การรณรงค์ของคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งกำลังก่อตัวขึ้นในปัตตานี เพื่อแสวงหาอิสรภาพให้กับนักกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้คนหนึ่ง หลังจากที่ศาลฎีกาที่ปัตตานีอ่านคำพิพากษาคดีของนายมะกอรี ดาโอะกับคนอื่นๆอีก 7 คนเมื่อ 1 พค. ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในบรรดาจำเลยเหล่านี้ที่ถูกศาลตัดสินรับโทษจำคุกคนละ 12 ปีนั้นปรากฎชื่อของมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะหรือที่รู้จักกันในนาม อันวาร์ รวมอยู่ด้วย
ลักษณะของคดีที่สร้างความมึนงงให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการที่อันวาร์เป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงคนทำงานภาคประชาสังคมและสื่อทั้งในและนอกพื้นที่ บุคลิกที่เอาจริงเอาจังบวกผลงานของเขาที่ผ่านมาในฐานะคนที่ทำกิจกรรมอย่างสันติ ยิ่งดึงดูดคนรอบข้างให้หันมาระดมสมองเพื่อช่วยเหลือ สิ่งที่เป็นประเด็นด้วยสำหรับคนที่สนใจในเรื่องการที่กระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่ตอบโจทก์ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือวิธีพิจารณาคดีของศาล
คดีของอันวาร์ ไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบกับอันวาร์และคนที่ทำงานกับเขาเท่านั้น แต่บรรดาผู้คนที่ต่อสู้เคลื่อนไหวกับปัญหาด้วยหนทางอันสันติอย่างอันวาร์อีกหลายคน ที่กำลังต้องคิดหนักว่าจะหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมของไทยได้อีกต่อไปหรือไม่
สกัดเนื้อหาจากคำพิพากษาสองศาล
คดีของอันวาร์เริ่มต้นขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2548 เมื่อมีการจับกุมกลุ่มบุคคลทีละรายแต่รวมแล้วสิบเอ็ดคน (โดยใช้อำนาจพรก.ฉุกเฉิน ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เป็นครั้งแรกในพื้นที่) อันวาร์เองก็ถูกจับในเดือนนี้ด้วย พวกเขาถูกแยกฟ้องเป็นสี่สำนวน ด้วยข้อหาหลักๆอย่างเดียวกันคือ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งจำเลยทั้งหมดปฏิเสธ ในการพิจารณา ศาลถือเป็นเรื่องเดียวกันจึงพิจารณาไปพร้อมกัน
เดือนกค. 2550 ศาลชั้นต้นออกคำพิพากษา โดยศาลตัดสินว่าผิดฐานเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนท ตระเตรียมการอันเป็นกบฏ ให้ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี แต่ให้ยกฟ้องจำเลยสองคนเพราะเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอ จำเลยอุทธรณ์
16 มิย. 2552 ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ยกฟ้องอันวาร์พร้อมจำเลยอีกคนหนึ่งคืออัรฟาน บินอาแว แต่ให้ลงโทษคนอื่นๆที่เหลือ อัยการอุทธรณ์คำสั่ง ดันคดีต่อถึงศาลฎีกา จำเลยทั้งหมดต่างสู้คดีอุทธรณ์คำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นกัน อ้างความไม่น่าเชื่อถือของพยานของอัยการว่าเป็นพยานบอกเล่า ซัดทอด และไม่มีการนำพยานที่ยอมรับว่าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นมาเบิกความในศาล ส่งแต่เพียงสำนวนสอบสวนในชั้นซักถามและในชั้นสอบสวนเท่านั้น ทั้งยังไม่มีหลักฐานอื่นๆมาสนับสนุน
