Skip to main content

 

เอกรินทร์ ต่วนศิริ
 
บทนำ
 
โลกปัจจุบันมีประเทศ 28 ประเทศที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่และมีจำนวนประชากรรวม 800 กว่าล้านและมีอีกหลายประเทศที่มีจำนวนประชากรกลุ่มน้อยเป็นมุสลิมกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 1,200 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรในโลก แม้กระทั่งในยุโรปซึ่งแหล่งศูนย์รวมคริสต์ศาสนา การย้ายเข้าไปตั้งถิ่นของมุสลิมและการเปลี่ยนศาสนามาสู่อัลอิสลาม ทำให้ศาสนาอิสลามมีจำนวนคนนับถือมากเป็นอันดับสอง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในโลกใบนี้ไม่มีรัฐใดที่ใช้ระบบปกครองแบบรัฐอิสลามอย่างเต็มรูปแบบ แต่รัฐต่างๆที่อยู่ในโลกใบนี้ต่างให้ความสำคัญกับการปกครองในระบบประชาธิปไตยโดยพยายามพัฒนาปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐของตน
หากจะกล่าวต่อไปแล้ว บรรดานักวิชาการได้ถกประเด็นเรื่องประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางเพื่อที่จะหาจุดสมดุลของโลกที่ต้องการอยู่ร่วมกันหรือจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันอย่างปฎิเสธมิได้ ประชาธิปไตยจึงถูกหยิบยกมากล่าวมากที่สุดหลัง
จนกระทั่งในปัจจุบันระบบประชาธิปไตยถือได้ว่าเป็นระบบที่ได้ถูกการยอมรับมากที่สุด แม้กระทั่งประเทศมุสลิมเองก็ตามก็พยายามที่จะบอกว่าประเทศตนเองใช้ระบบประชาธิปไตยแบบอิสลาม อย่างไรก็ดีแนวคิดของมุสลิมเองก็ยังคงไม่ลงรอยกันไปเสียทั้งหมด กล่าวคือควบคู่ไปกับฝ่ายแนวคิดแบบสุดขั้วที่เชื่อว่า วิถีแห่งอิสลามกับค่านิยมแบบประชาธิปไตยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยังมีฝ่ายนักกระแสสมัยใหม่นิยม (modernist) ที่กำลังหาคุณค่าแห่งวิถีประชาธิปไตยอยู่เช่นกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิชาการที่สนใจศึกษาประชาธิปไตยและระบบการเมืองการปกครองรูปแบบอิสลามจะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อประเด็นดั่งกล่าว
 
