ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
หมายเหตุ : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาดังกล่าวในการปิดงานสัมมนา “การเมืองต้องนำการทหาร : ทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้สู่ความยั่งยืน” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมจัดกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ โดยมีรูปแบบในการนำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอของนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสันติสุข รุ่นที่ 1 ของสถาบันพระปกเกล้า ก่อนจะมีการวิจารณ์และนำเสนอของผู้เข้าร่วมสัมมนา
ก่อนที่จะพูดถึงปัญหาภาคใต้เป็นการเฉพาะ ผมมีข้อสังเกตเล็กๆ ข้อหนึ่งคือ ย้อนหลังไปประมาณไม่น่าจะเกินสิบปี ประเด็นปัญหาในเรื่องของการสร้างสังคมที่มีความสันติสุข เรื่องของความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ใช้ความรุนแรง ดูจะไม่ใช่ปัญหาที่เป็นข้อห่วงใยของสังคมไทยโดยทั่วๆ ไป สมัยหนึ่ง พูดกันว่าความรุนแรงที่เป็นปัญหามากที่สุดในสังคมไทย คือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งไม่ได้ปรากฏในสาธารณะ ทำให้นานาชาติได้รับรู้หรือรู้จักสังคมไทยในฐานะที่เป็นสังคมที่มีสันติสุขและสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นต่างๆ
แต่ต้องยอมรับว่ามาถึงวันนี้ การที่ไม่เพียงเฉพาะสถาบันพระปกเกล้า แต่สถาบันการศึกษาหลายแห่งก็ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับเรื่องของการสร้างกระบวนการที่จะยุติความรุนแรง สามารถขจัดข้อขัดแย้งต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงก็เป็นตัวสะท้อนว่าการจัดระบบทั้งในเรื่องของความคิดและการบริหารจัดการทั้งภาครัฐและภาคประชาชนมีปัญหาที่เราจะต้องเร่งสะสางแก้ไข ไม่สามารถปล่อยให้เป็นเรื่องลุกลามใหญ่โตไปกว่านี้ได้
เบื้องต้นตรงนี้ ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตครับว่าไม่เพียงเฉพาะปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ปัญหาในเรื่องการทำอย่างไรให้สังคมไทยย้อนกลับไปสู่ยุคที่เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขนั้น ต้องทำให้กลับคืนมา ซึ่งก็เป็นตัวบ่งบอกอย่างหนึ่งว่าการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ เช่น ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้แก้อยู่ในเฉพาะพื้นที่ แต่ต้องแก้บนความเข้าใจและทัศนคติของสังคมที่จะมีต่อเรื่องความหลากหลาย ต่อความเห็นหรือความต้องการที่ไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะในกลุ่ม สังคม องค์กร พื้นที่ จังหวัด หรือในระดับใดก็ตาม อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ
ผมก็เชื่อว่าสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรนี้ หรือหน่วยงานอื่นๆซึ่งทำงานเรื่องนี้ก็ดี คงจะต้องเร่งรัดในการกระตุ้นให้ภาพรวมของสังคมไทยสามารถที่จะมีความเข้าใจที่ดีต่อแนวทางของการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตรงนี้ได้