ระยะเวลาผ่านไปเกือบ 4 ปี
1 พค. 2556 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาให้บรรดาจำเลยและครอบครัวฟัง ศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องอันวาร์และอัรฟาน และยืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นคือให้ลงโทษทุกคน จำคุกคนละ 12 ปี
ที่น่าแปลกหน่อยสำหรับเราท่าน แต่อาจจะไม่แปลกสำหรับศาลก็คือ เอกสารคำพิพากษาของศาลฏีกานั้นลงวันที่ตั้งแต่ 4 ก.ย. 2555 ในขณะที่ครอบครัวอันวาร์บอกว่า พวกเขาได้รับจดหมายจากศาลเมื่อ 30 เม.ย. 2556 ให้ไปฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. นอกจากนี้มีข้อมูลตอนท้ายคำพิพากษาด้วยว่า คำพิพากษานี้ ลงนามโดยนายฐานัน วรรณโกวิท รองประธานศาลฎีกา ปฎิบัติหน้าที่แทนประธานศาลฎีกา และแทนผู้พิพากษาในคดีคือนายโสภณ โรจน์อนนท์ ที่เป็นผู้ร่างคำสั่งไว้ก่อนหน้านี้เนื่องจากผู้พิพากษาท่านนั้นได้พ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน โดยการลงนามแทนนี้กระทำเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2556 (ก่อนวันลงนามพูดคุยสันติภาพกับกลุ่ม BRN เพียงหนึ่งวัน – เรื่องบังเอิญ อย่าได้คิดมาก)
สำหรับเนื้อหาคดี สรุปอย่างหยาบก็คือ ข้อกล่าวหาต่อคดีความมั่นคงอันนี้กล่าวหาว่าอันวาร์กับบุคคลที่เหลือเป็นสมาชิกของบีอาร์เอ็น ในตัวคำฟ้องไม่มี “แอคชั่น" หรือการกระทำความผิดอื่นใดนอกเหนือจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น สิ่งที่ศาลต้องตัดสินใจคือ บีอาร์เอ็นมีอยู่จริงหรือไม่ อันวาร์และพวกเป็นสมาชิกจริงหรือไม่ (ขอใช้คำว่าอันวาร์และพวกตามแบบนักกฎหมาย ถึงแม้ว่าอันที่จริงพวกเขาจะไม่ใช่ “พวก” กันก็ตาม แต่ขออนุโลมนำมาใช้เพื่อความสะดวกในการกล่าวถึง)
ในส่วนแรกว่ามีบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่ ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จะมีการยกคำให้การของเจ้าหน้าที่และพยานขึ้นมานำเสนออย่างละเอียดลออ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็น่าสนใจสำหรับคนที่อยากรู้ว่าภาพของบีอาร์เอ็นในสายตาของกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร คำพิพากษายกคำให้การที่บรรยายถึงบีอาร์เอ็นตั้งแต่ของเนื้อหาการชักจูงด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ไปจนถึงการดึงคนเข้าร่วม กิจกรรมการอบรมและฝึกร่างกาย ตลอดจนการวางแผนตระเตรียมก่อการ แน่นอนว่าศาลเชื่อว่าบีอาร์เอ็นมีจริง (ถ้าพิจารณาว่านี่เป็นคำตัดสินของศาลที่ออกมาในปี 2550 ก็จะเห็นว่ายิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีก)