ประชาธิปไตยที่เข้าใจ
 
เมื่อพิจารณาจากรากศัพท์ภาษากรีกสองคำ ได้แก่ คำว่า "demos" และ "kratia" แล้ว ประชาธิปไตย น่าจะหมายถึงการปกครองโดยประชาชน อันเป็น "ระบบการปกครองที่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนต่อสาธารณชนหรือพลเมือง ผู้ซึ่งสามารถแสดงออกทางการเมืองผ่านบรรดาตัวแทนผู้ได้รับการเลือกตั้งนั่นเอง" ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับมวลชน เป็นหลักการปกครองตนเองของภาคประชาสังคม และเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองด้วยจิตวิญญาณ (spirit) อันประกอบด้วยความอดกลั้นและการประนีประนอมต่อความแตกต่างที่มีอยู่[1]
โยเซฟ ชุมปีเตอร์ นักเศรษศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ให้นิยาม ประชาธิปไตยคือ การจัดแจงทางสถาบันเพื่อการตัดสินใจทางด้านการเมืองซึ่งในสถาบันนั้นปัเจกชนอาจแสวงหาอำนาจที่จะตัดสินใจด้วยวิถีทางแห่งการต่อสู้แข่งขันเพื่อคะแนนเสียงของประชาชน
หมายถึงว่าจะต้องมีการจัดตั้งสถาบันแบบต่างๆ ให้ทำหน้าที่ตัดสินใจปัญหาทางด้านการเมืองโดยบุคคลที่จะมีอำนาจตัดสินใจในองค์กรเหล่านั้น ต้องได้รับมอบอำนาจจากการลงคะแนนเสียงของประชาชน[2]
ส่วนหลักการที่สำคัญของระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยมีอยู่ 3 ประการ
  • 1.     หลัก อำนาจอธิปไตย เป็นของมวลชนหรือมาจากประชาชน
  • 2.     หลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  • 3.     หลักนิติรัฐ( Rule of Law )
ส่วนหลักการอื่นๆที่มักอ้างกัน เช่น การปกครองของเสียงส่วนใหญ่( Majority Rule ) หลักการเลือกตั้ง และอื่นๆ นั้นเป็นหลักการรองลงมา เป็นหลักของวิธีการมากกว่าจะเป็นหลักการในเชิงปรัชญา ถือว่าเป็นรูปแบบมากกว่าซึ่งบางประเทศก็ได้มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมและการยอมรับของคนในประเทศนั้นๆที่ยึดถือกันว่ากระบวนการต่างๆนั้นสามารถตอบสนองหลักการทั้งสามประการดั่งกล่าวได้
ในส่วนเรื่องของประชาธิปไตยนั้นผู้เขียนขอนำหลักการสามประการที่ถือว่าเป็นแก่นสารของระบบประชาธิปไตยมาเป็นส่วนสำคัญในการอธิบายกับระบบการปกครองอิสลาม
 
รัฐอิสลาม
 
รัฐอิสลามที่สมบูรณ์แบบเคยเกิดขึ้นมาแล้วในโลกใบนี้สมัยท่านศาสดามูฮัมมัด(ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮีวาสาลาม)  และสมัยเคาะลีฟะฮฺทั้งสี่ ซึ่งปกครองอาณาจักรอิสลามต่อจากท่านศาสดาเป็นเวลาถึง 30 ปี
ระบบการเมืองอิสลามถูกกำหนดด้วยหลัก 3 ประการ
1.        เอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า (Allah) (ซุบฮานาฮูวาตาลา)
หลักเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า หมายถึง ความเชื่อที่ว่า พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่เป็นผู้สร้าง เป็นผู้อภิบาลและเป็นเจ้าของสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาล พระองค์เท่านั้นที่เป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยสูงสุด โดยไม่มีสิ่งใดมาเทียบเท่า อำนาจอธิปไตยเป็นของพระองค์
2.     ความเป็นศาสดาของมูฮัมมัด (Sunnah) หมายถึง แบบฉบับการดำรงชีวิตและการปฏิบัติของมูฮัมมัด(ศ็อล)ถือได้ว่าเป็นอย่างของมุสลิม และรัฐอิสลามก็เริ่มจากมูฮัมมัด(ศ็อล)โดยถือว่ารัฐที่สมบูรณ์ที่สุด
3.     ระบบเคาะลีฟะฮฺ (Caliphate) หมายถึง ระบบ การเป็นตัวแทน กล่าวคือในอิสลาม มนุษย์มีฐานะเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าบนหน้าพื้นแผ่นดิน ตัวแทนในที่นี้หมายถึงตัวแทนแห่งคุณธรรมและอำนาจของพระองค์ ซึ่งมีสิทธิที่จะใช้อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าบนพื้นแผ่นดินนี้ได้ภายใต้ขอบเขตที่พระองค์ทรงบัญญัติใว้
                                                                                
