Skip to main content

 

เยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพมากมาย ที่จะสามารถกระตุ้น และสร้างความตระหนักร่วมให้เกิดการตื่นตัวของสังคม ชุมชน เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันโดยการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความคิดเห็นและความแตกต่าง ดังนั้นการพัฒนาโดยกระบวนการฝึกวิเคราะห์สังคม การพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำ ให้มีทักษะสัมพันธ์ขัดกันฉันมิตร การเข้าใจตัวตนของคนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางจุดยืน ความคิด และวัฒนธรรม นอกจากนี้การที่เยาวชนได้มีพื้นที่ให้พัฒนาความคิด ทักษะอย่างต่อเนื่องโดยคำนึงถึงสถานการณ์และบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยทั้งหมดนี้จะมีส่วนช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถกำหนดแนวทางตนเอง กลุ่มกิจกรรม  เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์สังคมในรูปแบบต่างๆ ที่ตอบสนองสันติภาพในพื้นที่ได้ในที่สุด  เป็นที่มาของโครงการอบรม เยาวชนผู้นำรุ่นใหม่ “Young Leaders Forum” โดย ปาตานี ฟอรั่ม เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมที่มาจากกลุ่มเป้าหมายที่มีความแตกต่างทางความคิด มุมมองทางการเมือง ศาสนา วิถีวัฒนธรรม ร่วมประมาณ 30 คน ที่ผ่านการคัดเลือก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ

       1.เพื่อสร้างการเรียนรู้การเป็นผู้นำรุ่นใหม่เชิงกระบวนการ นำมาสู่การสรรสร้างสันติภาพในพื้นที่
       2.เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีภาวะผู้นำ และมีทักษะการทำงานร่วมกันท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง
       3.เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โดยการฝึกวิเคราะห์สังคม วิเคราะห์ตนเอง จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มชมรมองค์กรและชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ดีเพื่อให้การอบรมครั้งนี้เกิดประสิทธิภาพที่สุด ปาตานี ฟอรั่ม จึงจัดทำแผนงานเป็นกระบวนการ ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย เล็งเห็นเยาวชนเป็นศูนย์กลางในการอบรม จึงมีแผนงานเชิงกระบวนการ ดังต่อไป

กิจกรรมที่ 1 การประชุมพัฒนาหลักสูตรการอบรม Inception workshop 
กิจกรรมที่ 2 เปิดตัว โครงการอบรมเยาวชนผู้นำรุ่นใหม่ รุ่นที่1 Forum Socialization/Interview of Candidates
กิจกรรมที่ 3 ปฐมนิเทศโครงการอบรมเยาวชนผู้นำรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1 Orientation for Participants
กิจกรรมที่ 4 อบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ Leadership and Civic Participation, Peace Dialogue and Terms of Coexistence,และการวิเคราะห์สังคมเบื้องต้น
กิจกรรมที่ 5 ลงพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ เรียนรู้ชุมชน ค้นหาสันติภาพ Field Trips to Villages
กิจกรรมที่ 6 ถอดประสบการณ์การอบรมและสรุปสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมอบรม และวางแผนการขยายงานในอนาคต Roadmap for Peace Workshop

ทั้งนี้ทั้งนั้น แผนกิจกรรมดังกล่าว เมื่อนำมาสรุปออกมา ทำให้พบว่า มีแง่มุม ข้อคิด มากมายซึ่ง ปาตานี ฟอรั่ม เล็งเห็นว่า อาจจะมีประโยชน์ ต่อผู้อ่าน จึงอยากนำมาเผยแพร่ โดยมุ่งหวังเพื่อเป็นความรู้ต่อไป  ดังนี้

1.การประชุมพัฒนาหลักสูตรการอบรม Inception workshopโดยมีผู้ให้ข้อเสนอแนะ คือ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักศึกษาและเยาวชน 20 คน  โดยมีการแลกเปลี่ยนความเห็น ประเด็นสำคัญ คือผู้เข้าร่วมอยากให้คู่มือสำหรับการอบรม ควรปรับใช้กระบวนการที่มุ่งเน้นการถอดบทเรียนการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมกระบวนการอบรม ส่วนที่มีการลงพื้นที่เพื่อสร้างโอกาสการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันผ่านการเรียนรู้ชุมชนนั้น ควรให้โอกาสเยาวชนประชุมร่วมกันระหว่างเยาวชน และผู้จัดอบรมในการกำหนดประเด็น กำหนดพื้นที่ เพื่อนำไปการถอดบทเรียนร่วมกันหลังจากเรียนรู้ชุมชน

