29 มิ.ย. 2559 ในงาน “จับปลาต้องลงน้ำ: 30 ปี กับบทเรียนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนภาคใต้” ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา บนเกาะยอกลางทะเลสาบสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา โดยจะมีนักพัฒนาเอกชน (NGOs) แกนนำชุมชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักศึกษา ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศิลปินเพื่อสังคม สื่อมวลชนในภาคใต้ และส่วนหนึ่งจากทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 300 คน
นอกจากจะเป็นการนัดหมายใหญ่ของกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานขับเคลื่อนวาระในพื้นที่ภาคใต้จะมีโอกาสได้มาร่วมพบปะแลกเปลี่ยนกันแล้ว ยังมีวงเสวนาวิชาการเรื่อง "ชุมคน ชุมชน คนใต้: สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตที่ควรจะเป็น"
โดยมีวิทยากรร้วมเสวนา ดังนี้ ดร.เลิศชาย ศิริชัย คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์, ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ และคุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และมี รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา
ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หนึ่งในวิทยากรที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการสร้างสันติภาพชายแดนใต้โดยสร้างเครือข่ายผ่านพื้นที่สาธารณะ ได้ให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการนักข่าวพลเมืองภาคใต้ถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ให้สามารถขับเคลื่อนเป็นวาระร่วมกันของภาคใต้ ความว่า
"การสร้างพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่กลาง จะทำให้ประชาชนได้มีสิทธิ์และบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะจากพื้นที่รากหญ้าจริงๆ ซึ่งเครือข่ายที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมในภาคใต้ตอนนี้มีการทำงานที่เข้มข้นและมีประสบการณ์มากพอสมควร เมื่อประเด็นเกิดการเชื่อมร้อยต่อกันระหว่างภาคใต้ตอนบนและในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิธีคิดในการเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนประเด็นเพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมือง รวมถึงยุทธวิธีในการผลักดันประเด็น ผมคิดว่าจะช่วยให้พื้นที่กลางที่ว่านี้สามารถขยายออกและจะเป็นพลังถ่วงดุลในการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดี"
ทางด้าน สมบูรณ์ คำเเหง เลขาธิการ คกก.ประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ยังให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการนักข่าวพลเมืองภาคใต้เรื่อง 30 ปี กับบทเรียนการเคลื่อนไหวประชาสังคมภาคใต้ รวมถึงทิศทางการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมาและจังหวะก้าวต่อไปในอนาคตว่า
"จากนี้ไปคนใต้ต้องตัดสินใจอนาคตตัวเองเพราะว่ารัฐส่วนกลางพยายามจัดวาง การพัฒนาอุตสาหกรรมเเละวัตถุ เห็นได้จากเเผนพัฒนาของสภาพัฒฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาชายฝั่งทะเล ในพื้นที่ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ สตูล สงขลา มีการพูดถึงเรื่องพลังงานในภาคใต้เเละรวมไปถึงความต้องการของน้ำมันที่จะต้องขุดมากขึ้น การใช้ทรัพยากรเหมืองเเร่ พลังงานถ่านหิน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้ภาคใต้เปลี่ยนไปอย่างเเน่นอน" และกล่าวเพิ่มเติมว่า
"เราเชื่อว่าการพัฒนาถ้าเอา GDP เป็นตัวตั้ง ก็จะเป็นเพียงการพัฒนาเฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งในความเป็นจริงไม่ใช่เเค่เรื่องรายได้ เเต่ต้องพูดถึงความสุขของประชากรในภาคใต้ด้วย เเละเราเชื่อว่าถ้าเราสามารถสร้างทางเลือกในการพัฒนาที่ดีกว่านั้นได้ รวมไปถึงต้องใช้ทรัพยากรอย่างไรให้ยั่งยืนกับคนใต้ในระยะยาว เราพยายามสร้างทางเลือกเเละพยายามสื่อสารกับสังคมโดยใช้เหตุผลใช้ข้อมูลกับทางรัฐบาลพอสมควรที่จะต้องคัดง้างความคิดกับกระเเสของการพัฒนาของโลก กับ การพัฒนาทางเลือก เพราะภาคใต้ยังมีฐานทรัพยากรที่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น พืชทางเศรษฐกิจ ทะเล ภูเขา เเละป่าไม้ ภาคใต้มีศักภาพที่โดดเด่น ณ วันนี้หากเราต้องการพัฒนาเเล้วไม่เห็นคุณค่าของทรัพยากรเราก็จะเสียใจในอนาคต"