Skip to main content

เสียงสันติภาพในภาพถ่าย "30 วัน ชีวิตในรอมฎอน"

เรื่อง: ชัยรัตน์ จิโรจน์มนตรี
ภาพประกอบ: เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ (DSP) และ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน
(อ่านฉบับเต็ม http://www.wewatch.info/node/671)

 

          ตลอดช่วงเดือนถือศีลอดหรือเดือนรอมฎอน ค่ำคืนภายในกำแพงและรั้วของมัสยิดกลางปัตตานี บนลานกว้างและพื้นที่สวนย่อมเต็มไปด้วยผู้คนที่ศรัทธาในพระเจ้าที่ล้นมาจากห้องโถง แสงไฟจากสปอต์ไลท์สะท้อนจากตัวอาคารและยอดโดมฉาบฉายไปยังผู้คนที่กำลังร่วมละหมาดตะรอเวียะห์ ความสงบ-ศรัทธาคงดำเนินไปตลอดหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความรุนแรงที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้าน ณ อาณาบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ปาตานี

          เย็นวันหนึ่งก่อนที่จะเข้าสู่เดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราช 1435 เพียงไม่กี่วัน นักถ่ายภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ร่วมกันนำภาพถ่ายที่พิมพ์ลงบนป้ายผ้าไวนิลขนาดใหญ่จัดวางที่ลานกว้างในพื้นที่ของมัสยิดกลางปัตตานี เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดตัวกิจกรรมสร้างสรรค์ นิทรรศการภาพถ่าย 30 วัน ชีวิตในรอมฎอน พวกเขากำลังใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือช่วยสะท้อนความจริงของพื้นที่ซึ่งกำลังถูกความรุนแรงกลบกลืน พยายามกระตุ้นให้ทุกคนร่วมจินตนาการถึงการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติอย่างมีความหวัง

   

          ภาพถ่ายครอบครัวอันอบอุ่น ภาพรอยยิ้มของเด็กๆ ภาพลูกน้อยในอ้อมกอดแม่ ภาพถ่ายวิถีชีวิตต่างๆ ทั้ง 30 ภาพ ในนิทรรศการของบรรดานักถ่ายภาพที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ กำลังสร้างบทสนทนาใหม่แก่สังคม ‘สันติภาพ’ ถูกหยิบขึ้นมาทักทายต่อความรุนแรงอันเป็นชะตากรรมของผู้คนที่ไม่อาจปฏิเสธมาร่วมทศวรรษ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะห้วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นักถ่ายภาพเหล่านี้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ด้วยหวังอันจะนำพาทุกฝ่ายให้เดินทางหรือต่อสู้ในแนวทางแห่งสันติ พูดคุยเพื่อเข้าใจมากกว่าการใช้เสียงปืนหรือเสียงระเบิดที่พาลแต่จะเสียเลือดเสียเนื้อ

          ถนนยะรังหน้ามัสยิดกลางปัตตานี ที่เมื่อปีกลายทางจังหวัดปัตตานีได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงรอมฎอน และให้ชื่องานว่า ญาลันเราะห์มัตรอมฎอน หรือเส้นทางรอมฎอนแห่งความเมตตา มีการเพิ่มสีสันประดับประดาไฟระยิบบนเกาะกลางถนน จัดซุ้มประตูสู่ถนนสายรอมฎอน และเพิ่มแสงสีนวลให้กับอาคารมัสยิด ทว่าปีนี้เกาะกลางถนนถูกปรับภูมิทัศน์ด้วยการนำต้นอินทผาลัมมาปลูกไว้ตลอดแนวหน้ามัสยิด ขณะที่ในเย็นวันเปิดตัวกิจกรรมของนักถ่ายภาพ ทหารและตำรวจถืออาวุธสงครามตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยเพื่อรอรับนายทหารระดับรองแม่ทัพที่จะมาร่วมงาน แม้การปิดถนนไม่ให้รถผ่านหรือจอดรถบริเวณหน้ามัสยิดจะทำให้ชาวบ้านผู้สัญจรให้ความสนใจใคร่รู้ถึงงานภายในรั้วมัสยิด แต่กระนั้นมันได้ทำให้ไม่มีใครกล้าไปเข้าไปร่วมการเปิดงานด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนความรู้สึกภายใน ความไม่ไว้วางใจ ความกลัว แน่นอนนี่ไม่ใช่บรรยากาศหรือกลิ่นที่ชวนให้จินตนาการถึงสันติภาพ

      

          อับดุลรอซัก หวันโซ๊ะ อิหม่ามมัสยิดกลางปัตตานี เพิ่งกลับจากการสอนที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองปัตตานี ในวันนั้นดูแววตาเขาไม่ต่างจากนักถ่ายภาพผู้จัดงาน เมื่องานที่จัดขึ้นมีทหารและตำรวจราวหนึ่งร้อยนายคอยรักษาความปลอดภัยอยู่ทั้งในงานและบนถนนรอบมัสยิด ความรู้สึกรอบตัวอันเข้มขึงนี้ดูเป็นคนละเรื่องราวกับเนื้อหาในภาพถ่ายที่นำมาจัดแสดง และในฐานะผู้นำศาสนาที่ต้องทำหน้าที่ท่ามกลางอุดมการณ์อันแข็งแกร่งของคู่ขัดแย้ง  เขากล่าวในโอกาสเปิดงานบางตอนว่า คนที่มาดูภาพถ่ายจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องมุสลิมในช่วงเดือนรอมฎอนอันประเสริฐได้โดยมิต้องบรรยายอื่นใดอีกว่าผู้คนอยู่กันอย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับอัลกุรอ่านบทหนึ่งที่ส่งเสริมให้คนเราเรียนรู้และรู้จักกันมากขึ้น ในโองการนั้นระบุว่า บรรดามนุษย์ทั้งหลาย อัลลอฮฺได้สร้าง (อ่านฉบับเต็ม http://www.wewatch.info/node/671)