                                                                   
  • กลไกเครื่องมือของรัฐอิสลาม ได้แก่ อัลกุรอาน , ซุนนะหรือหะดีษ , อิจติฮาด (อิจมาอฺ) , ชูรอ , อุมมะ , ฟัตวา
  • ทฤษฎีของอิสลาม (เครื่องมือกลไกของรัฐอิสลาม) จะต้องสะท้อนเตาฮีดของอัลลอฮฺ
  • อิมามะ คือ ผู้นำทางการเมืองในเชิงศาสนา โดยจะนำทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองทั้งหมด
การจัดตั้งอิมามะถือว่าเป็นฟัรฎูกิฟายะ (เป็นภาระกิจภาคบังคับทางสังคม) โดยจะมีหน้าที่ดูแลทั้งทางวัตถุและจิตใจ “ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของประชาชน และผู้ปกครองจะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดว่าดีแก่ประชาชน”
                ประเด็นที่สำคัญอย่างมากที่จะต้องกล่าวถึงคือการเลือกหาวิธีการต่างๆเพื่อให้บรรลุสาระสำคัญ 3 ประการข้างต้น และอิสลามได้กล่าวถึงเรื่องระบบการคัดสรรผู้นำในแบบอัลอิสลามไว้ในอัลกรุอานอย่างชัดเจน[3]
 
ทฤษฎีและการเลือกเคาะลีฟะฮฺ
 
นิยามตามเชิงภาษาศาสตร์ของคำว่า “เคาะลีฟะฮฺ”
 
                ในภาษาอาหรับ คำว่า เคาะลีฟะฮฺ” มาจากรากศัพท์เดิมว่า “เคาะลาฟา” หมายถึง “ผู้ทดแทน” หรือผู้ที่เข้าไปแทนฐานะของบุคคลผู้หนึ่ง คำพหูพจน์ของเคาะลีฟะฮฺ นั้นคล้ายกับตำแหน่งอิหมาม(ชาวมุสลิมนิกายชีอะฮฺนิยมใช้กัน) และคำว่า “คิลาฟะฮฺ” ย่อมเสมอเหมือน “อิมามมะฮิ” ของชาวชีอะฮฺเช่นกัน
นิยามตามเชิงอรรถ
                ตามเชิงอรรถในด้านวิชาการทางอิสลามแล้ว คำว่า “เคาะลีฟะฮฺ” มีความหมายได้ 3 ประการคือ
1.        เป็นผู้แทนหรือสืบทอดหน้าที่หรือสืบทอดหน้าที่แทน รสูลุลลอฮฺ จะเห็นได้ว่าเคาะลีฟะฮฺ อบูบักรอัศ-ศิดดิก เคาะลีฟะฮฺท่านแรกแห่งนครมะดีนะฮฺ ได้เรียกตนเอง “เคาะลีฟะฮฺตุลรสูลลุลอฮฺ”(อันหมายถึงผู้สืบทอดหน้าที่แทนรสูลุลอฮฺ แต่มิใช่เป็นผู้สืบทอดหน้าที่แทนอัลลฮฺ) หมายความว่าเป็นผู้สืบทอดหน้าที่แทนรสูลุลอฮฺ ในเรื่องที่เกี่ยวกับทางโลก รวมทั้งดำเนินการเผยแผ่และคุ้มครองศาสนาอิสลามไม่ใช่ในเรื่องความเป็นศาสดาหรือผู้ก่อตั้งชะรีอะฮฺ (กฎหมายอิสลาม)
2.        เป็นผู้สืบทอดหน้าที่ของท่านรสูลุลลอฮฺ เพื่อดำเนินการในเรื่องต่างๆ โดยการปฏิบัติและดำเนินการให้อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎเกณฑ์ตามที่ศาสนาอิสลามได้ระบุใว้
3.        เป็นประมุขของรัฐ เพื่อเป็นแบบฉบับที่ดีแก่ประชาชนทั่วไป อิบนิคอลดูน บิดาแห่งปรัชญาอิสลาม ได้ให้คำนิยามของ “เคาะลีฟะฮฺ” นั้นเป็นผู้นำที่จะต้องนำประชาชนที่อยู่ใต้อำนาจให้ดำเนินชีวิตตามชะรีอะฮฺที่ระบุใว้ในอัลกรุอานเพื่อขอประทานความสำเร็จในชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้า[4]
 
