Skip to main content

            หลังจากกระบวนการทางกฎหมายดำเนินไปอย่างเงียบๆได้ปีครึ่ง บ่ายวันที่ 31 กค.ที่ผ่านมาศาลปัตตานีก็ได้ฤกษ์อ่านคำสั่งไต่สวนการตายกรณีที่เรียกกันว่า “สี่ศพปุโละปุโย”

อ่านจบไปได้สักพัก บรรดาญาติๆที่ร่วมรับฟังคำสั่งก็ยังคงทำหน้างงๆ ทนายความคือภาวิณี ชุมศรีเข้าไปอธิบายให้ฟังซ้ำ แต่ญาติบอกในที่สุดว่า อันที่จริงไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เข้าใจ ทำให้เห็นชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะเป็นความงงเพราะปรับความรู้สึกไม่ทันมากกว่า สีหน้าผิดหวังของพวกเขาดูปิดไม่มิด แม้ว่าหลายคนจะแสดงอาการเฉยเมยไร้ความรู้สึก อันเป็นวิธีการแสดงออกของผู้คนในพื้นที่นี้ที่เห็นเป็นประจำในยามที่พวกเขาอึดอัดใจ

คำสั่งศาลที่ยาวเหยียดบ่ายวันนั้นได้รวบรวบเอาคำให้การของทุกฝ่ายเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นของเจ้าหน้าที่ทหาร ญาติผู้สูญเสีย พยานที่บาดเจ็บ และอื่นๆ  สรุปก็คือ จากคำให้การต่างๆ พบว่า เหตุการณ์ในคืนวันที่ 29 มค.2555 นั้นเกิดขึ้น หลังจากที่มีการยิงระเบิดเข้าใส่ฐานทหารพรานที่4302  ที่บ้านน้ำดำซึ่งอยู่ไม่ไกลออกไปจากที่เกิดเหตุ ซึ่งทำให้จนท.ชุดหนึ่งจากฐานนำรถออกลาดตระเวนจนกระทั่งมาพบกับรถของชาวบ้านทั้งเก้าคนที่กำลังจะไปละหมาดให้กับผู้ตายในพื้นที่ใกล้เคียง การเผชิญหน้ากันสั้นๆกลายเป็นจุดจบของสี่ชีวิตและคนบาดเจ็บอีกห้า นั่นเป็นภูมิหลังของเรื่องและเป็นจุดตั้งต้นของคดีความที่ทำท่าว่าจะยืดเยื้อหาที่ลงไม่ได้อีกราย

สำหรับรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น แน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างก็มีข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป และเนื่องจากในที่เกิดเหตุไม่มีพยานอื่น สิ่งที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการที่จะต้องพิสูจน์คำพูดของจนท. กับคำพูดของชาวบ้านที่รอดชีวิต เท่ากับว่า ทุกฝ่ายฝากความหวังไว้กับกระบวนการสอบสวนของจนท.ตำรวจกับการแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นศาล ว่าความจริงอยู่ที่ไหน  

อย่างไรก็ตามก็มีสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายชาวบ้านและจนท.ให้การตรงกัน นั่นก็คือ ในการพบกันบนทางเบี่ยงของรถเจ้าหน้าที่และรถชาวบ้านนั้น เจ้าหน้าที่ได้ให้สัญญาณให้รถของชาวบ้านหยุด มีทั้งพูดเป็นภาษาไทย มลายูและทำสัญญาณมือ แม้ว่าฝ่ายชาวบ้านบางคนจะไม่ได้พูดเอาไว้ก็ตาม ในขณะที่คำให้การของซีกชาวบ้านระบุว่า ชาวบ้านเองก็ตะโกนบอกชัดเจนว่าพวกเขาจะไปละหมาด แต่ฝ่ายจนท.ไม่มีใครให้การว่าได้ยินเสียงชาวบ้านแต่อย่างใด สิ่งที่ขัดกันก็คือชาวบ้านให้การว่าถูกจนท.ยิงโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไร ขณะที่จนท.บอกว่ามีเสียงปืนดังมาจากรถของชาวบ้านก่อน ฝ่ายตนจึงยิงตอบโต้ และเนื่องจากเห็นคนยิงแล้วกระโดดหนีเข้าราวป่าทั้งยังยิงมาจากราวป่าด้วย จนท.จึงยิงไปทั้งที่รถและที่ราวป่าในเวลาเดียวกัน

ข้อมูลจากการไต่สวนบอกต่อไปว่า หลังจากที่มีการยิงกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งที่ได้รับแจ้งเหตุตามเข้าไปในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ชุดหลังนี้ได้สั่งให้จนท.ชุดแรกออกไปรักษาความปลอดภัยห่างออกไปอีกด้านหนึ่งของถนน แล้วกลุ่มที่สองก็เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ 

