Skip to main content
 
คณะทำงานพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน[1]
         
          หลังจากคลื่นของความรุนแรงปะทุขึ้นในชายแดนใต้/ปาตานีมาเป็นเวลา 9 ปี เรากำลังเข้าสู่ห้วงเวลาสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจสืบย้อนกลับไปเป็นเวลานับร้อยปี เมื่อคณะผู้แทนของคู่ขัดแย้งหลักได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะและลงนามในเอกสารที่เป็นกรอบพื้นฐานสำหรับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ อันถือเป็นขั้นตอนแรกๆ ของกระบวนการสันติภาพที่อาจจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายประการ
 
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผู้แทนของรัฐบาลไทยนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับผู้แทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นนำโดยนายฮัสซัน ตอยิบ ผู้ประสานงานกลุ่ม ได้ลงนามในฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องของการประสานงานและสถานที่ในการลงนาม โดยมี ดาโต๊ะมูฮัมหมัด ทาญุดดิน บินอับดุลวาฮับ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประเทศมาเลเซีย เป็นสักขีพยาน
 
          เอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาหลัก คือ รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างจากรัฐในฐานะที่เป็นผู้ส่วนได้เสียกลุ่มหนึ่งในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย (Facilitator) ทุกคนที่เข้าร่วมเป็นคณะทำงานจะอยู่ภายใต้มาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดทั้งกระบวนการ (กรุณาดูรายละเอียดของเอกสาร ที่นี่)
 
          หลังวันลงนามดังกล่าว ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่อยู่บ้าง ในขณะที่บทสนทนาซึ่งมีทั้งแง่มุมในการวิพากษ์วิจารณ์และสนับสนุนต่อกระบวนการดังกล่าวก็เผยตัวขึ้นอย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่การสื่อสาร การกำหนดวันนัดหมายสำหรับการพูดคุยครั้งต่อไปที่ประเทศมาเลเซียในวันที่ 28 มีนาคม 2556 ก็เป็นไปอย่างเปิดเผย หลังจากกระบวนการเตรียมความพร้อมที่ดำเนินการโดยหลายภาคส่วนก่อนหน้านี้ถูกปิดเป็นความลับมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
 
รายงานชิ้นนี้มุ่งหมายจะประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการลงนามครั้งดังกล่าว โดยพยายามพิจารณาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ ตลอดจนข้อสังเกตและการบ่งชี้ให้เห็นความท้าทายของกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่ รวมไปถึงข้อเสนอแนะต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างรอบด้านที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 
สถานการณ์ใหม่ของ ‘สันติภาพ’
 
การลงนามในเอกสารดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีถึงความพยายามที่จะแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งที่มีการใช้รุนแรงด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ มิใช่ด้วยวิถีทางการทหารที่เคยยึดครองแนวทางหลักของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ในขณะที่หลังการลงนามดังกล่าว ปฏิกิริยาของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้มีแนวโน้มไปในทางลบมากนัก แม้ว่าจะยังคงมีข้อกังขาเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ผลลัพธ์ และกระบวนการทั้งที่ดำเนินไปแล้วและที่จะต้องเดินต่อไปอยู่บ้าง แต่พอจะกล่าวได้ว่าความพยายามในการสร้างสันติภาพครั้งนี้ หลายภาคส่วนก็เปิดโอกาสให้กับกระบวนการริเริ่มตั้งต้นกระบวนการทางการเมืองที่มีนัยสำคัญต่อการคลี่คลายความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีดังกล่าวสามารถจะเติบโตต่อไปได้
 