แนวความคิดของกลุ่มต่างๆที่มีต่อตำแหน่งผู้นำรัฐอิสลาม
 
หลังจากที่ท่านศาสดามูฮำหมัด ได้เสียชีวิต ในวันจันทร์ที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล ฮิจเราะฮฺที่ 11 ได้มีความเห็นที่แตกต่างกันไปในเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นผู้นำรัฐอิสลามต่อจากท่านศาสดา โดยได้แบ่งออกเป็นสามแนวความคิดด้วยกันคือ
1.        ตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺนั้นจะต้องมากลุ่มอันศอรฺเท่านั้น
กลุ่มอันศอรฺ(ส่วนใหญ่เป็นพี้นเมืองชาวมะดีนะฮฺ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือครั้งที่ท่านศาสดาอพยพจากเมืองมักกะฮฺมาสู่เมืองมะดีนะฮฺ) โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มอันศอรฺนั้นได้ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มที่อพยพมาคือกลุ่มมุฮาญีรีน(ซึ่งเป็นชาวมักกะฮฺที่อพยพมาพร้อมกับท่านศาสดา)[5] อีกทั้งได้เผยแผ่อิสลามให้กวางขว้างออกไปอีกด้วย พร้อมทั้งได้พิทักษ์รักษาท่านศาสดาในนครมะดีนะฮฺ และเป็นบุคคลที่อยู่ในดินแดนถิ่นกำเนิดด้วย พวกเขาจึงอยู่ในฐานะที่สมควรจะได้รับการเป็นผู้นำในรัฐอิสลามมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ  เกี่ยวกับเหตุผลนี้ไม่ปรากฎในคัมภีร์อัลกรุอานและคำพูดของท่านศาสดาที่ระบุใว้สำหรับการอภิสิทธิ์ชนหรือเผ่าพันธ์ใดๆในการเป็นผู้นำหรือสิทธิในตำแหน่งคิลาฟะฮฺ ที่จริงเป็นสิทธิของทุกคนในประชาชาติมุสลิมทุกคน ต่างย่อมมีสิทธิที่จะเลือกตามความต้องการของคนหมู่คนจำนวนมาก
2.        เคาะลีฟะฮฺต้องมาจากเผ่ากุร็อยชฺ
 ชาวเผ่ากุร็อยชฺนั้นเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกับท่านศาสดา ซึ่งอพยพ(กลุ่มมุฮาญีรีน)มาจากเมืองมักกะฮฺกับท่านศาสดาโดยได้อ้างหลักฐานจาก อัลหะดีษ(คำพูดของศาสดา)ซึ่งกล่าวไว้ว่า “บรรดาอิมาม (หัวหน้าการปกครองรัฐอิสลาม) นั้นจะต้องมา(คัดเลือก)มาจากเผ่ากุร็อยซฺ” ซึ่งหากพิจารณาตามหะดีษนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าเผ่ากุร็อยซฺนั้น ย่อมมีสิทธิเหนือกว่าเผ่าอื่นๆ ดังนั้นหากว่าเผ่านี้ยังมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ ตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺต้องเลือกจากหมู่ชนของเผ่านี้  นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีเหตุผลอื่นที่ถูกยกมาอ้างเช่น ศาสดามูฮำหมัด(ขอความสรรเสริฐนั้นมีแด่ท่าน)นั้นมาจากเผ่ากุร็อยซฺเช่นกัน เผ่ากุร็อยซฺนั้นเป็ฯผู้ดูแลปกป้องคุ้มครอง กะบะฮฺ(หินดำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวมุสลิมนั้นนับถือ) และเป็นผู้ให้การคุ้มครองคนที่มาประกอบพิธีฮัจญ์เมืองมักกะฮฺ ปัจจุบันประเทศซาอุเดียอารเบียความคิดเห็นเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับและยึดมั่นของประชาชาติมุสลิมส่วนมากนั่นคือ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮ์ (ผู้เจริญรอยตามแบบฉบับของท่านศาสดา) ซึ่งเป็นชาวมุสลิมส่วนใหญ่ทั้งหลาย
3.        เคาะลีฟะฮฺจะต้องได้รับการคัดเลือกจากบุคคลในครอบครัวของท่านศาสดา
เหตุผลนี้ เป็นการอ้างของกลุ่มที่สนับสนุน ท่านอาลี เพราะอาลีนั้นเป็นคนเดียวที่สนิทใกล้ชิดกับท่านศาสดามากที่สุด และท่านเป็นลูกพี่ลูกน้องของท่านศาสดา แลขณะยังเยาว์วัยก็ได้อยู่กับท่านศาสดา อาลีเป็นเยาวชนแรกที่เข้ารับอิสลาม และยังเป็นบุตรเขยของท่านศาสดาด้วย โดยเป็นสามีบุตรที่รักของท่านศาสดา คือฟาฏิมะฮฺบุตรีของท่านศาสดา
เหตุผลนี้ไม่สามารถยื่นข้อเสนออย่างเปิดเผยได้ เป็นแต่เพียงเสียงกระซิบสนทนาในหมู่ญาติของครอบครัวเท่านั้น เหตุผลนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยวของกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะฮฺ ที่ต้องการยกย่องครอบครัวที่มาสายตระกูลอะลี (ซึ่งปัจจุบันในประเทศอิหร่านกฎข้อนี้ มีอิทธิพลมากต่อรัฐธรรมนูญอิหร่าน)[6]
 