ผมจะเริ่มต้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของภาคใต้ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทุกท่านทราบดีว่ามีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์ หรือปัจจัยด้านสังคมวัฒนธรรม และปัจจัยอื่นมายาวนานพอสมควร อย่าไปมองว่าเป็นปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือมีคำตอบหรือแนวทางการแก้ปัญหาที่สำเร็จรูป ซึ่งเมื่อประกาศใช้หรือปฏิบัติแล้วจะยุติลงได้ในระยะเวลาสั้นๆ ผมได้บอกแล้ว ไม่ใช่ตอนที่เพิ่งเข้ามารับผิดชอบเท่านั้น ก่อนที่จะเข้ามารับผิดชอบด้วยก็เช่นเดียวกัน ว่าสถานการณ์ได้ลุกลามไปไกลเกินกว่าที่เราจะคาดหวังว่าสามเดือน หกเดือน หรือหนึ่งปีแล้วปัญหาจะจบ
ผมเองไม่ค่อยอยากที่จะไปย้อนประวัติศาสตร์หรือพาดพิง เพราะจะเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ก็ต้องพูดว่าช่วงปี 2545 เป็นต้นมา เมื่อมีการปรับเปลี่ยนนโยบายแนวคิดที่ลงไปจากระดับผู้นำ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะให้ปัญหาลุกลามบานปลาย แต่มันเป็นความผิดพลาดที่นำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายลง มีส่วนซ้ำเติมให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น
เมื่อสักครู่มีข้อเปรียบเทียบซึ่งดีมากในเรื่องของก้อนด้าย คือของในสังคม แม้กระทั่งทางวิทยาศาสตร์ การที่ทำจากความเป็นระเบียบเป็นความไร้ระเบียบนั้นง่ายมาก แต่กระบวนการย้อนกลับนั้นยากเย็นแสนเข็ญ เหมือนท่านทำของตกกระจายไปทั่ว จะรวมกลับมาให้เหมือนเดิม มันไม่ได้ใช้เวลา กำลังความคิด สติปัญญา หรือพลังงานเท่ากัน เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการสร้างระเบียบ สร้างความสมดุล ซึ่งในเรื่องของสันติภาพสันติสุข ความสมดุลที่ว่าคือความยอมรับ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และการมีความรู้สึกถึงความเป็นธรรมที่เกิดขึ้น ตรงนี้เราต้องประคับประคองซึ่งกันและกัน
ดังที่เราจะเห็นเป็นบางช่วง คือเราจะบอกว่ามีช่วงไหนที่เหตุการณ์สงบเลย ไม่มีครับ แต่ตรงไหนที่ประคับประคองในเรื่องของกระบวนการตรงนี้ให้มีความสมดุลตามสมควร เหตุการณ์ก็เกิดขึ้นน้อย ความรู้สึกของคนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการก็ถือเป็นคนกลุ่มน้อย และถือว่าไม่ใช่สิ่งที่สังคมหรือคนส่วนใหญ่จะต้องไปยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับด้วยความสมัครใจ หรือยอมรับด้วยความจำใจก็ตาม แต่ว่าพอความสมดุลตรงนั้นเสียไป มันไม่สามารถที่จะเรียกกลับมาได้ในระยะเวลาที่เทียบเคียงกัน เหมือนท่านคบกับเพื่อน อาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่ก็คบกันอยู่ด้วยกันได้ มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ก็เป็นเพื่อนที่ดีกันได้ แต่วันดีคืนดี เกิดเหตุอะไรก็ตาม มีเรื่องผิดใจกันขึ้นมา ทำให้ไม่สามารถไว้ใจกัน มันก็มีปัญหา ถามว่าพอมีปัญหาแล้วบอกไม่เป็นไร กลับมาไว้เนื้อเชื่อใจกันเหมือนเดิม มันคงไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น มันอาจจะยากกว่าการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจรอบแรก เพราะมันมีการละเมิดความรู้สึกที่ไว้ใจกัน
ตรงนี้ผมอยากให้สังคมเข้าใจในการเดินหน้าแก้ปัญหาตรงนี้ ผมจึงย้ำว่าการแก้ปัญหาต้องมีความอดทน ต้องมีความมั่นใจในแนวทาง ถ้าเราเชื่อเรื่องของความยุติธรรม เรื่องของโอกาส โดยอาศัยกลไกทางการเมือง นำเจตนารมณ์นี้ไปให้หน่วยงานต่างๆปฏิบัติ เราต้องยอมอดทนและต้องใช้เวลา และเราต้องนึกว่าฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เป็นอย่างนี้ เขาก็จะต้องตอบโต้อย่างรุนแรง ไม่ให้เราแน่วแน่ในแนวทางนี้
เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกว่าการแก้ปัญหาแม้จากวันนี้เป็นต้นไป สมมติสิ่งที่เราเห็นร่วมกันว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ถูกนำไปปฏิบัติ ก็ใช่ว่าการแก้ปัญหาจะมีความราบรื่น และในบางช่วงอาจจะเหมือนกับสถานการณ์เลวร้ายลงด้วยซ้ำ เพราะมันจะต้องเป็นแนวคิดที่ถูกท้าทาย ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นจุดสำคัญว่าเราจะเห็นความสำเร็จในการแก้ปัญหาได้ เราต้องสร้างเจตนารมณ์และวิสัยทัศน์ร่วมให้ชัดเจนเสียก่อน
ผมยืนยันครับว่ารัฐบาลในวันนี้มีความชัดเจนว่าต้องการที่จะแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร ประการแรกคือสิ่งที่เราต้องการจะเห็นปลายทาง คือการที่พื้นที่สามจังหวัดหรือสี่อำเภอจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้การปกครอง ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เป็นการปกครองที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายในเรื่องวิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรมนั้น ได้รับการดูแลที่จะทำให้เขาไม่ต้องสูญเสียอัตลักษณ์และความรู้สึกว่าถูกบีบบังคับให้ต้องเข้ามาอยู่ในสังคมที่มันฝืนหรือไม่ตรงกับความต้องการของเขา อันนี้คือเจตนารมณ์ที่ผมอยากจะเรียนให้ทราบอย่างชัดแจ้ง
ที่สำคัญคือว่าการเดินไปสู่จุดนั้น จะต้องเป็นการเดินไปบนการทุ่มเทของกระบวนการการพัฒนาและการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของประเทศอย่างสมดุล ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องพูดคือการเมืองนำการทหารไม่ได้หมายความว่าบทบาทของกองกำลังหรือบุคลากรฝ่ายความมั่นคงไม่มีเลย ไม่ใช่ครับ ผมอยากจะบอกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน การพึ่งพาฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องเดินควบคู่กันไปในการที่จะทำให้นโยบายซึ่งการเมืองเป็นฝ่ายนำเกิดขึ้นได้จริง ยังมีความจำเป็นครับ
แน่นอน ปลายทาง ถ้าเรายังจะต้องมีกำลังที่ดูแลเรื่องนี้ 60,000 กว่าคน ใช้เงินงบประมาณที่ต้องดูแลบุคลากร ไม่ใช่งบประมาณพัฒนานะครับ มากมายมหาศาล นั่นไม่มีทางถือเป็นความสำเร็จได้ ผมส่งสัญญาณชัดว่าสุดท้ายความสำเร็จจะวัดที่ว่าเราสามารถเริ่มถอยกำลังมาได้เมื่อไหร่ งบประมาณทางด้านนี้ลดลงเมื่อไหร่ นั่นจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างแท้จริง
แต่ถ้าบอกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงไม่เพิ่มขึ้นแล้ว หรือลดลงเล็กน้อย แต่ทุกปีกลับใส่คนเพิ่มเข้าไปหลักพันหลักหมื่น งบประมาณตรงนี้มากมาย ผมว่านั่นไม่ใช่ความสำเร็จ และไม่มีทางยั่งยืน แต่ว่าความจำเป็นของกองกำลังที่มีอยู่ในขณะนี้ คือต้องสร้างความมั่นใจ สร้างความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งส่งเสียงชัดเจนว่าต้องการ