          นอกจากนี้ การลงนามในข้อตกลงครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ที่เป็นการลงนามอย่างเป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณะระหว่างผู้แทนของรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นโดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งถือว่าเป็นการยอมรับการมีตัวตนของกลุ่มบีอาร์เอ็นในฐานะหุ้นส่วนสันติภาพ (Peace Partners) ทั้งสามปัจจัยในเรื่องของความเป็นทางการของข้อตกลงที่ 1) เปิดเผยต่อสาธารณะ 2) การยอมรับการดำรงอยู่ของบีอาร์เอ็น และ 3) การขอให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น นับว่าเป็นท่าทีที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการริเริ่มกระบวนการสันติภาพที่มีนัยสำคัญต่อไป แม้ว่าจะยังมีความไม่ชัดเจนในการดำเนินกระบวนการพูดคุยจากนี้ต่อไป และยังมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอีกจำนวนมากที่จะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพนี้ก็ตาม
 
          สำหรับบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียในการพูดคุยครั้งนี้ มีความชัดเจนว่าเป็นคนกลางผู้อำนวยความสะดวกให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายได้มีช่องทางและโอกาสในการพูดคุยกัน (Facilitator) มิใช่คนกลางผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย (Mediator) ซึ่งโดยหลักการแล้ว สถานะของความเป็นผู้อำนวยความสะดวกจะเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กระบวนการสามารถดำเนินไปได้บนพื้นฐานของความสมัครใจและการมีอิสระอย่างเต็มที่ของรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นในการกำหนดประเด็นการพูดคุย วิธีการดำเนินการ และผลลัพธ์ของการพูดคุย ซึ่งจะแตกต่างจากการเป็นคนกลางที่จะมีบทบาทดังกล่าวเข้มข้นกว่าและต้องรับผิดชอบต่อกระบวนการมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการพูดคุยสันติภาพจึงถือว่าเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นเป็นหลัก มิใช่ของรัฐบาลมาเลเซีย   
 
อันที่จริงแล้ว การสร้างสันติภาพ (Peacebuilding) หรือการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Conflict Transformation) ซึ่งในบางครั้งก็มีการใช้คำว่ากระบวนการสันติภาพ (Peace Process) นั้นถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ใคร่จะคุ้นเคยมากนักสำหรับสังคมไทยและผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความขัดแย้งทางการเมืองที่มีลักษณะยืดเยื้อเรื้อรังและมีการใช้ความรุนแรงในความเข้มข้นที่สูงในชายแดนภาคใต้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจต่อผู้คนจำนวนมากเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าว ตลอดจนความท้าทายที่ผู้กำหนดนโยบายหรือทิศทางของคู่ขัดแย้ง รวมไปถึงผู้คนในสังคมวงกว้างและในพื้นที่จะต้องเผชิญต่อไปจากนี้
 
เมื่อพิจารณาความหมายโดยทั่วไปแล้ว กระบวนการสันติภาพที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้มีความหมายอยางรวบรัดว่าเป็นเรื่องของลำดับช่วงเวลา ขั้นตอน และกิจกรรมทางการเมืองและสังคมในหลายระดับ โดยสามารถพิจารณาให้เห็นความบทบาทของตัวแสดงหลักและยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันในแต่ละระดับ ซึ่งมักจะเรียกกันว่าเส้นทางหรือแทร็คที่ 1 (ระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจ), แทร็คที่ 2 (ระดับองค์กรภาคประชาสังคมที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจและชุมชน) และแทร็คที่ 3 (ระดับชุมชนฐานรากในพื้นที่) ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อยุติความรุนแรงทางกายภาพ หรือในแง่นี้คือ “สันติภาพเชิงลบ” และเพื่อแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรังไปสู่สันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืน หรือ “สันติภาพเชิงบวก” (กรุณาพิจารณาแผนภาพที่ 1)
 
 
 
แผนภาพที่ 1 กระบวนการสันติภาพในระดับต่างๆ ที่มีตัวแสดงหรือผู้เกี่ยวข้องแนวทางการทำงานแตกต่างกัน
 
