Skip to main content

 

แถลงการณ์ วันที่ 2 ของการเดิน “ต่อลมหายใจชายแดนใต้”

“ยุติภัยถ่านหิน ยุติเงื่อนไขของภัยแทรกซ้อนต่อสันติภาพ”

 

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัตต์ อีกทั้งการปรากฏตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระอีกขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นสองหายนะใหม่ของชายแดนใต้ ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิตของชุมชน ป่าชายเลน รวมทั้งสัตว์น้อยใหญ่แล้ว แต่ที่สำคัญคือ การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าเทพาและปานาเระ จะเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่อันเป็นภัยแทรกซ้อนต่อกระบวนการสันติภาพหรือไม่ นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาคประชาชนในชายแดนใต้และคนไทยทั้งประเทศต้องให้ความสำคัญ และยุติเงื่อนไขนี้

 

แม้สถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีความเปราะบางยิ่ง บทเรียน 12 ปีของเหตุความไม่สงบ ชัดเจนว่า ต้นเหตุสำคัญของการที่สถานการณ์ยังดำรงอยู่และยังต่อเนื่องอยู่นั้น ก็เพราะ หนึ่งความไม่เป็นธรรมหรือความรู้สึกไม่เป็นธรรมยังดำรงอยู่  และสอง การที่ภาครัฐไม่เคารพในอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของคนชายแดนใต้ และทั้งสองสาเหตุนี้กำลังจะถูกตอกย้ำและซ้ำบาดแผลเดิมจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและปานาเระ

 

ในประเด็นความไม่เป็นธรรมนั้น เนื่องจากทางโครงการได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตร โดยมีเจตนาที่จะไม่ทำการศึกษาเข้าไปในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ทั้งๆที่ผลกระทบนั้นไกลถึง 100 กิโลเมตร อีกทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งถือเป็นการลักไก่เอาเปรียบชุมชน ไม่เห็นหัวคนชายแดนใต้ และเป็นการทำการศึกษาพอเป็นพิธีเพื่อให้ได้รับการอนุมัติโครงการเท่านั้น ซ้ำยังการขาดการมีส่วนร่วมในการรับรู้และร่วมตัดสินใจ เท่ากับเป็นการทำลายหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นับเป็นการสร้างเงื่อนไขความรู้สึกที่ไม่ได้รับเป็นธรรม อันเป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นภัยต่อสันติภาพชายแดนใต้

 

ในประเด็นการไม่เคารพในอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของคนพื้นที่ต่อกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการที่ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 240 ครัวเรือน หรือนับพันคนออกจากบ้านและที่ดินที่เป็นที่ฝังรกรากของเขา  โดยที่เขาเหล่านั้นจำใจต้องยินยอมอย่างไม่มีทางเลือก ทั้งจากอิทธิพลมืดในพื้นที่และจากความเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐที่แสดงตนชัดเจนว่าอยู่ข้างทุนถ่านหิน ซึ่งกรณีนี้จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชายแดนใต้ และแน่นอนว่าจะเป็นอีกเงื่อนไขต่อสันติภาพ

 

และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาซึ่งกระทบต่อมัสยิดและกุโบร์(สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเน๊าะอีก 1 แห่ง ซึ่งมีแนวโน้มที่ต้องย้ายออกไปในที่สุด แม้ว่า กฟผ.จะชี้แจงว่าไม่ย้ายแต่จะอนุรักษ์ไว้ แต่นับถึงวันนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานรูปธรรมใดๆที่จะบอกว่า กฟผ.จะออกแบบอย่างไรหากไม่ย้ายศาสนสถานเหล่านี้ เพราะการก่อสร้างต้องถมดินสูงหลายเมตร อีกทั้งต้องกั้นรั้วเพื่อความปลอดภัย  รวมทั้งการซื้อปอเนาะตะเยาะซูตีบอและให้ย้ายออกไปสร้างที่ใหม่ ก็กระทบต่อความรู้สึกและความศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง เสมือนเป็นการพัฒนาที่ยินยอมให้มีการทำลายศาสนา ซึ่งไม่ถูกต้อง

 

วันที่สองของการเดิน “เพื่อต่อลมหายใจคนชายแดนใต้” ในวันที่ 8-10 เมษายน 2559 จาก มอ.ปัตตานี สู่บ้านคลองประดู่ อำเภอเทพา นั้นจึงมีจุดหมายปลายทางที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อบอกกล่าวปัญหาแก่คนชายแดนใต้ และทวงถามความเป็นธรรมจากรัฐบาล เป็นแสดงออกเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระ เพื่อยุติการสร้างเงื่อนไขใหม่ที่เป็นภัยแทรกซ้อนต่อการได้มาซึ่งสันติภาพชายแดนใต้

 

เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS) 

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เครือข่ายนักศึกษา มอ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม

9 เมษายน 2559

 

อ่านแถลงการณ์ฉบับแรก : แถลงการณ์ เชิญชวนพี่น้อง ร่วมเดินเพื่อ “ต่อลมหายใจ คนชายแดนใต้”