Skip to main content

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 

        เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่มกราคม 2547 ถึง มกราคม 2553 นับรวมได้หกปีเต็มแล้ว จากฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลา 73 เดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์ความไม่สงบรวม 9,446 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,100 ราย บาดเจ็บ 6,509 ราย รวมเหยื่อของเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบหกปีที่ผ่านมา ทั้งตายและบาดเจ็บรวมกันเป็นจำนวน 10,609 ราย หากนับว่าผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมีคนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียดังกล่าวด้วย ประมาณว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียโดยตรงอีกประมาณ 53,045 คน น่าสนใจด้วยว่าเหยื่อผู้สูญเสียทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วยภูมิหลังแตกต่างกัน มีทั้งพี่น้องชาวมุสลิมและพุทธ โดยที่ในกลุ่มผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นคนมุสลิมมากกว่าพุทธ ส่วนในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนพุทธมากกว่ามุสลิม ดังจะเห็นได้จากกลุ่มผู้ตายเป็นคนมุสลิม ร้อยละ 58.95 (2,417 คน) คนพุทธร้อยละ 38.02 (1.559 คน) ในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นคนพุทธร้อยละ 59.82 (3,894 คน) คนมุสลิมร้อยละ 32.17 (2,094 คน)

1. การเปลี่ยนแปลงลักษณะของความรุนแรง

        เมื่อพิจารณาแนวโน้มเหตุการณ์ในช่วงหกปีที่ผ่านมา ดูจากความถี่ของความรุนแรงโดยเฉลี่ยเป็นรายเดือนและรายปี จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2552 มีแบบแผนการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่น่าสนใจในแง่ยุทธศาสตร์ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ความรุนแรงของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไต่บันไดสูงขึ้นอย่างชัดเจน ในปี 2547 เกิดเหตุการณ์ 1,838 ครั้ง ในปี 2548 เกิดเหตุการณ์ 2,173 ครั้ง ในปี 2549 เกิดเหตุการณ์ 1,847 ครั้ง และในปี 2550 เกิดเหตุการณ์ 1,850 ครั้ง แต่ทว่าหลังจากปลายปี 2550 เหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ในช่วงปี 2551 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณ 821 ครั้ง แต่ในปี 2552 เหตุการณ์ความไม่สงบดูคล้ายกับว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในปีดังกล่าวประมาณ 1,035 ครั้ง อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า แม้ว่าความถี่ของเหตุการณ์จะไม่สูงมากเท่ากับเหตุการณ์ก่อนปี 2551 แต่ทิศทางและแนวโน้มสถานการณ์ในปี 2552 มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
 

        ประเด็นที่ควรจะพิจารณาด้วยในการวิเคราะห์ความรุนแรงของสถานการณ์ภาคใต้ก็คือ ตัวชี้วัดของความรุนแรงนั้นไม่อาจจะดูแค่ความถี่หรือจำนวนครั้งของความรุนแรงเท่านั้น เมื่อดูจากผลกระทบของความรุนแรงในแง่ของความสูญเสีย หรือการเสียชีวิตและบาดเจ็บ (Casualty Rate) จะเห็นได้ว่าการเสียชีวิตและบาดเจ็บในช่วงหกปีที่ผ่านมามีลักษณะแตกต่างจากการวัดจำนวนครั้งของความรุนแรง เราอาจจะแบ่งช่วงของความรุนแรงเป็นสามช่วง ช่วงแรก นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2550 ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เป็นไปในลักษณะที่ความรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงมากขึ้นตามลำดับ ความรุนแรงของเหตุการณ์มีลักษณะเป็นคลื่นสูงๆ ต่ำๆ สลับกันเดือนต่อเดือน เดือนที่มีความรุนแรงสูงสุดคือเดือนตุลาคม ปี 2547 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันประมาณ 316 คน และเดือนมิถุนายน ปี 2550 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันประมาณ 304 คน นอกจากนี้ เหตุการณ์รุนแรงมากที่สุดอยู่ในช่วงเดือนที่มีเหตุการณ์ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงมากกว่า 200 คน ระหว่างปลายปี 2549 จนถึงกลางปี 2550 หรือช่วงเวลานับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2549 จนถึงเดือนมิถุนายน 2550

        ช่วงที่สอง หลังจากเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ปี 2550 เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง อันเกิดจากการปรับเปลี่ยนทางยุทธวิธีของฝ่ายรัฐ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าในห้วงปลายปี 2549 จนถึงต้นปี 2550 คลื่นแห่งการก่อเหตุความไม่สงบไต่ระดับสูงขึ้นอย่างมาก ในครั้งนั้นความรุนแรงมีความถี่และความเข้มข้นสูง โดยเฉพาะหลังจากการรัฐประหารปี 2549 ทำให้รัฐโดยเฉพาะฝ่ายทหารได้เร่งการระดมกำลังปิดล้อมพื้นที่ตามแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้เพื่อจับกุมแกนของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ นอกจากนี้ ในยุคที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2550 ก็คือ การเพิ่มกำลังทหารและกองกำลังทางราชการฝ่ายอื่นๆในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ตามกรอบอัตรากำลังของกองอำนวยการความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มากขึ้นจนถึงประมาณ 60,000 คน แนวทางที่เน้นการทหารดังกล่าว ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะฝ่ายทหารเพื่อควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อย เห็นได้จากนโยบายที่ให้ 1 กองทัพภาค คุมพื้นที่ 1 จังหวัด นอกจากนี้ยังมีการสร้างกองกำลังประจำถิ่น โดยจัดตั้งกองกำลังทหารพรานในพื้นที่อีก 30 กองร้อย ขณะที่รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยก็เพิ่มอัตรากำลังอาสาสมัครรักษาดินแดนอีกประมาณ 2,000 คน ขณะเดียวกันก็สร้างกองกำลังประชาชน โดยเพิ่มอัตราผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบจากเดิมหมู่บ้านละ 1 คน เป็นหมู่บ้านละ 5 คน ในขณะที่ทางฝ่ายตำรวจก็จัดตั้ง‘ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ (ศชต.)’ ในเวลาต่อมา

        สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือยุทธการพิทักษ์แดนใต้และยุทธการอื่นๆ ทำให้เกิดการทำลายโครงสร้างขบวนการก่อความไม่สงบ รัฐใช้ข้อมูลการข่าวที่พิสูจน์ทราบ และระดมกำลังปิดล้อม ตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย เพื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบสวนซักถาม และจับกุมผู้ต้องหาที่มีหลักฐานกระทำผิด จำนวนผู้ที่ถูกจับทั้งหมดในการดำเนินการโดยเฉพาะจากฝ่ายทหารตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเดือนมิถุนายน 2552 มีจำนวน 3,159 คน เมื่อพิจารณาดูสถิติการถูกดำเนินการเป็นรายปี จะเห็นได้ว่าปี 2550 เป็นปีที่มีการจับกุมมากที่สุด มีผู้ถูกจับกุมในปีนี้มากถึง 1,982 คน ทำให้ในปีต่อมาคือปี 2551 เป็นปีที่เริ่มมีจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปี 2550 ข้อมูลการจับกุมและระดับของเหตุการณ์ความรุนแรงที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนี้สอดคล้องกัน สะท้อนให้เห็นว่าการปฏิบัติการทางการทหารเพื่อปิดล้อมตรวจค้นจับกุมเป็นคลื่นใหญ่ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบลดลง และมีผู้ถูกดำเนินการจับกุมเป็นจำนวนมากในปีนั้น ในขณะเดียวกัน ผลจากการจับกุมและกักขังคนจำนวนมากเพื่อการสอบสวน แม้จะมีการปล่อยตัวไปส่วนใหญ่ แต่ก็มีปัญหาใหญ่ที่ตามมาก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในกระบวนการนี้ โดยเฉพาะการใช้อำนาจจับกุมคุมขังตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
 

        ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในอีกด้านหนึ่งก็คือ ดูเสมือนว่าการลดระดับความถี่ของความรุนแรงหรือการก่อเหตุความไม่สงบกับการลดระดับความถี่ของการตายบาดเจ็บจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลับไม่สอดคล้องกันอย่างที่คิด ในขณะที่ความถี่ของเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่การตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในช่วงเวลาเดียวกันนี้กลับแกว่งไกวสูงต่ำอย่างไม่มีความแน่นอน ความหมายก็คือว่า การก่อเหตุการณ์ความรุนแรงแม้จะลดจำนวนครั้งลง แต่ดูคล้ายกับว่าการโจมตีแต่ละครั้งจะมีผลทำให้เกิดการตายและบาดเจ็บมากขึ้น หรืออัตราความสูญเสียยังมีค่าค่อนข้างจะคงที่ เราจึงเห็นได้จากสถิติที่จำนวนครั้งของการก่อเหตุความไม่สงบรายเดือนกับจำนวนผู้ตายและบาดเจ็บรายเดือนจะต่างกัน ส่วนต่างก็คือค่าการตายและบาดเจ็บจะสูงกว่าโดยเปรียบเทียบนับตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นมา ตัวอย่างเช่นในตุลาคม 2550 มีเหตุการณ์ 101 ครั้ง มีผู้ตายและบาดเจ็บ 172 คน ในเดือนสิงหาคม 2551 มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 69 ครั้ง แต่มีผู้ตายและบาดเจ็บ 142 คนและในเดือนมิถุนายน 2552 มีเหตุการณ์ 92 ครั้ง แต่มีผู้ตายและบาดเจ็บรวมกันมากถึง 213 คน ดังรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ในตอนต้นปี 2552 ซึ่งระบุว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ “ความรุนแรงเชิงคุณภาพ” (ดูรายงาน "กึ่งทศวรรษไฟใต้ : ความสับสนในการหาทางออกด้วยเหตุผล")

        ประเด็นที่ควรเฝ้ามองยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เหตุการณ์ในช่วงที่สาม ระหว่างปี 2552 จนถึงปัจจุบันโดยภาพรวม สถิติการตายบาดเจ็บ (Casualties) เป็นรายปี ชี้ว่าความรุนแรง “ที่เป็นจริง” และความสูญเสียมีระดับสูงขึ้นตามลำดับนับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2550 (ในช่วงที่หนึ่ง) และลดลงในปี 2551 (ช่วงที่สอง) แต่ในช่วงที่สามซึ่งเริ่มในปี 2552 สถิติการตายและบาดเจ็บกำลังกลับมาสูงขึ้นอีก กล่าวคือ ในปี 2547 มีคนตายและบาดเจ็บ 1,654 คน ในปี 2548 มีคนตายและบาดเจ็บ 1,675 คนในปี 2549 มีคนตายและบาดเจ็บ 1,913 คนในปี 2550 มีคนตายและบาดเจ็บ 2,337 คนในปี 2551 มีคนตายและบาดเจ็บ 1,285 คน แต่ในปี 2552 มีคนตายและบาดเจ็บ 1,651 คน น่าสนใจที่ว่าสถิติการตายและบาดเจ็บในปี 2552 นั้น กลับมาอยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกับก่อนหน้านี้ การที่แนวโน้มการก่อความรุนแรงปี 2552 ดูเหมือนจะอยู่ในระดับเท่ากับก่อนปี 2550 ทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่าการก่อความรุนแรงและความไม่สงบอาจจะกลับสูงขึ้นมาอีกก็ได้ หากแนวโน้มทิศทางยังคงเป็นเช่นนี้ ถ้าสมมุติฐานนี้เป็นจริง อาจจะเป็นไปได้ที่เส้นแนวโน้มการก่อเหตุความไม่สงบจะกลับมาเป็นลักษณะตัวยู (U-Shape Trend) ซึ่งความเป็นไปได้ดังกล่าวขึ้นอยู่กับการปรับตัวทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีและปฏิบัติการของฝ่ายรัฐในการแก้ปัญหาสถานการณ์ภาคใต้ในระยะต่อไป

2. พลวัตพื้นที่ของความรุนแรง

        กล่าวในแง่พื้นที่ของการก่อความรุนแรง สถิติในภาพรวมหกปีแสดงว่า จังหวัดนราธิวาส มีเหตุการณ์ความไม่สงบสูงสุด รองลงมาคือจังหวัดยะลาและจังหวัดปัตตานี ดังสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547-2552 เป็นรายจังหวัด เหตุการณ์ที่จังหวัดนราธิวาส 3,449 ครั้ง จังหวัดยะลา 2,993 ครั้ง จังหวัดปัตตานี 2,935 ครั้ง และจังหวัดสงขลา 242 ครั้ง พลวัตการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของความรุนแรงที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงปี 2547-2548 จังหวัดนราธิวาสเป็นพื้นที่ซึ่งมีความรุนแรงสูงสุด แต่ต่อมาในช่วงปี 2550-2551 จังหวัดยะลากลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีระดับความรุนแรงสูงสุด น่าสังเกตว่าความถี่ของเหตุการณ์ลดลงทุกจังหวัดนับตั้งแต่ปี 2550 แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 ที่ผ่านมาจังหวัดปัตตานีกลับกลายเป็นพื้นที่ความรุนแรงสูงสุด จนกระทั่งเดือนมกราคมที่ผ่านมาปัตตานีก็ยังคงมีเหตุการณ์ความรุนแรงสูงสุด การปรับเปลี่ยนทางยุทธการของฝ่ายความมั่นคงและสถานการณ์เฉพาะในแต่ละพื้นที่เป็นตัวแปรที่สำคัญที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