จากบทเรียนจากความขัดแย้งอื่นๆ กระบวนการสันติภาพที่ดำเนินไปเพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งจากที่มีการใช้ความรุนแรงไปสู่วิธีการที่แต่ละฝ่ายจะรับมือกับความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมืองนั้นมีความแตกต่างกัน แต่ก็พอจะสรุปให้เห็นถึงบทบาทของการพูดคุยและเจรจาสันติภาพที่จำเป็นต้องเดินควบคู่กันไปกับการสร้างแรงสนับสนุนจากสาธารณะ พร้อมๆ กับการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “เครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” (Safety Net) ที่หมายถึงการทำงานเพื่อสันติภาพของผู้คนอันหลากหลายในระดับต่างๆ เพื่อประคับประคองให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน (กรุณาพิจารณาแผนภาพที่ 2) แต่กระนั้น แผนที่เดินทางดังกล่าวก็ใช่ว่าจะเดินเป็นเส้นตรงหรือบรรลุผลอย่างเป็นลำดับขั้นตอนเท่านั้น ความท้าทายและอุปสรรคนานัปการอาจผลักให้เรากลับมาเริ่มต้นใหม่อีกนับครั้งไม่ถ้วน บทบาทของผู้คนในภาคประชาสังคม และชุมชนรากหญ้า ตลอดจนแรงสนับสนุนของสาธารณชนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างสันติภาพนั่นเอง
 
 
แผนภาพที่ 2 บทบาทของกระบวนการพูดคุยและเจรจาสันติภาพ (Peace Dialogue and Negotiation Process) ในแผนที่เดินทางแห่งสันติภาพ สถานการณ์ในปัจจุบันอาจจะอยู่ในขั้นตอนเริ่มแรกของกระบวนการสันติภาพทั้งหมด (วงกลม)
         
สถานการณ์ความขัดแย้งในชายแดนใต้/ปาตานีกำลังมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปจากในรอบหลายปีที่ผ่านมา เมื่อกระบวนการสันติภาพปรากฏตัวต่อสาธารณะอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองระดับสูงของคู่ขัดแย้งถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพที่เรียกได้ว่าอยู่ในขั้นตอนเริ่มแรกเท่านั้น
 
ข้อสังเกตต่อเอกสารฉันทามติทั่วไปฯ
 
          เมื่อพิจารณาจากเอกสารฉันทามติทั่วไปฯ มีข้อสังเกตที่ควรต้องพิจารณาอยู่บางประการ ดังต่อไปนี้
         
          ประการแรก ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะใช้กระบวนการพูดคุยกันเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกัน ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความพยายามในการแก้ไขปัญหา และเป็นการสะท้อนนัยของการพิจารณาถึงทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการใช้กองกำลังในการต่อสู้ นอกจากนี้ ความพยายามในการริเริ่มพูดคุยสันติภาพยังถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งผ่านกระบวนการจัดทำนโยบายที่รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอีกด้วย(กรุณาดูรายละเอียด ที่นี่)
 
ประการที่สอง เนื้อหาที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวเข้าหากันในระดับหนึ่ง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการทำงานร่วมกันต่อไป กล่าวคือ รัฐบาลไทยได้ยอมรับถึงการดำรงอยู่ของบีอาร์เอ็นและยอมรับให้มาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ในขณะที่บีอาร์เอ็นก็ไม่ปฏิเสธที่จะพูดคุยภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
ประการที่สาม ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากประเทศมาเลเซีย อันเนื่องมาจากความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์ ความคล้ายคลึงกันของลักษณะสังคมวัฒนธรรมระหว่างประเทศมาเลเซียกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความสามารถในการติดต่อประสานงานกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
 
ประการที่สี่ ด้วยความที่เป็นฉันทามติเบื้องต้นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกัน และเป็นเพียงการแสดงเจตนาที่จะแสวงหาทางออกด้วยการพูดคุยกันต่อไปเท่านั้น จึงอาจจะทำให้ยังไม่มีเนื้อหาที่ระบุถึงแนวทาง กระบวนการ และกรอบเวลาของการพูดคุยที่เป็นรูปธรรม ซึ่งยังคงมีคำถามที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นดังกล่าวตามมามากมาย
 
