อาบีบุสตา ดอเลาะ
หลังจากการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการยุติลงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ประกอบกับการมาของรัฐบาลทหารโดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐไทยมีการนำคำว่า สันติสุข มาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาปาตานีอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการใช้คำว่าสันติภาพอย่างแพร่หลายทั้งจากนักวิชาการ ภาคประชาสังคม นักศึกษา กลุ่มขบวนการหรือแม้กระทั้งจากรัฐไทยเอง
เหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลังถ้อยคำเหล่านั้น ทำไมรัฐไทยจึงเปลี่ยนหรือพยายามหลีกเลี่ยงคำว่าสันติภาพมาใช้คำว่าสันติสุข เนื่องจากในแง่ของความหมายแล้วสองคำนี้มีความใกล้เคียงกันมากจนสามารถใช้คำสองคำนี้แทนกันได้ พจนานุกรมให้ความหมายของคำว่าสันติภาพ หมายถึงความสงบ เช่น โลกต้องการสันติภาพ,จงร่วมมือกันรักษาสันติภาพของโลก และให้ความหมายของคำว่าสันติสุข หมายถึงความสุขที่เกิดจากความสงบ เช่น รัฐบาลบริหารประเทศเพื่อสันติสุขของประชาชน หากดูจากความหมายดังกล่าวแล้วสันติสุขน่าจะมาจากผลของสันติภาพ สันติสุขที่เกิดจากสันติภาพซึ่งหมายถึงความสงบจะทำให้เกิดความสุข อย่างไรก็ตามในแง่ของการใช้ภาษาไม่น่ามีความจำเป็นที่รัฐไทยต้องเปลี่ยนมาใช้คำว่าสันติสุขเนื่องจากการใช้คำว่าสันติภาพกับปัญหาปาตานีผิดหลักการใช้ภาษาไทย
แต่ในแง่ของวาทกรรมทางการเมืองแล้วสองคำนี้กลับมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในการสะท้อนบริบทของปัญหาความขัดแย้งเนื่องจากคำตรงข้ามของคำว่าสันติภาพคือคำว่าสงครามซึ่งรัฐไทยยืนยันมาตลอดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานีมิใช่สงคราม คำว่าสันติภาพมักถูกนำมาใช้อธิบายถึงการยุติความขัดแย้งที่รุนแรงปัญหาความขัดแย้งในอาเจะห์ ติมอร์-เลสเต มินดาเนา/บังซาโมโร เมียนมา ปาเลสไตน์ เนปาล ศรีลังกา กระบวนการจัดการความขัดแย้งจากพื้นที่เหล่านี้นักวิชาการและภาคประชาสังคมเรียกว่าบทเรียนสันติภาพ
นอกจากนี้คำว่าสันติภาพยังเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ จะเห็นว่าในกฎบัตรสหประชาชาติหรือในหนังสือกฎหมายระหว่างประเทศจะใช้คำว่าสันติภาพ ในกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการจำกัดการใช้กำลังทหาร ใช้คำว่าการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศโดยองค์การสหประชาชาติ ในกฎบัตรสหประชาติหลายข้อกล่าวถึงคำว่าสันติภาพ ไม่มีข้อใดหรือเรื่องใดที่มีบัญญัติคำว่าสันติสุข ตัวอย่างเช่น
ความมุ่งประสงค์ของสหประชาชาติ ในหมวด 1ข้อ1(1)บัญญัติว่า “เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และเพื่อจุดหมายปลายทางนั้น จะได้ดำเนินมาตรการร่วมกันอันมีผลจริงจังเพื่อป้องกันและการขจัดปัดเป่าการคุกคามสันติภาพ และเพื่อปราบปรามการกระทำการรุกรานหรือการละเมิดอื่นๆต่อสันติภาพ และนำมาซึ่งการแก้ไข หรือระงับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์ระหว่างประเทศอันอาจนำไปสู่การละเมิดสันติภาพ โดยสันติวิธีและสอดคล้องกับหลักการแห่งความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ”
ข้อ2.บัญญัติว่า “เพื่ออนุวัตตามความมุ่งประสงค์ดังกล่าวในข้อ 1 องค์การฯและสมาชิกขององค์การฯ จะดำเนินการโดยสอดคล้องกับหลักการดังต่อไปนี้ 3.สมาชิกทั้งปวงจะต้องระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตนโดยสันติวิธี ในลักษณะการเช่นที่จะไม่เป็นอันตรายแก่สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศและความยุติธรรม 6.องค์การฯจะต้องให้ความแน่ใจว่า รัฐที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติจะปฏิบัติโดยสอดคล้องกับหลักการเหล่านี้เท่าที่จำเป็นเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ”
หมวดที่2 ข้อ4(1)บัญญัติว่า “สมาชิกภาพแห่งสหประชาชาติเปิดให้แก่รัฐที่รักสันติภาพทั้งปวงซึ่งยอมรับข้อผูกพันที่มีอยู่ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันและในการวินิจฉัยขององค์การ เห็นว่ามีความสามารถและเต็มใจที่จะปฏิบัติตามข้อผูกผันเหล่านี้”
หมวดที่4ข้อ11(1)บัญญัติว่า “สมัชชาอาจพิจารณาหลักการทั่วไปแห่งความร่วมมือ ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการควบคุมการลดอาวุธและการควบคุมกำลังอาวุธ และอาจทำคำแนะนำไปยังสมาชิกของสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงหรือทั้งสองแห่งในปัญหาหรือเรื่องราวใดๆเช่นว่านั้น เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ 12”
