน แต่ว่ารัฐเองก็พลาดที่ไม่สามารถทำให้คนในพื้นที่เขารักได้ ถ้าไม่อย่างนั้น การไปเพิ่มวาญิบให้เข้มข้นขึ้น และมีคำฟัตวาที่พุ่งเป้าไปที่คนในพื้นที่ด้วยกันเอง

ถ้ารัฐเล่นเป็น รัฐเปิดตัวให้เป็นพระเอก ปรับการกระทำให้ดีขึ้น แสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษขอโพย เยียวยาให้เป็นเรื่องเป็นราว รัฐจะสามารถดึงคนกลับมาได้ แต่ปัญหาคือตั้งแต่ปฏิวัติเป็นต้นมา รัฐก็เดินลงเหวลึกลงไปเรื่อยๆ ทหารก็คุมเยอะไป และมั่นใจในเรื่องยุทธการมากกว่ายุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นหายนะของการทำสงครามในลักษณะอย่างนี้ในทุกพื้นที่ทั่วโลก คือถ้าคุณมั่นใจในเรื่องยุทธการมากกว่ายุทธศาสตร์นี่ ฉิบหาย

๐ นั่นแสดงว่าในเชิงแนวคิด หลังจากกดทางยุทธการมากขึ้น แสดงว่าคำอธิบายต่อสังคมมลายูเองก็เป๋เหมือนกัน?

ใช่ เป๋เหมือนกัน ผมคิดว่าตอนแรกขบวนการอาจเข้าใจผิดว่ายุทธการของตัวเองสำเร็จ เพราะตีหนักเลย บุกตีที่โน่นที่นี่ ก่อเหตุพร้อมกันสามสิบกว่าจุด ระเบิดและทำร้ายเหตุรายวันได้ ก็เห็นว่าเราสามารถปลดปล่อยพื้นที่ เพราะมีอยู่ช่วงนึ่งตอนสักประมาณปลายยุคทักษิณ มีหลายพื้นที่ที่ประกาศว่าเป็นเขตปลดปล่อย เขาฮึกเหิมมากเมื่อเราไปในเขตพื้นที่นั้น มีการจัดชุดลาดตะเวน เหมือนโครงสร้างการลาดตะเวนของทหารเลย

คนที่ทำงานในอินโดจีนอย่างพวกผม จะเห็นว่าเหมือนรู้สึกเข้าไปในเขตปลดปล่อยของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่า อย่างเขตของกะเหรี่ยง ซึ่งมีการจัดกำลังลาดตะเวน ทั้งเดินและขี่มอเตอร์ไซค์ลาดตะเวน ความฮึกเหิมมันมี แต่พอถูกรุกกลับก็มองกันว่าความสำเร็จในทางยุทธการไม่ยั่งยืน เพราะว่าอะไร?

เพราะว่ามวลชนไม่เอาด้วยกับเราหรือเปล่า? ไม่เอาด้วยเพราะอะไร? นี่คือโจทย์ที่ขบวนการต้องตีให้แตก มวลชนไม่เอาด้วยเพราะมวลชนไม่มีความเชื่อมั่นในความสำเร็จ ไม่เอาด้วยเพราะถูก "ซื้อใจ" จากสิ่งต่างๆ ที่รัฐเอามาล่อ มวลชนไม่เอาด้วยเพราะว่าวิธีการของเราสุดโต่งเกินไป? เราต้องตีโจทย์ให้แตก หากเราตีโจทย์ว่าเรายังสุดโต่งไม่พอ แล้วคนไม่รัก ก็ต้องให้มันกลัว ซึ่งผมคิดว่ามันบั่นทอนตัวเอง แต่ก็น่ากังวลก็คือคนระดับนำทั้งฝ่ายทหารและการเมืองของขบวนการบอกว่าถ้าทำให้รักไม่ได้ก็ต้องทำให้กลัว คือไปมองในเชิงปฏิบัติ

วันหนึ่งเขาก็พูดตรงๆ ว่า อาจารย์...เรามีคนแค่นี้จะคุมคนขนาดนี้ได้หรือ คุมดัวยความกลัวไปก่อน แล้วรักค่อยว่ากันอีกที แต่ตอนนี้ให้กลัวไว้ก่อน จะได้ไม่กล้าขัด

๐ แต่ระดับพวกเขาก็น่าจะคิดออกว่าวิธีการแบบนี้มันมีผลด้านลบอย่างไร?

ใช่ เขาน่าจะคิดออก เพียงแต่ว่าในขบวนการ เราต้องยอมรับว่ามีสองส่วนที่คู่ขนานกันไป เหมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งมองเห็นความซับซ้อน ความสามารถในการคิด การปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติของตัวเองอยู่เรื่อย

แต่อีกด้านก็มีสิงที่พวกผมเรียกกันว่า Internal Mutation หรือการกลายพันธุ์กลายสภาพภายในองค์กร เนื่องจากแต่ละส่วนย่อยมีอิสระในการตีความปรับไปได้เอง เพราะฉะนั้นฐานในการปรับก็จะไม่เท่ากัน ในระดับบนอาจจะคิดเป็นเรื่องเป็นราวมาก แต่พอลงมาในระดับปฏิบัติมันอาจจะไปกันตามแต่ละส่วนย่อย ซึ่งอาจจะเป็นคนละเรื่อง

เช่นสองเซลล์ที่อยู่ติดกันโดยมีถนนกั้น แต่ความประพฤติต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฝั่งด้านหนึ่งเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ของขบวนการอื่นๆ ในพื้นที่อยู่ ก็บอกว่าพื้นที่นี้ผมไม่เอานะ

เพราะถ้าเกิดทำจะดึงให้ทหารเข้ามา จะเสียลับ แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ได้ก่อเหตุ ไม่สนใจว่าจะส่งผลระยะยาวอย่างไร แต่ต้องตีทหารให้แตก ทหารเข้ามาก็ซุ่มทุกครั้ง ทหารก็เลยกวาดทุกพื้นที่เลย แต่อีกเซลล์ก็สามารถจะยังอยู่ได้ แต่ว่ายังสามารถกุมสภาพลับได้พอสมควร ยังไม่โดนกวาดไป เรื่องนี้น่าสนใจ

๐ ทำให้นึกถึงกลุ่มสปรินเตอร์หรือกลุ่มที่แตกตัวออกมาในไอร์แลนด์เหนือที่เป็นเด็กหนุ่มที่เปรี้ยว ไม่เอากับพวกปีกการเมืองหรือพวกผู้ใหญ่ที่ใช้หนทางการเมืองเคลื่อนไหว?

ใช่ พวกเขาจะคิดว่าเป็นพวกที่คิดมาก มองกันว่าพวกผู้ใหญ่ไม่ศรัทธาต่อความเที่ยงแท้ ซึ่งหมายถึงความเที่ยงแท้ของอุดมการณ์การต่อสู้ เขานี่แหละเป็นของจริง ของแท้ ซึ่งก็กลับมาสู่ความหมายของคำว่า fundamentalism ซึ่งผมไม่เห็นด้วย

เพราะว่าคำนี้หมายถึงการเชื่อมั่นซื่อตรงต่อหลักปฏิบัติและหลักความเชื่อ แต่การนำมาใช้กับการต่อสู้มันถูกทำให้ไขว้เขว โดยเฉพาะพวกเปรี้ยวที่มองว่าคนอื่นมันบิดเบี้ยวไปจากแนวทางที่เที่ยงแท้ ซึ่งมันไม่ได้ เราเองก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำเหล่านี้ ทำให้พวกเคร่งศาสนาซวยและติดร่างแหไปด้วย

๐ คิดว่าปัญหาที่เป็นการกลายพันธุ์ภายในองค์กรที่ว่านี้ของพวกเขาเป็นปัญหาที่ใหญ่แค่ไหน จะต้องทำให้นิ่งในตอนนี้หรือไม่?

ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าปัญหาเหล่านี้มีการรับรู้ภายในองค์กรขนาดไหน เพราะปัญหานี้เป็นสิ่งท้าทาย รู้ก็อาจจะรู้แล้วแต่ยังไม่รู้ว่ามันจะมีแรงกระเพื่อมขนาดไหนจากปัญหานี้และผลที่ตามมา อย่างที่บอกว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมือนกับเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่าน เราไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย แต่เป็นสิ่งที่เราจับตาดู อย่างน้อยก็ HRW เราก็จับตาดูและมีนักวิเคราะห์ที่อยู่ในต่างประเทศ 2 - 3 คนที่ทำงานในทิศทางเดียวกันนี้ที่จับตาดูอยู่

ส่วนมากก็เป็นกลุ่มที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต่อกันค่อนข้างติดและเคยทำงานในสภาพเงื่อนไขที่คล้ายๆ กัน อย่างในอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์มาก่อน ซึ่งจะมีพัฒนาการคล้ายๆ กัน เช่นว่าตอนนี้ภาคใต้ของไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงนึงแล้ว ที่กำลังมี Mutation แต่ไม่รู้ว่าจะออกอย่างไร

มันอาจสามารถปรับตัวไปในทางที่ดีก็ได้ คือ มีการปรับตัวเปิดตัวปีกการเมืองขึ้นมา โดยอาจนำปีกการเมืองที่มีอยู่แล้วอาจทำการเปิดต่อสาธารณะ เพื่อทำการต่อสู้คู่ขนานกันไปกับการต่อสู้ทางด้านการทหาร ซึ่งจะเรียกว่ามีพัฒนาการด้านบวก จะเหมือนฟิลิปปินส์ คือ รบก็รบ แต่ก็มีการเจรจาด้วย จะมี front หรือแนวหน้าในด้านต่างๆ หรือปีกต่างๆ การเปิดตัวกลุ่มนั้นกลุ่มนี่ เป็นการต่อสู้กันในทุกมิติ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเสมอไป ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ท้งหมด

๐ หากยุทธการเป็นแบบนี้น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะคนตายน้อยลง?

น่าจะเป็นประโยชน์ แต่ก็สามารถมองได้ในด้านลบก็ได้ อย่างสายเปรี้ยวที่สามารถชี้นำทางการเมืองและบอกว่าคิดมาก มัวไปทำอย่างอื่นจนเสียความเข้มแข็ง กลับมาสู่สภาพเดิมคือสู้และฆ่ากันอย่างเดิม มันออกได้ทั้งสองทาง แต่ถ้าถามใจผม ผมอยากให้ออกเป็นอย่างแรกมากกว่า ดูสภาพพัฒนาการตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา ก็มีวิวัฒนาการในพื้นที่ที่ชี้ให้เห็นว่าไม่ได้มีปีกของการสู้รบเพียงอย่างเดียว มีปีกกิจกรรมการเมือง ปีกของการรณรงค์และปีกของการทำความเข้าใจ งานเหล่านี้มันเริ่มออกมา

ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่เชื่อมั่นในปรัชญาอุดมการณ์ชาตินิยมมลายู เห็นว่าแนวทางการเมืองน่าจะดีกว่า ผมเชื่อว่าคนที่ปรากฏให้เห็นในระลอกนี้ในช่วงอย่างน้อยปีสองปี เริ่มเห็นปีกด้านนี้ชัดเจนขึ้น เพียงแต่ว่ารัฐอย่าไปมองว่าคนเหล่านี้ เป็นเป้าที่ต้องถูกปราบปรามด้วยวิธีการทางทหาร มันจะกลายเป็นว่าคนที่สามารถจะพูดคุย เจรจา ต่อรอง หรือเสวนากันได้กลับถูกปราบไปด้วยวิธีการทางทหาร ในที่สุดสายพิราบจะไม่เหลือ จะเหลือแต่สายเหยี่ยว

๐ แล้วสายเหยี่ยวก็จะบอกกับพวกพิราบว่า นี่เป็นผลของการยอมอ่อนต่อรัฐไทย?

ใช่ ก็สร้างความชอบธรรมให้กับพวกเขา จริงๆ เรื่องสายเปรี้ยว รัฐไทยก็มีตัวอย่างในกรณีที่มีการไล่เก็บกลุ่มเข้าร่วมพัฒนาชาติไทยในช่วงต้นรัฐบาลทักษิณ มันทำให้สายเปรี้ยว ก็มีคำถามว่า เห็นมั้ย? คุณไม่ศรัทธาในหลักการวาญิบ คุณเข้าคบกับพวกกาเฟร (ผู้ปฎิเสธหรือคนต่างศาสนิก – กองบรรณาธิการ) ในที่สุดไม่ว่าเขาจะสัญญาอย่างไรเขาก็เป็นกาเฟร กาเฟรกับคนนายู (มลายู) อยู่ร่วมกันไม่ได้ พวกซิแยยังไงก็เชื่อไม่ได้ยังไงก็กลับมาฆ่าคุณอยู่ดี คุณร่วมมือขนาดนี้ กลับมามอบอาวุธให้ขนาดนี้ แต่เขาอยากให้คุณตายมันก็ตายได้

ในช่วงรัฐบาลทักษิณที่ใช้นโยบายปราบอย่างเดียว จากสงครามปราบปรามยาเสพติดและสงครามปราบผู้มีอิทธิพลมันทำให้หลายเซลล์ของบีอาร์เอ็นโคออดิเนตสถาปนาภาพพจน์ของตัวเองได้ แต่ในที่สุดเขาก็ทำลายไปเองในตอนหลัง แต่ตอนนั้นเขาสถาปนาเป็นผู้คุ้มครองคนมลายูปาตานีจากการกระทำของรัฐและเจ้าหน้าที่ซิแย

แต่หลังจากนั้นที่เขาไปกดดันผู้คนจำนวนมาก เขาก็เสียสถานภาพนั้นไป อย่างไรก็ตาม สถานภาพเหล่านี้มันก็สามารถรื้อฟื้นขึ้นมาได้ ถ้ารัฐไทยเล่นไม่เป็น