สถาบันคิลาฟะฮฺ
 
                เป็นสถาบันใหม่ที่ถูกก่อตั้งหรือกำหนดขึ้นมาภายหลังการวะฟาต(เสียชีวิต)ของศาสดามูฮำหมัด (ฮ.ศ.11, คศ.632) และ สถาบันแห่งนี้ได้สิ้นสุดลงใน คศ. 1924 (ภายหลังการสิ้นสุดของราชวงศ์ออตโตมานแห่งตุรกี)สำหรับประชาชาติมุสลิมทุกคนซึ่งอยู่ใต้การปกครองของรัฐบนพื้นพิภพนี้ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งตามบทบัญญัติของศาสนาที่จะต้องสถาปนา คิลาฟะฮฺ
สถาบัน คิลาฟะฮฺ เป็นสถาบันแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองในรัฐอิสลาม ซึ่งได้สะท้อนถึงหลักการอิสลามสำหรับชีวิตการเมืองในอุดมคติของประชาคมมุสลิมทั่วโลกจากการศึกษาจะพบว่าลักษณะที่สำคัญของตำแหน่ง เคาะลีฟะฮฺ คือการเลือกตั้ง สี่เคาะลีฟะฮฺของรัฐอิสลามที่นักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับกันว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมนั้น ต่างก็ได้รับการเลือกตั้งโดยวิธีที่แตกต่างกันตามสภาพเงื่อนไขทางภาวะสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งหากศึกษาประวัติศาสตร์ของอิสลามนั้น สังเกตขั้นตอนในการเลือกผู้นำในรัฐอิสลามแล้ว มีอยู่ 2 ขั้นตอนด้วยกัน
1.             การเลือกผูนำคนใหม่ (มีวิธีที่แตกต่างกันทั้ง 4 เคาะลีฟะฮฺ) แต่ละท่านได้รับการเลือกโดยวิธีที่แตกต่างกันไป เนื่องจากยังไม่มีแบบฉบับของการเลือกตั้งที่แน่นอน
2.             การให้สัตยาบัน(กล่าวบัยอะฮฺ)โดยผู้คนที่อยู่ที่นั่นเป็นคนกล่าวโดยให้การรับรองผู้นำคนใหม่ว่าเป็นผู้นำโดยความชอบธรรมของคนในสังคมนั้นและจะยอมปฏิบัติตามผู้นำ
 
