ในสื่อกระแสหลักมีคำถามว่า ระลอกการใช้ความรุนแรงรอบใหม่ที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนใต้มีเกี่ยวข้องกับการคืนตำแหน่งให้แก่อดีตเลขาฯ สมช. นายถวิล เปลี่ยนศรี หรือไม่ แน่นอนว่า เราไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนต่อคำถามเหล่านี้ เพราะขาดข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือจากฝ่ายผู้กระทำ
อย่างไรก็ตาม การโยนความรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงให้แก่ข้าราชการชั้นสูงเหล่านี้ถือว่าไม่ยุติธรรม ถึงแม้ว่านายถวิลประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่มีการเจรจา และวิจารณ์กระบวนการสันติภาพรอบล่าสุดอย่างเปิดเผยมาตลอดก็ตาม ในตรงกันข้าม การคืนตำแหน่งเลขาฯ สมช. ให้แก่นายถวิลนั้นทำให้เราตระหนักถึงจุดอ่อนของกรอบกระบวนการสันติภาพรอบนี้ซึ่งเริ่มต้นด้วยการลงนามระหว่างรัฐบาลไทยกับฝ่ายที่มีอุดมการณ์และความเห็นที่ต่างกัน เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2556 ปัญหาที่ว่านี้คือ ประเด็นที่มีความสำคัญขนาดกระบวนการสันติภาพปาตานียังเป็นหน้าที่ของข้าราชการ ไม่ใช่นักการเมืองระดับรัฐมนตรีหรือผู้นำของประเทศ
สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้คือ แค่ข้าราชการคนหนึ่งซึ่งไม่ได้ผ่านการมอบความไว้วางใจจากฝ่ายประชาชน (ไม่รวมศาลรัฐธรรมนูญ) สามารถเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ทั้งๆ ที่หน้าที่ของขาราชการไม่ใช่การเปลี่ยนหรือกำหนดนโยบาย แต่การดำเนินนโยบายที่กำหนดโดยรัฐบาล อีกนัยหนึ่ง นายถวิลกำลังกระทำสิ่งที่นอกเหนือจากขอบเขตอำนาจหน้าที่ สภาพเช่นนี้ไม่ใช่ข้อผิดพลาดของนายถวิลคนเดียว แต่เป็นผลที่เกิดจากการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่เคยให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้อย่างพอสมควร เพราะความขัดแย้งที่คร่าชีวิตไม่ต่ำกว่า 5,000 รายยังไม่เป็นวาระแห่งชาติ ตรงกันข้าม โยนความรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาให้แก่แค่ข้าราชการชั้นสูง นั่นคือ เลขาฯ สมช. โดยมีมีนักการเมืองใดๆ ที่ได้รับมอบความรับผิดชอบดังกล่าว และประกาศว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือวาระทางการเมืองของตน
ในพื้นที่ความขัดแย้งซึ่งได้รับการแก้ไขโดยใช้สันติวิธี มักจะมีบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างสันติภาพ ซึ่งเป็นนักการเมืองระดับผู้นำประเทศที่มีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนและถือว่าการสร้างสันติภาพเป็นวาระที่สำคัญในชีวิตทางการเมืองของตน ส่วนจุดอ่อนของกระบวนการสันติภาพปาตานคือ ยังไม่เคยมีบุคคลเช่นนี้ เพราะสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการสันติภาพคือการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และการสร้างความไว้วางใจต้องกระทำโดยคน
ในตลอดช่วงกระบวนการสันติภาพที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย บุคคลที่สวมบทบาท “นายสันติภาพ” คือ นาย ยูซุฟ กัลลา (Jusuf Kalla) ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีของรัฐบาลประธานาธิบดี ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) หลังจากได้รับมอบหน้าที่แก้ไขความขัดแย้งที่อาเจะห์จากประธานาธิบดีเอง (ซึ่งมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอันสูงในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน) นายยูซุฟก็พยายามจะค้นหาวิธีการติดต่อกับฝ่าย