ส่วนประเด็นว่าอันวาร์และคนอื่นๆเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่นั้น ศาลมีหลักฐานหลัก คือคำซัดทอดจากการให้การของบุคคลสี่คน คนเหล่านี้คือมะตอเห สะอะ อับดุลเลาะ สาแม็ง สะตอปา ตือบิงหมะ และมะสุกรี สารอ
ทั้งสี่คนยอมรับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ว่ามีส่วนร่วมในการฆ่าตัดคอดาบตำรวจสัมพันธ์ อ้นยะลา ตำรวจยะรัง แม้ว่าคนที่ยิงและตัดคอดาบตำรวจนั้นจับไม่ได้และไม่ได้อยู่ในกลุ่มสี่คนนี้ก็ตาม
จากเอกสารคำพิพากษาสรุปข้อมูลออกมาได้ว่า ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการสอบสวนของจนท.ตร.ที่ทำคดีฆ่าดาบตำรวจ นำไปสู่การสอบสวนกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนปอเนาะสองแห่งคือประสานวิทยาหรือปอเนาะพงสตา กับโรงเรียนบุญบันดานหรือปอเนาะแนบาแด โดยตร.ได้ตามรอยการใช้โทรศัพท์ของดาบตำรวจสัมพันธ์และพบว่ามีนักเรียนคนหนึ่งนำโทรศัพท์ไปใช้ และมีการติดต่อกับนักเรียนหลายคนของทั้งสองโรงเรียน ตร.จึงได้เข้าตรวจค้นและจับกุม แล้วนำตัวนร.ทั้งสี่บวกกับอีกหลายคนไปสอบปากคำ เป็นที่มาของการได้คำให้การต่างๆของคนทั้งสี่ที่ยอมรับว่าเป็นบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นหลักฐานหลัก
นอกจากนี้ยังมีคำให้การของนักเรียนอีกสามคนที่ดูเหมือนว่าจะเป็นหลักฐานประกอบ ซึ่งก็เป็นคำให้การที่ให้ไว้ทั้งในขั้นตอนการซักถามข้อมูลและขั้นตอนการใช้พรก.ฉุกเฉินเช่นกัน และพวกเขาก็ได้ไปให้ปากคำในชั้นศาลด้วย แต่คนกลุ่มหลังนี้ถือว่า “ไม่ใช่สมาชิกบีอาร์เอ็น”
ในคำซัดทอดของกลุ่มคนสี่คนที่ยอมรับว่าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นนั้นระบุว่า ในบรรดาคนที่ไปร่วมรับการอบรมมีอันวาร์และกลุ่มคนที่ถูกฟ้องพร้อมอันวาร์อยู่ด้วย ที่น่าสนใจคือ ในจำนวนคนทั้งสี่นี้มีเพียงคนเดียวเท่านั้น คือมะตอเหที่ได้ให้การในชั้นศาลเพิ่มเติม ส่วนที่เหลืออีกสามคนนั้นมีแต่คำให้การที่พวกเขาให้ไว้กับจนท.ในขั้นตอนการซักถามตามพรก.ฉุกเฉินฯ กับคำให้การที่ให้ไว้กับตำรวจเท่านั้น ไม่มีการไปเบิกความในศาลเพราะพวกเขาหลบหนีเสียก่อน
หนึ่งในสี่คนที่ว่านี้ คนหนึ่งคือมะสุกรี ระบุว่าเป็นเพื่อนร่วมห้องของอันวาร์ จากคำให้การของพวกเขาสี่คน เล่าถึงการได้ไปทำกิจกรรมรับการอบรมของบีอาร์เอ็นด้วยกัน และระบุด้วยว่าอันวาร์กับอัรฟาน จำเลยอีกรายหนึ่ง เคยกระทั่งเอามอเตอร์ไซค์ส่วนตัวไปใช้ในการทำกิจกรรมร่วมกัน และอันวาร์ยังมีการไปมาหาสู่กับสะตอปา ตือบิงหมะ หนึ่งในสี่คนที่หลบหนีไป
ส่วนคำให้การของนักเรียนอีกสามคนจากโรงเรียนปอเนาะแนบาแดที่ศาลบอกว่าไม่ใช่สมาชิกของบีอาร์เอ็นนั้น เป็นการ “ให้การเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว” ของสมาชิกบีอาร์เอ็นในการวางแผนสังหารดาบตำรวจให้การไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ว่าในการเบิกความในชั้นศาล พวกเขากลับคำให้การ โดยบอกว่าไม่รู้เรื่องการวางแผนใดๆของสมาชิกบีอาร์เอ็นที่ไปก่อเหตุ
