Skip to main content

รถขนาดปิ๊คอัพบรรทุกทหารสองคันถอยเข้าจอดที่ถนนแคบๆหน้าปากซอยเข้าบ้านของแยนะ สะแลแม - “ก๊ะแยนะ” หรือป้าแยนะ นายทหารที่เดินนำหน้าเป็นผบ.จากหน่วยฉก.นราธิวาส 31 ขณะที่พวกเขาเดินเข้าสู่ตัวบ้านและนั่งลงพูดคุยกับเจ้าของบ้านนั้น ทหารนาวิกโยธินอีกสามสี่นายก็แยกย้ายกันออกไปยืนคุมเชิงเฝ้าระวังสถานการณ์อยู่ที่ด้านนอกของหน้าต่าง

แม้ว่าบ้านจาเราะ ตากใบจะค่อนข้างสงบและแม้ว่าคนในบ้านนี้ในเวลานั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง คนสูงวัยและเด็ก แต่ทหารมืออาชีพที่รู้ตัวว่าเป็นเป้าสังหารก็ต้องระมัดระวังตนเองเป็นพิเศษ

ด้านหลังของพวกเขา ยังมีทหารอีกสองสามนายที่ลากแพะตามมาด้วยหนึ่งตัว น.ท.มนตรี โตประเสริฐมอบแพะตัวนี้ให้กับก๊ะแยนะเพื่อให้นำไปเชือดฉลองให้กับหลานสาวตามประเพณีของมุสลิมในพื้นที่ “มันไม่ใช่การเยียวยาครับ” ผู้พันมนตรีตอบคำถามจากสมาชิกเครือข่ายผู้หญิงที่ไปเยี่ยมก๊ะแยนะ และบอกว่าเจ้าหน้าที่อยากจะให้แพะอยู่แล้ว

แต่ในสายตาของกลุ่มคนที่เหลือ แพะตัวนี้จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากของปลอบใจจากจนท.ที่รู้ตัวว่า “พลาด”ไปแล้วจนอาจจะทำให้เสียงานการเมืองที่เพียรพยายามสร้างมาเนิ่นนานและอย่างยากลำบาก หลังจากมีข่าวออกไปว่า กำลังของจนท.ส่วนหนึ่งที่เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านจาเราะในวันที่ 18 กย.ได้เข้าค้นบ้านพักของก๊ะแยนะด้วยอย่างละเอียดละออ

วันทั้งวันดูเหมือนเสียงโทรศัพท์มือถือของก๊ะจะดังต่อเนื่องไม่ขาดสาย อันที่จริงแล้วก๊ะแยนะ กับมือถือก็เป็นของคู่กันอยู่แล้ว แต่ว่าวันนี้คนที่โทรเข้ามาไม่ใช่แค่คนที่โทรมาขอให้ก๊ะแยนะช่วยเหลือในเรื่องปัญหาที่มีกับเจ้าหน้าที่ แต่ส่วนใหญ่กลายเป็นคนที่โทรเข้าไปแสดงความเห็นใจ และที่แน่ๆหลายรายที่โทรไปก็คือเจ้าหน้าที่เองที่พยายามจะอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นจึงได้เข้าค้นบ้านของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนระดับชาวบ้านคนนี้

“เขาก็มาขอโทษ เราก็ยกโทษให้ อยากจะให้มีความรู้สึกที่ดี” ก๊ะแยนะมักเรียกตัวเองว่าเราเสมอมา “เราก็บอกว่า ไม่เป็นไรนะ ป้านี้ใจดี เพียงแต่ว่าเราไม่อยากจะให้เกิดแบบนี้อีกเท่านั้น”

วันที่ 18 กย.ขณะที่แยนะไปทำธุระที่ปัตตานี สมาชิกครอบครัวของก๊ะโทรศัพท์ไปบอกว่าได้มีทหารจำนวนร่วมสองร้อยไปปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่บ้านจาเราะ และไปๆมาๆลงเอยด้วยการเข้าตรวจค้นในบ้านพักของก๊ะ

ก๊ะแยนะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของกลุ่มญาติเหยื่อเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จากเรื่องตากใบก๊ะแยนะทำงานขยายไปยังเรื่องอื่นๆที่เป็นเรื่องของผู้ได้รับผลกระทบ หลายปีที่ผ่านมาก๊ะแยนะกลายเป็นหนึ่งในนักสิทธิมนุษยชนชาวบ้านที่ทำงานเงียบๆประสานสัมพันธ์ระหว่างจนท.และชาวบ้านเพื่อให้สถานการณ์ในบ้านจาเราะและอีกหลายๆแห่งราบรื่น คลี่คลายความเข้าใจผิด ช่วยเหลือชาวบ้านที่มักมีปัญหาทั้งด้านกฎหมายและอื่นๆแต่ไม่มีช่องทางพอจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและพูดจากับเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจได้ เพราะผลกระทบของความรุนแรงที่ทำให้จนท.ตั้งข้อสงสัยกับชาวบ้านจำนวนมากและกลายเป็นกำแพงใจทำให้หลายคนพบว่า การพยายามอธิบายตัวเองในบริบทแบบไทยๆไม่อาจทำได้ อาจเป็นเพราะความอ่อนด้อยในเรื่องของภาษา และเพราะว่าในบริบทแบบไทยนั้นจำเป็นต้องอาศัย “เส้น” เป็นแกนนำ ความกล้าและความสามารถในการติดต่อสื่อสารทั้งๆที่ภาษาไทยไม่ได้คล่องแคล่วทำให้ก๊ะแยนะกลายเป็นตัวเชื่อมที่จนท.ด้านความมั่นคงหลายส่วนเห็นว่า มีส่วนทำให้การทำงานของตนง่ายขึ้น