        ระดับความรุนแรงของการก่อเหตุความไม่สงบและพลวัตของสถานการณ์ในระดับจังหวัดอาจจะพิจารณาวิเคราะห์ได้จากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์รายอำเภอและตำบลของแต่ละจังหวัด ในที่นี้ ถ้าพิจารณาระดับหน่วยย่อยสุดคือระดับตำบล เห็นได้ว่าตำบลที่มีระดับความรุนแรงสูงสุด 9 ลำดับแรกก็คือ ตำบลบันนังสตา (อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา) ตำบลรือเสาะ (อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส) ตำบลปะลุรู (อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส) ตำบลบองอ (อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส) ตำบลจวบ (อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส) ตำบลปะแต (อำเภอยะหา จังหวัดยะลา) ตำบลบ้านแหร (อำเภอธารโต จังหวัดยะลา) ตำบลสะเตงนอก (อำเภอเมือง จังหวัดยะลา) ตำบลตันหยงลิมอ (อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส) และตำบลเมาะมาวี (อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี)

        พลวัตการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เมื่อดูข้อมูลรายเดือน ตำบลบันนังสตา จังหวัดยะลาและตำบลรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส แย่งสลับกันเป็นอันดับหนึ่งและลำดับสองในการเป็นพื้นที่ก่อเหตุความไม่สงบรุนแรงนับตั้งแต่ปี 2547-2550 ภูมิประเทศป่าเขาและขนาดพื้นที่กว้าง เป็นปัจจัยสำคัญทางภูมิศาสตร์ ประกอบกับการเป็นพื้นที่เก่าในการเคลื่อนไหวของขบวนการก่อความไม่สงบใต้ดิน ทำให้เป็นฐานการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งเพราะมีฐานมวลชน ในปี 2550 ตำบลรือเสาะ (อำเภอรือเสาะนราธิวาส) มีเหตุการณ์สูงที่สุดมากถึง 66 เหตุการณ์ในปีเดียว ซึ่งเป็นการทำสถิติสูงที่สุดในรอบหกปีของเหตุการณ์ในระดับตำบลทั้งหมด ในขณะที่ปี 2549 ตำบลบันนังสตา (อำเภอบันนังสตา ยะลา) มีเหตุการณ์สูงสุดคือ 61 เหตุการณ์ นับเป็นสถิติระดับตำบลสูงสุดในลำดับสองในรอบหกปี ทั้งสองตำบลดังกล่าวมีสถิติลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ปลายปี 2550 โดยเฉพาะในช่วงหลังจากเดือนสิงหาคม-กันยายน-ตุลาคม เพราะผลการปฏิบัติการยุทธการปิดล้อมตรวจค้นอย่างหนักจากฝ่ายทหารในห้วงเวลาดังกล่าว ส่วนตำบลบองอ (อำเภอระแงะ นราธิวาส) และปะลุรู (อำเภอสุไหงปาดี นราธิวาส) ก็มีระดับความรุนแรงในระดับรองลงมาระดับสามและสี่ น่าสังเกตว่าพื้นที่ดังกล่าวมีระดับความรุนแรงลดลงมากหลังจากปี 2550 โดยเฉพาะที่ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี นราธิวาส สถิติลดฮวบลง ที่ตำบลนี้รายงานเหตุการณ์ความไม่สงบหายไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 จนกระทั่งมาเกิดอีกในเดือนเมษายน พฤษภาคมและมิถุนายน 2552

        พื้นที่ที่น่าสนใจอีกที่หนึ่งก็คือตำบลปะแต อำเภอยะหา ยะลา และตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส เหตุการณ์ที่ตำบลปะแตเริ่มต้นในปี 2547 ด้วยสถิติที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับรือเสาะและบันนังสตา แต่ระดับความรุนแรงเพิ่มสูงมากขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงสูงสุดในปี 2550 (เหมือนกับที่อื่นๆ) ในปี 2550 นั้น ตำบลปะแตมีความรุนแรงสูงมากจนนับเป็นลำดับสามรองลงมาจากรือเสาะและบันนังสตา แต่ในปี 2551 ทุกพื้นที่มีสถิติลดลงมากเหมือนกันรวมทั้งปะแต สำหรับตำบลปะแตนั้น การที่รือเสาะและบันนังสตามีสถิติลดลงมากกว่า ทำให้ ปี 2551 นั้นตำบลปะแตกลายเป็นตำบลที่มีสถิติการเกิดเหตุความไม่สงบสูงที่สุดเมื่อเทียบกับตำบลอื่นๆ ทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าตำบลนี้มีสถิติลดลงแต่ไม่มากเท่ากับที่อื่น ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ตำบลรือเสาะลดลงจาก 66 เหตุการณ์มาเป็นประมาณ 10 กว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2551 ที่ตำบลปะแตลดลงจาก 36 เหตุการณ์มาเป็นประมาณ 22 เหตุการณ์ ความสำเร็จจากนโยบายการรับผู้มอบตัวเป็นจำนวนมากนับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตำบลนี้มีเหตุการณ์ลดลง ส่วนที่ตำบลจวบ (อำเภอเจาะไดร้อง นราธิวาส) เหตุการณ์ความไม่สงบได้ลดระดับลงอย่างมากตั้งแต่ปี 2550 แล้ว และอยู่ในระดับคงที่ค่อนข้างต่ำในปี 2551 แต่เหตุการณ์ความไม่สงบกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกระดับหนึ่งในปี 2552 หลังจากกรณีการสังหารหมู่ชาวบ้านมุสลิมที่มัสยิดบ้านไอปาแยร์ จากที่เหตุการณ์รวมในปี 2550 มีเพียง 10 ครั้ง เพิ่มมาเป็นประมาณ 16 ครั้งในปี 2552 ตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นตำบลที่น่าจับตามองมากที่สุดในกรณีของจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะในปี 2552 ได้ขึ้นมาเป็นลำดับที่สี่ของพื้นที่แห่งความรุนแรงในระดับตำบล นอกจากนี้ในภาพรวมจะเห็นทุกพื้นที่มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นในอีกระดับหนึ่งในปี 2552

