Skip to main content

 

มานิ วิถีแห่งป่าเขา ตอนที่ 6 ตอนสุดท้าย

มานิ ชาติพันธุ์แห่งสุวรรณภูมิ ผู้ยังไร้รัฐไร้บัตร

 

ในภาพอาจจะมี 3 คน, คนที่ยิ้ม, ผู้คนกำลังนั่ง, หมวก และ สถานที่กลางแจ้ง

 

มานิเป็นผู้ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ทั้งๆที่เขาเป็นเผ่าพันธุ์ที่เกิดในแผ่นดินไทยมานานแล้วก่อน พรบ.การทะเบียนราษฎรประกาศใช้เสียอีก แท้จริงเขาเหล่านั้นเป็นคนสัญชาติไทย เพราะเกิดบนแผ่นดินไทย เป็นคนสัญชาติไทยเพราะมีจุดเกาะเกี่ยวในหลักดินแดน การตกหล่นจากการถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย ทำให้มีมานิแห่งเทือกเขาบรรทัดกว่า 300 คน ที่ยังเป็นคนไร้รัฐในแผ่นดินไทย

ความยากของวิถีมานิคือ บัดนี้ป่าถูกทำลาย ป่าผืนเล็กลง ถูกตัดแบ่งเฉือนจนแหว่งวิ่น การดำรงชีวิตในป่าเฉกเช่นในอดีตยากขึ้นมาก ความต้องพึ่งพาสังคมสมัยใหม่มีมากขึ้น แต่เขายังไม่มีการบันทึกในทะเบียนราษฎรเพื่อให้ได้มาซึ่งเลข 13 หลัก ไม่มีบ้านถาวรที่จะระบุทะเบียนบ้าน ซึ่งทั้งเลข 13 หลักและทะเบียนบ้านมีความสำคัญในการทำบัตรประชาชน เขาหลายคนอยากมีที่ดินทำกินแปลงเล็กๆแต่ถ้าเป็นได้ก็ขอที่ที่ติดป่า ให้สามารถขึ้นเขาล่าสัตว์ตามวิถีเดิมได้ด้วย

มานิแห่งเทือกเขาบรรทัดในปัจจุบัน กระจัดกระจายในพื้นที่ 9 อำเภอใน 3 จังหวัดคือ อำเภอปะเหลียน ย่านตาขาว นาโยง จังหวัดตรัง อำเภอละงู มะนัง ควนกาหลง จังหวัดสตูล และ อำเภอป่าบอน ตะโหมด กงหรา จังหวัดพัทลุง จำนวนประชากรที่แน่นอนยังต้องการการสำรวจ ส่วนหนึ่งได้ตั้งถิ่นฐานถาวรแล้ว อีกส่วนยังเป็นวิถีกึ่งสังคมชุมชนคือยังมีการเข้าป่าล่าสัตว์แต่มักจะตั้งถิ่นฐานชายป่าเพื่อการติดต่อกับโลกภายนอก และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ยังดำรงวิถีดั้งเดิมด้วยการล่าสัตว์ ซึ่งเข้าใจเหลืออยู่ไม่มากแล้ว

ปัจจุบันมานิส่วนใหญ่เป็นคนไม่มีสถานะทางทะเบียน ยังถูกละเลยในการบันทึกลงในทะเบียน เมื่อมีการบันทึกลงในทะเบียนราษฎร แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สิทธิจนได้สัญชาติไทย ก็จะได้เลข 0 นำหน้าในเลข 13 หลักไปพลางก่อน จนกว่าจะพิสูจน์บุคคลเสร็จจึงเปลี่ยนสิทธิเป็นคนสัญชาติไทยและเปลี่ยนเลขบัตรประชาชนเป็นเลขอื่นๆเช่นเลข 5,8 เป็นต้น ความน่าเศร้าประการสำคัญ กระบวนการเหล่านี้ยังไม่มีเจ้าภาพที่จะลงมืออย่างจริงจังให้มานิได้มาซึ่งบัตรประชาชน ส่วนเขาจะใช้หรือไม่ได้ใช้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่คือสิทธิ นี่คือสิ่งที่รัฐต้องดูแลในฐานะที่เขาคือชาติพันธุ์ดั้งเดิมแห่งสุวรรณภูมิ

Cr. ข้อมูลและความรู้ทั้ง 6 ตอน ที่ผมได้รับมาถ่ายทอดนั้น ต้องขอขอบคุณ พี่รูญ จรูญ ทศกูล นักวิชาการอิสระที่ทุ่มเททั้งชีวิตมาศึกษาและช่วยเหลือมานิอย่างจริงใจยิ่ง น้องตาล ขวัญนภา หนูปลอด คนป่าบอนพัทลุงที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเพื่อนมนุษย์ที่เข้ามาศึกษามานิอย่างจริงจังและเรียน ป.โทอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ มอ. ที่ทั้งสองคนได้เล่าเรื่องราวมากมายในระหว่างการเดินทางและการเยี่ยมเยือนวิถีมานิในฟากฝั่งสตูล รวมทั้ง อาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตร สายสุนทร และคณะที่นำวิชาความรู้มาช่วยเหลือให้คนมานิไม่ไร้รัฐไม่บัตร

ในภาพอาจจะมี 3 คน, คนที่ยิ้ม, ผู้คนกำลังยืน, ต้นไม้ และ สถานที่กลางแจ้ง

ในภาพอาจจะมี 2 คน, คนที่ยิ้ม, ผู้คนกำลังนั่ง และ เด็ก

 

อ่านตอนที่แล้ว

มันนิ วิถีแห่งป่าเขา (ตอนที่ 1)

มานิ วิถีแห่งป่าเขา  (ตอนที่ 2)

มานิ วิถีแห่งป่าเขา (ตอนที่ 3 ความตาย และภาษาของชาวมานิ)

มานิ วิถีแห่งป่าเขา (ตอนที่ 4 ตุดและการล่า)

มานิ วิถีแห่งป่าเขา (ตอนที่ 5 สุขภาพและความเจ็บป่วย)