ส่วนอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีความรู้สึกจากปัญหาในอดีต เวลาที่เกิดการปฏิบัติใดๆ ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่อยู่ในกรอบของกฎหมาย ก็มีการต่อต้าน ผมถึงได้ย้ำว่าเรื่องกองกำลังก็ดี กฎหมายพิเศษก็ดี ขณะนี้ ได้ให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าเป็นเรื่องของการรักษาความปลอดภัย ดูแลความมั่นคง และยังมีความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติการบางอย่างเหมือนกับในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงต้องมีปฏิบัติการเมื่อมีข้อมูลที่ชัดเจนว่ากำลังมีการสะสมอาวุธ วัตถุระเบิด มีบุคคลซึ่งมีหมายจับชัดเจนที่จะต้องดำเนินการ
ขณะนี้ กองทัพ ตำรวจ ข้าราชการฝ่ายปกครองทราบดีว่า การอยู่ตรงนั้นและการใช้กฎหมายพิเศษเป็นดาบสองคม ถ้ามีใครก็ตามไม่อยู่ในกรอบ ไม่อยู่ในนโยบายซึ่งได้ให้ไปชัดเจนว่าต้องไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องไม่มีการละเมิดกฎหมาย ต้องไม่มีการทำให้เกิดความรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเองอยู่เหนือกฎหมาย เพราะฉะนั้น เหตุที่มัสยิดไอปาแยจะเป็นบททดสอบสำคัญ และเราจะพิสูจน์ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องเราบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ใครเป็นผู้ก่อเหตุต้องมีการดำเนินการให้เห็นชัดว่ารัฐบาลไม่ได้เลือกปฏิบัติ และจะนำคนมาลงโทษ แม้ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ว่าข้อมูลที่ผมมีอยู่ไม่ใช่เรื่องของเจ้าหน้าที่ แต่เป็นคนกลุ่มใดก็ว่าไปตามข้อเท็จจริง หากแม้นเป็นก็ต้องลงโทษ เพราะไม่ใช่นโยบายรัฐบาลที่จะให้เจ้าหน้าที่หรือใครก็ตามไปก่อเหตุในลักษณะนี้ จะโกรธแค้น จะอะไรก็ตาม ไม่มีสิทธิที่จะไปทำเช่นนี้ และการกระทำเช่นนี้ เกิดขึ้นแต่ละครั้งก็ส่งผลกระทบต่อขวัญของประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
เพราะฉะนั้นตรงนี้ขอให้ชัดเจนว่าการที่มีการพูดว่าการเมืองนำการทหารจริงหรือไม่ ถ้าจริง ทำไมยังมีกองกำลังอยู่ ทำไมยังมีปฏิบัติการอยู่ ต้องบอกว่าไม่ได้ขัดกันครับ เพียงแต่ว่าหลักปฏิบัติ แนวทางในการปฏิบัตินั้นชัดเจน มีมติครม. มีแนวทางของกอ.รมน. ซึ่งได้ส่งลงไปชัดว่าแนวปฏิบัติคือต้องไม่มีการละเมิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิ และทุกเรื่องที่มีการละเมิดหรือมีการร้องเรียนขึ้นมา เราเอาใจใส่จริงจัง ร้องมาทุกเรื่อง ส่งมาถึงผม ผมก็ให้มีการติดตามทุกครั้ง เพื่อที่จะได้เกิดความมั่นใจว่าทิศทางในส่วนนี้ชัด
ถามว่าขั้นต่อไปจะทำอย่างไร ขั้นต่อไปเราต้องเดินหน้าในเรื่องของการพัฒนาและการอำนวยความยุติธรรม และในเรื่องของการรับรู้ รับทราบ เข้าใจ เข้าถึงพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ผมทราบดีว่าเวลาเราพูดถึงการพัฒนา ความสนใจก็ไปอยู่ที่งบประมาณ และก็มีคนพูดทำนองว่ารัฐบาลปัจจุบันคิดหรือว่าจะเอางบประมาณแก้ปัญหานี้ได้ ผมก็บอกเลยครับว่าผมไม่เคยคิดว่างบประมาณแก้ปัญหานี้ได้ แต่ผมคิดว่าการพัฒนาช่วยแก้ปัญหานี้ได้
แต่การจะพัฒนาต้องใช้งบประมาณ ถ้าพูดการพัฒนาแล้วไม่มีงบประมาณก็ไม่ต้องพูด เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าใช้งบประมาณและไม่พัฒนาก็ป่วยการ ซึ่งเราต้องเก็บเกี่ยวบทเรียนเหมือนกันว่าทำไมหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลทุ่มงบประมาณเป็นหมื่นล้านแสนล้าน แต่ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น นั่นแปลว่าใช้งบประมาณไปไม่ถูก ทั้งนี้ เราเริ่มต้นจากการมีคณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบปัญหาการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการตั้งเป้าหมายและกรอบการพัฒนาโดยมีสภาพัฒน์ฯเป็นตัวนำ