2.เวทีเปิดตัว โครงการอบรมเยาวชนผู้นำรุ่นใหม่ รุ่นที่1 Forum Socialization/Interview of Candidates สรุปได้ดังนี้ คือ เรื่องสถานการณ์ของกลุ่มเครือข่ายเยาวชน ภาคประชาสังคม ต่อการทำงานร่วมกัน ซึ่งถอดบทเรียนจากสถานการณ์ทางการเมือง พบว่า การเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ยังมีอยู่น้อย ในวัฒนธรรมความคิดของคนในสังคมไทย ขณะที่การขับเคลื่อนกิจกรรมของภาคประชาสังคม และภาครัฐ พบว่า มีความพยายามที่สร้างความเป็นเอกภาพ แต่ด้วยมุมมองในการคิดวิเคราะห์ มุมมองทางการเมืองที่ต่างกัน ประกอบกับการยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็นของตนเอง จึงทำให้ความเป็นเอกภาพของภาคประชาสังคมจึงยังไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดการส่งต่อวัฒนธรรมความคิด วัฒนธรรมการทำงาน มาถึงเยาวชน คนรุ่นใหม่ โดยผ่านการสร้างเครือข่ายเฉพาะกลุ่ม ทำให้มีแนวโน้มได้ว่า การเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง จนนำมาสู่การสร้างสันติภาพ เกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน ดังนั้น เยาวชน คนรุ่นใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ และมีทักษะ ต่อการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง ขณะเดียวกันในกิจกรรมเปิดตัวโครงการได้มีการเสวนาหัวข้อ “ขัดกันฉันท์มิตร” โดย อาจารย์อัญธิฌา   แสงชัย และคุณวิทยา   แสงระวี นักจัดกระบวนการที่ติดตามสถานการณ์ประชาธิปไตยในสังคมไทย เพื่อเป็นการสร้างหลักคิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมอบรมและสอดคล้องกับเนื้อหาโครงการอบรม

3.ปฐมนิเทศโครงการอบรมเยาวชนผู้นำรุ่นใหม่    Orientation for Participants การปฐมนิเทศได้ดำเนินการในลักษณะการสร้างการบรรยากาศการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เข้าร่วมและผู้จัดโครงการ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้ซักถาม เสนอแนะและตั้งข้อสังเกตในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอบรม ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมสัมพันธ์เป็นการสร้างบรรยากาศและความรู้สึกไว้วางใจระหว่างผู้เข้าร่วมด้วยกันเพื่อปูพื้นฐานก่อนเข้าอบรมจริง จากการสอบถามพบว่าผู้เข้าร่วมมีความสนใจและยอมรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการอบรม ที่ได้หารือร่วมกัน ขณะเดียวกัน พบว่า ผู้เข้าร่วมมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน โดยสังเกตจากการพูดคุยซักถามและแลกเปลี่ยนกันระหว่างกลุ่มระหว่างบุคคล ทั้งยังกล้าแสดงออกเวลาร่วมกิจกรรม

4.อบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อทักษะสัมพันธ์ Peace Dialogue and Terms of Coexistence กระบวนการอบรม โดยกระบวนการเน้นผู้เข้าร่วมเป็นศูนย์กลาง ใช้กิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความเห็นและถอดบทเรียนจากประสบการณ์ร่วมกัน โดยเนื้อหาในการอบรม อาทิ การสร้างสัมพันธ์ รู้จักกัน การสร้างข้อตกลงร่วมกัน การเข้าใจธรรมชาติความขัดแย้ง ความแตกต่าง และคุณค่าของความแตกต่าง การรู้จักอคติ  ทัศนคติการรับฟังผู้อื่น ความสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมไม่ด่วนสรุป และไม่คิดแทนผู้อื่น อย่างไรก็ตามก็พบปัญหาอุปสรรค คือ เรื่องของการจัดการเวลาของผู้เข้าร่วม เมื่อเริ่มกิจกรรมก็ไม่ตรงต่อเวลา และเมื่อดำเนินกิจกรรมไปแล้ว บ่อยครั้งที่ต้องขยับเวลายืดออกไปโดยเฉพาะช่วงกิจกรรมหลังๆ เพราะผู้เข้าร่วมมีการแลกเปลี่ยน ความเห็น มากยิ่งขึ้น ทำให้กระทบกับกิจกรรมต้องขยับเวลาออกไปด้วย .

