ตูแวดานียา ตูแวแมแง
ตลอดระยะเวลา 8 ปีของสถานการณ์การสู้รบกันระหว่างกองทัพไทยกับกองกำลังติดอาวุธอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานี เป็นที่ชัดเจนในตัวของมันเองแล้วว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างจุดยืนในอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันอย่างคู่ขนานของความเป็นปาตานีและความเป็นกรุงเทพฯ
แต่แค่เพียงรู้ชัดเจนว่าใครกำลังสู้อยู่กับใครเท่านั้น คงไม่เพียงพอสำหรับการที่จะมองเห็นภาพแนวทางการคลี่คลายการสู้รบที่ชายแดนใต้ของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน
กล่าวคือในทุกปรากฏการณ์ความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมมีสิ่งที่เรียกว่า “แรงขับ” เป็นตัวผลักให้เกิดขึ้นแทบทั้งสิ้น กรณีของปรากฏการณ์การสู้รบกันที่ชายแดนใต้ก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีแรงขับให้เกิดขึ้นแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะหาเจอหรือไม่และตั้งโจทย์ของปัญหาถูกหรือไม่ แค่นั้นเอง
แรงขับแรก เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1786 ตรงกับปี พ.ศ.2329 เกิดเหตุการณ์การก่อสงครามล่าอาณานิคมโดยอาณาจักรสยามหรือรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯต่ออาณาจักรปาตานี ปรากฏว่าอาณาจักรปาตานีเป็นฝ่ายแพ้และกลายเป็นเมืองขึ้น โดยที่อำนาจอธิปไตยยังมีอยู่
แรงขับที่สอง เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1808 ตรงกับปี พ.ศ.2351 เกิดเหตุการณ์การแบ่งแยกและปกครองอาณาจักรปาตานีเป็นเจ็ดหัวเมือง
แรงขับที่สาม เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1821 ตรงกับปี พ.ศ.2364 เกิดเหตุการณ์การโยกย้ายอพยพคนสยามนับถือศาสนาพุทธมาตั้งรกรากในพื้นที่ของหัวเมืองทั้งเจ็ด
แรงขับที่สี่ เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1902 ตรงกับปี พ.ศ.2445 เกิดเหตุการณ์การผนวกหัวเมืองทั้งเจ็ดเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯภายใต้โครงสร้างแบบมณฑลเทศาภิบาล
แรงขับที่ห้า เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1909 ตรงกับปี พ.ศ.2452 เกิดเหตุการณ์การทำสนธิสัญญาแบ่งปันการยึดครองดินแดนอาณานิคมระหว่างสยามกับบรีทิช ภายใต้สัญญาที่เรียกว่า Anglo-Siamese Treaty
ถือได้ว่าแรงขับทั้งห้าข้างต้นเป็นต้นเหตุให้คนปาตานีต้องกลายเป็น “ประชาชาติที่ไร้รัฐ” จนถึงทุกวันนี้
ส่วนทางด้านอาณาจักรสยามหรือกรุงเทพฯ เมื่อแผนการของการล่าอาณานิคมสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะปาตานีเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ ล้านนาและล้านช้างก็ตกเป็นเหยื่อด้วยเหมือนกัน จึงจำเป็นที่กรุงเทพฯ จะต้องมีแผนการใหม่ในการที่จะรักษาดินแดนอาณานิคมที่ยึดมา ด้วยการสรรค์สร้างชุดความคิดที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับปวงชนที่มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์และศาสนา ให้รู้สึกมีความเป็นเจ้าของร่วมในอธิปไตยของประเทศที่คิดค้นและสร้างขึ้นมาใหม่ซึ่งครอบคลุมตัวตนของปวงชนทุกคน นั่นคือ จากชื่อประเทศเดิมว่า “สยาม”เปลี่ยนเป็น “ประเทศไทย” ในสมัยของนายกรัฐมนตรีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ.2482 ตรงกับปี ค.ศ.1939 ภายใต้ระบอบการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งแผนการดังกล่าวรวมเรียกว่า “อุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์”
อุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์ หมายถึง “ความเป็นรัฐที่อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชนและปวงชนไม่ใช่ชาติ และชาติในทัศนะของอุดมการณ์นี้ คือผู้นำสูงสุดหรือผู้ปกครองสูงสุด”
กรุงเทพฯ ในปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่ามีสถานะทางการเมืองที่ถูกหล่อหลอมจากอุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์อย่างมีพัฒนาการ โดยผ่านสถิติที่ไล่เลี่ยกันของปรากฏการณ์การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยประชาชนและการทำรัฐประหารเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีโดยทหาร ซึ่งอำนาจฝ่ายบริหารคุมไม่อยู่
เมื่อการสู้รบระหว่างปาตานีกับกรุงเทพฯต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่า ถ้าจะให้จบโดยผลลัพธ์นั้นตัวเองเป็นฝ่ายชนะ ตัวแปรสำคัญคือ “ความจริง” เมื่อไหร่ความจริงได้ปรากฏสู่สังคมสาธารณะ เมื่อนั้นแหละการสู้รบจึงจะยุติ
แต่ในความเป็นจักรวรรดินิยมกรุงเทพฯที่มีความเป็นรัฐประชาชาติใหม่ซึ่งถูกหล่อหลอมจากอุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์ ความเป็นไปได้น้อยมากที่จะรู้ความจริงจากโครงสร้างการปกครองแบบ “ลับ ลวง พราง” ซึ่งถือว่าอำนาจสูงสุด นั่นคืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนจริงหรือไม่ หรือจะเป็นไปตามพลพรรคคนเสื้อแดงเรียก นั่นคือ “ประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการ” จึงเป็นการยากที่จะรู้ความจริงจากฝ่ายขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานีเหมือนกัน ตราบใดที่ท่าทีของกรุงเทพฯ ยังใช้การลับ ลวง พราง ในการบอกว่า “เรามาพูดคุยเพื่อสันติภาพกันนะ”
เพราะถ้าสมมติว่าขบวนการฯ เปิดเผยตัวออกมาพูดคุยเพื่อสันติภาพ ในขณะที่โครงสร้างการปกครองของรัฐไทยโดยการนำของกรุงเทพฯ นั้น ไม่มีความชัดเจนว่าใครคือผู้มีอำนาจสูงสุดและเป็นที่สิ้นสุดในการตัดสินใจ นายกรัฐมนตรี หรือ ผู้บัญชาการทหารบก หรือ มือที่มองไม่เห็น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับขบวนการฯโดยเฉพาะตัวคนที่ออกมาเปิดเผยตัวเอง ทางขบวนการฯ ก็เลยใช้การ “ลับ ลวง พราง” ตอบโต้อย่าง “หนามยอกเอาหนามบ่ง”
ก็เลยไม่แปลกที่จนถึงปัจจุบันทางขบวนการฯ ก็ยังไม่เปิดเผยตัวเอง เพราะสถานการณ์ความเป็นจริงของทางกรุงเทพฯ นั้นอยู่ในสถานะที่ไม่พร้อมจะมาพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่เป็นกระแสครึกโครมว่ามีการพูดคุยกันในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียนั้น เป็นแค่ยุทธการที่เรียกว่า “โยนหินถามทาง” และ “แหวกหญ้าให้งูตื่น” แล้วงูก็ตกใจวิ่งหนีตกเข้าไปในบ่อที่ขุดไว้
ถ้ามองในหลักการมีความเป็นไปได้บ้างของการพูดคุยเพื่อสันติภาพแล้ว ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ท่าทีความจริงใจและมีความลึกซึ้งกับความหมายของคำว่า “สันติภาพ” มากน้อยแค่ไหนของกรุงเทพฯ หรือรัฐไทย มีแต่แนวทางนี้เท่านั้นจึงจะสามารถเปิดพื้นที่การพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่ไม่มีการ “ขุดบ่อล่อปลา” เหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ถ้าทางกรุงเทพฯ สามารถพิสูจน์ความจริงใจแบบนี้ได้จริง เชื่อว่าทางฝ่ายขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานีเอง ก็คงรู้สึกว่ามันถึงเวลาของการพูดคุยเพื่อสันติภาพจริงๆ แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่า “ใครหละจะกล้าการันตีว่ากรุงเทพฯ จะไม่หลอกปาตานีอีก”