GAM (อ่านว่า กัม ย่อมาจาก Gabungan Aceh Merdeka, ขบวนการเอกราชอาเจะห์) ท่านยอมเดินทางไปต่างประเทศเพื่อพบกันแกนนำขององค์กรดังกล่าว ในเมื่อท่านรับทราบว่าบิดาของผู้นำ GAM คนหนึ่งป่วยหนัก ท่านเสนอให้การรักษา ฝ่าย GAM ให้คำตอบว่า จะรับข้อเสนอของนายยูซุฟ แต่ไม่ให้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขใดๆ ในการะบวนการสันติภาพ นายยูซุฟก็ยอมรับคำตอบจาก GAM ท่าที่ของนายยูซุฟซึ่งมีความจริงจังและ “เล่นตามเกม (fair play)” นั้นเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้ฝ่าย GAM มีความมั่นใจในคู่เจรจา (รัฐบาลอินโดนีเซีย) จนถึงคนที่อยู่ฝ่าย GAM เองก็ยอมรับว่า นายยูซุฟเป็นบุคคลสำคัญ (key person) ในกระบวนการสันติภาพอาเจะห์
สำหรับกระบวนการสันติภาพบังซาโมโร บนเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังจะไปถึงจุดหมายปลายทางในการสร้างสันติภาพอันยั่งยืน บุคคลที่มีบทบาทสำคัญคือประธานาธิบดีของประเทศเอง นายเบนิกโน อากีโน ที่ 3 ก่อนริเริ่มกระบวนการสันติภาพบังซาโมโร ท่านได้เดนทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อเจอกับผู้นำกลุ่ม MILF (อ่านว่า เอ็ม.ไอ.เอล.เอ็ฟ ย่อมาจาก Moro Islamic Liberation Front, แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร) และอธิบายถึงเจตนารมณ์ของท่านที่ต้องการจะดำเนินกระบวนการสันติภาพภายในเวลา 6 ปีซึ่งเป็นวาระของท่านเป็นประธานาธิบดี นอกจากนี้ หลังจากมีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับฝ่าย MILF ท่านก็เดินทางไปสู่ฐานใหญ่ของ MILF ณ เขต Maguindanao เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดตัวโครงการพัฒนา “Sajahatra Bangsamoro” ซึ่งหมายถึง “สันติภาพบังซาโมโร” (กรุณาดูรายงานข่าว http://www.gmanetwork.com/news/story/294409/news/nation/in-milf-stronghold-aquino-launches-social-program-sajahatra-bangsamoro) การปฏิบัติเช่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเสถียรภาพสำหรับกระบวนการสันติภาพซึ่งมีลักษณะเปราะบางและเต็มไปด้วยอุปสรรค
กระบวนการสันติภาพ ณ อาเจะห์และเขตบังซาโมโรบนเกาะมินดาเนานั้นเกิดจากเจตนารมณ์ทางการเมืองอันชัดเจนของฝ่ายรัฐ โดยมีนักการเมืองคนสำคัญเป็นผู้รับผิดชอบและกำหนดนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ
ตรงกันข้าม ในกระบวนการสันติภาพปาตานี การที่ขาดบุคคลจากฝ่ายการเมืองที่มีความตั้งใจและความจริงจังในการสร้างสันติภาพเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เลขาฯ สมช. ซึ่งเป็นข้าราชการต้องกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางนโยบายกระบวนการสันติภาพดังเช่นสามารถสังเกตได้จากคำพูดของนายถวิล หลังจากท่านได้รับการคืนตำแหน่งเดิม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ท่านได้รับมอบจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยใช้วิธีการเดียวกันกับวิธีการที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำตัดสินว่า ผิดรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม การที่ข้าราชการคนหนึ่งกลายเป็นผู้กำหนดนโยบายกระบวนการสันติภาพ บ่งบอกถึงความไม่จริงจังของรัฐบาลไทยที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพปาตานี ซึ่งเป็นจุดอ่อนของกระบวนการสันติภาพดังกล่าวตั้งแต่แรก