หลายปีที่ผ่านมาก๊ะแยนะทำงานนี้อย่างเงียบๆเพราะไม่ต้องการตกเป็นเป้า เป็นที่รู้กันว่าก๊ะแยนะสามารถจะยกหูโทรศัพท์ติดต่อจนท.ระดับสูงได้หลายคน และมีบทบาทช่วยเชื่อมต่อจนท.ที่พยายามจะประสานรอยร้าวกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งได้มีการชดเชยหรือเยียวยากันไปแล้วขณะที่ในด้านคดีกลับแน่นิ่ง สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นล่าสุดคือการช่วยประสานงานชาวบ้านที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบให้กับศอ.บต.ที่ต้องการจะเยียวยาคนกลุ่มนี้ซึ่งยังเป็นกลุ่มเดียวที่ตกหล่นอยู่ งานนี้เองทำให้ในระยะหลังที่บ้านก๊ะแยนะมีคนเข้าออกมากกว่าเดิม และนี่ก็กลายมาเป็นอีกเหตุหนึ่งที่จนท.อ้างกับก๊ะแยนะว่า ทำให้เกิดความสงสัยจนเข้าค้นเมื่อวันที่ 18 กย.ที่ผ่านมา

น.ท.มนตรี ผบ.ฉก.นราธิวาส 31 อธิบายว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะเจาะจงเข้าค้นบ้านของก๊ะแยนะ แต่เป็นเพราะจนท.ต้องการจะจับตัวผู้ต้องสงสัยสองรายที่เข้าไปยังหมู่บ้านตามที่ได้รับรายงาน และจากการเดินตรวจตามบ้านพบว่าที่หน้าบ้านก๊ะแยนะมีคนแปลกหน้าจึงได้เข้าค้น “คนแปลกหน้า” ที่ว่าก็คือญาติของก๊ะแยนะที่มาจากหมู่บ้านอื่นมาช่วยซ่อมบ้านให้ ส่วนคนอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าออกบ้านก๊ะแยนะเรื่อยๆนั้นก็คือผู้ได้รับผลกระทบที่ก๊ะแยนะขอให้ไปประชุมปรึกษาหารือเรื่องการรับการเยียวยาเพิ่มเติมจากศอ.บต.

ผู้พันมนตรียืนยันว่า ปกติการทำงานของจนท.รอบคอบรัดกุมและคำนึงถึงผลกระทบต่อชาวบ้าน นี่เป็นครั้งแรกในรอบหกเดือนที่จนท.ปิดล้อมตรวจค้น และที่ทำก็เพราะก่อนหน้านั้นมีระเบิดที่รอยต่อของบ้านจาเราะกับศาลาใหม่อันเป็นหมู่บ้านถัดไป แล้วยังมีระเบิดอีกสองครั้งในตากใบที่มีลักษณะเดียวกันทำให้เมื่อมีผู้รายงานว่ามีคนเข้ามาในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้กำลังเข้าปิดล้อมทันทีและโดยด่วนก่อนที่คนที่ต้องการตัวจะหายไป ขณะที่นายทหารที่รู้จักก๊ะแยนะก็ไม่มีใครอยู่ในพื้นที่ จนท.ระดับล่างที่เข้าค้นบ้านเองก็ไม่รู้จักว่านี่คือบ้านของก๊ะแยนะ แต่กับคำถามที่ว่า ในเมื่อตามหาคนเหตุใดจึงต้องค้นข้าวของอย่างละเอียดลออ เรื่องนี้ก็ดูจะไม่มีคำอธิบายใดมากไปกว่าว่า เพราะเจ้าหน้าที่กระทำตามขั้นตอนของการตรวจค้นอันถือว่าเป็นระเบียบปฏิบัติมากกว่าอย่างอื่น

อันที่จริงนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ก๊ะแยนะโดนค้นบ้าน และสำหรับก๊ะแยนะ เหตุการณ์หนนี้บ่งบอกตัวเองชัดเจนว่ามันอาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

“เราสู้อุตส่าห์ทำงาน” ก๊ะแยนะบ่น “หลังจากที่จนท.กลับไป ชาวบ้านมากันเต็มมาถามว่าเกิดอะไรขึ้น เราอายมาก” ภาพของการเป็นผู้ที่สามารถ “ต่อ” กับเจ้าหน้าที่และช่วยเหลือชาวบ้านที่มีปัญหากำลังถูกสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์เข้าค้นบ้านหนนี้ที่กำลังจะเป็นเครื่องยืนยันว่าคนที่ทำหน้าที่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่กำลังจะ “ต่อไม่ติด”  ดังนั้นศักยภาพในฐานะนักสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงชาวบ้านคนหนึ่งที่หลายปีที่ผ่านมาช่วยคลี่คลายปัญหาให้คนจำนวนมากอาจจะกำลังโดนบั่นทอนลงด้วยน้ำมือของจนท.เอง

