อบูเอาว์ฟา
การต่อสู้ของปาตานีไม่ได้เป็นที่รับรู้ของชาวโลกเท่าที่ควร จึงไม่มีการสนับสนุนจากนานาประเทศเกี่ยวกับความต้องการของประชาชนคนปาตานี อีกทั้งข้อมูลที่มีอยู่ของปาตานียังไม่ได้เป็นข้อมูลที่เผยแพร่ในระดับสากล หากเปรียบเทียบกับอาเจะห์ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งคล้ายๆ ปาตานีแล้ว หลังจากเกิดสึนามิในปี 2004 จึงได้มีการทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอาเจะห์ ทำให้อาเจะห์ได้เป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้ประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันอาเจะห์ถือว่าได้รับสันติภาพกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง
การเดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซียเมื่อตอนต้นปีของผู้เขียนพร้อมกับทีมงานที่เป็นผู้เข้าร่วม 7 คน เป็นตัวแทนจากกลุ่มสื่อ 2 คน กลุ่มที่ทำงานด้านเยาวชน 2 คน กลุ่มที่ทำงานด้านผู้หญิง 2 คน และทำงานด้านสันติวิธี 1 คน ทั้งหมดคือตัวแทนจากคนทำงานภาคประชาสังคมที่เป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับเลือกเพื่อไปศึกษาดูการทำงานของเอ็นจีโออินโดนีเซีย และไปดูการทำงานของเอ็นจีโออาเจะห์ เพื่อนำบทเรียนกลับมาใช้เพื่อผลักดันให้เกิดสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
และนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้หลังจากได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้คนมากหน้าหลายตาที่นั่น
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคน กลุ่มชาติพันธ์กว่า 1,128 กลุ่ม มีเกาะ 17,508 เกาะ และ (ยังมีอีก 9,634 เกาะที่ยังไม่มีชื่อ) มีทั้งหมด 756 ภาษาที่เป็นภาษาพื้นเมือง ปัจจุบันมี 33 จังหวัด และ 491 อำเภอ หลังจากที่อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากฮอลแลนด์ในปี ค.ศ. 1945 ประเทศอินโดนีเซียได้มีอธิปไตยเป็นของตนเองภายใต้การปกครองของประธานธิบดีซูการ์โน โดยได้ยึดหลักซุมเปาะห์เปอมือดอ (Youth Declaration) ปี ค.ศ.1928 คือ “One Nation, One Language, One Homeland” ซึ่งเป็นคำประกาศที่เป็นยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับดัชต์ เป็นวิธีการสร้างจุดร่วมในการต่อสู้ของชาวอินโดนีเซียเพื่อรวมกันเป็นหนึ่งในหลากหลายชาติพันธ์เพื่อต่อสู้ขับไล่กับศัตรูในยุคล่าอณานิคม
หลังจากอินโดนีเซียได้รับเอกราชไม่นาน การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอกราชของชนกลุ่มน้อยภายในประเทศอินโดนีเซียก็เกิดขึ้น พอถึงปี ค.ศ.1998 กลุ่มชาติพันธ์เหล่านี้ประกอบไปด้วยชาวอาเจะห์ ชาวมาลุกู ชาวโปโซ ชาวกะลิมันตันบารัต ชาวปาปัวนิวกีนี และชาวติมอร์บารัต ซึ่งปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้คลี่คลายลงไปบ้างแล้ว หลังจากที่ติมอร์เลสเตได้รับเอกราชจากอินโดนีเซียเมื่อปี ค.ศ.1999 และอาเจะห์ได้กลายเป็นจังหวัดที่มีการปกครองพิเศษของอินโดนีเซียเมื่อปี 2005