ประการที่ห้า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้คำว่าการพูดคุย (Dialogue) มากกว่าการเจรจา (Negotiation) ซึ่งทำให้แต่ละฝ่ายได้มีพื้นที่และรู้สึกสะดวกใจที่จะสำรวจความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกันเบื้องต้นก่อนโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อผูกมัดใดๆ ที่แข็งตัวจนเกินไป ทั้งนี้ ในแง่ของความหมายของคำทั้งสองนั้นก็มีนัยที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การพูดคุย (Dialogue) ต่างจากการเจรจา (Negotiation) ตรงที่การพูดคุยจะมุ่งเน้นที่การทำความเข้าใจมุมมองความคิดและความรู้สึกของกันและกันโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อตกลงที่เป็นทางการหรือข้อผูกมัดใดๆ ระหว่างกัน ในขณะที่การเจรจาจะมุ่งเน้นที่การหาข้อตกลงที่ยอมรับได้ร่วมกันเป็นหลัก
 
ความท้าทายของกระบวนการ
 
          ประการแรก จากประสบการณ์กระบวนการสันติภาพทั่วโลกโดยส่วนใหญ่แล้ว ภายหลังจากการลงนามในข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้น เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าปรากฏการณ์ความรุนแรงรายวันจะยังคงมีอยู่ ต่อเมื่อกระบวนการพูดคุยดำเนินไประยะหนึ่งจนกระทั่งมีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมสัมผัสได้ ความรุนแรงอันเกิดจากการปะทะต่อสู้กันระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงจะเริ่มเบาบางลง
 
          ประการที่สอง การทำฉันทามติร่วมในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความไม่ชัดเจนว่าผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายได้มีกระบวนการหารือและเตรียมความพร้อมก่อนที่จะลงนามมากน้อยเพียงใด ซึ่งทำให้เกิดข้อห่วงใยถึงความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย ตลอดจนความราบรื่นของกระบวนการพูดคุยต่อจากนี้
 
          ประการที่สาม กระบวนการถ่ายทอดทำความเข้าใจต่อกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในฝ่ายของตนเองต่อเจตนารมณ์ในการลงนามครั้งนี้ของผู้แทนทั้งสองฝ่าย ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเป็นเอกภาพและการได้รับแรงสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องและมวลชนของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าการพูดคุยจะดำเนินต่อไปได้ราบรื่นหรือไม่อย่างไร ความลังเล ความกังวลใจ และความไม่แน่ใจต่ออนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ อาจจะส่งผลให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพต้องหยุดชะงักลงได้
 
          ประการที่สี่ ทั้งรัฐบาลไทย บีอาร์เอ็น และรัฐบาลมาเลเซีย มีความเข้าใจความหมายและแนวทางของการพูดคุยสันติภาพอย่างไร สอดคล้องตรงกันหรือไม่ ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อกระบวนการพูดคุยที่จะเกิดขึ้นต่อไป
 
          ประการที่ห้า แม้กลุ่มบีอาร์เอ็นจะเป็นที่รับรู้กันว่ามีบทบาทสำคัญในพื้นที่ แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการมีฉันทามติร่วมในครั้งนี้ ทั้งที่อยู่ในส่วนของผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ และในส่วนของภาคประชาสังคม คู่สนทนาจึงจำเป็นต้องรับฟังและเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้มีเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพผ่านช่องทางและกลไกต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  (inclusive) และครบถ้วนทุกความคิดเห็น (comprehensive)
 
ข้อเสนอแนะต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
 
          ประการแรก ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยควรต้องเข้าร่วมบนพื้นฐานของความสมัครใจและด้วยความรู้สึกที่ปลอดภัย ปราศจากการบีบบังคับจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเครื่องยืนยันประการหนึ่งถึงความจริงใจและการให้เกียรติกันจากทุกฝ่ายในการแสวงหาทางออกที่ยอมรับได้ร่วมกันต่อไป อีกทั้งจะมีส่วนในการสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของกระบวนการด้วย (co-owning of the process) อันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืน
 
