Skip to main content

‘อสนียาพร นนทิพากร’

ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดจากการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสถาบันครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกระทำต้องบาดเจ็บล้มตาย บางรายถึงกับพิการตกเป็นภาระครอบครัว บุคคลเหล่านี้ถึงแม้จะได้รับการดูแลเยียวยาจากทุกภาคส่วนแล้ว แต่ในความเป็นจริงสภาพจิตใจยังคงย่ำแย่เสมือนหนึ่งเพิ่งผ่านจากเหตุฝันร้ายมาสดๆ ร้อนๆ

นอกจากครอบครัวของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงแล้วที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากสถานการณ์ไฟใต้ แต่ยังมีครอบครัวของผู้ก่อเหตุรุนแรงอีกเป็นจำนวนมากที่จะต้องมารับเคราะห์กรรมจากการกระทำของสมาชิกภายในครอบครัว อาจจะมาจากการหลงผิด หรือตั้งใจเข้าร่วมขบวนการก็ตามแต่...ผู้เขียนไม่อยากไปซ้ำเติมกับคนเหล่านั้น...เพราะไม่อาจจะย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว แต่จะต้องยอมรับความเป็นจริงในวันนี้ว่า “เรือชีวิต” อีกหลายลำที่ล่องลอยอย่างไร้ทิศทางเพราะขาดต้นหนชี้นำ ต้องทิ้งลูกเมียให้เผชิญชีวิตตามลำพังอย่างเดียวดาย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวของครอบครัวๆ หนึ่งซึ่งเป็นผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต แต่ศาลยังมีความเมตตาได้ลดโทษให้เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวาง

ตั้งแต่ได้รับรู้เรื่องราวผู้เขียนสนใจต้องการตีแผ่ชีวิตของครอบครัวผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ได้รับความเดือดร้อนเพื่อต้องการสื่อให้สาธารณะชนรับรู้ว่าต้นตอปัญหาเกิดมาจากใคร? และมีความตั้งใจหาแนวทางช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม จึงได้ตัดสินใจลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทันทีเพื่อไปดูให้เห็นกับตาของตัวเองว่าการเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่มีสภาพเช่นไร

ตัวผู้เขียนเองได้ติดต่อคอลีเยาะ หะหลี ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมื่อ 28 เมษายน ปี 2547 และยังเป็นแกนนำสตรีเรียกร้องสันติภาพจาก ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ไหนๆ ได้ตั้งใจไปหาครอบครัวดังกล่าวแล้วเลยขอร้องให้ คอลีเยาะฯ ช่วยประสานนำญาติผู้ถูกคุมขังรายอื่นๆ มานั่งพูดคุยด้วยกัน!!! ซึ่งในวันนั้นแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีครอบครัวของผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ได้ออกมารวมตัวถึง 17 ครอบครัวด้วยกัน…

ทันทีที่ได้พบเจอหน้ากันผู้เขียนได้กล่าวทักทายเพื่อต้องการปรับทุกข์ผูกมิตร และรับรู้ปัญหาความทุกข์ยากของญาติผู้ต้องขังในคดีความมั่นคง แต่จากการสังเกตสีหน้าแววตาความหวาดระแวงหรือหวาดหวั่นยังคงมีให้เห็น เนื่องจากความไม่ไว้วางใจ

แต่เมื่อผู้เขียนได้เปิดใจรับฟังปัญหา แสดงความเห็นอกเห็นใจอีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากคุณคอลีเยาะฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความเชื่อถือในพื้นที่ กลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจึงได้ลดความหวาดระแวง เละได้มีการเปิดใจระบายความทุกข์ร้อนถึงปัญหาความเดือดร้อนกัน

ข้อมูลบางส่วนที่ผู้เขียนได้รวบรวมมา และได้จากการจับประเด็นใจความในการพูดคุยสนทนาได้รับรู้ว่า ประชาชนกลุ่มนี้ยังมีความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ อีกทั้งยังติดภาพที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการจับกุมญาติพี่น้องที่เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง เพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาคดีความ ศาลได้ตัดสินให้คุมขังในเรือนจำเพื่อลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำมา

ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวหน่วยงานภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับญาติผู้ก่อเหตุรุนแรงกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งสภาพจิตใจก็ไม่ได้แตกต่างกันเลยกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่ตกเป็นเหยื่อ และอย่าผลักไสให้พวกเขาต้องเลือกข้างไปอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเข้าทางกลุ่มขบวนการดึงไปเป็นมวลชน อาจจะใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

ผู้เขียนขอหยิบยกตัวอย่างกรณีญาติผู้ถูกคุมขังตลอดชีวิต ทิ้งให้ครอบครัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังต้องได้รับความเดือดร้อน เพื่อเป็นข้อมูลตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะครอบครัวนี้ครอบครัวเดียว แต่ผู้เขียนคิดว่ายังมีอีกหลายชีวิตที่ต้องทนทุกข์ทรมานเมื่อขาดผู้นำของครอบครัวไป

