อาบีบุสตา ดอเลาะ
การเยียวยาคือนโยบายหนึ่งที่รัฐใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความสูญเสียจากเหตุความรุนแรง แม้ความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกายและจิตใจ ไม่อาจตีค่าแลกเป็นเงินหรือทรัพย์สินได้ กระนั้นการเยียวก็ยังมีความสำคัญที่จะชดเชยค่าเสียหายและเป็นกำลังใจให้กับผู้สูญเสีย การคัดค้านโยบายเงินเยียวยาแบบหลังชนฝาคงไม่ถูกต้องนัก เพียงแต่ว่านอกจากการเยียวยาแล้ว รัฐต้องไม่ละเลยต่อการอำนวยความยุติธรรมในมิติอื่นร่วมด้วย
กรณีความเสียหายเกิดจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เนื่องจากเมื่อมีการเยียวยาแล้ว รัฐยังคงดำเนินกระบวนการยุติธรรมต่อไป ยังมีการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย แต่การที่มีเจ้าหน้าที่จำนวนหลายหมื่นคนมีอาวุธปืนอาศัยอยู่ในพื้นที่ ตลอดจนการคัดเลือกบุคคลที่ไม่มีหลักประกันว่าผู้ถืออาวุธเหล่านั้น มีวุฒิภาวะมากพอจะครอบครองอาวุธโดยไม่เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทำให้ในจังหวัดชายแดนใต้มีเรื่องราวความสูญเสียที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ที่ถืออาวุธอยู่บ่อยครั้ง
ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อความสูญเสียเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือความประมาท รัฐมีการมอบเงินเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย ทำให้บ่อยครั้งผู้เสียหายหรือญาติของผู้เสียหายไม่ติดใจจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรม ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมถูกแทรงแซงจากนโยบายของฝ่ายบริหาร โดยการมอบเงินให้ประชาชนเพื่อจูงใจไม่ให้ประชาชนนำคดีมาพึ่งบารมีศาล ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดมีโอกาสรับโทษน้อยลง อย่างไรก็ดีที่กล่าวมานั้นไม่ใช่เหตุที่เราจะกล่าวโทษผู้เสียหายเนื่องจากเป็นสิทธิของผู้เสียหายที่จะตัดสินใจ ในสภาวะสงครามที่เต็มไปด้วยชายชุดดำประชาชนย่อมนึกถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว
ผู้เขียนคงไม่เรียกร้องให้รัฐยุตินโยบายเงินเยียวยา เพื่อประชาชนจะได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้โดยการดำเนินกระบวนการยุติธรรรมเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ให้ถึงที่สุด เจ้าหน้าที่จะได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดวัง ซึ่งบุคลเช่นทหารตำรวจและเจ้าหน้าที่อื่นๆที่ถืออาวุธจะต้องใช้ความระมัดระวังขั้นสูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆอาจส่งผลเสียถึงชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์
แต่เพื่อให้การเยียวยาดำรงอยู่โดยไม่ทำลายกระบวนการยุติธรรม เมื่อเจ้าหน้าที่กระทำความผิดอาญา เช่น ฆ่าคนตาย ทำร้ายร่างกาย ประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ รัฐจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ว่าผู้เสียหายจะติดใจเอาความหรือไม่และไม่ว่าผู้เสียหายจะได้รับเงินเยียวยาหรือเปล่า แต่ข้อเท็จจริงเมื่อผู้เสียหายไม่มีการร้องทุกข์ไม่ติดใจดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ รัฐกลับไม่ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดตามไปด้วย จนเกิดกระแส “ยิง ตาย จ่าย จบ”ในจังหวัดชายแดนใต้อย่างกว้างขวางทำให้ประชาชนไม่พอใจกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐมากขึ้น
ในทางอาญาเมื่อมีความผิดเกิดขึ้นผู้ที่สามารถนำดคีมาสู่ศาลเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้แก่ ผู้เสียหายหรืออัยการ(ถ้าทหารทำผิดคืออัยการทหาร) เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์หรือไม่ติดใจเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานตำรวจก็มีอำนาจทำการสืบสวนสอบสวนและอัยการ(อัยการทหาร)ก็มีอำนาจพิจารณาสำนวนเพื่อนำคดีมาสู่กระบวนการยุติธรรมได้ การถือเอาความยินยอมของผู้เสียหายไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้องนัก เพราะความผิดอาญาแผ่นดินเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ เนื่องจากเป็นความผิดที่ร้ายแรงส่งผลเสียต่อสังคม รัฐจึงเป็นผู้เสียหายจากกระทำดังกล่าวด้วย จำต้องเคร่งครัดเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้แก่คนในสังคม