ระบอบการเลือกตั้งผู้นำและผู้ปกครองแผ่นดินในอัลอิสลามเรียกว่า ชูรอ (شورى) โดยรากศัพท์คำนี้มีความหมายว่า ปรึกษาหารือหรือให้คำแนะนำ ซึ่งถูกระบุในอัลกุรอานอย่างชัดเจนว่าเป็นระบอบการปกครองของสังคมมุสลิม จนกระทั่งบรรดาสาวกเรียกซูเราะฮฺที่มีอายะฮฺเกี่ยวกับเรื่องระบอบการปกครองว่า ซูเราะตุชชูรอ ในซูเราะฮฺนี้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า
 
وَالَّذِيْنَ اسْتَجَابُوْا لِرَبِّهِمْ وَأَقَامُوا الصَّلاةَ وَأَمْرُهُمْ شُوْرَى بَيْنَهُمْ وَمِمَّا رَزَقْنَاهُمْ يُنْفِقُوْنَ
 
และบรรดาผู้ตอบรับต่อพระเจ้าของพวกเขา และดำรงละหมาด และกิจการของพวกเขา(หมายถึงเรื่องส่วนรวม)มีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา และเขาบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เครื่องปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา” (อัชชูรอ 38)
 
คำว่า “ชูรอ” ในระบอบการปกครองของอัลอิสลามไม่ได้หมายถึงให้คำปรึกษาอย่างเดียว แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้นำและการให้คำปรึกษากับผู้ปกครอง ดังที่มีปรากฏในซูเราะฮฺอาละอิมรอนอัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
 
فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ في الأَمْرِ
 
ดังนั้นจงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และจงขออภัยให้แก่พวกเขาด้วย และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย” (อาละอิมรอน 159)
 