ผู้รับผิดชอบกระบวนการสันติภาพ (เลขาฯ สมช.) ที่ปฏิเสธการแก้ไขความคัดแย้งโดยการเจรจานั้น มักจะสร้างความผิดหวังให้แก่คนในพื้นที่รวมไปถึงขบวนการที่เรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของ (hak pertuanan) เพราะท่าที่ดังกล่าวเป็นการปิดเส้นทางการต่อสู้ทางการเมืองสำหรับฝ่ายขบวนการ และความผิดหวังครั้งนี้ก็มาพร้อมกับความเจ็บซ้ำ เพราะกระบวนการสันติภาพปาตานีเป็นการปูทางให้แก่ฝ่ายขบวนการเพื่อต่อสู่ทางการเมืองอีกครั้ง การปล่อยคลิปทาง youtube และการนำเสนอข้อเรียกร้องนั้นเป็นการต่อสู้ทางการเมือง เมื่อฝ่ายขบวนการมั่นใจกับการต่อสู้ทางการเมือง มีความเป็นไปได้ที่ว่า การใช้ความรุนแรงจะลดลง
จากสายตาของฝ่ายขบวนการ คงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งเมื่อกระบวนการสันติภาพปาตานีที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อหน้าสังคมโลก โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลาง (ผู้อำนวยความสะดวก) สามารถถูกทิ้งได้อย่างง่ายๆ โดยแค่ข้าราชการคนหนึ่ง ไม่ใช่นักการเมืองที่ได้รับมอบความไว้วางใจจากประชาชน ซึ่งบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญพอสมควรให้แก่ปัญหาดังกล่าว
จากประสบการณ์ในเวลาสิบปีที่ผ่านมา ทุกคนสามารถเห็นได้ว่า ปัญหาความขัดแย้งซึ่งมีการใช้ความรุนแรงจากคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถแก้ไขได้โดยใช้วิธีการทหารอย่างเดียว ตรงกันข้าม ต้องใช้สันติวิธีซึ่งมีการเจรจาเป็นหัวใจ
กรอบการพูดคุยสันติภาพ (หรือ สันติสนทนา) ระหว่างรัฐไทยกับผู้ที่มีอุดมการณ์และความเห็นที่ต่างกันไปจากรัฐนั้นเป็นก้าวแรกที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการยอมรับฐานะของฝ่ายขบวนการเป็นคู่กรณีในการสร้างสันติภาพ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดเส้นทางการต่อสู้ทางการเมืองสำหรับฝ่ายขบวนการ
แต่ท่าที่ของนายถวิลหลังจากท่านได้รับคืนตำแหน่งนั้นเป็นการปฏิเสธการยอมรับดังกล่าว และเป็นการปิดเส้นทางการต่อสู้ทางการเมืองด้วย สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ คงจะมีการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายขบวนการมากขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาวบ้านต่อไป
เพื่อขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพที่ปาตานี โครงสร้างของประเทศไทยต้องคืนสู่สภาพเดิมอันมีรัฐบาลได้รับเลือกผ่านการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่มีอำนาจบริหาร (ไม่ใช่รักษาการ) ต้องยกประเด็นการสร้างสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่แค่วาระของข้าราชการคนใดคนหนึ่ง หรือรัฐบาลชุดใดชุดหนึ่ง อีกอย่าง ควรมีนักการเมืองซึ่งมีความตั้งใจ ความจริงจังและเจตนารมณ์ทางการเมืองอันสูงเป็นผู้รับผิดชอบ โดยสวมบทบาทเป็นนายสันติภาพหรือนางสันติภาพ
แม้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายก็ต้องพยายามเพื่อจัดมาตรฐานรักษาความปลอดภัยต่อผู้บริสุทธิ์หรือเป้าหมายอ่อน โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เพราะการสร้างความเสียหายแก่ผู้บริสุทธิ์แค่ทำลายความชอบธรรมต่อฝ่ายที่กระทำ ณ โอกาสนี้ ขอเรียกร้องต่อทุกฝ่ายว่า งดใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็ก เนื่องจากไม่มีกฎหมายนานาชาติซึ่งยอมรับการทำลายเด็กในกรณีใดๆ