Skip to main content

 

ครบรอบหนึ่งสัปดาห์แล้ว สำหรับศุกร์ 13 กับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปารีส เหตุการณ์นั้นไม่ได้ส่งผลเฉพาะในประเทศฝรั่งเศษเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะเทือนต่อทัศนคติของคนไทยด้วย ขณะเดียวกันก็มี #NotInMyName (คำอ่าน เอชแท็คน็อทอินมายเนม) ได้กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ทันทีหลังเกิดเหตุความรุนแรงในประเทศฝรั่งเศษ เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย และสะท้อนว่ามุสลิมไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และวันนี้นักข่าวพลเมือง C-REPORTERS จาก น้องหรี นรินทร์ ปากบารา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มข้าวยำละครเร่ ม.อ.ปัตตานี ได้สื่อสารความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ร่วมกันกับความหลากหลายในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้ ไปติดตามจากรายงาน

กลุ่มข้าวยำละครเร่ ได้พาเพื่อนๆ และตัวหรีเองสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ทั้งความสวยงามและปัญหาพร้อมตั้งคำถามให้กับชุมชนได้ร่วมกันหาทางออก ผ่านการแสดงของพวกเรา และนี่เป็นอีกครั้งที่ได้สะท้อนความคิดในมุมมองเรื่องสันติภาพ

กรรณิการ์ พลอยสว่าง เป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มละครเร่ เขาเป็นคนจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มาเรียนในปัตตานีและสนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และได้สะท้อนมุมมองจากการแสดงละครเร่ในเรื่องสันติภาพว่า การแสดงนี้เราเพียงอยากแสดงให้คนเห็นว่า คนเท่านั้นที่จะนำพาสันติภาพกลับคืนสู่พื้นที่ได้ ไม่ใช่นกพิราบจะนำสันติภาพไปให้พื้นที่ และได้กล่าวถึงความห่วงใยจากทางบ้านด้วยว่า

ทางคุณแม่ที่อยู่ประจวบฯ ก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่ก็ได้บอกแม่ไปว่าไม่ต้องเป็นห่วงนะถึงแม้ว่าเหตุการณ์มันมีก็จริงแต่ว่าเราก็ได้รับการคุ้มครองที่ดีและเราเองก็ระวังตัวเองด้วย และสำหรับเรื่องของเหตุการณ์กับเรื่องมิตรภาพของการอยู่ร่วมกัน จริงๆ แล้ว คิดว่ามันแยกกันได ขอแค่ว่าเราเปิดใจและยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็นและคนอื่นก็ยอมรับในสิ่งที่เราเป็น ก็คิดว่าเราสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้

นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับ อาฟนาน พิชิตแสนยากร เพื่อนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่เขาคนปัตตานีและถือเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมพุทธ แต่เขาก็สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ โดยเขากล่าวว่า

ในสังคม ม.อ.หาดใหญ่แห่งนี้มุสลิมก็เป็นเหมือนชนกลุ่มน้อยในสังคมของกลุ่มใหญ่ที่ไม่ใช่มุสลิม แต่เขาก็ยอมรับเรานะ เขาก็ยังให้สิทธิ์ และยังสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับเหตุการณ์ท่เกิดขึ้นในฝรั่งเศษด้วยว่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปารีสก็มีความจริงหนึ่งที่เกิดขึ้น และก็มีความจริงอีกหลายๆ ด้านที่เราไม่ได้ใส่ใจหรือจงใจที่จะละเลย และแสดงความเห็นด้วยความไม่รู้ของเรา ตนคิดว่ามันเป็นเพียงส่วนน้อยของประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เขามีความรู้สึกบางสิ่งบางอย่างต่ออิสลาม แต่ด้วยความที่ใช้สื่อหรือแสดงออกมาผ่านสื่อมันทำให้คนทั่วไปรับรู้ความคิดนี้ได้เร็วมาก

ทางด้าน ธีรเชษฐ์ เพชรโชติ เพื่อนจากคณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เขาเป็นเพื่อนชาวพุทธจากต่างพื้นที่ซึ่งกำลังฝึกสอนอยู่ในปัตตานี ได้กล่าวถึงมุมมองในการอยู่ร่วมกันกับคนที่คิดเห็นต่างกันได้อย่างสันติว่า บางอย่างที่คุณเห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ อย่างเช่นความเชื่อบางอย่างที่มีต่อชาวมุสลิมแล้วนำไปสู่ความเกลียดชัง ความเชื่อบางอย่างที่มีต่อสามจังหวัดจนมีความรู้สึกไม่อยากไป หรือความเชื่อที่นำไปสู่การมองคู่ความคิดที่ขัดแย้งกันในมิติของการเมือง ความเชื่อที่เราเชื่อในความเป็นเรา แล้วมองคนศาสนาอื่นต่างออกไปจากเรา สิ่งเหล่านั้นจริงๆ แล้วมันเปราะบางมาก ผมจึงคิดว่าคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นไหนก็ตาม รับอะไรมาก็ควรจะคิด และเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่น

มันเป็นเหมือนความจริงที่ผิดที่ผิดเวลา แทนที่เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเราก็ควรที่จะแสดงความเห็นใจกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกระทำ ไม่ใช่ไปเอาศพมานับว่าใครตายมากกว่ากัน แล้วจะมาบอกว่าสิ่งนี้เป็นความชอบธรรมมันไม่ใช่ ความรุนแรงมันไม่ชอบธรรมทั้งนั้นไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายไหนก็ตาม เราไม่สนับสนุนความรุนแรง อาฟนาน พิชิตแสนยากร กล่าวทิ้งท้าย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปารีสได้ขยายความรุนแรงทางความคิดของคนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น แต่จากมุมมองของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ก็พยายามแสวงหาทางที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ แม้จะมีความแตกต่างหลากหลายมากเพียงใดก็ตาม

นักข่าวพลเมือง กลุ่มข้าวยำละครเร่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รายงาน

นั่นคือส่วนหนึ่ง ของความคิดเด็กรุ่นใหม่ในพื้นที่ความขัดแย้ง การแสดงละครสะท้อนถึงความเชื่อของพวกเขาในเรื่องสันติภาพว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ แต่ความเข้าใจในสังคมที่หลากหลายน่าที่เป็นทางออกและเปิดโอกาสให้สังคมโลกาภิวัฒน์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ  

ชมคลิป นักข่าวพลเมือง : ปารีส-ชายแดนใต้ ในมุมมองของคนรุ่นใหม่