        เมื่อดูพลวัตของสถานการณ์ในระดับพื้นที่ในรอบหกปี อาจคาดการณ์แนวโน้มเหตุการณ์ได้ว่าแนวทางการจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะต้องอาศัยการวิเคราะห์สถานการณ์เฉพาะในแต่ละพื้นที่โดยละเอียด น่าสังเกตว่าการใช้แนวทางการทหารเพื่อควบคุม ปิดล้อมตรวจค้น และจับกุม แม้จะทำให้ทางการสามารถควบคุมขอบเขตและพื้นที่ของความรุนแรงได้ระดับหนึ่งนับตั้งแต่หลังจากปี 2550 เป็นต้นมา แต่ปัญหาในทางปฏิบัติก็คือเป็นการเพิ่มโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติการละเมิดสิทธิของประชาชนก็มีสูงด้วย และเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ในช่วงปี 2552 เป็นต้นมาที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอีกระดับหนึ่งในหลายพื้นที่ เราสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเพียงในบางระดับหรือมีความเป็นไปได้ที่จะมีความเข้มข้นมากกว่านี้? ความชัดเจนสำหรับอนาคตยังคงความไม่แน่นอน สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรืออาจจะเลวร้ายลงก็เป็นได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่ยังไม่เกิดขึ้นคือการแก้ปัญหาพื้นฐานด้วยยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ชัดเจน ในขณะที่ประเด็นการขาดความชัดเจนเรื่องงานการเมืองนี้อาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปอีกในระยะยาวด้วยเช่นกัน

3. พลวัตของเป้าหมายความรุนแรง

        การวิเคราะห์ธรรมชาติและลักษณะความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบหกปีที่ผ่านมา ยังอาจจะพิจารณาได้จากเป้าหมายหรือเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้น เมื่อดูที่เหยื่อของเหตุการณ์ทั้งหมด ทั้งผู้ตายและบาดเจ็บรวมกัน ตั้งแต่มกราคม 2547 จนถึงมกราคม 2553 รวมแล้วประมาณ 10,609 คน เป็นผู้เสียชีวิต 4,100 คน บาดเจ็บ 6,509 คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนบาดเจ็บในสัดส่วนที่มากกว่าตนตาย กล่าวคือผู้เสียชีวิตร้อยละ 38.65 คนและบาดเจ็บร้อยละ 61.35 น่าสนใจที่ว่าสัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ได้รับบาดเจ็บนั้นมีระดับค่อนข้างคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนักตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2552 เช่น ปี 2548 ร้อยละของผู้ตายต่อเหยื่อทั้งหมดในแต่ละปี เท่ากับ 35.88 ปี 2549 เท่ากับ 37.38 และในปี 2552 เท่ากับ 34.34 สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินการที่ทำให้ลดความถี่ของความรุนแรงลงนับตั้งแต่ปี 2550 ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดต่อแบบแผนของการก่อเหตุร้ายรายวันและการบาดเจ็บล้มตายที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป

        เครื่องมือของการก่อเหตุความไม่สงบยังคงเป็นก่อเหตุด้วยการยิงเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือการใช้ระเบิด และอันดับที่สามคือการใช้วิธีวางเพลิง การก่อเหตุด้วยวิธีการวางเพลิงลดลงอย่างมากนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2550 และมีระดับต่ำมากกนับตั้งแต่นั้น ในขณะที่การก่อเหตุด้วยการระเบิดสูงที่สุดในปี 2550 จำนวน 373 ครั้ง แต่ในปี 2551 มีระดับลดลงเหลือ 152 ครั้ง ควรสังเกตด้วยว่าการโจมตีด้วยวิธีการใช้ระเบิดในปี 2552 กลับมีแนวโน้มสูงขึ้นประมาณ 182 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จักรยานยนต์บอมบ์ในปี 2552 นั้นมีค่าสถิติระดับสูงที่สุดในรอบหกปีเลยทีเดียว กล่าวคือเกิดเหตุจักรยานยนต์บอมบ์สูงถึง 27 ครั้งในปีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการก่อเหตุด้วยวิธีการระเบิดอาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในปี 2553 นี้

        นอกจากนี้ ในรอบหกปีที่ผ่านมา ลักษณะของเป้าหมายหรือเหยื่อของความรุนแรงก็เป็นปัจจัยที่น่าจะต้องเฝ้าจับตา จะเห็นได้ว่าภูมิหลังในด้านสถานภาพอาชีพของเหยื่อความรุนแรงในรอบหกปีที่ผ่านมาประกอบด้วยราษฏรทั่วไปเป็นส่วนมาก พิจารณาได้จากยอดรวมทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกัน ราษฏรทั่วไปที่ไม่มีตำแหน่งเกี่ยวข้องกับราชการเป็นเหยื่อของความรุนแรง (ทั้งตายและบาดเจ็บ) สูงสุดประมาณ 4,403 คน รองมาเป็นอันดับสองคือเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 1,433 คน ลำดับที่สามคือเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 966 คน อันดับที่สี่คืออาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านหรือ ชรบ./อรบ. ประมาณ 420 คน อันดับที่ห้าคือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประมาณ 335 คน ลำดับที่หกคือลูกจ้างของรัฐ ประมาณ 308 คน นอกนั้นเป็นกลุ่มอื่นๆ กระจายแยกย่อยกันไป เมื่อเทียบร้อยละหรือสัดส่วนต่อจำนวนผู้ตายและบาดเจ็บทั้งหมด เหยื่อที่เป็นกลุ่มราษฏรทั่วไปนับเป็นร้อยละ 50 ของเหยื่อทั้งตายและบาดเจ็บรวมกัน รองลงมาคือทหารประมาณร้อยละ 16 ตำรวจประมาณร้อยละ 11 ชรบ./อรบ. ประมาณร้อยละ 5 กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประมาณร้อยละ 5 และลูกจ้างของรัฐประมาณร้อยละ 4 ที่เหลือเป็นกลุ่มอื่นๆ