มีรายละเอียดบางประการจากการให้การที่มีเรื่องราวเพิ่มเติมสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ นั่นก็คือว่า จากการให้การของจนท. มีคนในกลุ่มของจนท.ชุดหลังนี้ที่อ้างว่า มีผู้เห็นวัตถุต้องสงสัยใต้รถ จึงได้มีการสั่งให้นำรถรีว่า  หรือรถหุ้มเกราะที่จนท.ชุดหลังนำไปด้วย ไปดันรถกระบะของชาวบ้านที่โดนยิงไปแล้วนั้น  จากนั้นมีผู้เห็นว่ามีพานท้ายปืนอันหนึ่งโผล่ออกมาจากบริเวณด้านข้างของคนขับ และพอถอยรถรีว่าขึ้นมาก็พบว่ามีคนวิ่งหนีออกจากทางประตูรถกระบะแล้ววิ่งเข้าไปในแนวป่า แล้วจึงมีเสียงปืนดังขึ้นอีกสองนัด จึงได้มีการยิงตอบโต้กลับไปอีกชุดหนึ่งจากฝ่ายจนท.

หลังจากนั้นจนท.ก็รอจนกระทั่งเมื่อมีรถปั่นไฟเข้าไปในที่เกิดเหตุตอนห้าทุ่มครึ่ง จึงเข้าไปตรวจสอบรถอีกครั้ง จึงได้พบศพผู้ตายและผู้บาดเจ็บจึงได้นำคนเจ็บคนตายส่งโรงพยาบาลต่อไป

คำสั่งศาลตอนหนึ่งจึงสรุปว่า “เมื่อเจ้าหน้าที่มาอีกชุดหนึ่ง ใช้อาวุธยิงที่เดิมอีก (ชาวบ้าน)จึงตาย การกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ในการติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัย”

และในตอนท้ายคำสั่งระบุอีก “สรุปว่า ผู้ตายทั้งสี่ถูกกระสุนปืนจากจนท.ทหารที่อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ยิง เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย”

บนเส้นทางของการต่อสู้ทางคดีที่ยืดเยื้อยาวนาน ข้อมูลแต่ละจุดแต่ละประเด็นดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งทั้งสำหรับการต่อสู้ต่อไปและต่อความรู้สึกของญาติและสาธารณะ

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปีที่แล้วคือปี 2555 หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในพื้นที่ แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น คือ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดหนึ่ง โดยมีประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี แวดือราแม มะมิงจิ เป็นประธาน มีจนท.ทั้งสามฝ่ายรวมทั้งทนายและตัวแทนญาติเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย คณะกรรมการชุดนั้นก็มีบทสรุปเช่นเดียวกันว่า กรณีสี่ศพปุโละปุโยเป็นการเสียชีวิตของชาวบ้านจากการยิงของจนท. แต่ที่อาจจะทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่า ตนเองขยับเข้าใกล้ความเป็นธรรมได้มากกว่า ก็คือการที่คณะกรรมการชุดนั้นสรุปไว้ชัดว่าสถานะของชาวบ้านที่ตายเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ขณะที่ในคำสั่งศาลกลับเปิดทางให้มีการสอบกันต่อไปเพราะคำที่ว่า จนท.ติดตามตัว “ผู้ต้องสงสัย”

นอกจากนั้นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังระบุไว้ด้วยว่า ทหารที่ยิงนั้น ยิงเพราะ “สำคัญผิด” ซึ่งญาติกล่าวว่า ในฐานะของผู้สูญเสีย อย่างน้อยยังดีกว่าระดับหนึ่งเพราะถือว่ายอมรับว่าทำ แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดพลาดก็ตาม

สิ่งที่น่าสนใจด้วย ก็คือเรื่องที่คำสั่งการไต่สวนระบุว่า การโดนยิงของชาวบ้าน โดนถึงสองครั้ง ครั้งแรกโดยเจ้าหน้าที่ชุดแรก แต่ต่อมาเมื่อจนท.ชุดที่สองไปถึง ได้ขอให้จนท.ชุดแรกถอยออก เพื่อให้ชุดใหม่เข้าตรวจสอบพื้นที่ ปรากฏว่าในช่วงนี้มีการยิงใส่รถกระบะอีกหน โดยจนท.ชุดที่สองที่อ้างเหมือนกันว่า มีเสียงปืนยิงมาจากรถกระบะมาทางฝั่งจนท.เช่นเดียวกัน จุดนี้น่าจะยิ่งทำให้การหาตัวผู้กระทำเป็นงานหนักเพิ่มขึ้นเพราะมีจนท.ที่เกี่ยวข้องถึงสองชุด นอกจากนี้การที่พบว่ามีอาวุธในรถกระบะยิ่งทำให้เรื่องราวเข้มข้นไปในทิศทางที่พัวพันชาวบ้านทั้งกลุ่มทันที

ประเด็นเหล่านี้น่าจะทำให้ทนายและญาติมีงานหนักมากขึ้น นอกเหนือไปจากความรู้สึกที่ว่า คำสั่งไต่สวนการตายหนนี้ไม่ได้ไปไกลถึงขั้นชี้ชัดว่า จนท.ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ อันเป็นสิ่งที่ชาวบ้านคาดหวัง   

