Skip to main content

อาบีบุสตา ดอเลาะ

 ไม่ว่ารัฐจะปกครองด้วยระบอบการปกครองรูปแบบใด การรักษาความมั่นคงและเอกราชของชาติย่อมสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แม้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันหมายถึงการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ หากจำเป็นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติโดยรวม ความเป็นใหญ่ของประชาชนอาจถูกยกเว้นได้ โดยใช้กฎหมายพิเศษหรือกองกำลังทหารหรือตำรวจในการระงับเหตุการณ์ต่างๆที่คาดว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง

ในบางกรณีหากอำนาจรัฐในภาวะปกติซึ่งหมายถึงการดำเนินการตามหลักนิติรัฐ (การดำเนินการของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด) ไม่สามารถควบคุมหรือระงับภัยเหล่านั้นได้ ผู้มีอำนาจหรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลภายในรัฐ อาจใช้อำนาจนอกระบบเพื่อรักษาเสถียรภาพของสถาบันหลักของชาติและทำลายกระบวนการที่เป็นการบ่อนทำลายสถาบันเหล่านั้นในเวลาเดียวกัน อาทิ การรัฐประหาร การบังคับบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงให้หายสาบสูญ การเก็บบุคคลที่เชื่อว่าเป็นอันตรายต่อรัฐแต่ไม่สามารถเอาผิดได้ด้วยกระบวนการตามกฎหมาย การใส่ร้ายป้ายสี การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น

สงครามที่ปาตานีระหว่างรัฐไทยที่นำโดยรัฐสภากับรัฐปาตานีที่นำโดยกลุ่มขบวนการ เป็นการต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์ชาตินิยมของสองรัฐ ทั้งผู้ที่ยอมรับว่าตัวเองคือประชาชนของรัฐไทยและบุคคลที่เป็นสมาชิกของกลุ่มขบวนการล้วนมีจิตสำนึกความรักชาติเช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นความรักชาติในรัฐคนละรัฐในผืนแผ่นดินเดียวกัน กล่าวคือ สมาชิกของกลุ่มขบวนการเชื่อว่าพื้นที่ชายแดนใต้ของรัฐไทยเป็นรัฐของตนมิใช่ส่วนหนึ่งของรัฐไทย ส่วนคนไทยเชื่อว่าพื้นที่ปาตานีคือจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยอันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย

แผ่นดินที่เต็มไปด้วยปัญหาในรัฐที่ซ้อนรัฐที่พลเมืองทุกคนมีจิตใต้สำนึกอุดมการณ์ชาตินิยม จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนและผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมือง สุดแล้วแต่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะยอมรับว่าตัวเองเป็นประชาชนของรัฐใด ฝ่ายที่ยอมรับว่าตัวเองคือประชาชนของรัฐไทยมองว่าการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยรัฐปาตานีให้ได้รับเอกราชจากการปกครองของเจ้าอาณานิคมสยามคือการแบ่งแยกดินแดน เป็นการกระทำที่ทรยศต่อชาติบ้านเมือง และฝ่ายที่เชื่อว่าตนเองคือประชาชนของรัฐปาตานีมองว่าการที่ประเทศต้องสูญเสียเอกราชถูกรุกรานจากรัฐไทยถือเป็นหน้าที่ของคนในชาติที่ต้องกอบกู้ประเทศจากการกดขี่เหล่านั้น การนิ่งเฉยในยามที่ชาติถูกละเมิดอธิปไตยจึงเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวทรยศต่อชาติเช่นเดียวกัน

จากเหตุผลของความมั่นคงและรักษาอธิปไตยของรัฐประกอบกับจิตใต้สำนึกของอุดมการณ์ชาตินิยมที่ต่างกันแต่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในสภาวะสงครามเช่นนี้ประชาชนจึงประสบกับความสับสนในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีการทำลายความชอบธรรมของคู่ขัดแย้งโดยใช้กระบวนการมืดที่อยู่นอกเหนือกติกา เป็นที่คาดหมายได้โดยทั่วไปหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสงครามที่ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว การเมืองท้องถิ่นหรือผลประโยชน์อื่นๆ การปฏิบัติการทางทหารที่กระทำต่อบุคคลที่ถืออาวุธให้แก่รัฐไทยเป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการและการจับกุมหรือวิสามัญกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มขบวนการเป็นการกระทำของรัฐไทย

แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมิใช่เพียงเกิดขึ้นแก่กองกำลังติดอาวุธของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น ยังเกิดขึ้นแก่ประชาชน ผู้นำศาสนา ครูและบุคคลอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งนอกจากมีสาเหตุที่บุคคลบางกลุ่มบางองค์กรใช้ประโยชน์จากสงครามเพื่อผลประโยชน์บางอย่างแล้วโยนความผิดให้แก่กลุ่มขบวนการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีสาเหตุที่เกิดจากการปฎิบัติการลับของคู่ขัดแย้งในสงครามอีกด้วย เห็นได้จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนหลายกรณีไม่ว่าจะเกิดขึ้นแก่ประชาชนศาสนาใด ได้มีการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาทำลายความชอบธรรมของศัตรูและสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตน แม้หลายกรณีข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม

ปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญในการยุติสงครามปาตานี ได้แก่ประชาชนปาตานีและองค์กรระหว่างประเทศที่นำด้วยสหประชาชาติ การเอาชนะใจคนปาตานีและการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าคู่สงครามอีกฝ่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศนั้น เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่สำคัญของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการ มองจากฝ่ายกลุ่มขบวนการ การที่กลุ่มขบวนการถือหลักการปลดปล่อยรัฐปาตานีจากอาณานิคมสยามโดยมีประชาชนปาตานีเป็นแรงสนับสนุนนั้น ถือเป็นหลักการที่มีอยู่จริงตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการให้ดินแดนแก่รัฐที่อยู่ใต้อาณานิคม และการที่กลุ่มขบวนการใช้อาวุธในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมนั้นก็เป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการป้องกันการรุกรานในระหว่างก่อนที่สหประชาชาติจะให้ความช่วยเหลือหรือที่เรียกว่าการต่อสู้ที่ชอบธรรม

อย่างไรก็ตามแม้ในหลักการจะมีกติการะหว่างประเทศรองรับ แต่การต่อสู้เพื่อการป้องกันก็มีขอบเขตและต้องกระทำพอสมควรแก่เหตุ มิเช่นนั้นแล้วกลุ่มขบวนการก็จะเป็นผู้ละเมิดกติการะหว่างประเทศเสียเองซึ่งจะส่งผลให้การต่อสู้ของประชาชนปาตานีได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมโลกเป็นไปได้ยากขึ้น จากขอบเขตการป้องกันตนเองดังกล่าวนั้น

นอกจากกลุ่มขบวนการจะต้องควบคุมกองกำลังติดอาวุธของตนเองให้อยู่ในกรอบกติกาของกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว กลุ่มขบวนการยังต้องเผชิญกับการทำลายความชอบธรรมของขบวนการจากรัฐไทยอีกด้วย เพราะหลักการดังกล่าวถือเป็นช่องว่างหรือจุดอ่อนของกลุ่มขบวนการ ที่รัฐไทยสามารถทำลายความชอบธรรมของกลุ่มขบวนการโดยการชี้ให้ประชาชนในรัฐและองค์กรระหว่างประเทศเห็นว่ากลุ่มขบวนการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการทำสงครามที่ไร้มนุษยธรรม เช่น การฆ่าเด็ก สตรีและพลเรือนที่ไม่ถืออาวุธ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการนำเรื่องความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเมืองท้องถิ่น ผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น การค้าน้ำมันเถื่อน ยาเสพติด มาเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการอีกด้วย ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ยังสามารถทำให้เกิดปฎิกริยาประชาชนต่อต้านกลุ่มขบวนการทำให้การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์เอกราชมีความชอบธรรมน้อยลง

มองจากฝั่งรัฐไทย การที่รัฐมีภารกิจสำคัฐประการหนึ่งคือการรักษาความปลอดภัยและรักษาความยุติธรรมให้แก่ประชาชนภายในรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ในสภาวะสงครามจึงมีโอกาสที่กลุ่มขบวนการจะทำลายความชอบธรรมของรัฐไทยในการปกครองแผ่นดินปาตานี เช่น การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ การโยนความผิดให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ การที่รัฐไม่สามารถรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนได้ เป็นต้น อันเป็นงานมวลชนที่กลุ่มขบวนการสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มมวลชนทำให้ต่อต้านรัฐไทยมากขึ้น และชี้ให้ประชาคมโลกเห็นว่ารัฐไทยล้มเหลวในการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้นนั้น ต้องการชี้ให้เห็นว่าในพื้นที่ปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีการนำทฤษฏีทำลายความชอบธรรมของคู่สงครามมาปฏิบัติการจริง แม้ว่ารัฐไทยและกลุ่มขบวนการจะมีกติกาของตนเอง และยังมีกติการะหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว แต่ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม การรักษาความมั่นคงและเอกราชของชาติสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การปฏิบัติการลับบางอย่างจึงจำเป็นต้องดำเนินการ แม้จะไม่มีกฎหมายหรือหลักการใดๆ มารองรับก็ตาม

การทำลายความชอบธรรมของคู่ขัดแย้ง ไม่ว่าจะเพื่ออุดมการณ์ชาตินิยมของรัฐไทยหรืออุมการณ์ชาตินิยมของรัฐปาตานี สิ่งที่น่ากังวลของกระบวนการนี้ คือ ความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ที่จะตกเป็นเหยื่อของทฤษฏีดังกล่าว และในยุคสมัยที่เราสามารถเข้าถึงการสื่อสารได้โดยง่ายการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆในพื้นที่ประชาชนจะต้องใช้วิจารณญาณให้รอบคอบในการมองปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อมิให้กระบวนการเหล่านี้ทำให้เกิดความขัดแย้ง ความแตกแยกระหว่างประชาชนปาตานีด้วยกันเอง