ซึ่งคำบัญชาที่อัลลอฮฺใช้ให้ท่านนบีปรึกษาสาวกของท่านนั้น บ่งชี้ถึงความสำคัญของการให้คำปรึกษา(ชูรอ) เพราะถ้าหากท่านนบีได้รับคำสั่งสอนจากอัลลอฮฺอันเป็นทางนำสำหรับท่านอยู่แล้ว คำปรึกษาของมนุษย์ย่อมไม่มีประโยชน์เลย หรือถ้าหากความคิดของท่านนบีเพียงพอสำหรับท่าน การปรึกษาสาวกจะไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการขอคำปรึกษาในระบอบการปกครองของอัลอิสลามเป็นหลักประกันที่ต้องเชื่อฟังสำหรับผู้รับคำปรึกษา และนั่นคือจุดหมายของอธิปไตยที่ปฏิบัติกันทั่วโลก แต่ในระบอบอัลอิสลามมีข้อแตกต่างสำคัญ เพราะในกฎหมายสากล เจ้าของอธิปไตยคือประชาชน ซึ่งเป็นอำนาจการปกครองที่จะมอบไว้ให้แก่ผู้ที่ถูกเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่อำนาจนี้ในระบอบอิสลามอยู่ที่พระผู้เป็นเจ้าและพระดำรัส   ของพระองค์ซึ่งนักปราชญ์อิสลามเรียก อัลฮากิมียะฮฺالحَاكِمِيَّة นั่นคืออำนาจแห่งการบัญญัติและปกครอง และพระผู้เป็นเจ้าได้มอบหมายให้มนุษยชาติเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งพระบัญชาของพระองค์ โดยมีผู้รองรับความถูกต้องในการวินิจฉัยพระดำรัสของอัลลอฮฺคือ สภานักปราชญ์และผู้อาวุโสในประชาชน
ในระบอบอิสลามไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าพระอำนาจของอัลลอฮฺ หากเป็นอำนาจในการปกครองหรือให้คำชี้ขาดหรือคำปรึกษาใดๆก็ขึ้นกับพระอนุญาตของอัลลอฮฺ จึงต้องมีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิในการปกครองในระบอบอิสลามไม่มีการระบุรายละเอียดที่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งผู้ปกครอง แต่มีการระบุขอบเขตและกรอบแห่งการเลือกตั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับ 3 ประการดังนี้
1. อำนาจอยู่ที่ชรีอะฮฺ คือ พระบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้า
2. ความยุติธรรมที่ต้องปรากฏ
3. คุณสมบัติของผู้เลือกตั้งผู้ปกครองและผู้ปกครอง
ชี้แจงว่านักปราชญ์อิสลามไม่มีความคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผู้มีอำนาจเลือกตั้งผู้ปกครองสูงสุดคือ สภานักปราชญ์และผู้อาวุโส ที่มีชื่อในทางนิติศาสตร์อิสลามว่า       อะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิ أَهْلُ الحَلِّ وَالعَقْدِ หมายถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอน นักปราชญ์ส่วนมากเห็นว่า อะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิเป็นผู้ที่มีอำนาจแท้จริงในการเลือกผู้นำสูงสุด และมีอำนาจในการถอดถอนด้วย เรียกว่าเป็นอำนาจอันกว้างขวางที่สุด ซึ่งเทียบได้กับอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย ถือว่าอำนาจของอะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิเป็นอำนาจที่ไม่มีขอบเขต ยกเว้นอำนาจของชรีอะฮฺ(คือพระบัญญัติของอัลลอฮฺ) แต่นักปราชญ์บางท่านโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันเห็นว่าอำนาจของประชาชนเหนือกว่าอำนาจของสภาอะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิ เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกอะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิ แต่การเลือกอะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดินั้นในระบอบอิสลามมีข้อแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตย ระบอบอิสลามจะถือว่าผู้มีสิทธิออกเสียงในการเลือกอะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิคือผู้ที่มีคุณสมบัติ 2 ประการ
ประการแรกคือคุณสมบัติทางศาสนาและคุณธรรม หมายถึง ต้องเป็นมุสลิม ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด และมีมารยาทจริยธรรมและคุณธรรม โดยสามารถตรวจสอบได้ว่ามิใช่ผู้กระทำความชั่วอย่างเปิดเผยหรือผู้บกพร่องในการปฏิบัติศาสนกิจ ประการที่สอง ต้องเป็นผู้มีอำนาจในสังคมทางวิชาการหรือมีความน่าเชื่อถือในสังคมในฐานะเป็นปัญญาชนที่มีศักยภาพให้คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับปัญหาต่างๆในสังคม[7]
                ในระบอบอิสลามสำหรับคนต่างศาสนิกแล้ว พวกเขาก็มีสิทธิเลือกตั้งผู้นำของเขา ตั้งศาลยุติธรรมตามหลักการศาสนาของพวกเขา โดยอำนาจชารีอะฮฺจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เว้นแต่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับมุสลิม หรือหากมีการเรียกร้องให้ระบบอิสลามเข้าไปตัดสิน นั่นก็หมายถึงระบอบอิสลามยอมที่จะให้สังคมมุสลิมมีระบอบการปกครองอันมีอำนาจหนึ่งของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมอยู่ในสังคมเดียวกันได้ ซึ่งในประวัติศาสตร์อิสลามนั่นก็ปฎิบัติกันมาตลอด
 