“เรารู้แน่ว่าชาวบ้านซึ่งเป็นพี่น้องเราหมด บริสุทธิ์จริงๆ” อาอีด๊ะ บือราเฮง ญาติรายหนึ่งกล่าว “ในเมื่อรัฐกระทำต่อประชาชน อยากให้มองว่าประชาชนก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคน แม้ไม่ได้ทำหน้าที่หน่วยงานรัฐแต่เรายังเป็นคน ความยุติธรรมเราก็ต้องการเหมือนกันว่าความยุติธรรมความเป็นจริงมันอยู่ยังไงตรงไหน”

“ตอนแรกๆก็มีความหวังต้องเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ เงินเจ็ดล้านห้ามันไม่ใช่ค่าของคน ร้อยล้านก็ไม่ใช่”

อาอีด๊ะกล่าวด้วยว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความเป็นธรรมอย่างเดียว แต่ยังเป็นประเด็นในเรื่องของความปลอดภัย  “ในสามจังหวัดเราต้องการความอยู่รอด ความปลอดภัย เราเองก็สู้ แต่เราไม่ได้ไปยิงใคร แต่อยากให้มีความเสมอภาคของคนทั่วไป เราไม่ได้ว่ารัฐไม่ดี แต่คนที่ทำงานตรงนี้มันจะมีไหม ได้อ่านมาหลายคดีก็เป็นเหมือนกันแบบนี้ ตบท้ายก็อยู่ระดับนี้ จะทำยังไงให้มันกว้างกว่านี้ คนที่ยังไม่โดน ให้คดีของเราเป็นตัวอย่างก็ได้”

“ชาวบ้านน่ะคาดหวังแต่ไม่มีหวัง พวกเราไม่รู้จะพึ่งใคร คนมีหนังสือมีการศึกษาก็ทำอะไรไม่ได้เพราะรัฐอ่อนแอเกิน ก็ไม่ได้โทษว่ารัฐไม่ดีนะ รัฐน่ะดี แต่ทำไมล่ะ คนคนหนึ่งเสียชีวิตแล้วทำเฉยเหรอ มันไม่ใช่ คนอื่นอีกที่ต้องดำเนินชีวิต มันไม่มีหลักประกัน”

หลังฟังคำสั่ง คำถามสำคัญสำหรับพวกเขาก็คือ จะทำอย่างไรต่อ ภาวิณี ชุมศรียอมรับว่าทนายความไม่อาจทำอะไรได้มากนักนอกจากติดตามความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป เพราะพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้สานต่อในเรื่องคดีอาญา เส้นทางข้างหน้าคือหากพวกเขาพบว่ามีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่กระทำเกินเหตุก็จะส่งเรื่องไปยังอัยการ – ซึ่งในกรณีนี้ต้องเป็นอัยการทหารเพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแม้จะเป็นทหารพรานแต่ก็ต้องขึ้นศาลทหารตามกฎหมาย ตัวผู้เสียหายไม่มีสิทธิที่จะยื่นฟ้องเอง เธอยอมรับว่า ที่ผ่านมา อย่าว่าแต่ศาลทหาร แม้แต่ศาลพลเรือนปกติ สาธารณะก็ยังไม่ได้เห็นการลงโทษผู้กระทำผิดแม้แต่กรณีเดียว

แต่ภาวิณีกับลูกความของเธอยังคิดว่าจะต่อสู้ต่อไป  อาอีด๊ะยอมรับว่าเธอยังไม่มั่นใจแต่รู้ว่าต้องสู้ต่อ “ยังไม่รู้จะไปซ้ายหรือไปขวาหรือว่าจะเดินตรง ยังคิดอยู่ ตัดสินใจไม่ถูก ความรู้สึกมันท้อ แต่ว่าต้องก้าวไป" 

            ด้านทนายความภาวิณียอมรับว่าบางครั้งก็มีอาการท้ออยู่บ้าง “เทียบกับที่อื่นที่นี่มันยากจริงๆ อย่างที่กาฬสินธุ์ เราได้เห็นตำรวจถูกลงโทษ แต่ทำไมที่นี่มันไม่เคยเกิดเลยทั้งๆที่เห็นชัดๆว่าใครทำ กลไกมันล็อคไปหมด”

“แต่เราก็ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว เรายังรออยู่ รอวันที่ฟ้าจะสดใส ถึงแม้ว่าวันนี้ฝนจะตก มันต้องมีสักวัน มันต้องมีจังหวะที่มันเปิดบ้าง”

ทว่าในโลกโซเชี่ยลมีเดียที่ข่าวไปเร็ว และปฏิกิริยามาเร็ว ทันทีที่โพสต์บทสรุปจากคำสั่งศาลได้ไม่ถึงสองนาที ก็มีผู้เข้าไปสะท้อนความเห็นทันที หลายเสียงแสดงความเหนื่อยหน่ายต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจด้วยก็คือปฏิกิริยาของนักกฎหมายด้วยกัน

“กระบวนการยุติธรรมให้ได้แค่นี้จริงๆ” เป็นหนึ่งในความเห็นจากนักกฎหมายที่เคยทำงานในภาคใต้มาก่อนคือเยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ “ดังนั้นควรยกเลิกกระบวนการไต่สวนการตายได้แล้ว”   

“ซ้ำซ้อนที่สุด”