ทั้งนี้ ผู้เขียนขออนุญาตเปรียบเทียบกระบวนการการต่อสู้ของประชาชนชาวอาเจะห์ ช่วงก่อนระหว่างและหลังสันติภาพของเจะห์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ช่วงปี 1976-1979 ในช่วงก่อตั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมีชื่อว่า GAM (Gerakan Aceh Merdeka) ก่อตั้งโดย ฮาซัน ติโร (Hasan Tiro) และเพื่อน ช่วงนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นส่วนใหญ่เป็นการจัดตั้งเยาวชนเพื่อไปฝึกยังต่างประเทศในแถบตะวันออกกลางโดยเฉพาะที่ประเทศลิเบีย จะมีการเคลื่อนไหวแบบจรยุทธ์และการโจมตีขนาดเล็กซึ่งไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อความมั่นคงของอินโดนีเซียมากนัก ถือว่าเป็นช่วงการเตรียมพร้อมของขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์
ช่วงปี 1979 -1989 กลุ่มผู้นำต่างๆ ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประทศได้กลับมายังมาตุภูมิเพื่อจัดตั้งและฝึกอาวุธ พร้อมทั้งเน้นการขยายฐานและจัดตั้งมวลชนภายในอาเจะห์ตามหมู่บ้านต่างๆ การจัดตั้งลักษณะนี้เรียกว่า DOM หรือ (Daerah Operasi Militar) เป็นการขยายเขตเพื่อสร้างหมู่บ้านจัดตั้งของขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์หรือเป็นการสร้างฐานที่มั่นนั้นอง ในขณะเดียวกันก็ส่งออกเยาวชนเพื่อฝึกฝนการต่อสู้แบบจรยุทธ์ ในช่วงนี้พวกเขาจึงจะไม่เน้นการก่อเหตุ อีกทั้งยังอยู่ในช่วงเวลาที่ขบวนการต่อสู้เองก็ไม่ได้เปิดเผยตัวตน ถือว่าเป็นยุคของการปิดตัวและไม่สามารถขยายงานการเมืองในระดับชาติและสากล ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากปัจจัยภายในประเทศที่บรรยากาศทางการเมืองยังอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการซูฮาร์โต ซึ่งเป็นเผด็จการที่ไม่เปิดรับการทำงานของภาคประชาสังคม เพราะยังไม่เป็นประชาธิปไตย
กลุ่มขบวนการของอาเจะห์ในช่วงนี้ถูกรัฐบาลอินโดนีเซียเรียกขานว่า Kumpulan Kacau Keamanan หรือแปลว่ากลุ่มก่อความไม่สงบ
ช่วงปี 1989-2003 เป็นช่วงเผด็จการซูฮาร์โตถูกขับไล่ลงจากอำนาจ บรรยากาศประชาธิปไตยเริ่มเปิด การเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม สื่อต่างๆ เริ่มมีเสรีภาพมากขึ้น ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยอาเจะห์ เริ่มขยายพื้นที่ทางการเมืองของตัวเอง โดยส่วนหนึ่งได้ขยายงานการเมืองด้านการทำงานภาคประชาชน ขยายกับนักศึกษาที่เรียนอยู่ในจาการ์ตาหรือภายในประเทศ อีกบางส่วนจะถูกขยายไปยังคนอาเจะห์ที่อยู่ต่างประเทศ เช่น ฮอลันดา ยุโรป สวีเดน และอังกฤษ
การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์ ซึ่งมีผลทำให้รัฐบาลจาการ์ตาต้องคิดหนักเป็นสองเท่าเมื่อต้องการวางกำลังเข้าปราบปรามกลุ่ม GAM หรือขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์เพื่อเอกราช กล่าวคือ รัฐบาลจำต้องคิดหาเหตุผลเพิ่มว่าจะตอบคำถามชาวโลกอย่างไรด้วย
เหตุการณ์สำคัญในช่วงนี้ได้มีความพยามของทั้งสองฝ่ายที่จะเจรจาเพื่อหาทางออก ได้มีการนัดเจรจาในประเทศที่สาม คือ ประเทศญี่ปุน โดยจัดเจรจาที่กรุงโตเกียว ทางรัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งตัวแทนและให้หลักประกันความปลอดภัยกับตัวแทนของ GAM ที่จะไปเจรจา ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียกลับเบี้ยวและมีการจับกุมตัวแทนฝ่าย GAM ที่ไปเจรจา ณ สนามบินขาออกที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ
การจับกุมครั้งนั้นสามารถคุมตัวไว้ทั้งหมด 5 คน ในขณะที่ตัวแทนอีก 3 คน ที่เป็นตัวแทนเจรจาในครั้งนั้นสามารถเล็ดลอดผ่านไปยังประเทศญี่ปุนได้ หนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงอายุ 21 ปี ทำให้เวทีเจรจาดำเนินไปยังตึงเครียดและไม่มีความไว้วางใจจากตัวแทนฝ่าย GAM จนในที่สุดการเจรจาดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะในข้อเสนอของรัฐบาลคือการให้การปกครองพิเศษที่ทางอาเจะห์ได้รับอยู่แล้วและไม่มีข้อเสนอใหม่ๆ อีกทั้งยังต่อรองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกเหนือให้รับข้อเสนอเดิมตามเอกสารที่ตัวแทนรัฐบาลอินโดนีเซียเขียนมาจากจาการ์ตา หลังจากนั้นทาง GAM ได้ประกาศสงครามและใช้กำลังโจมตีต่อสู้กับผู้รุกรานที่มาจากจากการ์ตาอีกครั้งหนึ่ง
ช่วงปี 2005 อาเจะห์ได้รับสันติภาพหลังจากเหตุการณ์สึนามิได้คร่าชีวิตประชาชนชาวอาเจะห์ไปประมาณ 3 แสนกว่าคน ชาวโลกได้หันมาเห็นอกเห็นใจคนอาเจะห์ที่สูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิ อีกทั้งประชาชนชาวอินโดนีเซียไม่สามารถที่จะยอมรับในทางมนุษยธรรมที่จะเห็นรัฐบาลของตนได้เข้าไปรบและฆ่าคนอาเจะห์ได้อีก จึงได้มีการเสนอจากรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อที่จะเจรจากับฝ่ายGAM เพื่อยุติการสู้รบและหาทางออกทางการเมืองเกี่ยวกับปัญหาอาเจะห์
การเจรจาได้บรรลุและประสบผลสำเร็จโดยอาเจะห์ได้รับการปกครองพิเศษที่แตกต่างจากเดิมเพื่อจัดการตัวเอง โดยมีเงื่อนไขจะต้องสลายพรรค GAM ที่ใช้ในการต่อสู้กับรัฐบาลอินโดนีเซียและวางอาวุธที่มีอยู่ทั้งหมด พรรค GAM ถูกสลายกลายเป็นพรรคการเมืองปัจจุบันที่เรียกว่าพรรคอาเจะห์ (Partai Aceh) และได้รับการคัดเลือกเข้ามาบริหารอาเจะห์ ในระบบรัฐสภา พรรคอาเจะห์ชนะการเลือกตั้งโดยมีตัวแทนเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารทั้งหมด 70 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นเสียงข้างมากที่ได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารในรัฐบาลท้องถิ่นของเจะห์
จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของปาตานีจะมีส่วนคล้ายคลึงกันกับอาเจะห์ในช่วงต้น ขบวนการจะไม่มีการเปิดเผยตัวตนและไม่มีข้อเสนอทางการเมืองที่ชัดเจน จนกระทั่งบรรยากาศทางการเมืองเริ่มเปิด เป็นบรรยากาศประชาธิปไตยมากขึ้น ในช่วงเผด็จการซูฮาร์โตถูกขับไล่ลงจากอำนาจ ทำให้ขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอาเจะห์ได้ประกาศตนเองแก่ชาวโลก พร้อมกับมีข้อเสนอทางการเมืองที่ชัดเจน
ถ้าเปรียบเทียบกับการต่อสู้ของขบวนการไม่สงบที่ปาตานีในปัจจุบัน อาจเห็นได้ว่าอยู่ในช่วงการต่อสู้ที่ยังไม่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นฝีมือของขบวนการไหน และมีข้อเสนออะไรทางการเมืองที่ชัดเจน ทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงยังมีข้อถกเถียงจากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนักวิชาการและเอนจีโอในอินโดนีเซียอีกมากมายว่าการเจรจาสันติภาพที่อาเจะห์นั้น จริงๆ แล้วได้รับอานิสงค์จากภัยธรรมชาติคือซึนามิ แต่บางกลุ่มกลับระบุว่ายังมีเงื่อนไขอื่นอีกไม่ใช่แค่เพราะซึนามิอย่างเดียว
แต่ที่น่าสนใจก็คือสันติภาพที่เรียกว่า Autonomy หรือการปกครองพิเศษในปัจจุบันนั้น จริงๆ แล้วเป็นสันติภาพที่แท้จริงหรือไม่? ประชาชนคนอาเจะห์มองสันติภาพในครั้งนี้ว่าอย่างไร? และปาตานีจะได้บทเรียนอะไรจากสันติภาพในอาเจะห์ครั้งนี้ ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