ข้อค้นพบที่สำคัญ คือ ผู้เข้าร่วมอบรม มีความเป็นมาแตกต่างกัน การอบรมในช่วงแรกๆ พบว่า แต่ละคนมีช่องว่างระหว่างกัน ซึ่งกระบวนการที่ใช้ได้คำนึงถึงข้อนี้ดี จึงกำหนดกิจกรรมเพื่อให้แต่ละคน ปรับทัศนคติ จนแต่ละคนสนิทกันมายิ่งขึ้น ผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมกิจกรรมเกม ซึ่งมีส่วนช่วยให้แต่ละคนดึงประสบการณ์ตรงของตนเองมาแลกเปลี่ยน จนทำให้เห็น เข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น มีการรับฟังมากว่าวันแรก ส่วนผู้ที่ไม่ค่อยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เริ่มที่จะกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น และมีความมั่นใจในการคิดมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมอบรม มีข้อเสนอ มุมมองที่หลากหลาย และลดการชี้นำเพื่อสร้างความเข้าใจตรงกัน แต่สร้างหลักการ ข้อตกลงรวมกัน เพื่อให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกันได้ต่อไป

5.อบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ การวิเคราะห์สังคมเบื้องต้น เป็นกระบวนการที่เน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมฝึกการใช้เครื่องมือ และมีแนวทางในการไปใช้งานต่อ ทั้งนี้โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้หลักการ การใช้เครื่องมือ และการวิเคราะห์ ร่วมกัน ผ่านกิจกรรม ยกฟูก สามเหลียมค้ำยัน ใยแมงมุมทำให้เกิดการวิเคราะห์โครงสร้างสังคม ตัวละครที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ในพื้นที่ วิเคราะห์ตนเอง และการกำหนดบทบาทตนเองต่อสถานการณ์ต่างๆ มีแนวทางในการวิเคราะห์ปัญหา สถานการณ์ทางสังคม ผู้เข้าอบรมเข้าใจโครงสร้างอำนาจทางสังคมต่อกรณีปัญหาชายแดนใต้ และสถานการณ์การเมืองไทยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้เข้าอบรมมีแผนงานที่จะนำไปสู่ เวทีเรียนรู้ร่วมกันในการการวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกันและมีแผนงานที่จะนำไป ปรับใช้ในการวิเคราะห์กลุ่ม องค์กรตนเอง ต่อไป

6.สัมผัสพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ เรียนรู้ชุมชน ค้นหาสันติภาพ Field Trips to Villages กิจกรรมเรียนรู้ชุมชน เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญ โดยเริ่มต้นจากการกำหนดประเด็น กำหนดพื้นที่ ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และวางแผนการทำงานร่วมกัน ซึ่งมีการแบ่งเป็น 2 กลุ่มเรียน และชุมชนที่ผ่านการเลือกได้แก่ พื้นที่ที่ 1 ชุมชนปะลุกาแปเราะ จ.นราธิวาส โดยศึกษาประเด็นการกรณีผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ พื้นที่ที่ 2 ชุมชนโคกกระบือ จ.ปัตตานี โดยศึกษาประเด็น วิธีชีวิตชุมชนพุทธท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ ก่อนมาสู่การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันช่วงค่ำของวันเดียวกัน ซึ่งที่ที่ค้นพบจากผู้เข้าร่วมอบรม คือ ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจความคิดของตนเอง และผู้ที่ได้รับกระทบจากสถานการณ์ จนมาซึ่งข้อเสนอสำคัญ คือ การมีวงศึกษา แลกเปลี่ยน วิเคราะห์ กันต่อ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์มายิ่งขึ้นในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมอบรม ได้มีการวางแผน มองเห็นเป้าหมายและทำงานร่วมกัน จนบรรลุวัตถุประสงค์กิจกรรมเรียนรู้ชุมชน อันจะชี้ให้เห็นว่า เนื้อหาที่ได้จากการอบรม ส่งผลต่อคนที่มีความคิด แนวทางการทำงานแตกต่างกัน สามารถทำงานร่วมกันได้ เมื่อมีเป้าหมายร่วมกัน

7.ถอดประสบการณ์การอบรมและสรุปสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมอบรม และวางแผนการขยายงานในอนาคต Roadmap for Peace Workshop สาระสำคัญ คือ ควรมีการปรับระยะเวลาช่วงของการอบรมให้สอดคล้องต่อผู้เข้าร่วม ไม่ควรให้มีการอบรมที่ยืดเยื้อติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ควรแบ่งช่วงการอบรมเป็น 2 ช่วง ในสถานที่ที่มีความทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ตลอด เพื่อสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างเยาวชนด้วยกันเองในช่วงโอกาสที่นอกเหนือจากกำหนดกา นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมเสนอให้มีการจัดกิจกรรมอบรมลักษณะนี้ขึ้นอีกเพื่อเป็นการต่อยอดความรู้เดิม และขยายเนื้อหาการอบรมให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น Training of Trainer  และการพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ

บทสรุปทั้งหมดจากโครงการอบรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมได้สะท้อนว่า เป็นคำตอบอย่างหนึ่งต่อการพัฒนาศักยภาพเยาวชนผู้นำในการทำงานร่วมกันท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง ความคิดเห็นที่แตกต่างในพื้นที่ และการเมืองไทย และยังทำให้ผู้เข้าร่วมมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติทางความคิดไปในทางบวกมากขึ้น สามารถเข้าใจตัวเองและผู้อื่น ยอมรับความแตกต่าง ในมิติต่างๆของสังคมที่มีความหลากหลาย