Skip to main content
ประมวลภาพบรรยากาศเวทีภายในมหกรรม "คนไทยขอมือหน่อย" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 มกราคม 2559 ณ รอบย่านราชประสงค์ และเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งวันสุดท้ายของงานมีการเชิญโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ "แนวคิดในการทำงานขับเคลื่อนการสื่อสารความรู้เพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยมี นายมูฮำหมัด ดือราแม บรรณาธิการ DSJ นายสะรอนี ดือเระ บรรณาธิการ DSJ และนายอิมรอน ซาเหาะ ผู้สื่อข่าว DSJ ร่วมกันนำเสนอประสบการณ์การสื่อสารสันติภาพจากพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
 
(17 มกราคม 2559)
 
นายมูฮัมหมัด กล่าวว่า โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ได้ทำงานทำข่าวและผลิตนักสื่อสาร เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ต่อรองตามแนวทางสันติ ที่ไม่ใช้ความรุนแรง และยุติการทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอ โดยการสื่อสารที่เกิดขึ้นได้เข้าไปกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยถึงข้อเสนอต่างๆ จากทุกฝ่าย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันกระบวนการสันติภาพจากพื้นที่
 
ด้านนายอิมรอน กล่าวว่า การเติบโตของสื่อทางเลือกในจังหวัดชายแดนใต้นั้น เหตุผลหนึ่งคือต้องการนำเสนอความจริงจากพื้นที่ขึ้นมาคานกับภาพความรุนแรงที่สื่อส่วนกลางเลือกนำเสนอ และถูกขยายต่อจนคนในสังคมหวาดกลัวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ คนในพื้นที่จึงเลือกใช้เครื่องมือการสื่อสารนำประเด็นที่ถูกมองข้ามขึ้นมานำเสนอ เพื่อชี้ให้สังคมเห็นว่านอกเหนือจากภาพความรุนแรงแล้ว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังมีทุนทางสังคมและมุมมองเชิงบวกอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นที่คนในพยายามผลักดันให้เกิดการสร้างสันติภาพ
 
ส่วนนายสะรอนี กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีองค์กรภาคประชาสังคมเกิดขึ้นกว่า 200 องค์กร และได้พยายามขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพไปพร้อมๆ กัน ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการร่วมในฐานะคนในที่ปฏิเสธความรุนแรงหรือการใช้อาวุธกับเป้าหมายอ่อนแอ โดยทุกองค์กรได้ใช้การสื่อสารในแพลตฟอร์มต่างๆ ในงานสื่อสารสันติภาพ อาทิ องค์กรผู้หญิง องค์กรเยาวชน องค์กรสื่อ รวมถึงกลุ่มคนไทยพุทธ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้อย่างสันติ อันจะเป็นสื่งที่ยืนยันถึงความคนในพื้นที่ต้องการให้เกิดสันติภาพ ดังนั้นในโอกาสวันนี้ จึงอยากขอมือคนไทยทุกท่านช่วยกันผลักดันกระบวนการสันติภาพที่คนในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนอยู่ ให้สามารถไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