หมวดที่6ข้อ33(1)บัญญัติว่า “ผู้เป็นฝ่ายในกรณีพิพาทใดๆซึ่งหากดำเนินอยู่ต่อไปน่าจะเป็นอันตรายแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ก่อนอื่นจะต้องแสวงหาทางแก้ไขโดยการเจรจา การไต่สวน การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม อนุญาโตตุลาการ การระงับโดยทางศาล การอาศัยทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคหรือข้อตกลงส่วนภูมิภาค หรือสันติวิธีอื่นใดที่คู่กรณีจะพึงเลือก” (2)“เมื่อเห็นว่าจำเป็น คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องเรียกร้องให้คู่พิพาทระงับกรณีพิพาทของตนโดยวิธีเช่นว่านั้น” ข้อ 34 “คณะมนตรีความมั่นคงอาจสืบสวนกรณีพิพาทใดๆหรือสถานการณ์ใดๆซึ่งอาจนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันระหว่างประเทศหรือก่อให้เกิดกรณีพิพาท เพื่อกำหนดลงไปว่าการดำเนินต่อไปของกรณีพิพาทหรือสถานการณ์นั้นๆน่าจะเป็นอันตรายแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศหรือไม่”
ที่ยกมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ยังมีกฎบัตรอีกหลายข้อที่ระบุถึงคำว่าสันติภาพ ไม่มีข้อใดกล่าวถึงหรือถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยใช้คำว่าสันติสุข
ดังนั้นการที่รัฐไทยพยายามหว่านโปรยวาทกรรมสันติสุขแทนคำว่าสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานีน่าจะมีความประสงค์ดังต่อไปนี้
1.เพื่อทำให้ปัญหาปาตานี/จังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องภายในที่รัฐไทยสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองโดยที่องค์กรระหว่างประเทศไม่จำเป็นต้องแทรกแซงและไม่ต้องการให้ปัญหาปาตานีมาผูกโยงกับกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากนับแต่ปี 2557 เป็นต้นมาปัญหาความขัดแย้งทางตอนล่างของประไทยได้ถูกยกระดับจนกลายเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากประชาคมโลกมากขึ้นและในปี2556 กลุ่มขบวนการได้ช่วงชิงวาทกรรมสันติภาพให้ปรากฏต่อนานาชาติผ่านเวทีกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus On Peace Dialogue Process)เพื่อสะท้อนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นสงครามระหว่างรัฐที่ตกเป็นอาณานิคมและรัฐนักล่าอาณานิคม ความพยายามรอบใหม่ที่รัฐไทยต้องการฟื้นฟูเวทีการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการผ่านการอำนวยความสะดวกของมาเลเซียเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 257 ที่ผ่านมารัฐไทยจึงต้องกลับลำดึงประเด็นลงมาให้กลับมาเหมือนเดิม จึงใช้คำว่า “การเจรจาสันติสุขหรือการพูดคุยสันติสุข” ฟังแล้วแปลกหูไม่น้อยเพราะในหนังสือหรือในพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆทั่วโลกผู้เขียนไม่เคยได้ยินใครใช้คำนี้ น่าสนใจว่าทางมาเลเซียและกลุ่มขบวนการที่จะพูดคุยกับรัฐไทยในรอบนี้ซึ่งใช้ภาษามลายูในการสื่อสารจะแปลคำว่าสันติสุขเป็นคำว่าอะไรในเมื่อรอบที่แล้วใช้คำว่า Kedamaian ซึ่งหมายถึงสันติภาพ
2.เพื่อกลบสงครามลดระดับความขัดแย้ง การที่กลุ่มขบวนการใช้ทฤษฏีสงครามกองโจรจับอาวุธต่อสู้กับรัฐไทย รัฐไทยใช้กฎหมายทหารและนำกำลังทหารพร้อมอาวุธเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความเสี่ยงได้เห็นปืน ระเบิด รถฮัมวี่ เฮลิคอปเตอร์ ทหาร/นับรบ การสู้รบ การปะทะกัน ความตาย ความสูญเสียแทบทุกวัน ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนรู้สึกว่ากำลังอาศัยอยู่ท่ามกลางสงครามซึ่งไม่ส่งผลดีต่อรัฐไทยเนื่องจากรัฐมีหน้าที่หรือภารกิจในการรับประกันความปลอดภัยให้แก่ประชาชน การที่ประชาชนรู้สึกไม่มีความปลอดภัยในชีวิตจะเป็นตัวสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐ เมื่อประชาชนรู้สึกว่ากำลังอยู่ท่ามกลางสงครามทำให้มีความรู้สึกว่าอยากได้สันติภาพจนมีการใช้คำว่าสันติภาพในพื้นที่อย่างแพร่หลาย การที่รัฐไทยใช้คำว่าสันติสุขจะทำให้รู้สึกว่าปัญหาปาตานี/ชายแดนใต้เบาบางลง เพื่ออธิบายแก่ประชาชนและต่างประเทศว่าความไม่สงบดังกล่าวเป็นปัญหาความขัดแย้งทั่วไปที่เกิดขึ้นภายในรัฐ มิใช่เป็นปัญหาพิพาทหรือความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างรัฐปาตานีกับรัฐไทย