เป้าหมายคือการยกระดับรายได้ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตามกระบวนการพัฒนาและการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและชุมชน ไม่ใช่บอกว่าจัดให้ทุกคนรวยขึ้นมา ไปบอกให้ทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้ ไม่ใช่ แต่ใช้โครงการขนาดเล็กเข้าไปดำเนินการตามชุมชนต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็เข้าไปด้วย เพราะมิฉะนั้น หลายพื้นที่เข้าไปไม่ได้ อันนี้คงต้องพูดตรงไปตรงมา เรามีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องของการยกระดับรายได้และการสร้างงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือต้องสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาคน นั่นหมายถึงเรื่องของการศึกษาและเยาวชนเป็นการเฉพาะด้วย
ผมขอยกตัวอย่างเรื่องการใช้อุตสาหกรรมฮาลาล ต้องยอมรับว่าในอดีต พอพูดเรื่องนี้ขึ้นมา คนก็พูดถึงเรื่องนิคมอุตสาหกรรม บางคนคิดไปไกลว่าเราจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นศูนย์กลางเป็นต้น แต่วันนี้ผมบอกกับคนทำงานว่าเราต้องเปลี่ยนทัศนคติ ฮาลาลที่ประชาชนจะสัมผัสได้ขณะนี้ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม แต่วัตถุดิบที่ป้อนเข้าอุตสาหกรรมฮาลาลคือภาคเกษตร ไปทำตรงนั้นซะ แล้วถ้าวันนี้เรายังไม่พร้อมแปรรูป หรือทำทุกอย่างครบวงจรในพื้นที่ตรงนั้น เราก็ไปร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ไม่มีปัญหาอะไร อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องการช่วงชิงกับเขา และความจริงถ้าเราร่วมมือกับเขา เขาก็ต้องยิ่งมาช่วยเราแก้ปัญหาให้เกิดความสงบในพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น นี่เป็นตัวอย่างที่ผมยกให้เห็นครับว่าเวลาพูดเรื่องเดียวกัน การพัฒนา งบประมาณ ฮาลาล แต่กลับแตกต่างกันลิบลับว่าเรามีวิธีคิดในเรื่องดังกล่าวอย่างไร
ผมตั้งใจเต็มที่ว่าจะเปลี่ยนวิธีการทำงานได้ และต้องขอความเป็นธรรมครับว่าบางทีบอกรัฐบาลประกาศใช้เงินเท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น เงินนั้นพึ่งอนุมัติไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว พึ่งเริ่มต้นครับ ตัวเงินที่จะไปทำก้อนแรกคือที่วุฒิสภาพึ่งผ่าน พ.ร.ก.ให้วันจันทร์ที่แล้วนี้เอง รัฐบาลก็ต้องไปดำเนินการออกพันธบัตรต่างๆ ตามมา ซึ่งจะเริ่มต้นได้ก็เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป แน่นอน อาจจะมีส่วนหนึ่งที่ปรับมาจากงบประมาณที่มีอยู่แล้ว แต่ตรงนั้นก็ยังทำตามแผนได้ไม่เต็มที่
ตรงนี้ เรามีแผนสามปีข้างหน้า เรามีเป้าหมายชัดเจน นี่คือกระบวนการการพัฒนา พร้อมๆ กันไปก็พยายามที่จะคลี่คลายปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่มีการหยิบยกขึ้นมาพอสมควร เช่น กรณีการศึกษา เร็วๆ นี้ มีองค์กรเอกชนไปออกรายงานเรื่องของการมีสถานศึกษาเป็นที่บ่มเพาะผู้ก่อความไม่สงบต่างๆ หลักของเราคือขณะนี้รัฐบาลจะช่วยดูแลให้สถาบันการศึกษาทุกประเภท ตอบสนองความต้องการของชุมชนในท้องถิ่น ให้ได้รับการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของหลักธรรมคำสอนตามความเชื่อ ตามศาสนาของเขา พร้อมๆ กับการสร้างโอกาสให้คนเหล่านี้มีทักษะในการทำงานอย่างชัดเจน