        ข้อสังเกตจากข้อมูลนี้ก็คือ สถิติการสูญเสียในกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งมีการวิเคราะห์ในระยะหลังว่า “อาจจะ” มีการตายหรือบาดเจ็บจากกรณีความรุนแรงส่วนตัวหรือการแย่งชิงผลประโยชน์การเมือง ถ้าหากข้อสมมุติฐานนี้เป็นจริง สัดส่วนของเหยื่อจากความรุนแรงกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านนี้มีอยู่ประมาณร้อยละ 5 ของเหยื่อทั้งหมดเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่งผู้สูญเสียที่เป็น อบต.และนักการเมืองท้องถิ่นก็มีประมาณร้อยละ 1 จากสถิติทั้งหมด ทำให้ข้อสมมุติฐานเรื่องสาเหตุการเกิดความรุนแรงในพื้นที่ซึ่งเป็นเรื่องความขัดแย้งด้านผลประโยชน์และความขัดแย้งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นไม่น่าจะอธิบายเรื่องผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกจำนวนมากกว่าที่เป็นราษฏรทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะทหารและตำรวจ รวมทั้ง ชรบ. และ อรบ. ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการต่อสู้กับการก่อความไม่สงบหรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในพื้นที่

        อย่างไรก็ดี เมื่อดูข้อมูลการเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตของความรุนแรงเป็นรายปี จะเห็นได้ว่าในระยะหลัง นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ในบรรดาเหยื่อผู้ตายในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ที่หากไม่นับราษฎรทั่วไปแล้ว ทหารเป็นกลุ่มผู้สูญเสียมากที่สุด รองลงมาได้แก่กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตามมาด้วย ชรบ. และอาสาสมัครอื่นๆ ส่วนลำดับที่สี่คือตำรวจ ที่น่าสนใจก็คือกล่าวในภาพรวมจำนวนผู้สูญเสียทั้งหกปี ตำรวจเป็นเป้าของกลุ่มผู้ถูกกระทำหรือเป็นเหยื่อจากความรุนแรงรองลงมาจากทหารหลายลำดับ แต่เมื่อดูเฉพาะสถิติการตายเป็นรายปี ตั้งแต่ปี 2547-2552 ปรากฏว่าตำรวจสูญเสียมากที่สุดในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ในช่วงปีแรกๆ ของเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะในช่วงปี 2547-2548 แต่เมื่อนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ทหารกลายเป็นลำดับแรกของกลุ่มผู้เป็นเป้าการทำร้ายหรือในกลุ่มผู้สูญเสียที่มิใช่ราษฎรทั่วไป และกำนันผู้ใหญ่บ้านกลายเป็นเป้าหมายลำดับที่สองของกลุ่มนี้ การที่ตำรวจลดความสูญเสียลงอาจจะเป็นเพราะบทบาทในทางยุทธการของตำรวจลดลงนับตั้งแต่ปี 2549 ทำให้ทหารเข้ามามีบทบาทหลักในการรักษาความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการขยายกำลังของผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในการรักษาความสงบ รวมทั้งกองกำลังอาสาสมัครในหมู่บ้านเพื่อป้องกันตนเองก็มีผลทำให้กลุ่ม ชรบ. อรบ. อาสาสมัครเป็นเป้าหมายการทำร้ายและมีจำนวนการสูญเสียมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ความพยายามในการปรับตัวเองทางยุทธวิธีและแนวทางการทำงานของตำรวจเองอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตำรวจมีความสูญเสียลดลงด้วย

        ประเด็นการวิเคราะห์เกี่ยวกับการเสียชีวิตและบาดเจ็บนอกจากจะดูที่ร้อยละของกลุ่มอาชีพต่างๆ แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือสัดส่วนร้อยละของการตายต่อการบาดเจ็บต่อกลุ่มผู้เป็นเหยื่อในอาชีพเดียวกัน ในที่นี้หมายความถึงว่าในแต่ละกลุ่มอาชีพนอกจากจะดูที่ร้อยละของการตายและบาดเจ็บต่อกลุ่มผู้เป็นเหยื่อทั้งหมดแล้ว เรายังดูที่ในแต่ละครั้งที่เกิดการทำร้ายและโจมตีคนในแต่ละกลุ่มอาชีพนั้นๆ มีร้อยละการเสียชีวิตมากน้อยเท่าใด หรือมีโอกาสที่จะเกิดการเสียชีวิตมากน้อยเท่าใด ในที่นี้กลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามมีร้อยละการเสียชีวิตจากการทำร้ายหรือโจมตีมากที่สุดคือร้อยละ 83.9 รองลงมาคือกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งมีร้อยละการเสียชีวิต 66.7 จากการเกิดโจมตีคนในกลุ่มเดียวกัน กลุ่มที่สามคือกลุ่มผู้นำท้องถิ่นอีกกลุ่มคือ พวก อบต. หรือ อบจ. ร้อยละ 60.7 อีกกลุ่มคือครูและบุคลากรการศึกษาซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตต่อการบาดเจ็บร้อยละ 59.3 เมื่อดูที่กลุ่มต่ำสุด ปรากฏว่าทหารมีอัตราการเสียชีวิตจากการโจมตีเท่ากับร้อยละ 17. 7 กลุ่มพระภิกษุสงฆ์หรือสามเณรเท่ากับร้อยละ 21.8 ตำรวจเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตต่อการโจมตี ร้อยละ 22.7 อาจจะกล่าวได้ว่ากลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามแม้ว่าในภาพรวมจะมีจำนวนหรือสัดส่วนการเสียชีวิตและบาดเจ็บไม่มากนัก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อความรุนแรงต่อกลุ่มผู้นำศาสนาอิสลาม พวกเขามีโอกาสจะเสียชีวิตจากการโจมตีมากที่สุด รองลงมาเป็นอันดับสองคือกลุ่มผู้นำหมู่บ้านเช่นกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อันดับสามคือผู้นำท้องถิ่นจากการเลือกตั้งเช่น อบต.และอบจ. และกลุ่มครูเป็นผู้มีอัตราการสูญเสียต่อการโจมตีในแต่ละครั้งมากเป็นลำดับที่สี่ อาจตีความได้ว่าผู้นำท้องถิ่นและครูมักจะมีอัตราเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการเกิดความรุนแรงมาก ส่วนทหารตำรวจและพระสงฆ์ มีอัตราเสี่ยงที่จะเสียชีวิตน้อยกว่า

4. ประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ในรอบหกปี

        การวิเคราะห์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นพลวัตของความรุนแรงและสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีลักษณะสองด้าน ด้านหนึ่งความรุนแรงมีความไม่แน่นอน สับสนและซับซ้อน มีโอกาสเป็นไปได้มากที่จะขยายตัวลุกลามต่อไป ในอีกด้านหนึ่งความรุนแรงก็มีนัยที่สะท้อนแบบแผนและระบบอะไรบางอย่างที่มีเป้าหมาย มีความเป็นระบบและโครงสร้างที่ซ่อนเร้นอยู่ กล่าวอีกแง่หนึ่งความรุนแรงและความไม่สงบมีพลวัตที่อาจจะอธิบายได้ และอาจจะจัดการแก้ไขได้พอสมควรแม้จะไม่ได้ทั้งหมด หากเข้าใจองค์ประกอบที่ซับซ้อนและพลวัตของมัน จากการประมวลการศึกษาแนวทางในการจัดการปัญหาความรุนแรงและการก่อความไม่สงบในรอบหกปีที่ผ่านมา มีข้อสรุปที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

        1. ภาพรวมทั่วไปของสถานการณ์ความไม่สงบในปี 2552 รัฐประสบความสำเร็จทางยุทธวิธี เพราะการปรับตัวทางยุทธวิธีหรือยุทธการทางการทหารและการจัดโครงสร้างกำลังเพื่อการปราบปรามและรักษาความสงบเรียบร้อยได้ แต่ยังขาดการปรับปรุงรูปแบบและเนื้อหายุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารอย่างเป็นระบบ การปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปทางการเมืองในเชิงโครงสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

        2. ในด้านยุทธการ สิ่งที่เป็นที่ยอมรับก็คือ จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปลายปี 2550 แต่รัฐก็ยังยังไม่สามารถอ้างได้ว่าความรุนแรง “ที่เป็นจริง” มีระดับลดลง เมื่อพิจารณาจากสถิติความสูญเสีย การตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

        3. ข้อพิจารณาในอีกด้านหนึ่งก็คือ การใช้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจหรืองานด้านกิจการพลเรือนเพื่อเสริมยุทธวิธีทางการทหารยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย พิจารณาจากข้อมูลตัวชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ตัวชี้วัดความยากจนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยังไม่ดีขึ้นกว่าเดิม ดังจะเห็นได้ปัญหาหลักในชุมชนที่ประชาชนมักจะระบุจากการสอบถามโดยการวิจัยก็คือปัญหาการว่างงาน ยาเสพติด ปัญหาการเกิดเหตุความไม่สงบและปัญหาความยากจน

        4. สิ่งที่สำคัญในอีกด้านหนึ่งก็คือ ปัญหาทางสังคมจิตวิทยา หรือความรู้สึกของประชาชน สิ่งที่เรามักจะค้นพบก็คือประชาชนในพื้นที่ยังมีปัญหาความรู้สึกเข้าใจและพึงพอใจต่อโครงการการพัฒนาของรัฐค่อนข้างต่ำ พิจารณาจากการสำรวจความรู้สึกพึงพอใจของประชาชนต่อโครงการการพัฒนาของรัฐ รวมทั้งกิจกรรมของหน่วยงานรัฐในรอบปีที่ผ่านมาโดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แม้ว่าจะมีความต้องการความช่วยเหลือจากรัฐอยู่มากและมีความพึงพอใจต่อโครงการช่วยเหลือระยะสั้นเช่นการจ้างงาน 4,500 บาทและบัณฑิตอาสา รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง แต่ประชาชนยังมองไม่เห็นผลสำเร็จในแง่การกระจายรายได้ การแก้ปัญหาความยากจน โครงการของรัฐยังขาดการพัฒนาศักยภาพและพัฒนากระบวนการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและศักยภาพการลงทุนในพื้นที่

        5. ตัวชี้ปัญหาสังคมที่หนักหน่วงมากคือ ปัญหายาเสพติด ยาเสพติดยังแพร่ระบาดไปทั่วซึ่งสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการพัฒนาการทางสังคมเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว เช่นปัญหาการว่างงานของเยาวชน ปัญหาความยากจน และปัญหาอื่นๆ

        6. ในปี 2552 ทัศนคติและความเชื่อมั่นไว้วางใจฝ่ายความมั่นคงเช่นต่อทหารและตำรวจยังไม่ดีขึ้น ซึ่งเกิดจากความผิดพลาดในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการขาดการยอมรับ ขาดความเข้าใจในเรื่องสิทธิในการรักษาอัตลักษณ์ของประชาชนในท้องถิ่น แม้ว่าในความเป็นจริง ตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2552 ประชาชนในพื้นที่หลายแห่งเริ่มจะมองเห็นและยอมรับบทบาทของทหารในการพัฒนาชุมชนและงานการเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนว่า การทุ่มกำลังเพื่อการพัฒนาโดยอาศัยงานการเมืองนำการทหารยังไม่บรรลุเป้าหมายในการเอาชนะจิตใจของประชาชน ในระยะยาว รัฐจึงควรเดินงานอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้นในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนเชื้อสายมลายูมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

        7. ความยุติธรรมที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนายังเป็นปัญหาที่มีความสำคัญเด่นชัดมาก ดังจะเห็นได้ว่าประชาชนส่วนมากยังมองว่าความห่างเหินทางวัฒนธรรมระหว่างข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชนในพื้นที่ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ ในอีกด้านหนึ่ง ความยุติธรรมเป็นปัญหาหลักที่ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุของสถานการณ์ความไม่สงบ เมื่อพิจารณาแยกเป็นองค์ประกอบย่อยๆ สิ่งที่มักจะถูกกล่าวถึงมากก็คือ ปัญหาที่เกี่ยวกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม เช่น ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อมุสลิม ปัญหาความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชนและปัญหาความอยุติธรรมต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเด็นในเรื่องความยุติธรรมกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในระดับสูงและมีความเด่นชัดมาก กล่าวในอีกแง่หนึ่ง ปัญหาความยุติธรรมในทุกๆ ด้านนั้นมีนัยสำคัญที่เกี่ยวโยงกับประเด็นอคติทางด้านชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งค่อนข้างจะสอดคล้องกับข้อมูลที่กล่าวไปแล้วว่าประชาชนมองว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ห่างเหิน แปลกแยกกับประชาชน เพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น จึงไม่เข้าใจวัฒนธรรม ภาษาและศาสนาของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

