ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
ในการสัมมนาหัวข้อ “ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ: การขยายพื้นที่ภาคประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมหลากหลายองค์กรที่มีบทบาทในกรณีความขัดแย้งที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมอย่างคับคั่ง แม้ว่าการแลกเปลี่ยนในเนื้อหาประเด็นต่างๆ อย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนและน่าสนใจ ทว่าปาฐกถาที่เปิดนำโดย มารค ตามไท นักวิชาการที่มีบทบาทหลากหลายก็ให้แง่มุมที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่หลายฝ่ายเห็นร่วมกันบทบาทของภาคประชาสังคมมีความสำคัญต่อหน้าตาของชายแดนภาคใต้ในอนาคต
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เห็นว่าบางแง่มุมของอาจารย์มารค สะท้อนทิศทางที่ควรจะเป็นของ “ภาคส่วนที่สาม” ในวิกฤตหนทางตีบตันที่แต่ละกลุ่มต่างกำลังประสบ จึงขอนำเสนอการถอดบทปาฐกถาดังกล่าว ซึ่งเรียบเรียงโดยผู้จัดการสัมมนา อันได้แก่ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิฟรีดริช เนามันน์ ตามไฟล์ที่แนบไว้
[ปาฐกถา "ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ" โดย อาจารย์มารค ตามไท]
ในบทปาฐกถาดังกล่าว อาจารย์มารค ได้เกริ่นถึงข้อแตกต่างกับบทบาทในการผลักดันข้อเสนอมาตรการต่างๆ ที่องค์กรประชาสังคมนำเสนอที่ผ่านมากับสิ่งที่เขาเรียกว่า “กระบวนการสันติภาพ” ซึ่งในมุมของนักเคลื่อนไหวสันติวิธีผู้นี้เห็นว่าเป็นทิศทางที่แตกต่างจากเดิม กระบวนการดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ อันได้แก่การแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการต่างๆ ที่ไม่แยกขาดจากกัน หากแต่พิจารณาถึงลำดับความสำคัญตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม กับอีกประการคือการออกแบบกระบวนการที่นำไปสู่ภาพของสังคมในอนาคต ซึ่งในที่นี้ก็อาจเปรียบเป็นเป้าหมายร่วมที่อยู่บนโจทย์พื้นฐานว่า “เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร?” ในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักถึง “ราคา” ที่เราพร้อมจะจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งอนาคตที่วาดหวังนั้น
อย่างไรก็ตาม อาจารย์มารค มองเห็นถึงปัญหาที่ภาคประชาสังคมกำลังเผชิญ หรืออาจกล่าวในแง่หนึ่งได้ว่าเป็นอุปสรรคสำหรับ “กระบวนการสันติภาพ” ที่ว่านี้ โดยแยกแยะเป็น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นแรก คือ เป้าหมายระยะสั้นที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มองค์กร กระทั้งบางครั้งการทำงานของกลุ่มหนึ่งไปลดทอนความคืบหน้าของอีกกลุ่มหนึ่ง ดังข้อแตกต่างระหว่างกลุ่มที่มุ่งเน้นการปกป้องสิทธิกับกลุ่มทำงานสร้างกระบวนการพูดคุยเจรจากับผู้ใช้ความรุนแรงที่แม้จะมีเป้าหมายระยะยาวใกล้เคียงกัน แต่ระหว่างการทำงานก็ขัดแย้งในแนวทาง ปัญหาจึงอยู่ที่การประสานงานระหว่างกลุ่มเหล่านี้ให้มีส่วนหนุนเสริมซึ่งกันและกัน
ส่วนประการที่สอง คือ ปัญหาการประสานงานระหว่างกลุ่มที่มีเป้าหมายระยะยาวต่างกัน ที่มีกลุ่มในภาคสังคมไม่น้อยที่เห็นการใช้ความรุนแรงเป็นทางเลือกหลัก ขณะที่ประการที่สาม คือ ปัญหาระหว่างกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่กับนอกพื้นที่ที่บางครั้งต้องจัดวางบทบาทใหม่ในการหนุนเสริมให้พลังจากข้างในเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก โดยที่พลังจากข้างนอกสนับสนุนด้วยการทำงานอีกแบบ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่จังหวะเวลาและความพร้อม ในขณะที่อิทธิพลจากแหล่งทุนเป็นปัญหาประการสุดท้ายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ เนื่องจากความเป็นจริงที่ภาคประชาสังคมยังต้องอาศัยแหล่งทุนจากภายนอก ผลกระทบประการสำคัญคือการทำให้เรื่องหลักกลายเป็นเรื่องรองไป
ในช่วงถามตอบ อาจารย์มารคได้ย้ำถึงโจทย์สำคัญของกระบวนการสันติภาพที่จำต้องคลายความคิดเห็นและเป้าหมายที่แตกต่างกันของผู้เล่นกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ความขัดแย้ง บนฐานคิดที่ไม่ได้มองกลุ่มประชาสังคมด้วยสายตาโรแมนติกที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดีและไร้ความขัดแย้ง โดยหนึ่งในกระบวนการสำคัญคือการวาดหวังถึงสังคมที่ควรจะเป็นร่วมกัน และในเชิงรูปธรรมต้องเริ่มต้นจากจุดร่วมของกลุ่มเล็กก่อนเป็นลำดับแรก