เรื่องที่ดำเนินการไปแล้วคือการรื้อฟื้นให้มีสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) ขึ้นเฉพาะในพื้นที่นี้ คือเมื่อก่อนมี สช. แต่ถูกยุบไปตามแผนที่มีการปฏิรูปการศึกษาตอนนั้น สำนักงานการศึกษาเอกชนก็หายไป โดยไปอยู่กับหน่วยงานส่วนกลาง แต่ตอนนี้มี สช.เฉพาะในพื้นที่แล้ว เพื่อผลักดันและสนับสนุนทั้งในเรื่องของงบประมาณและบุคลากร ซึ่งจะมาโยงกับโรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนรัฐ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่เรากำลังเดินหน้าทำอยู่ ซึ่งเป็นจุดที่สะท้อนว่าไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในเรื่องของการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ก็จะต้องมีการดำเนินการพร้อมๆกันไปด้วย ซึ่งรัฐบาลตระหนักดี
อย่างไรก็ตาม ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าโครงสร้างที่เป็นอยู่ด้วย มี กอ.รมน. มี ศอ.บต. ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างดังกล่าวก็มาบรรจบกันที่ตัวผมนี้ในฐานะนายกรัฐมนตรีหรือผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จริงๆ แล้วเราก็ยังต้องการบูรณาการตรงนี้ในลักษณะที่ถาวรและเป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายรองรับ และให้ฝ่ายการเมืองขึ้นมารับผิดชอบ เพราะงานสองฝ่ายนี้ต้องเชื่อมโยงกัน
และขณะนี้ผู้อำนวยการของ ศอ.บต. ก็คือข้าราชการระดับรองปลัดกระทรวงเท่านั้น ก็มีปัญหาครับ เห็นใจทุกคนที่ทำงาน เห็นใจตัวท่านผู้อำนวยการด้วย ผมก็เข้าใจ การที่ท่านจะบังคับบัญชาหน่วยงานจากกระทรวงอื่นๆ มันมีความยากลำบากอยู่ ทีนี้กฎหมายนี้ก็เป็นกฎหมายที่เราจะพยายามผลักดันเข้าไปในการพิจารณาของรัฐสภาในสมัยประชุมนิติบัญญัติ ต้องเรียนว่าเหตุผลที่ช่วงแรกยังไม่ได้เร่งตรงนี้
เพราะ หนึ่ง ต้องยอมรับว่าสภาวะการเมืองในสภาช่วงสมัยประชุมที่แล้วตอนมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ยังไม่นิ่งนัก แต่ตอนนี้ก็พิสูจน์แล้วนะครับ สมัยประชุมที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายและข้อตกลงต่างๆ ได้มากกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ
สอง เราเพิ่งมีการผลักดันกฎหมายความมั่นคงออกมาบังคับใช้ปีที่แล้ว และเหตุผลหนึ่งซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับ ศอ.บต.ออกมาไม่ได้ในยุค สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ก็คือกฎหมายสองฉบับนี้ที่ สนช.ดูแล้วยังไม่ลงตัว จึงมีปัญหาตกค้างมาจากตรงนั้น และจนถึงวันนี้ กฎหมายความมั่นคง พ.ศ.2551 นี้ก็ยังไม่ได้มีการบังคับใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบ เพิ่งมีการจัดกำลัง วางโครงสร้าง อนุมัติกำลังคนไป และการใช้กฎหมายความมั่นคงที่ประกาศเป็นพื้นที่จริงๆ ยังไม่ได้เริ่มครับ วันนี้ก็จะมีเริ่มในส่วนของการที่จะไปดูแลปัญหาที่ภูเก็ตในช่วงที่จะมีการจัดประชุมอาเซียนในเดือนหน้า แต่ว่ากำลังไล่ทำข้อเสนอเพื่อเอากฎหมายความมั่นคงเข้าไปทดแทนกฎอัยการศึก ซึ่งอาจจะเริ่มต้นในจังหวัดชายแดนในพื้นที่อื่นๆ ก่อน แต่เป็นเจตนาที่ชัดว่าเรากำลังจะเอากฎหมายพิเศษซึ่งเบากว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก ค่อยๆเข้ามาทดแทนตรงนี้ เช่นเดียวกัน
การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงรัฐบาลผมเกิดขึ้นมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกรัฐบาลเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่เกินสองสัปดาห์ ไม่มีทางเลือกครับ เมื่อหน่วยงานขอให้ต่อก็ต้องต่อ แต่วันนั้นก็ได้กำหนดไว้ว่า เมื่อจะมาต่อรอบที่สอง ขอให้ไปทำการสำรวจ ประเมินอย่างชัดแจ้งว่าเป็นอย่างไร เดือนเมษายน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานมาโดยมีผลสำรวจต่างๆ มาเรียบร้อย และยืนยันว่าขอต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครม.ก็อนุมัติ แต่รอบที่สามนี้ กำลังจะขอให้องค์กรภายนอกเป็นผู้ประเมินบ้าง ซึ่งรัฐมนตรีถาวรก็ได้รับไปและเข้าใจว่าได้ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานีเป็นผู้ประเมินรอบนี้ ก็จะให้เห็นภาพที่มีความชัดเจนมากขึ้น
ฉะนั้น ท่านจะเห็นว่าที่พูดว่าการเมืองนำการทหารในขณะนี้ ไม่ได้พูดลอยๆ มีการปรับในเรื่องของกระบวนการนำไปสู่แผนพัฒนา มีกระบวนการประเมินทบทวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับอำนาจและกฎหมายต่างๆ รวมทั้งแนวปฏิบัติ ซึ่งเมื่อสักครู่ที่มีสุภาพสตรีที่พูดให้ฟังถึงเรื่องปัญหาการทำงานเกี่ยวกับการข่าวต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เรารับทราบและก็จะต้องมีการแก้ไขปัญหาต่อไป
โดยสรุป ผมอยากจะบอกว่าแนวทางการเมืองนำการทหารนี้ชัด และกำลังดำเนินการอยู่ แต่ผมยอมรับว่าเรากำลังพูดถึงคนจำนวนหลักหมื่นถ้าไม่ใช่เป็นแสนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ การทำความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง แต่ผมมั่นใจว่าถ้าแน่วแน่ในทางนี้ ไม่หวั่นไหว แม้กระทั่งช่วงที่ถูกทดสอบแรงๆเหมือนกับสองสามสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ถ้ายังแน่วแน่อยู่เช่นนี้ ผมเชื่อว่าเราเดินได้ สัญญาณเราจะชัดครับ
ส่วนการพูดคุย เนื่องจากว่าในรายงานของนักศึกษานี้เน้นเรื่องของการพูดคุย ผมยืนยันครับว่ากระบวนการพูดคุยทั้งหลายนี้มีประโยชน์ทั้งสิ้น เพียงแต่ยืนยันว่าในส่วนของรัฐบาล เราถือว่าปัญหานี้เป็นปัญหาภายในของเรา ซึ่งแก้ไขได้และย้ำเสมอ สื่อสารไปยังกลุ่มขบวนการทั้งหลายว่าจริงๆ แล้วเป้าหมายสุดท้ายของเขา ถ้าพูดถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สันติสุข และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างที่รู้สึกว่าไม่ได้ถูกเลือกปฏิบัติ และยังคงรักษาอัตลักษณ์ไว้ได้ ถ้าเป้าหมายท่านอยู่เท่านั้น ก็ไม่ได้ต่างไปจากเป้าหมายของรัฐบาลของผม พูดคุยกันได้ แต่ผมไม่ยอมรับวิธีการรุนแรง และผมไม่เชื่อด้วยว่าใครใช้วิธีการรุนแรงแล้วจะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ในที่สุด เพราะอย่างมากที่สุดคือสร้างได้แค่ความกลัว ให้คิดว่าคนอยู่ในฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงด้วยความกลัวไม่มีทางยั่งยืน และไม่มีทางแก้ไขปัญหา และไม่มีทางนำไปสู่เป้าหมายที่อ้าง ถ้าใช้ความรุนแรงแล้วอ้างว่านำไปสู่ความเป็นธรรม อ้างว่านำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า อ้างว่าจะเป็นสังคมที่คนอยู่อย่างมีสันติ ไม่จริงครับ เพราะความรุนแรงเป็นตัวพิสูจน์ในตัวว่าคุณไม่ได้เชื่อเรื่องเหล่านี้ ถ้าเชื่อจริง ต้องหยุด มาพูดคุยกัน เพราะผมยืนยันความจริงใจและความตั้งใจว่าเราต้องการที่จะสร้างสังคมสันติสุขจริงๆ