แม้จังหวัดชายแดนใต้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวไม่ได้หมายความเจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการใดๆโดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย มาตรา16,17 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินบัญญัติว่า “ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง” “พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำความผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นแต่ไม่ตัดสิทธิผู้ที่ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่”หมายความว่า การดำเนินการใดๆของเจ้าหน้าที่โดยใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง แต่ไม่ได้ตัดสิทธิที่ผู้เสียหายจะนำคดีมาสู่อำนาจของศาลยุติธรรมตามหลักทั่วไป เจ้าหน้าที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ เฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ระงับหรือป้องกันการกระทำความผิดกฎหมายเท่านั้น และต้องสมควรแก่เหตุเท่าที่จำเป็น การกระทำที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือความผิดพลาดอย่างร้ายแรง เช่นการใช้อาวุธปืนยิงผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางกฎหมาย
มาตรา 16 ของกฎอัยการศึกบัญญัติว่า “ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่กล่าวมามาแล้วในมาตรา 8 และมาตรา 15 บุคคลหรือบริษัทใดๆจะไม่สามารถร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับแต่อย่างหนึ่งอย่างใด แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลยเพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเป็นอิสระและสงบเรียบร้อยปราศจาก ราชศัตรูภายนอกและภายใน” หมายความว่า กฎอัยการศึกมิได้ยกเว้นความผิดให้กับเจ้าหน้าที่โดยเบ็ดเสร็จ การดำเนินการใดของเจ้าหน้าที่ทหารต้องเป็นไปตามกฎหมายและเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล หากมีการใช้อำนาจไปโดยไม่ชอบหรือเป็นไปโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่พอสมควรแก่เหตุ ทหารก็อาจต้องรับผิดทางกฎหมาย ทั้งในทางอาญาและทางปกครอง
จากกรณีที่เจ้าที่ทหารยิงเด็กเสียชีวิตที่บ้านไอร์กือเนาะอำเภอศรีสาครและบ้านฮูแตยืมลอ อำเภอบาเจาะ จัวหวัดนราธิวาส ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจกระทำเช่นนี้ได้ ไม่สมควรแก่เหตุ อีกทั้งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำในลักษณะนี้ ไม่มีกฎหมายคุ้มครองแม้จะเป็นการปฏิบัติหน้าในขณะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐก็ตาม นอกจากนี้ความสูญเสียดังกล่าวผู้บังคับบัญชาต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย เนื่องจากไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย จนก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ประชาชน กรณีนี้คงต้องติดตามดูต่อไปว่าสุดท้ายคดีจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่และศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร
การที่รัฐไม่พยายามดำเนินคดีกับเจ้าหน้าผู้กระทำความผิดเพราะผู้สูญเสียไม่ติดใจเอาความ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่มีความพยายามที่จะคุ้มครองป้องกันความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่ นโยบายเงินเยียวยามิได้เกิดจากความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างเดียว แต่ยังต้องการสร้างหลักประกันว่าในการปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้เจ้าหน้าที่จะได้รับอภิสิทธิ์ความช่วยเหลือจากรัฐเสมอ หากไม่แล้วรัฐจะต้องนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย มิเช่นนั้นการเยียวยาของรัฐจะกลายเป็นนโยบายที่ทำลายกระบวนการยุติธรรมในที่สุด