ครอบครัวผู้ถูกคุมขังตลอดชีวิต สภาพความเป็นอยู่เร้นแค้นแสนลำบาก มีแม่ซึ่งชราภาพมากแล้วมีอายุ 80 ปี ซึ่งเปรียบเสมือนไม้ใกล้ฝั่งเต็มที ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็มากแต่สิ่งหนึ่งที่ได้ออกมาจากปากของผู้ที่ได้ชื่อว่า “แม่” และอยากได้มากที่สุดในชีวิต ณ ตอนนี้ คืออยากไปเยี่ยมลูกที่ถูกคุมขัง อยากเห็นหน้าลูกเป็นครั้งสุดท้ายเพราะชีวิตตนไม่รู้จะอยู่อีกนานแค่ไหน

ในส่วนของภรรยาซึ่งจะต้องสวมบทบาทเป็นทั้งพ่อและแม่ในคราวเดียวกัน ต้องเป็นผู้นำครอบครัวเลี้ยงดูลูกน้อยอีกหลายชีวิต ซึ่งเธอได้เล่าว่าลูกๆ รบกวนให้เธอพาไปเยี่ยมพ่อที่เรือนจำบางขวางในช่วงปิดภาคเรียน

จากข้อมูลในวันนั้นที่รวบรวมได้แค่พื้นที่ในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี มีผู้ก่อเหตุรุนแรงที่โดนคุมขังอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 15 คน เรือนจำกลางจังหวัดสงขลาประมาณ 100 คน

สิ่งที่ญาติพี่น้องผู้ต้องขังอยากได้มากที่สุดคืออยากให้หน่วยงานภาครัฐอำนวยความสะดวกในการเดินทางสนับสนุนยานพาหนะเพื่อพาบุตรหลานไปพบหน้าพ่อ ภรรยาพบหน้าสามีที่เรือนจำกรุงเทพมหานคร ในส่วนของญาติผู้ถูกคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดสงขลา ขอแค่เพียงหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ช่วยติดต่อประสานงานกับทางเรือนจำ ให้คอยอำนวยความสะดวกในการเข้าเยี่ยมเป็นกรณีพิเศษ ในส่วนการเดินทางจะมีการนัดหมายเดินทางไปกันเอง

การที่ผู้เขียนมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือญาติผู้ต้องขังเหล่านี้ อาจจะมีบุคคลที่ไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหวว่าช่วยเหลือผู้ก่อเหตุรุนแรงทำไม? และทำไปเพื่ออะไร? เพราะโจรใต้เหล่านี้ฆ่าผู้บริสุทธิ์ ฆ่าเจ้าหน้าที่ ฆ่าพระ ฆ่าครู ผู้เขียนเข้าใจดีว่านั่นคือการกระทำส่วนบุคคลไม่ได้เกี่ยวข้องกับครอบครัวของผู้ก่อเหตุรุนแรงที่อยู่ข้างหลัง การช่วยเหลือญาติผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งเป็นคนดีไม่ใช่ผู้ร้ายเพื่อให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐไม่เคยทอดทิ้งผู้เขียนคิดว่าเป็นสิ่งที่หน่วยงานทุกภาคส่วนสมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

อย่างน้อยที่สุดผู้ต้องขังเหล่านี้ได้หลงผิดไปแล้ว...และได้รับโทษทัณฑ์กับสิ่งที่ตัวเองได้กระทำมา กลุ่มขบวนการที่เคยหลอกใช้งานบุคคลเหล่านี้เคยคิดช่วยเหลือครอบครัวที่ตกทุกข์ลำบากบ้างไหม? ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุเหล่านี้ได้ทุ่มเทให้กับขบวนการแม้ตัวจะตาย

แต่สังคมไม่เคยคิดทอดทิ้งกัน ผู้รับผิดชอบการเยียวยาในพื้นที่พบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานเจ้าหน้าที่รัฐไปดำเนินการช่วยเหลือกับครอบครัวผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ได้รับความเดือดร้อนเบื้องต้น ด้วยการนำถุงพระราชทาน เครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบให้ ส่วนผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือ จะเห็นได้ว่าหน่วยงานภาครัฐไม่เคยคิดแบ่งแยก ไม่มีการเลือกปฏิบัติในยามที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ให้ความเป็นกันเองฉันพี่น้องเป็นที่พึ่งได้ทุกเมื่อ อีกทั้งยังมีการปรับทุกข์ผูกมิตร...เป็นเพื่อนร่วมชีวิต ร่วมแผ่นดินเกิดที่จะต้องช่วยเหลือกัน.. แล้วกลุ่มขบวนการล่ะ...เคยทำอะไรให้กับครอบครัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเช่นนี้บ้าง!!!!