การที่เรามีมาตรการ ระบบบางสิ่งบางอย่างซึ่งจะต้องมีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพของชุมชน ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลนี้ปิดกั้นเลย พรุ่งนี้ก็จะมีการจัดสัมมนาเรื่องกระบวนการยุติธรรมสำหรับภาคใต้ ซึ่งก็จะเรื่องที่เกี่ยวพันไปถึงเรี่องของชะรีอะฮฺ เราก็ไม่ได้ปิดกั้นเลยครับ พร้อมที่จะมีการศึกษา มีการดูแล การที่จะพูดถึงว่ามีการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบที่แตกต่างไปจากอบจ. เทศบาล อบต. ก็ไม่มีอะไรที่ขัดข้องเลย กรุงเทพมหานครก็พิเศษ เมืองพัทยาก็พิเศษ คุยกันได้ เพียงแต่ว่าถ้าจะอ้างว่าเมื่อมีรูปแบบพิเศษแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ก็ไม่แน่นะครับ เพราะหัวใจของความยุติธรรมอยู่ที่ความสัมพันธ์ของผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ไม่ใช่ว่ารูปแบบคืออะไร ถ้าบอกว่าต้องรวมเป็นท้องถิ่นใหญ่พิเศษสามจังหวัด แต่คนบริหารสามจังหวัดยิ่งอยู่ห่างไกลห่างเหินจากประชาชนในพื้นที่ ผมก็มองไม่เห็นว่าจะมีความยุติธรรมที่ดีขึ้นได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ทั้งหลายทั้งปวงนี้จึงกลับมาที่จุดเริ่มต้นของผมครับว่าวันนี้สังคมไทยตกผลึกแล้วหรือยังว่าสันติสุขจะต้องเกิดขึ้นจากความยุติธรรม จากโอกาส และจากการยอมรับความหลากหลาย ถ้าเราตกผลึกได้ ซึ่งไม่ใช่หมายถึงเจตจำนงร่วมกันของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่คนนอกพื้นที่อีก 70 กว่าจังหวัดต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ผมมั่นใจว่าแนวทางที่เราเดินจะบรรลุความสำเร็จได้ แต่ถ้าเรายังไม่สามารถหล่อหลอมให้เกิดเจตนารมณ์และวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างนี้ เราเดินไปก็จะมีปัญหาตลอดเวลา มีทางซ้าย ขวา หน้า หลัง ที่คอยดึง คอยสกัด คอยท้วง คอยขัดขวางไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
ผมต้องขอขอบคุณสถาบันพระปกเกล้าอีกครั้งหนึ่ง และขอแสดงความชื่นชม ซึ่งผมได้รับทราบว่าหลายคนที่เข้าร่วมอยู่ในหลักสูตรนี้ ไม่เพียงแต่มาศึกษา แต่กำลังมีความตั้งใจที่จะนำหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นข้อเสนอนี้ไปปฏิบัติจริง ก็ขออวยพรให้ทุกๆ ท่านประสบความสำเร็จ เพราะหากเราสามารถทำความสำเร็จให้เกิดขึ้นตรงนี้ได้ นั่นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนและสังคมไทย ซึ่งต้องการที่จะเห็นการคลี่คลายความขัดแย้งในทุกส่วน และทำให้ความรุนแรงหมดไปขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง และขอย้ำยืนยันว่าหากท่านมีข้อมูลหรือความคิดความอ่านอะไร สามารถสื่อสารถึงผมและรัฐบาลได้ตลอดเวลา เพราะผมจะรับฟังและพิจารณาเพื่อจะได้คำตอบที่ดีที่สุด
ผมทิ้งท้ายไว้อย่างหนึ่งว่าการทำงานเรื่องนี้ยังต้องอาศัยเวลาอีกพอสมควร ขอให้ทุกคนมีความแน่วแน่ มีความอดทน และจะมีความสำเร็จ และเมื่อวันนั้นมาถึง จะไม่ใช่ความสำเร็จของรัฐบาลหรือผู้นำคนใดคนหนึ่ง แต่จะเป็นความสำเร็จของความเข้มแข็งของสังคมไทยเอง ซึ่งได้เรียนรู้ในที่สุดว่าการอยู่ร่วมกันและการสร้างสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างสันติสุขนั้นเป็นอย่างไร ขอขอบคุณครับ