การเปลี่ยนรัฐให้เป็นรัฐอิสลามจะต้องทำดังนี้
 
·        รัฐ จะต้องเป็นอธิปไตยของอัลลอฮฺ (Sovereignty of Allah)
·        อัลลอฮฺจะส่งผ่านอำนาจของพระองค์ไปยังผู้นำหรือคอลีฟะ (Khalifah)
·         ในอิสลามจะต้องสะท้อนถึงสภาชูรอ ต้องผ่านสภาชูรอหรือสภาที่ปรึกษา (Ligislation by Shura) คือความแตกต่างทางความคิด คือความเมตตาจากอัลลอฮฺ
·        ความรับผิดชอบของรัฐอิสลาม (Accountability of Govrenment)
·        มีความเป็นอิสระทางด้านการศาล (Independence of judiciary) ไม่มีการแทรกแซงจากสิ่งอื่นๆ
·        ทุก ๆ คนจะต้องมีความยุติธรรม ความเสมอภาค ณ เบื้องหน้าของอัลลอฮฺ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือศาสนาใดก็ตาม (Equality before Law)[8]
 
สรุป
 
                ประชาธิปไตยกับแนวความคิดเรื่องการเมืองการปกครองอิสลามจะต้องศึกษากันต่อไปในอนาคตข้างหน้า โดยที่นักวิชาการนั้นจะต้องศึกษาหลักการ ความมุ่งหมาย เจตจำนงของอัลอิสลามว่าความหมายคืออะไร แน่นอนการอยู่ร่วมกันท่ามกลางสังคมที่มีความคิดที่หลากหลายหรือมีความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่หากสังคมที่อยู่ร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางด้านความคิดด้วยการชี้ผิดชี้ถูกหรือการใช้ความรุนแรงแน่นอนเราคงต้องมาศึกษา ทบทวนว่าเหตุใดสังคมเราถึงอ่อนแอท่ามกลางกระแสธารแห่งโลกาภิวัตน์ทั้งที่มาจากตะวันตกและโลกตะวันออก
 
 
 


[1] หลักอิสลามกับประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในนัยยะการพัฒนา ประสบการณ์และความคาดหวังจากโลกมุสลิม
ศ.ดร.อับดุล ราชิด โมเต็น คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย
แปลและเรียบเรียงโดย : นิพนธ์ โซะเฮง และปริญญา นวลเปียน (www.midnightuniv.com)
[2] Joseph Schumpeter,Capitalism,Socialism and Democracy (London:George Alen and Unwin,1943,P269
[3] อัลกุรอาน 5 อายะห์ ชี้ให้เห็นแนวความคิดสำคัญของ "ชูรอ" และที่มารายละเอียดของมัน และ 2 อายะห์เป็นคำสั่งโดยตรงเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของหลักการ ชูรอ
[4] อับดุลลอฮฺ อัลกอรี (เขียน), ดลมนรรจน์ บากา แปลและเรียบเรียง สี่คอลีฟะฮฺ ผู้ทรงธรรม , กรุงเทพ : สำนักพิมพ์อิสลามิค อะเคเดมี 2543.
[5]  ในการอพยพของท่านศาสดาจากเมืองมักกะฮฺสู่เมืองมะดีนะฮฺนั้น เรียกกันว่า “การฮิจเราะฮฺ” ถือได้ว่าเป็นการนับปีปฏิทินของศาสนาอิสลาม อย่างเป็นทางการ ซึ่งการอพยพครั้งนี้มีสองกลุ่มด้วยกัน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม คือ 1.กลุ่มอันศอรฺ เรียกกันว่าผู้ช่วยเหลือ 2.กลุ่มมุฮาญีรีน เรียกกันว่า ชาวอพยพ ที่ติดตามมากับท่านศาสดาจากเมืองมักกะฮฺ เพราะทนสภาพการกดขี่ของชาวเมืองมักกะฮฺไม่ใว้ (ผู้เขียน)
[6]โปรดพิจารณา รัฐธรรมนูญ ของ สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน
[7] สรุปความจาก เชคริฎอ อะหมัด สมะดี,การเลือกตั้งผู้นำมุสลิมตามระบบอิสลาม,วารสารร่มเงาอิสลาม
[8] สรุปความจากการวิชา เศรษฐกิจการเมืองในอิสลาม,วิทยาลัยอิสลามศึกษา,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี