Skip to main content
สมัชชา นิลปัทม์
“ประสบการณ์” จะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
นี่อาจจะเป็นคำถามที่ทายที่สุดคำถามหนึ่งของคนที่ประกอบวิชาชีพ “ครู”
เป็นความท้าทายของการที่จะจัด “สภาพแวดล้อม” ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์บางอย่างจนสามารถที่จะซึมซับเอาความรู้ความเข้าใจ น้อมไปสู่ความงอกงามทางสติปัญญาและทักษะที่พึงประสงค์ในวิชาชีพ
“ประสบการณ์” อะไรที่ควรจะมอบให้แก่ผู้เรียน

การพบกับนักวิชาการบิ๊กเนมระดับโลกหาไม่ได้ง่ายๆ ในห้องเรียน

คงเป็นคำถามที่ไม่ด้อยไปกว่ากันกับคำถามแรก ว่าผู้สอนจะสามารถสร้างสรรค์บรรยากาศที่และแรงบันดาลใจ ผ่านกิจกรรมที่ถูกออกแบบหลากหลายเพื่อเป็นบันไดอันแข็งแกร่งไปสู่อนาคตของการทำงานได้จริง
ในการเรียนการสอนใน “ศาสตร์” ที่เป็นกลุ่ม “วิชาชีพ” (Professional)เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนแพทย์ พยาบาล วิศวกร กฎหมาย โรงเรียนวิชาชีพเหล่านี้เน้นหนักอย่างมากในการที่จะส่งเสริมให้นักเรียนของตนฝึกฝนตนเองอย่างเข้มข้นหนักหน่วงและนำพาตัวเองไปสู่สถานการณ์จริง เพื่อสร้างความคุ้นเคย เจตคติ จริยธรรมของวิชาชีพจะถูกผนวกรวมเข้าสู่สถานการณ์เฉพาะหน้าที่ตนเองไม่สามารถจะกำหนดได้

สถานการณ์เฉพาะหน้าในสนามต้องอาศํยการใช้สื่ออย่างพลิกแพลง

การวัดและประเมินผลทางการศึกษาในกลุ่มวิชาเหล่านี้ก็คือ ผู้เรียนจะต้อง “ปฏิบัติ” ได้จริงและสามารถแก้ไขปัญหาได้ลุล่วงในระดับที่น่าพึงพอใจ จึงจะถือว่าเกิดผลสัมฤทธิ์ในทางการศึกษา
ตัวอย่างการเรียนการสอนเหล่านี้คุ้นเคยดีในโรงเรียนแพทย์ที่นักเรียนจะต้องสามารถดูแลรักษาผู้คนได้จริง เพราะภายใต้สถานการณ์จริงพวกเขามี “ชีวิต” ที่ฝากไว้กับฝีมือของพวกเขา
แล้วการเรียนการสอนในโรงเรียนวารสารศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนฝึกฝนด้านวิชาชีพและสถาบันด้านวิชาการล่ะควรจะเป็นเช่นไร

แม้จะเป็นแค่นักศึกษาแต่หากมั่นใจก็สามารถเคียงบ่าเคียงไหล่กับมืออาชีพในสนามได้

รูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนวารสารศาสตร์ในอนาคตจึงเป็นประเด็นหนึ่งที่ร้อนแรงไม่แพ้เรื่องข้อเสนอเรื่อง สื่อเก่า –สื่อใหม่ ในยุคดิจิตอลที่ต้องปรับตัว
แรงสั่นสะเทือนนี้ลุกลามไปถึงการเรียนการสอนวารสารศาสตร์ว่าควรได้รับการปรับปรุงเสียใหม่ได้แล้ว เพราะเมื่อภูมิทัศน์ของการสื่อสารเปลี่ยนไป คุณค่าบางอย่างก็แปรเปลี่ยนไปด้วย เพราะหากไม่ปรับตัวเสียแล้วศาสตร์นี้อาจกลายเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์

คำถามดีๆ ก็มาจากนักข่าวฝึกปฏิบัติได้ หากรู้จัก "ทำการบ้าน" มาก่อน

ตามข้อเสนอของ Knight’s Eric Newton ในปี 2011 ซึ่งเป็นการระดมความคิดความเห็นของบรรดาคณาจารย์ในโรงเรียนวารสารศาสตร์ทั่วทั้งสหรัฐฯ ที่กำลังถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอน จากสภาพความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง (รวมถึงสภาพแวดล้อมของแต่ละสถาบันซึ่งมีปัญหาของชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยแตกต่างกันด้วย)
ทางออกของแนวทางการศึกษาแบบใหม่เสนอว่า โรงเรียนวารสารศาสตร์ ควรใช้ โมเดลระบบ “teaching hospital”ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนด้านทักษะการสื่อสารอย่างเข้มข้นแบบนักเรียนแพทย์ – พยาบาล ที่เรียนรู้ ผ่านการปฏิบัติจริง (learning by doing) จากห้องข่าว ที่นักศึกษาในยุคที่ใช้สื่อดิจิตอลสามารถใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวาโดยตนเองสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับชุมชนอย่างลึกซึ้ง

ทำงาน

แน่นอนว่าโมเดลลักษณะนี้เรียกร้องครูผู้สอนจะต้องเป็นผู้ผ่านทักษะปฏิบัติมาด้วยอย่างเข้มข้น สามารถเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับศิษย์เช่นเดียวกับอาจารย์ด้านการแพทย์ในการกำกับดูแลและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
เอาล่ะสิเรียกร้องเยอะขนาดนี้ ท่าทีของบรรดาคุณครูโรงเรียนสื่อจะปรับตัวกันอย่างไร ครั้งหน้าเราค่อยมาว่ากันต่อครับ ...

การวางแผนและสรุปบทเรียนในแต่ละครั้งจากการทำงาน ไม่ได้เป็นแค่การประเมินผลงานเท่านั้นแต่คืองานทาง "ความคิด" ที่จะหล่อหลอม "หน่ออ่อน" นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่ดีในอนาคต

 
หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “ข้างกำแพง” หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ฉบับที่ 761 วันที่ 22 – 28 กันยายน 2555