        8. กระแสทางสากลอาจจะเป็นตัวเร่งความเข้มข้นของปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันระหว่างการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธ์และความยุติธรรมให้เข้ากับตัวแปรในทางศาสนา ตัวอย่างเช่น รายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถนการณ์ภาคใต้ในปี 2551 (ดูรายงาน "ความสับสน 'การเมืองนำการทหาร' บทสรุปสถานการณ์ไฟใต้ 2551") เดือนกันยายนเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงสูงสุดของทั้งปีซึ่งเป็นเดือนรอมฎอน ในปี 2552 เหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมและกันยายนมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเด่นชัด แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้เป็นการปฏิบัติการทางวาทกรรมเรื่องชาติพันธุ์ มาตุภูมิและศาสนา แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ สัญลักษณ์ดังกล่าวถูกทำให้ลดความสำคัญลงด้วยวาทกรรมเรื่องเหตุของความรุนแรงที่เป็นเรื่องของความขัดแย้งผลประโยชน์ส่วนตัว หรือการแก้แค้นส่วนบุคคล ปัญหาอิทธิพลทางการเมืองท้องถิ่น อาชญากรรมและปัญหาการค้ายาเสพติด กระแสความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนเป็นการยืนยันว่าวาทกรรมความรุนแรงของการต่อสู้ที่ปัตตานีคือการต่อสู้ที่เป็นจริงของคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อชาติพันธุ์มลายู มาตุภูมิปัตตานีและศาสนาอิสลาม เพราะสะท้อนภาพการต่อสู้การก่อการร้ายในต่างประเทศที่มีกระแสสูงขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ยุทธศาสตร์และแนวทางการเมืองนำการทหาร การแก้ปัญหาอัตลักษณ์ แนวทางสันติจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาว

5. การวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต

        จากข้อมูลสถานการณ์ในอดีตและปัจจุบัน อาจจะทำให้เราคาดการณ์อนาคตสถานการณ์ภาคใต้เป็น 4 ตัวแบบการทำนายสถานการณ์ในอนาคต (scenarios) ดังนี้

        1. สถานการณ์อาจจะลดลงไปเรื่อยๆ เป็นขั้นบันไดขาลง ในตัวแบบนี้สถานการณ์ความไม่สงบอาจจะลดลงไปเรื่อยๆ ในระยะเวลาประมาณ 5-10 ปี แต่ความเป็นไปได้ในตัวแบบนี้ในขณะนี้อาจจะต่ำ เพราะสองปัจจัยคือ สถานการณ์ในปี 2552 สะท้อนว่าแนวโน้มสถานการณ์กลับมาเพิ่มระดับสูงขึ้น และสถานการณ์ในช่วงต้นปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าลดลงอย่างที่คิด นอกจากนี้ยังมีตัวแปรเรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯและพื้นที่อื่นๆ ทำให้รัฐบาลสับสนในการหาแนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้และต้องถูกดึงความสนใจไปแก้ปัญหาภาคอื่นๆ ที่กำลังเพิ่มความหนักหน่วงอยู่ ขณะนี้มีความเป็นไปได้มากที่กรณีความรุนแรงภาคใต้ถูกโยงไปเข้ากับความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในส่วนกลางด้วย

        2. ตัวแบบการลดลงในปี 2550-2551 และสูงขึ้นทันทีในปี 2553 ในลักษณะรูปตัววี (V-Shape Trend) แม้ว่าความรุนแรงมีแนวโน้มลดลงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2552 แต่ความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงและสถานการณ์ความไม่สงบจะสูงขึ้นทันทีในแบบตัววีก็อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก ปัจจัยที่สำคัญคือการกดความรุนแรงในภาคใต้ด้วยกำลังทหาร ตำรวจ อาสาสมัครและกองกำลังพลเรือนโดยฝ่ายรัฐในพื้นที่ และการทุ่มงบประมาณการพัฒนากว่าแสนล้านบาท บวกกับอีกหกหมื่นล้านบาทที่จะลงไปในพื้นที่ ทำให้การก่อเหตุความไม่สงบยากที่จะพุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลันเหมือนที่เคยเกิดในปี 2547 เว้นแต่จะเกิดความผิดพลาดในทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอย่างมาก มีการละเมิดสิทธิมนุษชนหรือการจุดชนวนความขัดแย้งอย่างรุนแรงจากฝ่ายรัฐ เช่นการเกิดเหตุการณ์อย่างกรณีไอปาแยร์ จนทำให้สถานการณ์บานปลายลุกลามไปจนคุมไม่ได้จนกระทั่งกลายเป็นกรณีเหตุความไม่สงบภายในประเทศที่จำเป็นต้องมีการแทรกแซงจากระหว่างประเทศ

        3. สถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบอาจจะลดลงตามที่เกิดขึ้นในปี 2551 และค่อยๆ สูงขึ้นตามลำดับเหมือนตัวแบบรูปตัวยู (U-Shape Trend) ตามตัวแบบนี้แนวโน้มเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในปี 2552 อาจจะค่อยๆสูงขึ้นตามลำดับเหมือนรูปตัวยู ลักษณะเหตุการณ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูง หากรัฐใช้แต่วิธีกดดันทางการทหารอย่างเดียว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาพื้นฐานในประเด็นใหญ่ๆ เช่นประเด็นเรื่องอัตลักษณ์มลายูมุสลิม ประเด็นเรื่องความยุติธรรมในทุกด้าน ประเด็นเรื่องความยากจนและด้อยพัฒนาของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเด็นในด้านการเมืองและปกครอง ปัญหาดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ความขัดแย้งและความรุนแรงจะดำรงอยู่ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและขบวนการใต้ดินซึ่งเป็นตัวแทน (agency) จะยังคงอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสงครามในการขยายกำลังและก่อสถานการณ์รุนแรง โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนทางยุทธวิธีในการดำเนินการให้สามารถเพิ่มระดับของความรุนแรงได้ในระยะยาว