“เขาอยากจะหาคน แต่เขามาลงที่เรา มาลงโทษเรา เขาคิดว่าเราติดต่อคนที่มีปัญหาได้ เราก็ต้องเป็นขบวนการ” ก๊ะแยนะรำพึง

แต่ที่สำคัญที่สุดคือสิ่งที่ก๊ะแยนะพูดต่อหน้าผู้พันมนตรีอย่างตรงไปตรงมา “ป้าเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะปลอดภัยหรือเปล่าหลังจากนี้” แต่นี่ดูจะเป็นคำถามที่ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนมากไปกว่าว่า เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่เห็นว่าจำเป็น

ซึ่งก็อาจจะพูดได้อย่างหยาบๆว่า – ต้องดูแลตัวเอง

การพบปะที่ดูเหมือนจะช่วยสร้างความเข้าใจและท่ามกลางความยิ้มแย้มแจ่มใสนั้นจบลงเมื่อเจ้าของบ้านเดินไปส่งจนท.ขึ้นรถและผู้พันมนตรีส่งเชือกที่ผูกแพะให้กับก๊ะแยนะ พร้อมด้วยสัญญาจากฝ่ายหลังว่า ในวันเชือดแพะจะมีคำเชิญถึงจนท.ทหารให้ไปร่วมกินแพะที่บ้านด้วยอย่างแน่นอน นี่อาจจะเป็นประโยชน์เพียงหนึ่งเดียวที่เกิดขึ้นจากการพบปะกันหนนี้ นั่นก็คือสัญญาณที่ว่าจนท.ในพื้นที่และก๊ะแยนะจะได้วิวาทะและพบกันต่อไป จากเดิมที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ติดต่อกันมากนักทั้งๆที่ผู้พันมนตรีก็เชื่อว่าความร่วมมือที่แนบแน่นระหว่างจนท.กับชาวบ้านเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงาน ก๊ะแยนะเองยอมรับว่าเมื่อเทียบกับทหารชุดก่อนหน้าที่ดูแลพื้นที่ ชุดปัจจุบันไม่ได้มีการสานสัมพันธ์กันมากเท่า

ในความสัมพันธ์แบบไทยๆที่อาศัยระบบอุปถัมภ์และ “เส้น” แม้แต่ในการแก้ปัญหาเล็กๆน้อยๆ การได้รู้จักเจ้าหน้าที่ระดับผู้ใหญ่นับเป็นหัวใจสำคัญของการคลี่คลายปัญหา ยิ่งรู้จัก “ผู้ใหญ่” มากก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเปิดพื้นที่ในระบบเพื่อตอบสนองหรือแก้ปัญหาให้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นสิ่งหายาก การเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่หรือการได้เจ้าหน้าที่ที่มีความคิดและแนวทางการทำงานที่เปลี่ยนไปล้วนแต่กระทบสายสัมพันธ์กับชาวบ้าน จึงไม่น่าแปลกใจหากการทำงานของคนในภาคประชาสังคมอย่างก๊ะแยนะจะเจอเส้นทางลุ่มๆดอนๆโดยตลอดโดยเฉพาะเมื่อแกนนำหรือผู้นำชาวบ้านอย่างนี้ไม่มีสถานะที่เป็นทางการ ตลอดจนอาจจะเจอหางเลขของการกลายเป็นผู้ที่ถูกสงสัยเสียเอง ดังเช่นสิ่งที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นกับแยนะ สะแลแม

นอกเหนือจากแพะแล้ว วันนี้จนท.ยังได้มอบเสื้อยืดสีฟ้าตัวใหญ่ให้กับก๊ะแยนะ มันเป็นเสื้อของฉก.31 นราธิวาส เมื่อพลิกดูด้านหลังพบอักษรภาษาอังกฤษ Winning People”s Hearts ซี่งก๊ะแยนะเองก็คงไม่เข้าใจ มันคือสโลแกนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่คาดว่าย่อมาจากแนวทางที่รู้จักกันดีคือการเอาชนะใจชาวบ้าน –winning hearts and minds มันคือคำพูดที่สรุปรวบยอดนิยามของการทำงานการเมืองนำหน้างานการทหาร

ในขณะที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าพวกเขาพยายามเชื่อมรอยร้าวที่เกิดขึ้นด้วยการมอบของที่ควรให้แก่ก๊ะแยนะ ทว่าอีกด้านมันกลับดูเป็นเรื่องตลกร้ายเสียนี่กระไรเพราะทั้งแพะและเสื้อดูจะแปลกแยกกับสถานการณ์สิ้นดี และที่แปลกแยกก็ไม่ใช่เพียงเพราะความเป็นแพะที่ก๊ะแยนะรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกบีบให้เป็นเท่านั้น