          ประการที่สอง ในช่วงแรกนี้ ผู้แทนคณะรัฐบาลไทย บีอาร์เอ็น และรัฐบาลมาเลเซียควรให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” (process oriented) มากกว่าการเร่งรีบที่จะพูดคุยใน “ประเด็นเนื้อหาสาระ” โดยอาจจะต้องตั้งคณะทำงานร่วมในระดับปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนที่เดินทางสู่สันติภาพที่เป็นขั้นเป็นตอน (a step-by-step peace roadmap)[2] ซึ่งภารกิจแรกคือต้องมั่นใจว่าผู้เข้าร่วมพูดคุยนั้นครอบคลุมทุกฝ่ายในระดับที่ทำให้งานเดินหน้าไปได้ สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ การหาข้อตกลงร่วมในหลักการและขั้นตอนของกระบวนการพูดคุย และการร่วมคิดกิจกรรมเพื่อสร้างบรรยากาศเชิงบวกที่จะก่อให้เกิดความไว้วางใจ (Confidence Building) และความรู้สึกปลอดภัยระหว่างกัน โดยอาจจะดำเนินมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เช่น การส่งเสริมการใช้ภาษามลายู การส่งเสริมการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม การแก้ไขปัญหายาเสพติด การประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) แทนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) การปรับกำลังทหารโดยใช้กำลังพลในพื้นที่เป็นหลัก การยกเลิกบัญชีผู้ต้องสงสัย และการลดความรุนแรงในบางพื้นที่ เป็นต้น
 
          ประการที่สาม ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยแต่ละฝ่ายควรมีการหารือแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ยังมีความไม่แน่ใจ ลังเล หรือมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในฝ่ายของตนเอง โดยจะต้องไม่ละเลยหรือกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไป
 
          ประการที่สี่ รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นควรมีช่องทางการสื่อสารในระดับที่ไม่เป็นทางการ หรือ “ประตูหลังบ้าน” (back channel) ซึ่งจะคอยทำหน้าที่คล้ายเป็น “เครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” (Safety Net) ในอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อรองรับสนับสนุนส่งเสริมการพูดคุยระหว่างคณะผู้แทนที่ได้รับการมอบหมายอย่างเป็นทางการจากแต่ละฝ่าย โดยช่องทางการพูดคุยหารืออย่างไม่เป็นทางการนี้ จะเป็นการพูดคุยระหว่างกลุ่มบุคคลของทั้งสองฝ่ายที่มีความใกล้ชิดและสามารถสื่อสารได้โดยตรงกับคณะผู้แทนดังกล่าวในกรณีที่การพูดคุยอย่างเป็นทางการต้องสะดุดหยุดลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพื่อระดมความคิดเห็นในการออกจากทางตัน ค้นหาแนวทางตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่าย และสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน โดยให้การสื่อสารระหว่างกันสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง   
 
ประการที่ห้า กระบวนการสันติภาพต่อจากนี้จำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งสังคมไทยและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจต่อกระบวนการที่ฝ่ายต่างๆ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คู่สนทนาควรต้องมีการสื่อสารต่อสาธารณะอยู่เป็นระยะ และในทางกลับกันควรต้องเปิดกว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อทิศทางที่ควรจะเป็นในอนาคต ทั้งนี้ ข้อตกลงใดๆ ที่จะบรรลุผ่านกระบวนการดังกล่าวจะมีความชอบธรรมและยั่งยืนเพียงพอนั้น ย่อมต้องมีความเห็นพ้องจากผู้คนโดยส่วนใหญ่ในระดับหนึ่งเช่นกัน
 
ประการที่หก รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นควรเปิดพื้นที่และสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รวมตัวกันสร้างสิ่งที่เรียกว่า “เครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” (Safety Net) ในระดับประชาชนควบคู่กันไปกับระดับของรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น ซึ่งจะประกอบไปด้วยกลุ่มองค์กรประชาสังคมและประชาชนที่ไม่ใช่ตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นทางการ แต่เป็นผู้แสดงตนว่าต้องการเห็นกระบวนการสันติภาพ ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นพูดคุยที่สำคัญและเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเสริมเติมเต็มกระบวนการพูดคุยที่เป็นทางการของรัฐบาล โดยอาจจะดำเนินการในลักษณะของคณะกรรมการ (sound board of peace infrastructure) หรือพื้นที่กลาง (platform) ที่ทุกฝ่ายได้มีโอกาส “ส่งเสียง” ของตนเอง ทั้งยังได้มีส่วนร่วมกับการเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง[3]
 