        4. สถานการณ์อาจจะยังคงลดลงและเพิ่มขึ้นสลับกันไปเป็นรูปฟันปลา โดยจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงและการก่อเหตุความไม่สงบอยู่ต่อไปอีกยาว อาจจะสูงขึ้นและลดลงอีกสลับกันไป มีลักษณะความรุนแรงแบบคงที่ (constant violence) หรืออาจจะเป็นรูปตัวดับเบิลยู (W-Shape) แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นตามตัวแบบนี้ก็มากเช่นเดียวกันกับตัวแบบที่ 3 เพราะการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังทหาร การควบคุมพื้นที่ด้วยมาตรการทางกฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถลดระดับความรุนแรงได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังคงมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบางครั้งและความรู้สึกไม่พอใจของประชาชนในท้องถิ่น ประกอบกับการแก้ปัญหาในการพัฒนาที่มีการระดมงบประมาณลงไปในพื้นที่อาจจะทำให้สามารถดึงประชาชนบางส่วนให้มีความพึงพอใจและทำให้สถานการณ์ไม่รุนแรงขยายตัวออกไป แต่การไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาพื้นฐาน รวมทั้งความผิดพลาดในบางครั้งของเจ้าหน้าที่ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยง และกลายเป็นเงื่อนไขในการเกิดความรุนแรงในลักษณะตัวคงที่ ทำให้ฝ่ายก่อความไม่สงบสร้างเงื่อนไขการต่อสู้ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบให้ปะทุขึ้นอีกเป็นระยะๆ

        เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐอาจจะเลือกตัวแบบที่ 4 นี้ โดยใช้กำลังมากเข้ากด ไม่เจรจา ไม่ปฏิรูปการเมืองการปกครองและสังคม ในขณะที่ใช้เงินโครงการการพัฒนาซื้อใจประชาชนบางส่วน และดึงเวลาออกไปจนฝ่ายที่ก่อเหตุอ่อนตัวไปเอง แต่วิธีนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง มีปัญหาทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวก็คือ จะเกิดความเสี่ยงที่สถานการณ์จะกลายรูปเป็นแบบตัวแบบที่ 2 ถ้าพลาดพลั้งสถานการณ์ก็จะขยายตัวไปและกลายเป็นกรณีระหว่างประเทศ ความเสี่ยงในอีกด้านหนึ่งก็คือการยึดเวลาด้วยทุ่มกำลังคนและเงิน จะมีต้นทุนด้านความมั่นคงสูงมากขึ้นเรื่อยๆจนเป็นต้นทุนจม (sunk costs) จึงมีโอกาสมากที่ทหารจะถูกกดดันทางการเมืองเรื่องการใช้งบประมาณและความยึดเยื้อของปัญหา และการถูกกล่าวหาว่าเป็นการหาผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมของความไม่มั่นคง เกิดความไม่ไว้ใจอย่างที่เป็นปัญหาในเรื่อง เครื่องจีที 200 และการใช้งบประมาณสูงมาซื้ออุปกรณ์เรือเหาะ ซึ่งทำให้ทหารกลายเป็นเป้าของการตรวจสอบทางสังคมอย่างหนักหน่วงในอนาคต

6. การก่อความไม่สงบหรือการก่อความรุนแรง?

        การก่อเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้เกิดวาทกรรมทางการเมืองซึ่งเป็นอำนาจที่เปลี่ยนแปลงความคิดของคนไทยและการตัดสินใจทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน การก่อความไม่สงบเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่รุนแรงซึ่งแก้ปัญหาไม่ได้จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองและการใช้ความรุนแรงต่อรัฐโดยขบวนการที่มีฐานสนับสนุนอยู่ที่ชุมชนซึ่งใช้การต่อสู้ทางการทหารสลับกับการต่อสู้ทางการเมือง วาทกรรมหลักในการต่อสู้ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จนนำไปสู่การก่อความไม่สงบก็คือการต่อสู้ของขบวนการที่อาศัยฐานของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ในเรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์และศาสนา ปัญหาอื่นที่มาประกอบกัน เป็นตัวเร่งความรุนแรงก็คือเรื่องความยุติธรรมและปัญหาความด้วยโอกาสในการพัฒนา ความยากจน ความซับซ้อนของปัญหาอยู่ที่บางครั้งความขัดแย้งส่วนตัว ความขัดแย้งทางการเมืองในท้องถิ่น อาชญากรรมและยาเสพติดถูกดึงเข้ามาอธิบายความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นด้วย นี่เป็นเหตุให้รัฐพยายามสร้างวาทกรรมใหม่ว่าด้วยผู้ก่อความรุนแรง (perpetrators of violence-PV) มาใช้แทนคำว่าการก่อความไม่สงบ (insurgency) เป็นการพยายามสร้างจินตกรรมของความรุนแรง (new imagined violence) ในแบบใหม่เพื่อลบล้างความหมายของวาทกรรมเดิมว่าด้วยการเกิดความไม่สงบ กล่าวในอีกแง่หนึ่ง การสร้างจินตกรรมใหม่ก็เพื่อลดความหมายของความรุนแรงที่เกิดจากการก่อความไม่สงบในแบบการเมืองอัตลักษณ์ที่ขยายตัวไปทั่วโลก แต่การก่อตัวของวาทกรรมว่าด้วยการก่อความไม่สงบเป็นความรุนแรงที่มีปฏิบัติการที่เป็นจริงและมีความต่อเนื่องยาวนาน เป็นความจริงทางการเมืองที่ปรากฏในชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลานับหลายสิบปี การสร้างจิตนาการใหม่ว่าด้วยความรุนแรงอันเป็นเรื่องส่วนตัว ผลประโยชน์และยาเสพติดอาจจะเป็นความพยายามในการปฏิเสธที่จะยอมรับความเป็นจริงอีกด้านที่กำลังดำเนินอยู่ในพื้นที่ด้วยการใช้คำใหม่ คำอธิบายใหม่และความรู้สึกใหม่ แต่ความรุนแรงก็คือความรุนแรง มันมีชีวิตของตนเอง มีความหมายของตนเองและมีอำนาจในชีวิตจริง ดังนั้นจินตกรรมความรุนแรงอาจจะไม่ได้เกิดจากการอธิบายเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องมีปฏิบัติการวาทกรรมของความรุนแรงในพื้นที่ความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมือง ความรุนแรงและพลวัตของสถานการณ์เป็นสัญลักษณ์ของอะไรกันแน่ในพื้นที่สาธารณะ สถานการณ์ไฟใต้หกปีที่ผ่านมาและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นตัวชี้ว่าที่จริงแล้วสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้คือการก่อความไม่สงบหรือเป็นเพียงแค่การกระทำของผู้ก่อความรุนแรงธรรมดา?

 

คลิกเพื่อดาวน์โหลดบทความในรูปแบบไฟล์เวิร์ด

 

File attachment
Attachment Size
srisompob_six_year.pdf (405.63 KB) 405.63 KB