แต่ศาลกลับเห็นว่า การกลับคำให้การของนักเรียนทั้งสามน่าจะเป็นเพราะต้องการช่วยเหลือจำเลย หรือไม่ก็เพราะหวาดกลัวมากกว่า และเชื่อว่าคำให้การในชั้นซักถามและชั้นสอบสวนของพวกเขานั้น “จริงยิ่งกว่าคำเบิกความ” พูดง่ายๆว่าที่เบิกความกับศาลนั้นศาลเห็นว่าเป็นเท็จ แต่ที่ให้การกับตำรวจศาลเห็นว่าเป็นของจริง เพราะว่าสอดคล้องกับการให้การของอีกสี่คนแรกที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น
แน่นอนว่าอาจมีประเด็นคำถามว่า คำให้การต่างๆที่ได้มานอกศาลนั้นเชื่อได้แค่ไหน ศาลบอกว่าไม่มีกฎหมายห้ามใช้คำให้การประเภทนี้ และศาลเชื่อมั่นในกระบวนการว่าจนท.ทำอย่างตรงไปตรงมา เพราะในขั้นตอนนั้นไม่มีการ “แจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีการเสนอเงื่อนไขจะไม่ดำเนินคดี และซักถามร่วมกับผู้นำศาสนาที่ทางการจัดให้” ในการซัดทอดนั้นก็ไม่ได้ทำชนิดที่โยนความผิดให้คนอื่นทั้งหมด เจ้าตัวเองก็ยอมรับว่าผิดด้วย จึงเป็นสิ่งที่ศาลให้น้ำหนัก
ศาลบอกว่าจนท.ที่เป็นผู้จับกุมและสอบสวนก็ “ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคือง” กับพวกเขาจึงไม่มีเหตุที่จะไป “สร้างเรื่อง ปรักปรำหรือข่มขู่ บังคับ หรือว่าจูงใจ” ให้บรรดาคนที่ให้ปากคำแหล่านั้นพูดตามที่ให้การ
นอกจากนั้นศาลเห็นว่า การที่พวกเขาสามารถให้รายละเอียดของกระบวนการที่สมาชิกบีอาร์เอ็นทำก็ทำให้คำให้การนั้นสมจริง เพราะเป็นองค์กรที่ปิดลับ ต้องเป็นคนในเท่านั้นจึงจะรู้ได้
การเข้าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนทนี้ ศาลเห็นว่าเป็นความผิดอย่างสำคัญเพราะบีอาร์เอ็นต้องการแบ่งแยกดินแดนและด้วยวิธีการอันรุนแรง มีการทำร้ายประชาชน จนท.รัฐ ทรัพย์สินสาธารณะและอื่นๆ อัน“เป็นการกระทำในลักษณะของการก่อการร้าย”
ศาลตัดสินให้พวกเขามีความผิดฐาน “อั้งยี่ ตระเตรียมการอันเป็นกบฏ” แต่พวกเขาไม่มีความผิดฐานกระทำการอันเป็นกบฏ ก่อการร้ายและซ่องโจร เนื่องจากยังไม่ได้กระทำการใดๆเพียงแต่ไปร่วมรับการฝึกฝนอบรม – เตรียมการ - เท่านั้น
พูดโดยสรุปก็คือคดีนี้อาศัยหลักฐานจากการซัดทอดของคนสี่คน เป็นการซัดทอดในระหว่างการให้การในชั้นซักถามตามอำนาจพรก.ฉุกเฉิน และกับตำรวจในชั้นสอบสวน มีเพียงคนเดียวในกลุ่มนี้ที่ได้เบิกความกับศาล นอกจากนั้นคำให้การของกลุ่มคนสามคนที่นำมาประกอบการพิจารณาก็ได้มาจากการซักถามในชั้นตำรวจและพวกเขากลับคำให้การในชั้นศาล แต่ศาลก็ไม่นับ กลับไปใช้คำให้การที่ให้ไว้ครั้งแรกกับเจ้าหน้าที่แทน
มีข้อสังเกตด้วยว่า ในคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีการเอ่ยชื่อบุคคลหรือนักเรียนของโรงเรียนปอเนาะทั้งสองรายอีกหลายคนอีกหลายคนว่าเข้าร่วมรับการอบรมเข้าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น คนเหล่านี้ บัดนี้ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร
เนื้อหาหลักๆของคดีจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลฏีกาก็มีดังที่ว่านี้เอง