ประการสุดท้าย เป็นข้อเสนอแนะในอีกด้านหนึ่งต่อองค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ควรใช้จังหวะโอกาสที่พื้นที่ทางการเมืองกำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้ง โดยเร่งสร้างพื้นที่กลางในการพูดคุยระหว่างผู้คนที่มีประสบการณ์หรือภูมิหลังและความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่สัมพันธ์กับอนาคตของสังคมชายแดนใต้/ปาตานีที่ควรจะเป็น ซึ่งรวมไปถึงข้อห่วงกังวล จุดสนใจ และความต้องการของประชาชนที่ในแง่มุมที่หลากหลาย รวมทั้งผลักดันให้เสียงเรียกร้องเหล่านี้กลายเป็นวาระที่คู่สนทนาจำเป็นต้องพิจารณาใคร่ครวญ นอกจากนี้แล้ว ควรต้องร่วมกันติดตามกระบวนการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
 
กระบวนการสันติภาพที่ยึดโยงกับการมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีฐานความชอบธรรมที่หนักแน่นและทำให้ข้อตกลงสันติภาพในอนาคตมีความยั่งยืน ตลอดจนมีหลักประกันว่าจะได้รับการสนับสนุนให้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง การเปิดพื้นที่ข้างต้นจึงไม่เพียงแต่สนับสนุนกระบวนการพูดคุยของผู้กำหนดนโยบายของคู่สนทนาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเข้ามามีส่วนพัวพันและรับผิดชอบร่วมกันต่อสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน
 
 
 


[1] คณะทำงานพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน (Insider Peacebuilders Platform Working Group – IPP Working Group) เป็นคณะทำงานที่มีองค์ประกอบมาจากนักวิชาการและผู้ปฏิบัติการในสถาบันทางวิชาการและองค์กรประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งเกาะกลุ่มร่วมกันทำงานมาตั้งแต่ปี 2554 ผ่านกิจกรรมอำนวยกระบวนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและการทำวิจัยร่วมกัน ทั้งนี้ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อาคารเรือนพักรับรอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
 
[2] แผนที่เดินทางสู่สันติภาพ (Roadmap for Peace) คือ เครื่องมือที่จะวางแผนการดำเนินขั้นตอนต่างๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการสันติภาพอาจจะล้มเหลวได้หากไม่มีความชัดเจนและความเห็นร่วมในหลักการ ขั้นตอน และการเห็นพ้องในตัวบุคคลที่เข้าร่วมพูดคุย และที่สำคัญ กระบวนการสันติภาพจะต้องไม่เร่งรัดเพราะจะทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในประเด็นต่างๆ อีกทั้งอาจจะขาดการเตรียมความพร้อมที่ดีที่จะให้ได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้งและสังคมไทยโดยรวม
 
[3] หนึ่งในความพยายามที่วางอยู่บนแนวคิดดังกล่าวคือการริเริ่มสร้างสรรค์ “พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน” (Insider Peacebuilders Platform – IPP) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลาระยะหนึ่ง โดยเปิดโอกาสให้ผู้คนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองและภูมิหลังแตกต่างกันรวมแล้วประมาณ 50 คน ได้ทำงานร่วมกัน โดยผ่านการสนับสนุนทางวิชาการและความร่วมมือของกลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงสถาบันวิชาการทั้งในกรุงเทพฯ และในพื้นที่ ดูรายละเอียดของความเป็นมาและผลของการพูดคุยผ่านการวิเคราะห์ความขัดแย้งได้จากรายงาน “สนทนาปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้: บทสังเคราะห์จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ความขัดแย้ง (ครั้งที่ 1-5)” ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/3820